คกก.วัคซีนฯ เห็นชอบกรอบจัดหาวัคซีนโควิดปี 66 เบื้องต้นสำหรับ 18 ล้านคน รวม 3 กลุ่ม คือ 608 บุคลากรแพทย์ และ อสม. รอดูข้อมูลเพิ่มต้องฉีด 1 หรือ 2 เข็ม ใช้วัคซีนสูตรใด อาจเพิ่มเติมบางกลุ่มได้อีกพร้อมเห็นชอบ อปท.ร่วมจัดหาวัคซีน เป็นการเพิ่มงบประมาณส่งเสริมสุขภาพ แต่ต้องไม่ซ้ำซ้อน
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ว่า ที่ผ่านมาเราฉีดวัคซีนโควิด 19 ไป 143 ล้านโดส พบว่าได้ผลดี ช่วยเซฟชีวิตคนไทยอย่างน้อย 5 แสนคน ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นชอบหลักการกรอบแนวทางการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ปี 2566 แต่เนื่องจากข้อมูลวิชาการจากหน่วยงานหลัก เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ออกมาว่าต้องฉีดกี่เข็มฉีดอย่างไร เพราะข้อมูลวิชาการยังไม่เพียงพอ เราจึงยึดกรอบตามวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ ฉีดกระตุ้นปีละ 1-2 เข็ม ใน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่ม 608 คือผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิต 2.บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า และ 3.อสม. รวมมีประมาณ 18 ล้านคน ถ้า 1 เข็มก็ 18 ล้านโดส 2 เข็มก็ 36 ล้านโดส โดยมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปวางแผนต่อไป
"ตรงนี้เป็นกรอบวางไว้คร่าวๆ แต่ตัวเลขชัดๆ เป็นเท่าไร ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติมก็จะมาพิจารณา ส่วนจะเป็นวัคซีนสูตรใดก้ต้องมาดูข้อมูลวิชาการ เพราะวัคซีนข้อมูลเปลี่ยนตลอด ตอนนี้เท่าที่มีวัคซีนตัวใหม่มา ส่วนตัวก็ยังเฉยๆ เพราะยังไม่ได้แตกต่างจากตัวเก่ามาก และมีราคาแพงกว่าเดิมมาก รอดูข้อมูลให้มากที่สุด ให้แน่ใจและเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ส่วนกลุ่มอื่นจะเพิ่มเติมอย่างไรต้องตามดูข้อมูลก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากไม่ได้เป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว กลับไปสู่ภาวะปกติ การใช้งบประมาณก็ต้องเป็นไปตามปกติ อันไหนมีงบประมาณก็ใช้ ไม่มีก็ใช้เงินนอกงบประมาณ หรืออันไหนจำเป็นเร่งด่วนแล้วไม่มีเงินก็ใช้งบกลางตามขั้นตอน โดยเป็นหน้าที่ของกรมควบคุมโรคในการจัดหา" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวว่า อีกเรื่องคือเห็นชอบในหลักการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถร่วมจัดซื้อจัดหาวัคซีนได้ เพื่อช่วยเสริมการฉีดวัคซีน เนื่องจากเราเห็นปัญหาเดิมว่าบางหน่วยงาน เช่น กทม. เอางบประมาณไปจัดหาวัคซีนมา เป็นส่วนดีทำให้เพิ่มงบประมาณส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของประเทศโดยใช้งบประมาณจากแหล่งอื่น แต่ก็ต้องทำให้เกิดความเหมาะสม โดยที่ประชุมให้ระมัดระวังความซ้ำซ้อนของงบประมาณ เพราะจะงบ อปท.หรืองบประมาณปกติต่างๆ ก็เป็นงบประมาณแผ่นดิน โดยมอบสถาบันวัคซีนแห่งชาติหารือผู้เกี่ยวข้องในเรื่องขั้นตอน เพราะต้องกำกับทั้งเรื่องความเหมาะสม ความคุ้มค่า การจัดหาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จัดหาให้ได้ตามมาตรฐาน และต้องไม่เหลื่อมล้ำ ซึ่ง อปท.ที่เงินเยอะก็อาจจะได้ฉีด เงินน้อยอาจจะไม่ได้ฉีดก็ให้ไปดูรายละเอียด
นพ.โอภาสกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าผลการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ซึ่งมีหลายหน่วยงานของไทยก้าวหน้า แม้จะยังไม่ขึ้นทะเบียน แต่ขอให้ต่อยอดต่อไป เพระาอนาคตอาจต้องฉีดวัคซีนโควิดอีกหลายเข็มหลายโดส เพื่อพึ่งพาศักยภาพการผลิตของประเทศไทยได้เอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยพัฒนาวัคซีนมีทั้งรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างจุฬาฯ ทำหลายตัว หรือองค์การเภสัชกรรม ไบโอเทค ส่วนเอกชนก็มีไบโอเนทเอเชีย สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นต้น เป็นเครือข่ายพัฒนาวัคซีนโควิดต่อรวมถึงวัคซีนอื่น
ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า แม้การวิจัยวัคซีนโควิด 19 ในประเทศยังไปไม่เร็วแต่มีความก้าวหน้า ที่ประชุมเห้นว่าควรเดินหน้าต่อ จะให้ได้วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนได้ และเป็นตัวต้นทางถ้าจะปรับสายพันธุ์ต่อไป แม้เราทำได้ไม่เร็วเท่าต่างประเทศ