xs
xsm
sm
md
lg

“นันทิวัฒน์” ยกคำพิพากษาในอดีต เทียบคดี “น้องธนาธร” ลั่น ใครถูกผิด ให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความยกคดีติดสินบนในอดีตมาเปรียบเทียบกับคดีของนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ระบุ ใครจะถูกใครจะผิด​ ขอให้ศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสิน​ สังคมจะเฝ้าจับตา

จากกรณีที่ นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชาย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จ่ายเงิน 20 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้สิทธิเช่าที่ดินองค์การโทรศัพท์ฯ ย่านชิดลม ซึ่งศาลอาญาทุจริตฯ มีคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ อท.228/2562 ลงวันที่ 27 พ.ย. 2562 ให้จำคุก นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) และ นายสุรกิจ ตั้งวิทูวนิช แล้วนั้น มีผู้สงสัยว่าทำไมน้องนายธนาธรจึงไม่ถูกฟ้อง

ต่อมา กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) มีคำสั่งทางลับให้ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป. ตั้งคณะพนักงานสอบสวนเพื่อหารือในข้อกฎหมายเพื่อขยายผลและดำเนินคดีต่อเนื่องต่อนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชายของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า ในฐานความผิดเกี่ยวกับผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้พิพากษาให้จำคุกสองเจ้าพนักงานในสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่จัดตั้งโครงการให้เช่าที่ดินที่ตั้งสำนักงานโทรศัพท์ฯ สาขาชิดลม เพื่อให้นายสกุลธรเข้าไปทำกิจการใช้ประโยชน์จากที่ดินสร้างอาคารคอมเพล็กซ์นับหมื่นล้านบาท แต่ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะก่อน 20 ล้าน ซึ่งเงินดังกล่าวได้ถูกจ่ายให้ผู้ต้องหาทั้งสองคนไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชายนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีการจ่ายเงิน 20 ล้านบาท เพื่อให้ได้สิทธิเช่าที่ดินสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บริเวณชิดลม โดยระบุว่า “ข้าพเจ้านายสกุลธร อยากจะชี้แจงและขอยืนยืนความบริสุทธิ์และมีประเด็นชี้แจง 5 ข้อ

วันนี้ (18 ธ.ค.) นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านโพสต์บุ๊ก “Nantiwat Samart” ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในอดีตที่มี่ลักษณะคล้ายกับกรณีของ “นายสกุลธร” โดยได้ระบุข้อความว่า

“ติดสินบนหรือไม่​ ?
มีเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นที่สนใจของสังคมอย่างมาก​ คือ​ กรณีที่มีนายทุนใหญ่คนหนึ่งถูกสังคมตั้งข้อสงสัยว่า​ น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องและมีความผิดในคดีติดสินบนสถานที่ราชการแห่งหนึ่ง​ ซึ่งเจ้าหน้าที่และนายหน้าถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดและต้องโทษจำคุก​แล้ว​ แต่นายทุนใหญ่ยังเดินลอยนวล​ สังคมจึงตั้งคำถามว่า​ ผู้เกี่ยวข้องรับโทษแล้ว​ ทำไมนายทุนยังสุขสบายดี

อัยการและตำรวจจึงกลายเป็นจำเลยของสังคมที่ต้องรีบออกมาชี้แจง​ โดยอัยการแถลงว่า​ ตำรวจไม่ได้ทำสำนวนกล่าวโทษนายทุน​ ส่วนตำรวจชี้แจงว่า​ แยกสำนวนของนายทุนออกมาต่างหากแล้ว​ หลังศาลพิพากษาจะทำสำนวนส่งฟ้องต่อไป ที่น่าสนใจ​ นายทุนใหญ่แถลงว่า​ ไม่รู้จักเจ้าหน้าที่​ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต​ ติดสินบน​ และถูกหลอกให้ลงทุน​ พร้อมอ้างว่า​ เป็นผู้เสียหายจากเหตุการณ์​

ตกลงจะมีจำเลยเพิ่มอีกหนึ่งคนหรือมีผู้เสียหายอีกคนกันแน่​ มีผู้รู้เล่าให้ฟังว่า​ เคยมีคำพิพากษาฎีกา​หนึ่ง​ นาย​ ก.ติดสินบนเพื่อจะให้สามารถสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยได้​ แต่ถูกเบี้ยว​ ศาลพิพากษาว่า​ นาย​ ก.ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีอาญา​ แต่กลับกลายเป็นจำเลย

ผู้เสียหายในคดีอาญา​ ต้องมีลักษณะสำคัญคือ​ ต้องมีการกระทำผิดอาญา​ เป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดอาญาและสุดท้าย​ ต้องเป็นผู้เสียหายในทางนิตินัยด้วย​ คือ​ ต้องไม่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดนั้นๆ

หมายความว่า​ ในทางพฤตินัยอาจเป็นผู้เสียหายร่วม​ แต่ในทางกฎหมายหรือนิตินัย​ อาจเป็นผู้กระทำผิด​ และศาลคงต้องพิจารณามือที่สุจริต​ ผู้ต้องฆ่าคนตายมักอ้างว่าตัวเองบริสุทธิ์ถูกใส่ร้าย ใครจะถูกใครจะผิด​ ขอให้ศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสิน​ สังคมจะเฝ้าจับตา”

กำลังโหลดความคิดเห็น