xs
xsm
sm
md
lg

“ไชยันต์ ไชยพร” ถอดรหัส “ทำไมต้อง 7 สิงหา? และ 10 สิงหา?”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ กรณีนัดชุมนุม 7 ส.ค. และ 10 ส.ค. ถือเอาวันสัญลักษณ์ที่พรรคคอมมิวนิสต์ปะทะที่บ้านนาบัว และวันที่ก่อการปฏิวัติโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1971 พร้อมเปรียบเทียบสถานการณ์เลนินและโคไมนีกลับประเทศ คาดมีโอกาสเกิดขึ้นในไทย

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. เฟซบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn ของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความหัวข้อ “ทำไมต้อง 7 สิงหา? และ 10 สิงหา?” ซึ่งกล่าวถึงสถานการณ์ที่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า เยาวชนปลดแอก เตรียมนัดชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเคลื่อนพลไปยังพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 7 ส.ค. และกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกาศนัดชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. เพื่อขับไล่รัฐบาล ระบุว่า

“วันที่ 7 สิงหาคม 2508 เป็นวันที่กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ปะทะด้วยกำลังอาวุธปืนเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นครั้งแรกที่บ้านนาบัว อ.เรณูนคร จังหวัดนครพนม เป็นข่าวใหญ่ของประเทศในเวลานั้น

ดังนั้น การที่ในวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพนกวิน (นายพริษฐ ชิวารักษ์) ได้ปราศรัยว่า “..เรามาทวงชื่อถนน วิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นของ “เจ้า” ไม่ให้เป็นของเจ้าอีกต่อไป .. มันเป็นถนนของประชาชน ของราษฎร” จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแบบปากพาไปในขณะที่กำลังปลุกระดมอยู่บนถนนวิภาวดี

เพราะในปี พ.ศ. 2520 พระองค์เจ้าเจ้าวิภาวดี ทรงถูกยิง ขณะเสด็จไปรับตำรวจตระเวนชายแดนที่บาดเจ็บจากการเหยียบกับระเบิด ที่ ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงมาที่เฮลิคอปเตอร์ที่ประทับ

การที่เพนกวินกล่าวเช่นนั้น เท่ากับให้ความชอบธรรมกับผู้ก่อการร้าย และนัดชุมนุม “บุกวัง” ในวันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2564

————

ทำไมต้อง “บุกวัง” และมีนัด “10 สิงหา 2564”

เพราะย้อนกลับไปฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1792 “การก่อการปฏิวัติโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ หรืออีกนัยหนึ่งคือฉีกรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 เกิดขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคม

กลุ่มปฏิวัติได้จัดตั้งรัฐบาลคณะปฏิวัติแห่งปารีสขึ้น และยื่นกำหนดเส้นตายให้สภานิติบัญญัติประกาศยุติสถานะความเป็นกษัตริย์ของพระเจ้าหลุยส์เป็นการชั่วคราว

แต่เมื่อสภาไม่ปฏิบัติตาม กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ใช้กำลังเข้าจู่โจมพระราชวังและได้เกิดการจลาจลขึ้น พระเจ้าหลุยส์ และพระราชินีทรงเสด็จไปยังสภาเพื่อความปลอดภัย สภาไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องทำตามความต้องการของคณะปฏิวัติ ออกประกาศยุติสถานะของพระเจ้าหลุยส์ และต่อมา สภาได้ตกอยู่ในสภาพที่หมดอำนาจใดๆ และรัฐบาลคณะปฏิวัติได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งสภาแห่งชาติ (National Convention) ที่จะทำการพิพากษาพระเจ้าหลุยส์ และทำการร่างรัฐธรรมนูญที่ให้ฝรั่งเศสปกครองในระบอบสาธารณรัฐ

และวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792 ถือเป็นการปฏิวัติของฝรั่งเศสครั้งที่สองต่อจากการปฏิวัติ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 และเป็นการสิ้นสุดสถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสครั้งที่หนึ่ง”

—————-

ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้บรรยายพิเศษ #ตลาดวิชาอนาคตใหม่ ของ Common School ในหัวข้อ “บทบาทของสมาชิกสภาแห่งชาติในการกรุยทางปฏิวัติ 1789” พูดถึงความสำคัญของสมาชิกสภาในการเป็นจุดชี้ขาดของการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หรือปฏิวัติ และกล่าวถึงการที่ประชาชนบุกพระราชวังตุยเลอรี อันนำมาซึ่งการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งที่ 2 และการสิ้นสุดของสถาบันกษัตริย์ฝรั่งเศสครั้งแรก

โดยอาจารย์ปิยบุตร บรรยายจากฝรั่งเศส เพราะเดินทางไปเยี่ยมครอบครัว

ทำไมต้องไปช่วงนี้ และทำไมจึงเกิดการวางแผน “บุกวัง” ช่วงที่เขาไม่อยู่ในประเทศไทย ?

————-

เลนิน ผู้นำปฏิวัติรัสเซีย เลนินเป็นนักกฎหมาย แต่แทนที่จะประกอบอาชีพทางกฎหมาย กลับมีส่วนร่วมในความพยายามโฆษณาชวนเชื่อเพื่อการปฏิวัติ

ต่อมา เขาได้ย้ายไปอยู่ที่ฟินแลนด์ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เขาได้ท่องเที่ยวไปในยุโรปต่อและร่วมในการประชุมและกิจกรรมของพวกสังคมนิยมในหลายๆ แห่ง

และต่อมาได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในปารีส ร่วมกับสมาชิกบอลเชวิกคนอื่นๆ ที่ถูกเนรเทศมา

และหลังจากที่ซาร์นิโคลัสที่ 2 ถูกโค่นล้ม เลนินจึงเดินทางจากสวิตเซอร์แลนด์กลับไปรัสเซีย และมีบทบาทสำคัญในขบวนการบอลเชวิก

—————-

อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี แห่งอิหร่าน ผู้นำการปฏิวัติที่นำไปสู่การล้มล้างพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศสหรัฐอเมริกา

ปี 1978 ตอนที่เกิดความวุ่นวายก่อนการปฏิวัติ อยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี ถูกควบคุมตัวอย่างใกล้ชิดในฐานะผู้ลี้ภัยในเมืองนาจาฟ ซึ่งเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมชีอะห์ในอิรัก และในเวลาต่อมา พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ได้ทรงขอให้ ซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรักในขณะนั้นขับไล่เขาออกจากประเทศ

นั่นเป็นการตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่หลวง อยาตอลเลาะห์ โคไมนี บินไปฝรั่งเศสและมีอิสระที่จะสื่อสารกับคนทั้งโลก ด้วยความเด็ดขาดและปฏิเสธที่จะประนีประนอม เขาได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

การเดินทางออกจากประเทศในเดือน ม.ค. 1979 ของพระเจ้าชาห์ เปิดทางให้ อยาตอลเลาะห์ โคไมนี เดินทางกลับประเทศเพื่อโค่นล้มสถาบันกษัตริย์

อยาตอลเลาะห์ โคไมนี ใช้โอกาสนั้นบินกลับไปอิหร่าน

ในขณะที่กำลังบินกลับนั้น เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของโคไมนี ประกาศว่า กองทัพอากาศอิหร่านซึ่งยังจงรักภักดีต่อพระเจ้าชาห์อยู่ วางแผนจะโจมตีเครื่องบินทันทีที่เข้าสู่เขตน่านฟ้าอิหร่าน หลังจากบินวนอยู่เหนือสนามบินอยู่นาน ขณะการเจรจากับเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินดำเนินไป เครื่องบินก็ได้ลงจอดในที่สุด

มีผู้ประเมินว่า จำนวนคนที่มาต้อนรับ โคไมนี ในวันนั้นอาจจะมีจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีในประวัติศาสตร์ จากนั้นก็มีการจัดตั้งสาธารณรัฐอิสลามในอิหร่าน และการต่อต้านความคิดเสรีของชาติตะวันตกก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้น การวางแผนทั้งหมดเกิดขึ้น ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส !!

————

ผมเชื่อว่า ทุกคนคงประเมินเรื่องราวที่กำลังเกิดหรือจะเกิดขึ้นในบ้านเราได้อย่างแน่นอน เพียงตัวละครที่จะกลับแบบเลนิน หรือโคมัยนี มีมากกว่า 1!”











กำลังโหลดความคิดเห็น