กรมควบคุมโรค งัดข้อมูลโต้ "วัคซีนโควิด" ไม่ทำให้ไทยตายเพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว เหตุเพิ่งระดมฉีดช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่อัตราตายส่วนเกินเพิ่ม แต่ไม่เกินคาดในช่วงเดลตา เหตุกระทบระบบสาธารณสุข ยันวัคซีนช่วยป้องกันคนตายกว่า 4 แสนคน ขอให้พาเด็กมาฉีด
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเพิ่มหรือลดลงของการเสียชีวิต จะใช้อัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน (excess death) ซึ่งประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยนำมาใช้ประเมินผลกระทบของโควิด 19 ที่มีต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งมีหลายเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบบริการสุขภาพในระยะวิกฤตโควิด 19 การจำกัดการเดินทาง และความล่าช้าในการเข้ารับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย แต่ไม่พบหลักฐานที่แสดงว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด 19
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ได้รับวัคซีนโควิด 19 สะสมกว่า 143 ล้านโดส เท่ากับประชาชนกว่า 57 ล้านราย โดยไทยเริ่มฉีดวัคซีนล็อตใหญ่ครึ่งปีหลังของปี 2564 โดยวัคซีนไฟเซอร์เริ่มฉีดทางการวันที่ 4 ต.ค. 2564 และเร่งฉีดวัคซีนทุกชนิดจนครบ 100 ล้านโดส ในปลาย ธ.ค. 2564 ทั้งนี้ ไทยศึกษาอัตราการตายส่วนเกินช่วงปี 2563-2564 พบว่า ปี 2563 จำนวนเสียชีวิตต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่วนปี 2564 การตายส่วนเกินเพิ่มขึ้น แต่เกิดในกลุ่มผู้สูงอายุช่วง ก.ค. - ก.ย. 2564 ที่มีการระบาดรุนแรงจากเดลตา
"ดังนั้น การอ้างว่าปีที่ผ่านมาตัวเลขผู้เสียชีวิตที่สูงขึ้นเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด จึงไม่สมเหตุผล และไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ฉีดวัคซีนจำนวนมาก อีกทั้งการศึกษาในประเทศอื่นไม่พบหลักฐานความสัมพันธ์กับวัคซีนโควิด" นพ.โสภณกล่าว
นพ.โสภณกล่าวว่า ช่วงกลางปี 2564 ที่มีการระบาดใหญ่ ทำให้ต้องระดมทรัพยากรอย่างเต็มที่ ทั้งกำลังคน เตียง ตรวจหาเชื้อ รพ.หลายแห่งได้ปิดหน่วยรักษาโรคอื่น ปิดห้องผ่าตัดหากมีแพทย์และพยาบาลติดเชื้อ จึงกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ เช่น ผู้ป่วยรอผ่าตัดหรือรอเตียงนานขึ้น อาจทำให้อาการแย่ลง หรือผู้ป่วยโรคอื่นไม่กล้าไป รพ.เพราะกลัวติดโควิด รอจนอาการหนัก ล้วนเป็นเหตุทำให้มีอัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน ซึ่งเป็นสภาพที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน
นพ.โสภณ กล่าวว่า ตรงกันข้าม ข้อมูลคาดประมาณผลสัมฤทธิ์จากการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของไทย พบว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19 ช่วยป้องกันการเสียชีวิตในไทยจำนวนกว่า 4.9 แสนราย โดยปี 2564 ป้องกันได้ประมาณ 382,600 ราย และในปี 2565 ป้องกันได้ประมาณ 107,400 ราย การที่ปกป้องไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโควิดได้จำนวนมาก เนื่องจากมีนโยบายฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพตรงเป้าหมาย กำหนดให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนก่อน เร่งรัดฉีดในพื้นที่ระบาดรุนแรง หากไม่มีมาตรการนี้คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อโควิดเสียชีวิตอีกจำนวนมาก จะเห็นได้ว่าระยะนี้ ผู้เสียชีวิตจากโควิด ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มไม่ได้รับหรือรับวัคซีนไม่ครบ แม้อาการในเด็กมักไม่รุนแรง แต่ยังมีเด็กเล็กเสียชีวิตจากโควิดเป็นระยะและประวัติไม่ได้รับวัคซีนโควิด ขอให้เชื่อมั่นว่าการศึกษาและหลักฐานต่างๆ บ่งชี้ไปทางเดียวกันว่า วัคซีนมีประโยชน์ ไม่ควรปล่อยให้เด็กติดเชื้อตามธรรมชาติ อาจทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตได้