1.ศาล รธน.วินิจฉัย “อานนท์-รุ้ง-ไมค์” และเครือข่าย ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง-ทำลายสถาบัน พร้อมสั่งให้เลิกการกระทำ!
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดีที่นายณฐพร โตประยูร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎร กรณีชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต เสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
สำหรับข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ประกอบด้วย 1.ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า ผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร
2.ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดี เพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน 3.ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน 4.ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
5.ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี ให้ยกเลิก 6.ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด
7.ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ 8.ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด 9.สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ 10.ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 มีเจตนารมณ์ปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศ ให้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมุ่งหมายให้ปวงชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้องคุ้มครองพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญจากการกระทําของบุคคลหรือกลุ่มคนที่ใช้สิทธิหรือเสรีภาพในประการที่อาจนําไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยยื่นคําร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากอัยการสูงสุดมีค้าสั่งไม่รับดําเนินการ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคําร้อง รัฐธรรมนูญก็รับรองสิทธิของผู้ร้องให้ยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย สั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวได้
ซึ่งข้อเท็จจริงตามคําร้อง คําชี้แจง พยานหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้งบันทึกเสียงการปราศรัย ของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฟังเป็นที่ยุติว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อภิปรายในที่สาธารณะหลายครั้งหลายสถานที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เรียกร้องให้ต้าเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อภิปรายเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยข้อเรียกร้องรวม 10 ประการ
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า พระมหากษัตริย์กับซาติไทยดํารงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกันนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน และจะต้องดํารงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคต เพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ ปวงชนชาวไทยจึงถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิตมิได้
“ข้อเรียกร้องที่ขอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐที่ผู้ใดจะกล่าวหาหรือละเมิดมิได้นั้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดแจ้ง การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิถีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่างได้ด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นทำตาม”
ยิ่งกว่านั้น การกระทําของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย แม้การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จะผ่านไปแล้ว ภายหลังจากที่ผู้ร้องยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ยังปรากฏว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยังคงร่วมชุมนุมกับกลุ่มบุคคลกลุ่มต่างๆ โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์เป็นแบบไม่มีแกนนําที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทําอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน
การเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 3 และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีลักษณะเป็นขบวนการเดียวกันที่มีเจตนาเดียวกันตั้งแต่แรก ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีพฤติการณ์กระทําซ้ำและกระทําต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกระทํากันเป็นขบวนการ ซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ แต่มีลักษณะของการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม ทําให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทําลายหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ นําไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
“ดังนั้น การกระทําที่มีเจตนาเพื่อทําลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลาย ไม่ว่าจะโดยการพูด การเขียน หรือการกระทําต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทําลาย ด้อยคุณค่า หรือทําให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ การใช้สิทธิเสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย”
แม้เหตุการณ์ตามคําร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทําการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนําไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า การกระทําของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมีมติเป็นเอกฉันท์ สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทําการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง
เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง นักศึกษาคณะสังคมวิทยาฯ ม.ธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ถูกร้อง ได้แถลงต่อศาลว่า จะไม่ขอฟังการอ่านคำวินิจฉัย แล้วเดินออกมานอกศาล แสดงการไม่ยอมรับต่อศาล จากนั้นได้ออกมานั่งฟังกับมวลชนที่รออยู่ด้านนอกผ่านจอโทรทัศน์ เมื่อศาลอ่านคำวินิจฉัยเสร็จสิ้น น.ส.ปนัสยาได้อ่านแถลงของตนเอง หลังจากนั้น ได้มีการโปรยกระดาษเอ 4 หน้าศาล โดยกระดาษมีทั้งข้อความที่ระบุว่า ปฏิรูป =/= ล้มล้าง, ข้อความเรียกร้องยกเลิกมาตรา 112 และข้อความ ปฏิรูปตุลาการ
ต่อมา มวลชนที่อยู่บริเวณนอกศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผาหุ่นจำลองอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อแสดงความไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลฯ พร้อมตะโกนด่าทอศาลรัฐธรรมนูญด้วยคำที่หยาบคาย
2.“รุ้ง ปนัสยา” ท้าทายศาล รธน.นัดชุมนุมเดินหน้า 10 ข้อปฏิรูปสถาบัน ด้าน ผสข.ข่าวสด ชี้โปสเตอร์นัดชุมนุม สะท้อนต้องการล้มเจ้า!
วันนี้ (13 พ.ย.) กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มปฏิรูปสถาบัน รวมถึงองค์กร-เครือข่ายภาคประชาชน นำโดย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ได้ร่วมแถลงในนาม "กลุ่มไม่เอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" พร้อมอ่านแถลงการณ์ต่อต้านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีล้มล้างการปกครอง โดย น.ส.ปนัสยา ยืนยันข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ไม่ได้มีเจตนาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมประกาศ ไม่สามารถยอมรับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้อำนาจไม่สุจริต เป็นการอ้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญกำจัดศัตรูทางการเมือง โดยจะมีการชุมนุมใหญ่ในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ย.นี้ เวลา 15.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังสนามหลวง โดยเป้าหมายต่อต้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ภายใต้หัวข้อ "ต่อต้านการปกครอง ต่อต้านสมบูรณาญาสิทธิราชย์"
น.ส.ปนัสยา กล่าวด้วยว่า ยืนยันที่จะเรียกร้อง 10 ข้อการปฏิรูปสถาบันฯ โดยการขับเคลื่อนจะเป็นไปด้วยความสันติในการชุมนุม ส่วนจะรุนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของรัฐบาลเอง
ด้านนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส ข่าวสด ได้โพสต์ข้อความวิจารณ์โปสเตอร์ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งมี น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และเครือข่าย จะจัดการชุมนุมในหัวข้อ "ไม่เอาสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ย.นี้ว่า "การสื่อสารอย่างชัดเจนไม่สับสนคลุมเคลือนั้นสำคัญ ตรงกลางโปสเตอร์ชวนประชาชนไปชุมนุมวันพรุ่งนี้มีป้ายพร้อมประโยค "ปฎิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง" แต่ทางซ้ายมือของโปสเตอร์มีรูปกิโยติน สัญญลักษณ์แห่งการล้มเจ้า ประหารกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส
และกลางโปสเตอร์มีกรอบรูปทองทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้งที่ตรงกลางที่ไม่มีรูป... (พระบรมฉายาลักษณ์) นั่นก็สามารถตีความโดยรอยัลลิสต์ว่า ต้องการล้มเจ้าได้
ตกลงคนออกแบบสับสนไม่เข้าใจ หรือว่าต้องการสื่ออะไร? เพราะเมสเสจว่า "ปฎิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง" มันถูกหักล้างย้อนแย้งโดยกิโยตินและกรอบรูปทองอันว่างเปล่า
หรือคนออกแบบต้องการให้คลุมเคลือตีความได้สารพัด?
เช่นนี้แล้ว อย่าแปลกใจที่ถูกอีกฝั่งเหมารวมว่า เป็นพวกล้มเจ้าล้มการปกครอง ไม่เพียงแต่ศาลรัฐธรรมนูญ หากจากประชาชนอีกฝั่ง #ป #ปฎิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง #ปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ #ม112"
3. ศบค. ปรับลดพื้นที่สีแดงเข้มเหลือ 6 จังหวัด พร้อมเคอร์ฟิวต่อถึง 30 พ.ย. เลื่อนเปิดสถานบันเทิงเป็น 16 ม.ค. ปีหน้า!
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานว่า ศบค.เห็นชอบปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยทั่วราชอาณาจักร โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ลดจาก 7 จังหวัด เหลือ 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดตาก นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา
สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) ปรับเพิ่มจาก 38 จังหวัด เป็น 39 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดกาญจนบุรี ขอนแก่น จันทบุรี ชลบุรี ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา ตรัง ตราด นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พัทลุง พิจิตร พัทลุง เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สตูล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สระแก้ว สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี อ่างทอง อุดรธานีและ อุบลราชธานี
ส่วนพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) คงเดิม 23 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ชัยนาท ชัยภูมิ บุรีรัมย์ พะเยา แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย สิงห์บุรี สุโขทัย สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ อุทัยธานี อำนาจเจริญ และ ศรีสะเกษ
ขณะที่พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 5 จังหวัด ประกอบด้วย นครพนม น่าน บึงกาฬ มุกดาหาร และ สกลนคร ส่วนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 4 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ กระบี่ พังงา และ ภูเก็ต
สำหรับกิจกรรมและกิจการการห้ามออกนอกเคหสถาน Work from Home การจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม สถานศึกษาทุกระดับ สถาบันกวดวิชา สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานพัฒนาเด็กประถมวัย ศูนย์เด็กพิเศษ สถานที่ให้การดูแล หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่เป็นการจัดสวัสดิการให้แก่เด็กศูนย์ดูแล ผู้สูงอายุ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ทุกประเภท ศูนย์การเรียนรู้ หรือสถานที่ที่มีลักษณะคล้ายร้านอาหาร ทั้งในและนอกศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่อื่นใดที่มีร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ตลาด ตลาดนัด ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ รวมถึงสถานที่ลักษณะเดียวกันในห้างสรรพสินค้า และโรงแรม ร้านเสริมสวย ร้านสถานศึกษาความงาม ร้านสัก สถานบริการเพื่อสุขภาพ นวด สปา สถานที่เล่นกีฬา สนามกีฬา ลานกีฬา สระน้ำ หรือสถานที่จัดแข่งขันกีฬา โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ การแสดงพื้นบ้าน หรือสถานที่ลักษณะเดียวกัน ยังคงใช้มาตรการเดิม โดยเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ยังคงห้ามออกนอกเคหสถาน ในเวลาในเวลา 23.00-03.00 น. ไปอีก 15 วัน ถึงวันที่ 30 พ.ย.2564
นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ได้เห็นชอบเลื่อนการเปิดบริการสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ จากแผนเดิมวันที่ 1 ธ.ค.นี้ เป็นวันที่ 16 ม.ค.2565 เพื่อเตรียมการ และประเมินสถานการณ์การระบาด และความครอบคลุมการได้รับวัคซีน เนื่องจากเป็นกิจการเสียงที่เคยเกิดการระบาดใหญ่ และเป็นต้นเหตุในการระบาดในชุมชน และต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องกำกับมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ต้องมีการประเมินสถานการณ์และการได้รับวัคซีนของแต่ละพื้นที่อย่างรอบคอบ ก่อนเปิดดำเนินการ
ส่วนกีฬาชนไก่ ชนวัว และแข่งม้า มีการเสนอในที่ประชุม ศบค. เพื่อขออนุญาต เนื่องจากมีการเสนอมาหลายรอบแล้ว ซึ่ง ผอ.ศบค.กล่าวว่า รับทราบถึงความเดือดร้อน จึงมอบให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขไปดูมาตรการที่จะควบคุมโรค เพื่อให้เปิดกิจการและกิจกรรมเหล่านี้ได้
สำหรับปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่เข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก ขณะที่ความต้องการแรงงานภายในประเทศก็มีมากเช่นเดียวกันนั้น ที่ประชุม ศบค.พิจารณาแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามเอ็มโอยู โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้นำเสนอ 8 ขั้นตอน และที่ประชุม ศบค.เห็นชอบ คือ 1.การยื่นแบบคำร้องขอนำเข้าคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ 2.การจัดส่งคำร้องความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว 3.การดำเนินการของประเทศต้นทาง 4. การยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว 5.การอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ 6.การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร (ด่านตรวจคนเข้าเมือง) 7.สถานที่กักตัว และ 8. การอบรมและรับใบอนุญาตการทำงาน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้พูดคุยกับกระทรวงแรงงานว่า เมื่อแรงงานเข้ามาแล้วจะต้องดูเรื่องการตรวจโรค จะต้องได้รับวัคซีนครบแล้ว หากได้รับวัคซีนไม่ครบจะต้องมีการกักตัว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า “คนที่ลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายขอให้หยุด เพราะเมื่อมาตรการดังกล่าวได้รับการอนุมัติแล้ว ขอให้รอรับคนเข้ามาอย่างถูกต้องและตรวจโรค เพื่อจะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับผู้ใช้แรงงานข้ามชาติแล้วนำโรคมายังโรงงานและครอบครัว หรือตัวของท่าน ที่ประชุมเปิดให้เข้าอย่างถูกกฎหมายแล้ว การเข้ามา โดยการแอบขึ้นบนรถตู้ ไม่ต้องเกิดขึ้นแล้ว คาดว่า มาตรการดังกล่าวจะสามารถใช้ได้ในเดือน ธ.ค.”
4. ศาลฎีกามีมติ “ปารีณา” ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ กมธ. ระหว่างถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. กรณีรุกป่าสงวน!
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ศาลฎีกาได้พิจารณาคดีครั้งแรก คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนใน จ.ราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม ซึ่ง ป.ป.ช.ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า น.ส.ปารีณาสามารถทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในระหว่างที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้หรือไม่
โดยองค์คณะผู้พิาพากษาเสียงข้างมากเห็นว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร การทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งของ ส.ส. ดังนั้น เมื่อ น.ส.ปารีณา ยังเป็น ส.ส. แต่อยู่ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการได้
ส่วนที่ น.ส.ปารีณา ขอให้ศาลส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ป.ป.ช.ไต่สวนคดีนี้โดยไม่ผ่านมติกรรมาธิการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฏร เป็นมติที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า ข้อห้ามตามคำร้องไม่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ จึงไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อีกทั้งข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ไม่ตัดอำนาจ ป.ป.ช.ที่จะเสนอข้อเท็จจริง จึงยกคำร้องในส่วนนี้
ส่วนการนัดตรวจหลักฐาน ป.ป.ช. ผู้ร้อง ขอส่งพยานหลักฐาน 58 อันดับ และขอนำพยานบุคคลเข้าไต่สวน 12 ปาก ขณะที่ น.ส.ปารีณา ผู้คัดค้านขอส่งพยานหลักฐาน 18 อันดับ พร้อมขอไต่สวนพยานบุคคล 10 ปาก หลังศาลสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วไม่โต้แย้ง องค์คณะผู้พิพากษาเห็นควรให้ไต่สวนพยานตามที่ทั้งสองฝ่ายแถลง โดยให้คู่ความทำบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงส่งให้ศาลไม่น้อยกว่า 14 วัน
ทั้งนี้ ศาลนัดไต่สวนพยานวันที่ 8, 22, 28 ก.พ. 2565 และวันที่ 1-3, 8, 10 มี.ค.2565 เวลา 09.30-16.30 น. และนัดพิพากษาวันที่ 7 เม.ย.2565 เวลา 10.30 น.
ด้าน น.ส.ปารีณา กล่าวว่า ตนน้อมรับคำวินิจฉัยของศาล และจะเป็นบรรทัดฐานของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ตลอดไปว่า ส.ส. ที่ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว จะไม่สามารถเป็นกรรมาธิการสามัญและวิสามัญได้ ซึ่งในอดีตคือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปํจจุบันก็คือตนเอง ซึ่งคำวินิจฉัยก็จะผูกพันทุกองค์กร เป็นบรรทัดฐานใหม่ ที่เราจะต้องปฏิบัติตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป แต่ถึงแม้จะถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังคงเป็น ส.ส. และปกติที่ผ่านมาก็ได้ลงพื้นที่ดูแลพี่น้องประชาชนอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว
5. “สมรักษ์” ช็อก นัด “ส.จ.ดำ” เคลียร์เงินที่ถูกโกง 10 ล้าน แต่เจ้าตัวไม่มา ตามไปดูที่บ้าน พบยิงลูกเมียก่อนฆ่าตัวตายตามรวม 4 ศพ!
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. เวลาประมาณ 14.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หัวหมาก ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหมู่บ้านกลางเมือง เดอะปารีส กรุงเทพ-กรีฑา ซ.7 แยก 10 ว่า เกิดเหตุทะเลาะวิวาทภายในครอบครัว และมีเสียงดังคล้ายเสียงปืนหลายครั้ง
หลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบผู้เสียชีวิต 4 คน ประกอบด้วย 1.นายธวัชชัย ทองอ่อน หรือ ส.จ.ดำ อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าของร้านเสบียงทิพย์ หลังมหาวิทยาลัยรามคำแหง 2.น.ส.ภัทรณัฐ สังข์ประไพ อายุ 48 ปี ภรรยา 3.เด็กหญิง อายุ 13 ปี ลูกสาวคนโต 4.เด็กหญิง อายุ 11 ปี ลูกสาวคนเล็ก
สำหรับผู้ก่อเหตุ คือ นายธวัชชัย ทองอ่อน หรือ ส.จ.ดำ ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยถูกตำรวจกองปราบปรามจับกุมในคดีใช้เอกสารปลอม-ฉ้อโกง เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม 2562 ซึ่งนายธวัชชัย ได้ก่อเหตุหลอกลวงเอาเงินจากนักธุรกิจกลุ่มหนึ่ง โดยอ้างว่า สามารถดำเนินการให้ผู้เสียหายได้รับงานจัดซื้อจัดจ้างโครงการงบอุดหนุนเฉพาะกิจให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมทั้งอ้างว่า รู้จักทีมงานเลขาฯ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยจะประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ได้รับงบจัดซื้อจัดจ้าง แต่มีข้อแม้ว่า ผู้เสียหายกลุ่มนี้จะต้องยอมจ่ายเงินเป็นค่าดำเนินการดังกล่าวจำนวนกว่า 29 ล้านบาท ผู้เสียหายเห็นว่า นายธวัชชัย เคยมีตำแหน่งการเมืองท้องถิ่น และมีการนำเอกสารราชการเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวมาให้ผู้เสียหายดู จึงหลงเชื่อยอมจ่ายเงินให้กับนายธวัชชัย ตามที่ร้องขอ
ต่อมาได้มีการตรวจสอบไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงทราบว่า ไม่มีโครงการดังกล่าวตามที่นายธวัชชัยอ้างจริง ซึ่งเอกสารราชการโครงการดังกล่าวที่นายธวัชชัยมอบให้ผู้เสียหายเป็นเอกสารที่นายธวัชชัยทำปลอมขึ้นเพื่อตบตา จึงได้มีการร้องเรียนมาทางกองปราบฯ
โดยหนึ่งในผู้เสียหายที่ถูกนายธวัชชัยฉ้อโกง คือ นายสมรักษ์ คำสิงห์ อดีตนักมวยเจ้าของเหรียญทองกีฬาโอลิมปิก ที่ถูกนายธวัชชัย หลอกให้ร่วมลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ไม่ได้ของตามที่ตกลงกัน และมีรายงานข่าวว่า วันเดียวกันนี้ นายธวัชชัยได้นัดหมายนายสมรักษ์ เพื่อจ่ายเงินคืนจำนวน 10 ล้านบาท ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง แต่เมื่อถึงเวลานัดหมาย นายธวัชชัยไม่มาตามนัด ด้านนายสมรักษ์ กับพรรคพวก ได้ตามมาที่บ้าน เมื่อมาถึงบ้านพบว่า นายธวัชชัยและสมาชิกในครอบครัวได้เสียชีวิตแล้ว
วันต่อมา (11 พ.ย.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น.กล่าวถึงกรณีนายธวัชชัย ก่อเหตุยิงลูกเมีย 3 ศพ ก่อนยิงตัวเองตายตามว่า พนักงานสอบสวน สน.หัวหมาก ได้ดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1.ทำสำนวนชันสูตรพลิกศพทั้ง 4 ศพ อยู่ระหว่างนำส่งตรวจพิสูจน์ที่สถาบันนิติเวช 2.ข้อหาฆ่าผู้อื่น พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำญาติ รปภ.ในหมู่บ้านไปแล้วบางส่วน และจะเชิญตัวพยานที่เกี่ยวข้อง หรือรู้เห็นในประเด็นเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต รวมถึง น.ต.สมรักษ์ คําสิงห์ เพื่อสอบปากคำประกอบสำนวนการสอบสวน
พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวด้วยว่า แม้ผู้ก่อเหตุเสียชีวิต แต่ความผิดไม่ได้ยุติลง ยังคงทำสำนวนการสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อสรุป เบื้องต้นสันนิษฐานว่า สาเหตุเกิดจากปัญหาหนี้สิน อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
ทั้งนี้ วันเดียวกัน (11 พ.ย.) ที่สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ พร้อมด้วยนายกำชัย สังข์ประไพ เดินทางมารับศพนายธวัชชัย หรือ ส.จ.ดำ ที่ก่อเหตุยิง น.ส.ภัทรณัฐ สังข์ประไพ ภรรยา และลูกสาวอีก 2 คน เสียชีวิต ภายในบ้านพัก โดย พล.ต.ต.วิชัย กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ติดใจเบื้องหลังอะไร สาเหตุน่าจะเป็นเรื่องหนี้สินของนายธวัชชัย ที่มีจำนวนมาก และไม่รู้ว่าไปมีหนี้สินกับใครบ้าง แต่ทราบว่า มีหนี้สินเรื่องรับเหมา ประมูลงาน ไปกู้เงินเขามา และลงเล่นการเมือง จึงเป็นหนี้สินผูกพันมาเรื่อยๆ คาดว่า ยอดเงินหลายสิบล้านบาท และคงแก้ปัญหาไม่ได้
“คิดว่าเขาคงเต็มที่แล้ว ไม่อยากปล่อยภาระไว้ให้ลูกต้องลำบาก เพราะเขารักลูกมาก และคาดว่า ฟางเส้นสุดท้ายอาจมาจากการถูกเร่งรัดหนี้ลอตเตอรี่ 10 ล้านบาท เนื่องจากทราบว่า วันเกิดเหตุมีการนัดจ่ายหนี้ เบื้องต้น 2,500,000 บาท แต่ตัดสินใจก่อเหตุก่อนที่จะพบหน้านายสมรักษ์ เพื่อใช้หนี้” และว่า ก่อนเกิดเหตุ เพื่อนบ้านสังเกตเห็นนายธวัชชัย มีอาการเครียดอย่างเห็นได้ชัด จากการสูบหรี่จัด ที่ผ่านมา ตนเคยเจอกับนายธวัชชัย แต่เขาก็ไม่เคยมาขอความช่วยเหลือเรื่องคดีความต่างๆ ซึ่งส่วนตัวได้พบกันครั้งสุดท้ายที่รัฐสภา แต่ไม่พบสิ่งผิดปกติ