สธ.ย้ำแม้ "โควิด" แนวโน้มลดลง แต่ฉีดวัคซีนยังจำเป็น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และเด็กเล็ก 6 เดือน - 4 ปี แนะรีบฉีดสร้างภูมิเพิ่มก่อนฤดูหนาว ที่จะพบการระบาดมากขึ้น เพื่อลดเสี่ยงป่วยรุนแรง ตาย และภาวะ MIS-C ในเด็ก
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทย มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยสัปดาห์ที่ 42 ช่วงวันที่ 16-22 ต.ค. 2565 มีผู้ป่วยรายใหม่ 2,616 ราย เฉลี่ยวันละ 373 ราย ผู้เสียชีวิต 40 ราย เฉลี่ยวันละ 5 ราย ประชาชนเริ่มใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น แต่หากต้องเข้าไปในพื้นที่คนหนาแน่น การระบายอากาศไม่ดี ขอให้ยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัว ทั้งสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ที่สำคัญ คือ การมารับวัคซีนโควิด 19 ซึ่งขณะนี้มีการฉีดไปแล้ว 142.8 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มปกติเกือบ 82% แต่เข็มกระตุ้นในทุกกลุ่มยังมารับน้อย ไม่ถึง 50% ซึ่งการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 4 จะช่วยลดอาการรุนแรงและการเสียชีวิตได้เกือบ 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 608 หากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 หรือ 3 มาแล้วเกิน 3-4 เดือน ให้มารับวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน
ส่วนกลุ่มเด็กเล็ก อายุ 6 เดือน - 4 ปี ซึ่งยังไม่เคยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19 ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่งวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงกระจายไปยัง รพ.ต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อให้บริการในคลินิกเด็กสุขภาพดี (well baby clinic) แล้ว ผู้ปกครองสามารถให้เด็กฉีดพร้อมกับวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ได้ จะช่วยลดความเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 รวมถึงการเกิดภาวะอักเสบของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเด็ก (MIS-C) ทั้งนี้ ช่วงฤดูหนาวจะมีการระบาดของเชื้อไวรัสก่อโรคเพิ่มขึ้นหลายโรค รวมถึงโควิด ดังนั้น ขอให้กลุ่มเสี่ยงทั้งกลุ่ม 608 และเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ขวบ มารับวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19 ก่อนที่จะถึงฤดูหนาว โดย รพ.ต่างๆ จะมีการจัดพื้นที่ให้บริการกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน - 4 ปี เป็นการเฉพาะ เพื่อให้ได้รับวัคซีนเร็วขึ้น ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปรับวัคซีนได้ตามความสมัครใจ ไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยจะมีการฉีดวัคซีนทั้งหมด 3 เข็ม เข็มแรกและเข็มสองห่างกัน 1 เดือน และเข็มสามห่างจากเข็มสอง 2 เดือน
ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เด็กเล็กโดยเฉพาะที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการป่วยหนัก อาจพบภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโควิด ได้แก่ ปอดบวม และหลอดลมอักเสบ ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงถึงชีวิต ซึ่งไม่ต่างจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ รวมถึงอาจพบภาวะ MIS-C ได้ด้วย ดังนั้นจึงควรให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายเด็กเล็ก เช่นเดียวกับในกลุ่ม 608 ที่มีอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตสูงเช่นกัน ขณะนี้วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงสำหรับเด็ก 6 เดือน - 4 ปี เข้ามาในไทยแล้ว ได้รับการอนุมัติจากสหภาพยุโรป อย.สหรัฐอเมริกาและไทย มีการอนุมัติใช้ในหลายประเทศ จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า มีความปลอดภัย ผลข้างเคียงน้อยกว่าวัคซีนที่ฉีดในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์และความเสี่ยงที่ได้รับ แนะนำให้เด็กเล็กฉีด โดยเฉพาะในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก อาจเป็นจุดเสี่ยงที่แพร่เชื้อและติดต่อระหว่างกันได้ง่าย แม้อาจจะป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ทั้งหมด แต่หากติดเชื้อแล้วจะลดความรุนแรง ลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต