xs
xsm
sm
md
lg

ปี 64 "โควิด" ทำไทยตายเพิ่มขึ้น 4.2% หรือ 2.2 หมื่นคน เทียบกับปกติที่ไม่มีโรคระบาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค เผยปี 64 "โควิด" ทำไทยมีการตายส่วนเกินหากไม่มีการระบาด 4.2% หรือ 22,490 ราย เป็นชาย 1.8 หมื่นกว่าราย หรือตายเพิ่มขึ้น 6.2% หญิง 4 พันราย 1.7% กทม.ตายส่วนเกินสูงสุด ยันวัคซีนครอบคลุมสูง มาตรการเข้ม ทำให้อัตราตายส่วนเกินจากโควิดลดลง แต่หากความครอบคลุมวัคซีนลดลง 1% ตายส่วนเกินจะเพิ่ม 4.1 ต่อแสนประชากร

จากกรณีกรมควบคุมโรคออกตอบโต้ประเด็นการเสียชีวิตในปี 2564 ที่เพิ่มขึ้นว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่มาจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่ส่วนหนึ่งกระทบระบบบริการสาธารณสุข ทำให้ผู้ป่วยโรคอื่นๆ รอรับการรักษาจนอาการมากขึ้นและมีความเสี่ยงเสียชีวิตมากขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตยังน้อยกว่าที่คาดการณ์ โดยอ้างอิงจากอัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย พญ.วรรณา หาญเชาว์วรกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค และ ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เสวนาประเด็น "การศึกษาอัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน (Excess Death)"

นพ.สมเกียรติกล่าวว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกและทำให้มีการเสียชีวิต จากการสำรวจทั่วโลกการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากโควิดอยู่ที่ 5-6 ล้านคนทั่วโลก แต่วงการวิชาการระบุว่า อาจจะน้อยกว่าความเป็นจริง มีการศึกษาและคาดการณ์ว่าน่าจะมีเสียชีวิตประมาณ 23-24 ล้านคน สำหรับอัตราการเสียชีวิตส่วนเกินเป็นการดูว่า ปกติที่ไม่มีการระบาดมีอัตราการเสียชีวิตเท่าไร และเมื่อมีการระบาดมีการตายเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน โดยจากข้อมูลถึงปี 2020 พบว่า สหรัฐอเมริกาการเสียชีวิตส่วนเกินเพิ่มขึ้น 85.2 ต่อประชากรแสนคน อังกฤษเพิ่มขึ้น 87.4 ต่อแสนประชากร เบลเยียม 62.5 ต่อแสนประชากร ช่วงการระบาดส่วนหนึ่งเสีชีวิตจากโรคโดยตรง อีกส่วนมาจากโรคประจำตัว เพราะมีการปิดเมือง ทำให้กระทบการเข้าถึงบริการสาธารณสุข

"อย่างสหรัฐฯ เดิมสาเหตุเสียชีวิต คือหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง อุบัติเหตุ และโรคของปอดตามลำดับ พอมีโควิดเกิดขึ้น โควิดทำให้เสียชีวิตอันดับ 3 แทรกขึ้นมา หรือออสเตรเลีย สาเหตุการตายคือ มะเร็ง หัวใจ หลอดเลือดสมอง พอมีโควิดเป็นสาเหตุอันดับที่ 21 ภาพรวมของโลกนั้น สาเหตุการตายอันดับแรกยังเป็นโรคอื่นๆ อยู่ ขึ้นกับสถานการณ์แต่ละประเทศ พอมีโควิดเข้ามา ทำให้เกิดการเสียชีวิตเข้ามาอยู่ในระดับ 1-5 หรือ 1-10" นพ.สมเกียรติกล่าว

นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า ไทยศึกษาอัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน 2 ปี คือ ปี 2563-2564 โดยปี 2563 ตัวเลขน้อยกว่าคาดการณ์ เพราะเมื่อมีการระบาดโควิดแรกๆ เรามีมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยลดตัวเลขนี้ แต่ปี 2564 มีการระบาดเพิ่มขึ้น บางส่วนเสียชีวิตจากโควิด และการฉีดวัคซีนอาจไม่มาก ทำให้ติดเชื้อและมีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งกลุ่มที่เสียชีวิตส่วนเกินมาก คือ วัยทำงานตอนปลาย กลุ่มเด็กไม่มีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากปกติ สรุปคือ การศึกษาค่าการเสียชีวิตส่วนเกินของไทยในช่วงโควิดไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และยุโรป


ทพญ.กนิษฐากล่าวว่า การวัดอัตราการเสียชีวิตส่วนเกินของประชากรไทย เราดูการเสียชีวิตช่วงที่มีการระบาดของโควิดปี 2563-2564 เทียบกับช่วงสถานการณ์ปกติที่ไม่มีการระบาด ซึ่งเราใช้ข้อมูล 5 ปีย้อนหลัง ปี 2558-2562 มาคำนวณการตายที่จะเกิดขึ้นในสถานการณ์ปกติของปี 2563-2564 โดยใช้โมเดลเดียวกันกับองค์การอนามัยโลก พบว่า ภาพรวมของประเทศไม่พบการเสียชีวิตส่วนเกิน (Excess Death) ในปี 2563 แต่พบว่าในปี 2564 อยู่ที่ 4.2% หรือตายเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ที่ไม่มีการระบาดอยู่ที่ 22,490 ราย เป็นการตายส่วนเกินในเพศชายอยู่ที่ 18,302 ราย ตายเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ที่ไม่มีการระบาด 6.2% แยกเป็นกลุ่มอายุ 50-64 ปีสูงสุด ตายเพิ่มขึ้น 10% กลุ่มอายุ 65-74 ปี ตายเพิ่มขึ้น 8% ส่วนกลุ่มเด็ก 0-14 ปี ไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่วนเพศหญิงต่ำกว่าเพศชาย พบการตายเพิ่มขึ้น 4,000 กว่าราย หรือ 1.7% เป็นกลุ่มอายุ 15-49 ปีสูงสุด ตายเพิ่มขึ้น 7% อายุ 50-64 ปี เพิ่มขึ้น 6.3% ส่วนกลุ่มอายุ 75-84 ปีไม่พบเพิ่มขึ้น

"ค่า Excess death ทั้งเพศชายและเพศหญิงจะเพิ่มในช่วงสายพันธุ์เดลตา การเสียชีวิตใน รพ. ส่วนใหญ่มาจากโควิด ส่วนการตายที่บ้านเพศชายสูงใกล้เคียงกับการตายใน รพ.อยู่ที่ 6.3% ส่วนเพศหญิงเสียชีวิตที่บ้านต่ำกว่าที่ รพ. อยู่ที่ 1% นอกจากนี้ เขตสุขภาพที่พบการตายส่วนเกินมากที่สุด คือ เขตสุขภาพที่ 13 กทม. ส่วนเขตสุขภาพที่ 1 มีการตายส่วนเกินน้อยกว่าปกติ คือ น้อยกว่า 12%" ทพญ.กนิษฐากล่าว

ทพญ.ดร.กนิษฐา กล่าวอีกว่า เมื่อเทียบผลการศึกษากับต่างประเทศ ไทยมีการตายส่วนเกินค่อนข้างพีคช่วง ก.ค. - ส.ค. 2564 จากนั้นค่อยๆ ลดลง โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเทียบการตายส่วนเกินของไทยไม่ถึง 50 รายต่อแสนประชากร ซึ่งมีค่าน้อยกว่าสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และอินเดีย ต่ำกว่าฝรั่งเศสเล็กน้อย แต่ยังสูงกว่าเกาหลีใต้และญี่ปุ่น


ด้าน พญ.วรรณา กล่าวว่า มีการตั้งข้อสังเกตในสังคมออนไลน์ เอาข้อมูลการฉีดวัคซีนกับอัตราการตายส่วนเกินมาเชื่อมโยงกัน แปลผลว่าประเทศที่ฉีดวัคซีนสูงมีอัตราตายส่วนเกินมากกว่าประเทศที่ครอบคลุมวัคซีนต่ำ และสงสัยเรื่องประโยชน์และความปลอดภัยของวัคซีน ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ของการฉีดวัคซีนกับการตายส่วนเกินต้องมีการศึกษา ซึ่งจากข้อมูลยุโรปตะวันตก สหรัฐฯ แคนาดา และประเทศอื่นๆ รวม 50 กว่าประเทศ เอาตัวเลขการตายส่วนเกิน ความครอบคลุมวัคซีน การบังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ มาศึกษา พบว่า ประเทศที่มีความครอบคลุมวัคซีนน้อยมีอัตราการตายส่วนเกินสูง ส่วนประเทศที่ความครอบคลุมวัคซีนสูง มีการบังคับใช้กฎหมายดี การตายส่วนเกินจะลดลง นำมาสู่ข้อสรุปว่าอัตราการตายส่วนเกินแปรผกผันกับความครอบคลุมของวัคซีนและความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมาย และอัตราการตายส่วนเกินจะเพิ่มขึ้น 4.1 ต่อแสนประชากร ถ้าความครอบคลุมของวัคซีนลดลง 1%

“สำหรับประสิทธิผลของวัคซีนโควิดพบว่า เข็มกระตุ้นช่วยได้ แต่เมื่อระยะเวลาหนึ่งจะลดลง แต่ลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับการฉีด 2 เข็ม ดังนั้น ความครอบคลุมของวัคซีนสัมพันธ์กับการลดลงของอัตราการตายส่วนเกินจากโควิด และผู้เสียชีวิตในไทยส่วนใหญ่พบมีประวัติไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ที่สำคัญไทยมีระบบเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนโควิด” พญ.วรรณา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น