ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 29 พ.ย. 2564 เผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่นายณฐพร โตประยูร ร้องศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยการกระทำของนายอานนท์ นำภา และพวก รวม 8 คน เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา
อ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็ม คลิกที่นี่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/080/T_0022.PDF
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีที่นายณฐพร โตประยูร ยื่นคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของนายอานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1, นายภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2 และ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่ จากการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563
ในตอนหนึ่งระบุว่า การกระทําของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ข้อเท็จจริงตามคําร้อง คําชี้แจง พยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งบันทึกเสียงการปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฟังเป็นยุติว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ปราศรัยในที่สาธารณะ หลายครั้งหลายสถานที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 2563 เรียกร้องให้ดําเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการชุมนุม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ปราศรัยเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยข้อเรียกร้อง 10 ประการ
พิจารณาแล้วเห็นว่า หลักการทางรัฐธรรมนูญ (Constitutional Principles) วางรากฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คุณค่าทางรัฐธรรมนูญ (Constitutional Values) ซึ่งเป็นแก่นของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประกอบด้วย คุณค่าสําคัญ ได้แก่ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ทั้งนี้ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมีการบัญญัติไว้ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ฉบับวันที่ 10 ธ.ค. 2475) หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม และมีการบัญญัติไว้เรื่อยมาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ จนถึงฉบับปัจจุบัน โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจํากัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทําการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น” บทบัญญัติดังกล่าวกําหนดหลักประกันเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งสามารถแยกออกได้เป็นสองส่วน ดังนี้ ส่วนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ และส่วนที่รัฐธรรมนูญหรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นมิได้ห้ามไว้ ปวงชนชาวไทยย่อมมีสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว ทั้งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงให้ความคุ้มครองการใช้สิทธิหรือเสรีภาพทุกกรณี ทั้งที่บัญญัติเป็นการเฉพาะ และที่มิได้มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นห้าม หรือจํากัดไว้ โดยมีเงื่อนไขว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองนั้นต้องไม่กระทบกระเทือน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เมื่อบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพย่อมต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามมาด้วย หน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิหรือเสรีภาพทางการเมืองปรากฏชัดเจนในรัฐธรรมนูญ หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 (1) (3) และ (6) ที่กําหนดให้บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทําการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม
รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้” วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ใดทราบว่ามีการกระทําตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวได้” วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคําสั่งไม่รับดําเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดําเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้” และวรรคสี่ บัญญัติว่า “การดําเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดําเนินคดีอาญาต่อผู้กระทําการตามวรรคหนึ่ง” บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศให้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งกําหนดให้ผู้ที่ทราบว่ามีการกระทําอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด และในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคําสั่งไม่รับดําเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดําเนินการภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ ผู้ร้องสามารถยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้ นอกจากนี้ ยังกําหนดให้การดําเนินการตามมาตราดังกล่าวไม่กระทบต่อการดําเนินคดีอาญาต่อผู้กระทําการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 มุ่งหมายให้ปวงชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการพิทักษ์ปกป้องคุ้มครองและรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกําหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอํานาจในการทําหน้าที่ตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยหลักการตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 มาตรา 35 และบัญญัติในทํานองเดียวกันไว้ในรัฐธรรมนูญต่อมาทุกฉบับ เป็นการวางหลักการเพื่อพิทักษ์ปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากภัยคุกคามอันเกิดจากการกระทําซึ่งเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ในลักษณะมุ่งหมายให้หลักการและคุณค่าทางรัฐธรรมนูญที่รองรับการดํารงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิให้ล้มเลิกหรือสูญเสียไป หลักการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง บัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 63 และบัญญัติในทํานองเดียวกันในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกําหนดว่า เมื่อมีผู้ทราบถึงการกระทําอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บุคคลผู้นั้นย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติเพิ่มเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นว่า กรณีดังกล่าว ถ้าอัยการสูงสุดมีคําสั่งไม่รับดําเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดําเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ ผู้ร้องสามารถยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการรับรองสิทธิของพลเมือง ในการปกป้องรัฐธรรมนูญจากการกระทําของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ในประการที่อาจนําไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น การใช้สิทธิพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญถือเป็นกลไกหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญ โดยบุคคลผู้ใช้สิทธิในการพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญจะต้องยื่นคําร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อพิจารณา ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคําร้องก่อนเสนอเรื่องร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าว แม้ว่าอัยการสูงสุดจะมีคําสั่งไม่รับดําเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดําเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ รัฐธรรมนูญก็รับรองสิทธิของผู้ร้องในการยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้ด้วย การรับรองสิทธิของผู้ร้องในกรณีดังกล่าวเป็นการสร้างหลักประกัน การธํารงไว้ซึ่งหลักการอันเป็นสาระสําคัญแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อใดที่ปรากฏการกระทําที่เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทําในลักษณะดังกล่าวย่อมถูกกล่าวหาเป็นคดีในศาลรัฐธรรมนูญได้
ในตอนหนึ่งระบุอีกด้วยว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติลักษณะการห้ามใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 63 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 49 และคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 และคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2562 ได้วางหลักคําว่า “ล้มล้าง” ว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญที่สุดวิสัยที่จะแก้ไขให้กลับคืนได้ นอกจากนั้น เป็นการกระทําที่มีเจตนาเพื่อทําลาย หรือล้างผลาญให้สูญสลายหมดสิ้นไป ไม่ให้ดํารงอยู่หรือมีอยู่อีกต่อไป
การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเรียกร้องเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมือง ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงกระทําผิดมิได้ และให้มีการยกเลิกกฎหมาย ที่ห้ามผู้ใดล่วงละเมิด หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะอันนําไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควรโดยมีผลทําให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนําไปสู่การบ่อนทําลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด ทั้งนี้ เพราะพระมหากษัตริย์กับชาติไทยดํารงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกันนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน และจะดํารงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคต แม้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ปวงชนชาวไทยยังเห็นพ้องร่วมกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นสถาบันหลักคู่ชาติไทย และถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทั้งนี้ เพื่อธํารงความเป็นชาติไทยไว้ ดังปรากฏในพระราชบัญญัติธรรมนูญ การปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มาตรา 1 บัญญัติว่า อํานาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย มาตรา 2 บัญญัติว่า ให้มีบุคคลและคณะบุคคลดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ เป็นผู้ใช้อํานาจแทนราษฎรตามที่จะได้กล่าวต่อไปในธรรมนูญ คือ 1. กษัตริย์ 2. สภาผู้แทนราษฎร 3. คณะกรรมการราษฎร 4. ศาล มาตรา 3 บัญญัติว่า กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คําวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่นๆ ซึ่งจะมีบทกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะก็ดี จะต้องกระทําในนามของกษัตริย์ ต่อมาได้มีการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2475 บททั่วไป มาตรา 2 บัญญัติว่า อํานาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หมวด 1 พระมหากษัตริย์ มาตรา 3 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ มาตรา 5 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงดํารงตําแหน่งจอมทัพสยาม มาตรา 6 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อํานาจนิติบัญญัติโดยคําแนะนําและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 7 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อํานาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี มาตรา 8 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อํานาจตุลาการทางศาลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย จากบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามดังกล่าว เห็นได้ว่าประวัติศาสตร์นับแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ตลอดถึงกรุงรัตนโกสินทร์ การปกครองของไทยนั้นอํานาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์ ทรงมีพระราชภารกิจที่สําคัญยิ่งเพื่อรักษาความอยู่รอดของบ้านเมือง และประชาชน โดยจะต้องดํารงตําแหน่งจอมทัพไทยเพื่อนํากองทัพต่อสู้ปกป้องและขยายราชอาณาจักร ตลอดเวลาในยุคก่อน ประกอบกับทรงถือหลักการปกครองตามหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา คือ ทศพิธราชธรรมเป็นหลักในการปกครองประเทศ พระมหากษัตริย์ของไทยจึงเป็นที่เคารพ และศรัทธา เป็นศูนย์รวมจิตใจและความเป็นหนึ่งเดียวกันของปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดเวลาหลายร้อยปี ดังนั้น แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทยเมื่อปี 2475 ให้อํานาจการปกครองเป็นของราษฎรทั้งหลายหรือมาจากปวงชนชาวสยาม คณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงและประชาชนชาวไทยยังคงเห็นพ้องกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์เพื่อทรงเป็นสถาบันหลักที่จะต้องคงอยู่คู่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยและทรงใช้อํานาจอธิปไตยนั้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยเรียกรูปแบบการปกครองนี้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และราชอาณาจักรไทยได้คงไว้ซึ่งการปกครองระบอบนี้ต่อเนื่องมาโดยตลอด ทํานองเดียวกับประเทศต่างๆ ที่มีความเป็นมาของชาติ และเอกราชแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันประการหนึ่ง คือ เอกลักษณ์หรือสัญลักษณ์ของชาติ รวมถึงทรัพย์สมบัติของชาติจะมีกฎหมายห้ามกระทําการอันทําให้มีมลทินต้องเสื่อมสภาพเสียหายหรือชํารุด ข้อเรียกร้องที่ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้การรับรองพระราชสถานะขององค์พระมหากษัตริย์ว่าทรงเป็นประมุขของรัฐที่ผู้ใดจะกล่าวหาหรือละเมิดมิได้นั้น จึงเป็นการกระทําที่มีเจตนาทําลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง การกระทําของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทําลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคําหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนอื่นที่เห็นต่างด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้บุคคลอื่นกระทําตาม ยิ่งกว่านั้น การกระทําของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีการดําเนินงานอย่างเป็นขบวนการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย แม้การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ณ เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี จะผ่านไปแล้ว ภายหลังจากที่ผู้ร้องยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ยังปรากฏว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยังคงร่วมชุมนุมกับกลุ่มบุคคลกลุ่มต่างๆ โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์เป็นแบบไม่มีแกนนําที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทําอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน การเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีลักษณะเป็นขบวนการที่มีเจตนาเดียวกันตั้งแต่แรก ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีพฤติการณ์กระทําซ้ำ และกระทําต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ มีลักษณะของการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม
ระบอบประชาธิปไตยมีหลักการสําคัญ 3 ประการ คือ เสรีภาพ (LIBERTY) หมายถึง ทุกคนมีสิทธิที่จะคิด พูด และทําอะไรได้ที่ไม่มีกฎหมายห้าม เสมอภาค (EQUALITY) หมายถึง ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และภราดรภาพ (FRATERNITY) หมายถึง บุคคลทั้งหลายมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันฉันพี่น้อง มีความสามัคคีกัน
การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยนั้น ปวงชนชาวไทยผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์มานานนับหลายร้อยปี พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขจึงได้รับความยินยอมจากปวงชนชาวไทยให้ทรงใช้อํานาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเป็นเสาหลักสําคัญที่จะขาดเสียมิได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น การกระทําใดๆ ที่มีเจตนาเพื่อทําลายหรือทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าจะโดยวิธีการพูด การเขียน หรือการกระทําต่างๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทําลาย ด้อยคุณค่า หรือทําให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย การกระทําของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการอ้างสิทธิหรือเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คํานึงถึงหลักความเสมอภาค และภราดรภาพ ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างของบุคคล จนถึงกับล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่นที่เห็นต่างด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่นด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือนจากความจริง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงประจักษ์ว่าการกระทําของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทําการใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง บางเหตุการณ์ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีส่วนจุดประกายโดยการปราศรัยปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทําให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทําลายหลักการความเสมอภาค และภราดรภาพ ผลของการกระทําของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นําไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยในที่สุด นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า การชุมนุมหลายครั้งมีการทําลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบแถบสีน้ำเงินซึ่งหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์ ข้อเรียกร้อง 10 ประการของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เช่น การยกเลิก มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ การยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอํานาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เป็นข้อเรียกร้องที่ทําให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันตลอดมา ทั้งพฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทําของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป
การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง แม้เหตุการณ์ตามคําร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทําการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนําไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอํานาจสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า การกระทําของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทําการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง