xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 14-20 พ.ย.2564

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.“รุ้ง” คอตกเข้าคุกอีกรอบ ศาลไม่ให้ประกันคดีหมิ่นสถาบัน ม.112 หลังพบพฤติกรรมทำผิดซ้ำซาก!

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้นัดพิจารณา 2 คดีสำคัญ คือ นัดสอบคำให้การคดีที่พนักงานอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง, น.ส.เบนจา อะปัญ, นายภวัต หิรัณย์ภณ และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการทำกิจกรรม "ใคร ๆ ก็ใส่ครอปท็อป ไปเดินสยามพารากอน" เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563

ส่วนอีกคดี คือการไต่สวนคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 5 คดีตามมาตรา 112 ของ น.ส. เบนจา กรณีปราศรัยหน้าบริษัทซิโน-ไทย ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.

ต่อมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ว่า วันนี้ (15 พ.ย.) "ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว รุ้ง ปนัสยา ในคดี ม.112 ใคร ๆ ก็ใส่ครอปท็อป ไปเดินสยามพารากอน" หลังจาก น.ส. ปนัสยา ยื่นขอประกันด้วยเงิน 200,000 บาท โดยศาลนัดตรวจพยานฯ วันที่ 24 ม.ค. 2565

โดยศาลให้เหตุผลในการไม่ให้ประกันตัว น.ส. ปนัสยา ว่า "จำเลยเคยกระทำในลักษณะทำนองเดียวกันกับคดีนี้มาแล้วหลายคดี หลังถูกฟ้องในคดีนี้ จำเลยซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีของศาลอาญาก็ไปกระทำผิดซ้ำ ซึ่งเป็นการละเมิดเงื่อนไขข้อห้ามของศาลอาญา จนพนักงานอัยการร้องขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไป จำเลยอาจไปกระทำการอันมีลักษณะเป็นความผิดเช่นเดียวกับคดีนี้อีก กรณีจึงเห็นควรไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้อง”

นอกจากนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ยังไต่สวนคำร้องขอคัดค้านการฝากขัง น.ส.เบนจา และมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังต่อได้อีก 7 วัน (เดิมฝากได้เต็มครั้งละ 14 วัน)

ทั้งนี้ เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า กิจกรรม "ใคร ๆ ก็ใส่ครอปท็อป ไปเดินสยามพารากอน" จัดขึ้นโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2563 เพื่อรณรงค์ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยกิจกรรมนี้ นักกิจกรรมได้ร่วมกันใส่เสื้อกล้ามเอวลอย ที่เรียกว่า "ครอปท็อป" ไปเดินบริเวณห้างสยามพารากอน เพื่อยืนยันว่าการสวมชุดครอปท็อปไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย หลังเกิดกรณีของสายชล (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพียงเพราะใส่ชุดครอปท็อปและเขียนข้อความบนตัวเอง

ต่อมา ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี ได้เป็นผู้เข้าแจ้งความดำเนินคดี และพนักงานสอบสวนมีการดำเนินคดีนักกิจกรรมทั้งหมด 7 คน

โดยในคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 จําเลยทั้งห้ากับพวกอีก 2 คน ซึ่งเป็นเยาวชน ได้บังอาจกระทําความผิดต่อกฎหมาย เป็นตัวการร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ตามที่ได้สมคบเตรียมการและนัดหมายกันไว้ล่วงหน้า เพื่อแสดงกิจกรรมล้อเลียนดูหมิ่นและต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ และต่อต้านพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ด้วยวิธีการร่วมกันและแบ่งหน้าที่กันทํา ได้แก่ ร่วมกันแต่งกายใส่ชุด ครอปท็อป หรือชุดเสื้อกล้ามเอวลอย ร่วมกันเขียนถ้อยคําหรือข้อความตามเนื้อตัวร่างกาย ร่วมกันกล่าวคําพูดหรือถ้อยคํา แสดงบทบาท แสดงกิริยาอาการทางร่างกาย ใบหน้า และวิธีอื่นใดในทํานองเดียวกัน แล้วเดินวนเวียนไปมาที่บริเวณห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมขนาดใหญ่

โดยอัยการระบุว่า การกระทำดังกล่าว มีเจตนาแสดงออกและสื่อความหมายให้ประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นบุคคลที่สามเข้าใจว่า กลุ่มจําเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันแสดงตนหรือบทบาทล้อเลียนดูหมิ่นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 พระราชินี และสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ประชาชนเสื่อมความเคารพ ความศรัทธาต่อองค์พระมหากษัตริย์ และสถาบันพระมหากษัตริย์

อัยการระบุด้วยว่า การกระทําของจําเลยทั้งห้ากับพวก โดยบริบททั้งหมดแสดงให้เห็นว่า จําเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันใช้เสรีภาพในทางใดๆ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือปวงชนชาวไทยที่จะต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

จําเลยทั้งห้ากับพวกมีเจตนาร่วมกันที่จะมุ่งหมายทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 10) ให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ทําให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นเสื่อมศรัทธา เสื่อมความเคารพสักการะในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี โดยประการที่น่าจะทําให้พระมหากษัตริย์ พระราชินี เสื่อมเสียพระเกียรติ เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้รับฟ้องคดีนี้ และให้ประกันตัวจำเลยสองราย ได้แก่ น.ส.เบนจา และนายภวัต โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสดคนละ 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลได้กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวว่า ห้ามจำเลยกระทำการใดในลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และให้มาศาลตามกำหนดโดยเคร่งครัด

เป็นที่น่าสังเกตว่า วันต่อมา (16 พ.ย.) เฟซบุ๊กของ รุ้ง ปนัสยา ได้เผยแพร่ข้อความของรุ้ง จากทัณฑสถานหญิงกลางว่า “เรื่องเมื่อวานที่เกิดขึ้นนั้นเหนือความคาดหมายของเรามากๆ เราไม่นึกว่า เมื่อวานเป็นวันที่เรากลับเข้ามาเรือนจำอีกครั้งหนึ่ง ช่วงนี้เป็นช่วงที่เราพยายามมากๆในการจัดการชีวิตตัวเองให้เรียบร้อย พยายามตามเรื่องเรียนให้ทัน วันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมาไม่ได้ไปม็อบด้วย เพราะว่าต้องทำงานวิจัย ขอโทษทุกคนด้วยที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น ต้นเดือนธันวาคมนี้ ก็จะสอบปลายภาคแล้ว ไม่รู้จะได้ออกจากเรือนจำทันมั้ย แต่ถ้าไม่ทัน มันก็คงเป็นอีกเทอมหนึ่งที่เราต้องเสียทุกอย่างที่พยายามทำมาไป ฝากทุกคนที่อยู่ข้างนอกว่าให้กำลังใจนะ หนทางมันดูลำบาก แต่เราก็คงจะพูดเหมือนเดิมทุกครั้ง ว่าอย่างไรวันหนึ่งประชาชนจะชนะ ขอแค่ไม่หยุดสู้ไปเสียก่อน เรายืนยันเหมือนเดิมจากคนที่เพิ่งเข้ามาในนี้อีกครั้ง ว่าคนข้างในจะได้ออกไปเมื่อไหร่ จะเร็วหรือช้าแค่ไหน ขึ้นอยู่กับคนข้างนอก ฝากบอกทุกคนด้วย อยากออกไปสู้กับทุกคน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งอ่านคำวินิจฉัยว่า นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎร และเครือข่าย ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทำลายล้างสถาบัน กรณีชุมนุมปราศรัยเรียกร้อง 10 ข้อ ในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต พร้อมสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ น.ส.ปนัสยา ออกอาการไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมนัดชุมนุมวันที่ 14 พ.ย. เดินหน้าข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อต่อไป

2.รัฐสภาโหวตคว่ำร่าง รธน.ฉบับ “ไอติม” หลังชงยกเลิก ส.ว.-แทรกแซงศาลฯ ด้าน “ปิยบุตร” ปลุกคนอยากแก้ อย่าสิ้นหวัง ถ้ายังมีลมหายใจ!


เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ได้มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม เพื่อพิจารณาวาระการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา ที่เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ และประชาชน จำนวน 1.3 แสนคน

ทั้งนี้ นายพริษฐ์ ในฐานะตัวแทนผู้เสนอรายชื่อได้กล่าวรายงานหลักการและเหตุผลในการแก้ไข โดยระบุถึงปัญหาภาพรวมของประเทศที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นอุปสรรค์สำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเล่าถึงผู้ป่วยชื่อ “ประเทศไทย” ที่ทุกคนรักและเป็นห่วง อยากจะรักษาให้หายดีขึ้น แม้กำลังจะฟื้นฟูจากอาการป่วยโควิด-19 แต่ยังต้องประสบกับอีก 3 โรคที่ติดมาก่อนจะเกิดโควิด คือ โรคเศรษฐกิจอ่อนแอ โรคความเหลื่อมล้ำเรื้อรัง และโรคประชาธิปไตยหลอกลวง แม้มีหลายฝ่ายพยายามเสนอยาหลายชนิดมารักษา แต่ก็ถูกปฏิเสธ เพราะร่างกายประเทศไทย ถูกครอบงำโดยไวรัสตัวหนึ่งอย่างเบ็ดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า หลายคนสรุปว่า ไวรัสตัวนี้อาจจะมีชื่อว่า “ประยุทธ จันทร์โอชา “ แม้บางคนจะวินิจฉัยว่า หากสามารถกำจัดไวรัสนี้ได้ ประเทศไทยก็จะหายกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม แต่ตนและทีมไม่คิดว่าง่ายขนาดนั้น เพราะสิ่งที่อันตรายกว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือระบอบประยุทธ์ ซึ่งไม่ใช่ตัวบุคคล แต่เป็นโครงสร้างกลไกที่สร้างขึ้นควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จในตลอด 7 ปีที่ผ่านมา เพื่อรักษาอำนาจ ถือเป็นเกราะกายสิทธิ์ที่รักษาอำนาจนี้ได้ คือรัฐธรรมนูญปี 60

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า “สิ่งที่เราต้องการตอนนี้ไม่ใช่ให้ประเทศหายป่วย ผ่านการจายยากำจัดไวรัส แต่เราต้องการทำให้ประเทศแข็งแรงเดินไปสู่อนาคต เหมือนการฉีดวัคซีนภูมิคุ้มกันต่อแหล่งกำเนิดไวรัสที่ชื่อ "รัฐธรรมนูญปี 60 ” ซึ่งเหมือนกับวัคซีนแก้โควิด คือต้องฉีด 2 เข็ม คือร่าง รธน.ฉบับใหม่โดยประชาชนผ่าน สสร. ที่มาจาการเลือกตั้งโดยมีอำนาจแก้ไขทุกหมวด ทุกมาตรา ซึ่งอาจต้องใช้เวลารอ โดยประชาชนมีการเข้าคูหารับรองการตั้ง สสร. เลือกสมาชิกที่จะไปนั่ง สสร. และรับร่าง รธน.ฉบับใหม่ที่ร่างโดย สสร.”

ทั้งนี้ ภาคประชาชนมีข้อเสนอ คือ ยกเลิก ส.ว.ให้เหลือสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว เพราะ ส.ว. ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มีอำนาจล้นฟ้า แต่ไม่มีที่มายึดโยงจากประชาชน รัฐสภาดีที่สุดคือ รัฐสภาที่ไม่มีวุฒิสภา ...หากกังวลควรมี ส.ว.อยู่ เพื่อถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลนั้น ขอให้เพิ่มอำนาจ ส.ส. ฝ่ายค้านในการตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลแทน

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ผู้ร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน กล่าวว่า การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาแม้จะอมพระมาพูดว่าองค์กรอิสระมีความเป็นกลาง พูดให้ตายประชาชนก็ไม่เชื่อ เพราะมีที่มาจาก คสช. องค์กรเหล่านี้มีอำนาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนชี้ชะตานักการเมืองได้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเสนอปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญให้มีที่มา โดยให้ ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอมาฝ่ายละ 6 คน รวมเป็น 18 คน ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาคัดเลือกเหลือ 9 คน ใช้มติ 2 ใน 3 ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความถ่วงดุล เพราะมาจากตัวแทนรัฐบาล ฝ่ายค้าน ศาลฎีกาฝ่ายละ 3 คน นอกจากนี้ให้แก้ไขเรื่องอำนาจศาลรัฐธรรมนูญให้เหลือเฉพาะเรื่องร่าง พ.ร.บ.ใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ การขัดแย้งระหว่างองค์กรเท่านั้น และให้ยกเลิกอำนาจการตรวจสอบเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงให้มีระบบถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้...

ทั้งนี้ สมาชิกรัฐสภาได้ทยอยอภิปรายแสดงความเห็นต่อประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับประชาชน กันหลากหลาย โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุน ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ต่างอภิปรายไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นการยกเลิก ส.ว.

โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. อภิปรายว่า มีไม่กี่ประเทศในโลกที่ใช้ระบบสภาเดี่ยว ซึ่งร่างแก้ไขของผู้เสนอ ให้ ส.ส. มีอำนาจล้นฟ้า โดยมีตัวแทนไปนั่งในคณะกรรมการศาล ศาลปกครอง และสภากลาโหม พร้อมระบุว่า การมี 2 สภา เพื่อที่สภาสูงจะสามารถยับยั้งกฎหมายสภาล่างได้ ซึ่งการกำหนดเช่นนี้จะทำให้ไม่เกิดลักษณะการมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งรัฐธรรมนูญ 60 มีการกำหนดจำนวนและที่มา ซึ่งผู้ร่างได้พยายามคิดแล้วว่า จะมีที่มาของการทำหน้าที่ในการยับยั้ง และกลั่นกรองกฎหมายได้ระดับหนึ่ง เห็นได้จากการกำหนดให้มีการเลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ โดยแบ่งเป็น 20 กลุ่มอาชีพ กลุ่มละ 10 คน ซึ่งการให้เลือกกันเอง ตนเห็นว่าเป็นวิธีที่ค่อนข้างยากที่จะมีการกำหนดหรือล็อบบี้ได้ จึงขอให้ประชาชนที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เห็นถึงประโยชน์ของการมีสภาสูงด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างที่นายปิยบุตร กำลังชี้แจงรายละเอียดเรื่องยกเลิก ส.ว. นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ได้ลุกขึ้นประท้วงว่า นายปิยบุตรกำลังชี้แจงเท็จ เพราะอย่างน้อย ส.ว. มาจากรัฐธรรมนูญ แต่คนที่กำลังอภิปรายไม่สมควรที่จะมาชี้แจงรัฐธรรมนูญหรือเสนอร่างรัฐธรมนูญ เพราะว่าเป็นคนเนรคุณแผ่นดิน

ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานที่ประชุมว่า ให้ควบคุมการประชุม และขอให้นายกิตติศักดิ์ ถอนคำพูดที่ระบุว่า เป็นคนเนรคุณแผ่นดิน เพราะถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็น จากนั้นนายกิตติศักดิ์ ได้ยอมถอนคำว่า ผู้ที่นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นคนเนรคุณแผ่นดิน เป็นคำว่า "เป็นคนที่ล้มสถาบันพระมหากษัตริย์" จนนายรังสิมันต์ ต้องลุกขึ้นประท้วงอีกครั้ง ทำให้นายพรเพชร สั่งให้นายกิตติศักดิ์ ถอนคำพูดทั้ง 2 ประโยค เพราะถือว่าไม่สมควร จนนายกิตติศักดิ์ยอมถอนคำพูดดังกล่าวทั้งหมด

จากนั้นนายพรเพชรให้นายปิยบุตร ลุกขึ้นชี้แจงต่อ ซึ่งนายปิยบุตร กล่าวว่า เพิ่งเคยเห็นการประชุมรัฐสภา ที่มีเพื่อนสมาชิกลุกขึ้นกล่าวหาผู้ชี้แจงแบบนี้ แต่ไม่เป็นไร ตนถือคติมาตลอดว่า ชีวิตนี้ไม่เคยฟ้องหมิ่นประมาทใคร เชิญวิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มที่และประชาชนจะวินิจฉัยเองว่า มี ส.ว. แบบนี้ สมควรที่จะมีสภาฯ เดี่ยว หรือสภาฯ คู่ต่อไป

วันต่อมา (17 พ.ย.) ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้มีการลงคะแนนว่าจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม ที่นายพริษฐ์และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 135,247 คน เป็นผู้เสนอ ด้วยการขานชื่อสมาชิกเรียงตามอักษร ซึ่งผลการลงคะแนน ปรากฏว่า ส.ส. รับหลักการ 203 เสียง ส.ว. 3 เสียง ไม่รับหลักการ ส.ส. 249 เสียง ส.ว. 224 เสียง งดออกเสียง ส.ส. 3 เสียง ส.ว. 3 เสียง สรุป ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 473 เสียง ต่อ 206 เสียง จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 723 คน

ด้านนายพริษฐ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าผิดหวัง ตรงที่ข้อเสนอของเราไม่ถูกนำไปปฏิบัติในสังคม ขอย้ำอีกครั้งว่า ข้อเสนอเราไม่ได้สุดโต่ง หรือพยายามให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้เปรียบ ตนต้องขอโทษประชาชน 135,247 คน ที่มาร่วมเดินทางกับเรา รวมถึงที่ติดตามการอภิปราย คาดหวังจะให้ร่างฯของเราผ่าน “ยอมรับว่า ภารกิจเรายังไม่ได้สำเร็จ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงต้องเดินหน้าต่อไป ถ้ายังมีรัฐธรรมนูญที่มีที่มา กระบวนการเนื้อหาไม่ชอบธรรม มันไม่สามารถแก้ไขวิกฤตทางการเมืองได้"

ขณะที่นายปิยบุตร กล่าวว่า “ช่องทางประชาธิปไตยทางตรงแบบมีส่วนร่วมถูกปิดลงอีกแล้ว ประชาชนที่เข้าชื่อ 135,247 คน และที่สนับสนุนแต่ไม่ทันลงชื่อ อย่าสิ้นหวัง เรายังมีลมหายใจ มีความคิดที่จะรณรงค์ต่อไป เมื่อรัฐธรรมนูญ 60 ประกาศใช้ ยอมรับว่าแก้ไขยาก แต่ถ้าเราไม่เคลื่อนไหว พวกเขาก็จะอยู่กับรัฐธรรมนูญที่เขาออกแบบมาไปตลอดกาล จึงเป็นภารกิจของพวกเราประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตัวจริงเสียงจริง ที่ต้องผลักดันต่อไป แม้ไม่ประสบความสำเร็จ จะต้องล้มอีกกี่ครั้งจะต้องลุกขึ้นยืนใหม่ ต่อสู้ผลักดันแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จให้ได้"

3. ม็อบรถบรรทุกขู่ขึ้นค่าขนส่ง-หยุดวิ่ง หากรัฐไม่ตรึงดีเซลที่ 25 บ./ลิตร ด้าน “บิ๊กตู่” วอนอย่ากดดัน พร้อมใช้รถทหารช่วยขนส่งถ้าจำเป็น!



สืบเนื่องจากปัญหาน้ำมันแพง เมื่อวันที่ 15 พ.ย. นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เผยระหว่างลงพื้นที่ร่วมประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.กระบี่ ว่า กระทรวงฯ กำลังเร่งดำเนินการเรื่องขอกู้ยืมเงินเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 จำนวน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำเสนอให้ ครม.พิจารณาอย่างเร็วที่สุด เนื่องจากสถานะของกองทุนน้ำมันล่าสุด มีเงินเหลืออยู่ไม่มาก สามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรได้จนถึงสิ้นปี 2564 เท่านั้น ขณะเดียวกันกระทรวงยังติดตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด มองว่าน่าจะอ่อนตัวลงได้

ด้านสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยจะนำรถบรรทุก 500 คันไปกระทรวงพลังงาน เพื่อทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์พลังของคนรถบรรทุก หรือ Truck Power ซีซั่น 2 เพื่อยกระดับการแสดงออกให้รัฐบาลทราบถึงความเดือดร้อนของผู้บริโภคน้ำมัน โดยรถบรรทุก 500 คัน จะไปรวมกันที่หน้ากระทรวงพลังงาน ถนนวิภาวดีรังสิต ใช้เวลาทำกิจกรรม 1 ชม. ไม่ปักหลักค้างคืน จะกลับให้ทันเวลาการวิ่งของรถบรรทุกไม่เกิน 15.00 น.

โดยวันต่อมา 16 พ.ย. ผู้ประกอบการรถบรรทุกสมาชิกของสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยกว่า 100 คัน ได้เคลื่อนขบวนมาที่กระทรวงพลังงาน จอดเรียงยาวบนถนนวิภาวดีเป็นระยะทางกว่า 5 กม. เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์พลังของคนรถบรรทุก พร้อมเรียกร้องและยื่นหนังสือให้ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร หลังจากนั้น นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เป็นตัวแทนกระทรวงรับหนังสือเรียกร้อง

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เผยเนื้อหาในหนังสือที่ยื่นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานว่า เรียกร้องตามจุดยืนเดิม คือ ตรึงราคาน้ำมันดีเซล 25 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 1 ปี ลดการเก็บภาษีสรรพสามิต น้ำมันดีเซล ลดลงเหลือ 5 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 1 ปี และใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาดูแล ถอดส่วนผสมน้ำมันปาล์มออกจากน้ำมันดีเซล และว่า รัฐบาลสามารถตั้งโต๊ะหารือ เพื่อหาแนวทางการดูแลราคาน้ำมันที่เหมาะสมร่วมกัน แต่ควรจะต้องต่ำกว่าราคา 30 บาทต่อลิตร เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลเลือกที่จะเพิกเฉยไม่รับข้อเรียกร้องใดๆ ตั้งแต่การเคลื่อนไหวช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ตลอดจนการหยุดวิ่งรถขนส่ง 20% ตลอดเดือน พ.ย.นี้

นายอภิชาติ กล่าวด้วยว่า หลังจากยื่นหนังสือ จะให้เวลาพิจารณาถึงสิ้นเดือน พ.ย.นี้ หากไม่มีการเคลื่อนไหวหรือช่วยเหลือใดๆ ทางสหพันธ์ฯ จะประกาศขึ้นราคาขนส่งสินค้าอีก 10% มีผลวันที่ 1 ธ.ค.เป็นต้นไป และหากรัฐบาลยังเพิกเฉย จะพิจารณายกระดับให้สมาชิกสหพันธ์ทั่วประเทศ เติมน้ำมันรถบรรทุก 20 ลิตรต่อคัน วิ่งไปตามทาง หากน้ำมันหมดที่ใด ก็จอดที่นั่น หากจะมายึดหรือมาลากรถไปก็ยินดี เพราะทุกวันนี้จะโดนไฟแนนซ์ยกรถไปอยู่แล้ว

ต่อมา นายอภิชาติและคณะ ได้เดินทางไปที่รัฐสภา ยื่นหนังสือถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายกิตติกร โล่ห์สุนทร ส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้แก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง

ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้แปลก บริหารด้วยเสียงด่าและเสียงเรียกร้อง ถึงจะเริ่มดำเนินการ พรรคเพื่อไทยจะติดตามเรื่องนี้และนำเข้าสู่กลไกตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อมีมาตรการและข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล

วันเดียวกัน (16 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาราคาน้ำมัน หลังเป็นประธานการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.กระบี่ ว่า ยืนยันแล้วว่า เราต้องรักษาให้ได้ในราคา 30 บาทต่อลิตรก่อน และถ้าราคาน้ำมันปรับลดลง ทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะขนาดตรึงแค่ราคา 30 บาท ก็ใช้เงินอุดหนุนไปประมาณเดือนละ 3,000 ล้านบาทลงไป ในส่วนของกองทุนน้ำมันนั้น อยู่ในสภาพติดลบแล้ว และว่า วันเดียวกันนี้ ครม.ได้อนุมัติเงินกู้ไปเพื่อนำงบประมาณมาใช้จ่ายสำรองไว้ใช้ในช่วง 4 เดือนข้างหน้า ถ้าราคาน้ำมันลดลงก็ไม่มีปัญหา ทุกอย่างก็จะกลับคืนเข้าสู่สภาวะปกติ ราคาน้ำมันก็จะลดลงมาเอง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า “ขอร้องว่าอย่าใช้แรงกดดันมาเลย ขอให้เห็นใจประเทศชาติบ้างในเวลานี้ อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปจัดการขนส่งทางรถไฟ จะเอารถ บขส.ในการขนส่งสินค้าเพิ่มเติม และถ้ามีความจำเป็น ทหารก็พร้อมจะสนับสนุนให้ด้วย”

วันต่อมา 17 พ.ย. นายวสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย กล่าวถึงกรณีที่นายกฯ จะสั่งให้ใช้รถทหาร รถไฟ และรถ บขส.ช่วยขนสินค้าแทนหากรถบรรทุกหยุดวิ่งว่า ถือเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เปรียบเหมือนขว้างงูไม่พ้นคอ เพราะปัญหาที่แท้จริง มาจากราคาน้ำมันที่แพงกว่าความเป็นจริง จึงอยากให้รัฐบาลรับฟังและน้ำข้อเรียกร้องของสหพันธ์ฯ ไปปรับใช้ให้เหมาะสม “การที่นายกฯ สั่งการเช่นนี้ ยิ่งเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้ภาคเอกชนยกระดับการเรียกร้องที่รุนแรงขึ้นไปอีก อาทิ การปรับเพิ่มค่าขนส่ง 10% หากทางผู้ประกอบปฏิบัติจริง จะยิ่งเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนมากขึ้นไปอีก ทางภาคเอกชนเองไม่ได้อยากให้เป็นเช่นนั้น”

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ทางกระทรวงพลังงานได้เรียกทางสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เข้าพบเพื่อหารือปัญหาราคาน้ำมัน ในวันที่ 22 พ.ย.นี้ ต้องติดตามว่า ผลการเจรจาจะออกมาอย่างไร

4. ก.อ.ยอมถอย มีมติถอนเรื่องเสนอแต่งตั้ง "ปรเมศวร์" เป็นผู้ตรวจอัยการ หลังถูก สนง.องคมนตรี-สำนักเลขา ครม.ตีกลับหลายครั้ง!



เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ได้เป็นประธานการประชุม ก.อ. โดยมีวาระสำคัญเกี่ยวกับการแต่งตั้งนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ขึ้นเป็นผู้ตรวจการอัยการ

หลังประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง นายพชร เผยว่า ที่ประชุม ก.อ. ได้พิจารณาเรื่องที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งเรื่องกลับมาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องที่นายปรเมศวร์ ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดนนทบุรี ความผิด พ.ร.บ.จราจรฯ ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบขอถอนเรื่องโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายปรเมศวร์เป็นผู้ตรวจการอัยการกลับมาพิจารณา โดยเห็นว่า จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล เรื่องการคุมประพฤติให้เรียบร้อยก่อน จึงแต่งตั้งให้นายปรเมศวร์ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีอัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ขึ้นอยู่กับคำสั่งของนายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด จะเป็นผู้พิจารณามอบหมายงานให้นายปรเมศวร์ต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายปรเมศวร์จะได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งอีกหรือไม่ นายพชร กล่าวว่า ก็คงจะสิ้นสุดแค่นี้ เนื่องจากนายปรเมศวร์จะเกษียณอายุราชการในปี 65 ส่วนจะขอเป็นอัยการอาวุโสหรือไม่นั้น ก็เป็นสิทธิของนายปรเมศวร์ สำหรับการที่นายปรเมศวร์ยังให้ข้อมูลด้านกฎหมายและวิชาการกับสื่อมวลชนนั้น ก็เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เพราะเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการปฏิบัติหน้าที่งานราชการ

อนึ่ง ก่อนหน้าที่ ก.อ.จะมีมติเห็นชอบให้ถอนเรื่องเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายปรเมศวร์เป็นผู้ตรวจอัยการ เรื่องนี้ได้ถูกตีกลับจากทางสำนักงานองคมนตรีและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง ถึงความเหมาะสมในการเสนอแต่งตั้งนายปรเมศวร์ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เนื่องจากคดีที่นายปรเมศวร์ขับรถขณะเมาสุราและเฉี่ยวชนแล้วหลบหนี ยังไม่สิ้นสุด หลังศาลพิพากษาจำคุก แม้จะรอลงอาญา และอัยการไม่อุทธรณ์คดี แต่นายปรเมศวร์ก็ยังอยู่ระหว่างถูกคุมประพฤติ

ทั้งนี้ ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 เม.ย.64 ว่า นายปรเมศวร์ จำเลย มีความผิดตาม พรบ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรีวรรคสอง จำคุก 1 ปี และปรับ 4 หมื่นบาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือนและปรับ 2 หมื่นบาท เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจ จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้งกับให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคม หรือสาธารณประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 24 ชั่วโมง

5. ศาลสอบคำให้การ “ผกก.โจ้” ปฏิเสธเจตนาฆ่า ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหา 6 ชั้นเสียชีวิต อ้างขยายผลยาเสพติด ทำเพื่อชาติ!



เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้นัดสอบคำให้การจำเลย คดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามทุจริต 3 เป็นโจทก์ฟ้อง พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผกก.โจ้ อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ อายุ 39 ปี จำเลยที่ 1, พ.ต.ต.รวิโรจน์ ดิษทอง อายุ 38 ปี จำเลยที่ 2, ร.ต.อ.ทรงยศ คล้ายนาค อายุ 41 ปี จำเลยที่ 3, ร.ต.ท.ธรณินทร์ มาศวรรณา อายุ 55 ปี จำเลยที่ 4, ด.ต.วิสุทธิ์ บุญเขียว อายุ 51 ปี จำเลยที่ 5, ด.ต.ศุภากร นิ่มชื่น อายุ 46 ปี จำเลยที่ 6 และ ส.ต.ต.ปวีณ์กร คำมาเร็ว จำเลยที่ 7

ในความผิด 4 ข้อหา ประกอบด้วย 1.เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ป.อาญา ม.157 2. เป็นเจ้าพนักงานของรัฐใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ม.172 3. ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ป.อาญา มาตรา 289 (5) และ 4. ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ป.อาญา มาตรา 309 สืบเนื่องจากนายจิระพงษ์ หรือ มาวิน ธนะพัฒน์ ผู้ต้องหาคดียาเสพติดเสียชีวิตระหว่างถูกจับและควบคุมไว้ในคดียาเสพติดและถูกฆ่าถึงแก่ความตายขณะอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ระหว่างวันที่ 4-6 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ที่ สภ.นครสวรรค์

ทั้งนี้ ศาลได้เบิกตัวจำเลยทั้งหมดจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อมาสอบคำให้การ ด้าน ร.ต.จักรกฤณ์ กลั่นดี บิดาของนายจิรพงษ์ ผู้ต้องหาที่เสียชีวิต ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลถามอัยการโจทก์ และทนายจำเลยแล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้เป็นโจทก์ร่วมได้

จากนั้น ศาลได้อ่านอธิบายคำฟ้อง และสอบคำให้การ ซึ่ง พ.ต.อ.ธิติสรรค์ หรือ ผกก.โจ้ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาที่ 1, 2 และ 4 ยกเว้นข้อหาที่ 3 โดยยอมรับว่า มีการทำร้ายร่างกาย เพราะต้องการขยายผลทางคดียาเสพติด ที่เป็นภัยร้ายของสังคม ไม่ได้ต้องการให้นายจิรพงษ์ถึงแก่ความตาย และว่า ที่ทำไปเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ

ขณะที่จำเลยที่ 2 ให้การยอมรับสารภาพทุกข้อหา ยกเว้นข้อหาที่ 3 เช่นเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่า ไม่ได้เจตนาจะให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย เพียงแต่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธข้อหาที่ 3 และ 4 โดยให้เหตุผลว่า ได้เข้ามาที่เกิดเหตุภายหลัง และไม่ได้ร่วมทำร้ายผู้ตาย ด้านจำเลยที่ 4 ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยกเว้นข้อหาที่ 4 ที่ให้การรับสารภาพ โดยระบุว่า ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ร่วมทำร้ายจริง แต่ไม่เจตนาให้ถึงแก่ชีวิต

ขณะที่จำเลยที่ 5-7 ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยจำเลยที่ 5 และ 7 ให้เหตุผลว่า อยู่ในเหตุการณ์ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่ไม่ได้ร่วมทำร้าย ส่วนจำเลยที่ 6 ระบุว่า เข้าไปในที่เกิดเหตุ แล้วเดินออกมา โดยเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นไปแล้ว

ต่อมา ร.ต.จักรกฤณ์ บิดาของผู้ต้องหาที่เสียชีวิต เผยว่า อัยการที่นครสวรรค์แนะนำให้ตั้งทนายความเพื่อขอเป็นโจทก์ร่วม ซึ่งทางศาลได้เมตตา เพราะขอยื่นเรื่องในวันนี้ ทำให้สามารถเป็นโจทก์ร่วมได้ และจะได้ทราบทุกขั้นตอนของกระบวนการกฎหมาย และว่า เมื่อฟังคำให้การของจำเลยแล้ว ตนคิดว่า เขาก็ให้การสมเหตุสมผล ว่าเป็นการทำงาน เพื่อเป็นการขยายผลคดียาเสพติด แต่ก็สงสารลูก ทุกวันนี้ยังมองเห็นภาพลูกที่โดนกระทำ ตนรับไม่ได้จริงๆ วันนี้ จึงมารับทราบว่าเขาจะให้การอย่างไร และขอความยุติธรรมจากศาล โดยศาลได้นัดตรวจหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 19 ม.ค. 2565 เวลา 09.30 น.

เมื่อถามว่า ได้ฟังคำให้การของจำเลยแล้วมีความกังวลหรือไม่ ร.ต.จักรกฤณ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะเราไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้มากกว่านี้ ให้เป็นไปตามขั้นตอนการพิจารณาของศาลดีกว่า

อนึ่ง ก่อนหน้าที่ศาลฯ จะสอบคำให้การผู้ต้องหาคดีนี้ อัยการได้แถลงความคืบหน้าของคดีว่า ได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาดังกล่าวต่อศาลฯ แล้ว 4 ข้อหาเมื่อวันที่ 15 พ.ย. โดยเฉพาะข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยทรมานทารุณโหดร้าย ตาม ป.อาญามาตรา 289(5) อัยการระบุว่า โทษประหารชีวิตสถานเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น