กรณีที่ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ตัดสินจำคุกจำเลย 2 คนคือ เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และคนกลางหนึ่งคน ที่ทำเอกสารปลอมเพื่อหลอกลวงนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ว่าจะให้ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด ของนายสกุลธร ได้สิทธิการเช่าที่ดินแปลงงามย่านชิดลม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของทีโอทีในปัจจุบันเพราะกำลังหมดสัญญาลง โดยตกลงกันว่าหากได้สิทธิการเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวจะมีค่าตอบแทนให้จำนวน 500,000,000 บาท
จากนั้น จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันรับเงินใต้โต๊ะงวดแรกจากนายสกุลธรจำนวน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) งวดที่สอง จำนวน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) และงวดที่สามอีกจำนวน 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) รวม 3 งวด จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 20,000,000 บาท (ยี่สิบล้านบาทถ้วน)
ก็ชัดเจนว่า แม้ว่านายสกุลธรจะไม่รู้ว่าถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินฯ หรือจำเลยที่ 1 หลอกลวงและทำเอกสารเท็จขึ้นมาเพื่อทำให้หลงเชื่อ แต่นายสกุลธรมีเจตนาชัดเจนว่า หากได้ที่ดินผืนดังกล่าวจะจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับจำเลยทั้งสองเป็นเงินตอบแทนสูงถึง 500 ล้านบาท
ในคำพิพากษาบรรยายว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างกลางเดือนมีนาคม 2560 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด และจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปี ซึ่งเกิดคำถามตามมาว่าทำไมตำรวจและอัยการจึงไม่สั่งฟ้องนายสกุลธรที่มีเจตนาจะติดสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐอย่างชัดเจนด้วย
อย่างไรก็ตาม อัยการได้ออกมาแถลงข่าวเรื่องนี้ว่า ที่อัยการไม่สั่งฟ้องนายสกุลธรด้วยนั้น เพราะสำนวนที่ตำรวจกองปราบปรามส่งมา ไม่ได้มีนายสกุลธรเป็นจำเลยด้วย มีแต่จำเลยสองคนที่ศาลมีคำพิพากษาจำคุก แต่ที่อัยการไม่ได้โต้แย้งตำรวจไป เพราะในท้ายสำนวนคดีดังกล่าว ตำรวจได้แจ้งว่า กรณีของนายสกุลธรในข้อหาติดสินบนเจ้าพนักงาน ตำรวจกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดี ซึ่งสอดคล้องกับข่าวก่อนหน้านั้นว่า ตำรวจกองปราบปรามกำลังดำเนินคดีกับนายสกุลธร
ดังนั้นหมายความว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่นายสกุลธรจะเข้าข่ายกระทำความผิด หากพิจารณาจากคำพิพากษาในคดีแรกที่ระบุไว้ชัดว่ามีเจตนาที่จะติดสินบนเพื่อให้ได้ที่ดินแปลงดังกล่าวมาครอบครอง
ทั้งนี้ในคำพิพากษาระบุว่า นายสกุลธรให้เงิน 20 ล้านบาทแก่จำเลยทั้งสองรับไว้สำหรับตนเองเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยทั้งสองจะร่วมกันไปดำเนินการติดต่อประสานงานและนำเงินส่วนหนึ่งไปมอบให้รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าพนักงานของรัฐ ตามกฎหมายโดยวิธีอันทุจริตและผิดกฎหมายเพื่อจูงใจรองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้กระทำการในหน้าที่ด้วยการจัดสรรที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้สิทธิการเช่าที่ดินระยะยาว โดยไม่ต้องผ่านการประมูลแข่งขันตามขั้นตอนปกติของการขอเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อันเป็นคุณแก่ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และทำให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เสียประโยชน์ที่จะได้รับเงินจากการประมูลที่สูงที่สุด ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ผู้อื่นและประชาชน
เห็นได้ว่า ศาลท่านใช้คำว่า การกระทำของนายสกุลธรนั้นเป็นไป “โดยวิธีอันทุจริตและผิดกฎหมาย” เพื่อจูงใจให้ได้มาซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าว
จากการวินิจฉัยของศาลข้างต้น ทำให้เชื่อได้ว่า การกระทำของนายสกุลธรน่าจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 144 ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลของบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด พบว่า วันที่ 9 ส.ค. 2550 เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 900 ล้านบาท ธนาธรเข้ามาถือหุ้น จำนวน 900,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท (ถือหุ้นเรื่อยมาจนถึง 30 เม.ย. 2560)
เมื่อเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในระหว่างเดือนมีนาคม 2560 ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 แสดงว่า การติดต่อที่ดินแปลงนี้เกิดขึ้นก่อนธนาธรโอนหุ้นกว่า 1 เดือน ทำให้มีคำถามว่า ธนาธรรับรู้การติดต่อเรื่องที่ดินแปลงนี้หรือไม่ และเกิดคำถามว่า ทำไมธนาธรต้องโอนหุ้นบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด ออกไปในวันที่ 30 เมษายน 2560 ทั้งที่ไม่จำเป็นเลยในขณะนั้น แม้จะตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ตอนนั้นว่าจะเล่นการเมืองก็ตาม
ที่สำคัญการเล่นการเมืองหุ้นที่มีปัญหาคือหุ้นสื่อเช่นหุ้นของมติชนและวี-ลัค พบว่า นายธนาธรลาออกจากกรรมการบอร์ดของมติชน และโอนหุ้นให้นางสมพรผู้เป็นมารดาในวันที่14 มีนาคม 2561 และอีก 1 วันต่อมาคือวันที่ 15 มีนาคม 2561 ธนาธรและปิยบุตร จึงเปิดตัวพรรคอนาคตใหม่
อย่างไรก็ตาม บริษัทนี้เป็นบริษัทในครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจ มีคนในครอบครัวเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการบริษัท การไปติดต่อเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินแปลงงามนี้ น่าจะมีการพูดคุยกันในครอบครัว ทำให้น่าจะเชื่อได้ว่า ธนาธรเองก็อาจจะรับรู้เรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้น เพราะมีการเตรียมที่จะจ่ายเงินใต้โต๊ะสูงถึง 500 ล้านบาท หากได้ที่ดินแปลงนี้มาครอบครอง
ทั้งนี้มีรายงานว่า กรณีนี้ ทีมข่าวไทยพีบีเอส ได้พยายามประสานขอทราบข้อเท็จจริงจากธนาธร แล้ว แต่อ้างว่ายังไม่สะดวก เนื่องจากติดภารกิจหาเสียง อบจ.อยู่ ขณะที่เลขานุการส่วนตัวธนาธร ย้ำให้ทีมข่าวถามเรื่องนี้จากธนาธรโดยตรง ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องเก่าและธนาธร ก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของครอบครัว
และตอนที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ก็ยังไม่ได้ยินธนาธรพูดถึงเรื่องนี้กับสื่อไหนมาก่อน
เมื่อไม่กี่วันก่อนธนาธรที่กำลังหาเสียงเลือกตั้ง อบจ.โพสต์ข้อความว่า
คณะก้าวหน้าพร้อม! เราต้องการทำให้เห็นว่าถ้าการเมืองดี คุณภาพของคนไทยดีขึ้นได้ หากเราได้รับความเชื่อใจจากประชาชน เราจะทำการเมืองท้องถิ่นโดยไม่มีการทุจริต คอร์รัปชัน ภาษี และอำนาจที่เราบริหารจะถูกนำไปรับใช้ประชาชนอย่างเต็มที่
และครั้งหนึ่งธนาธรเคยพูดว่า ปัญหาก็คือไม่มีนักการเมือง หรือนักธุรกิจชั้นนำที่ตกเป็นจำเลยของการคอร์รัปชัน แทบไม่มีเลย เราแปลกใจว่าเป็นไปได้อย่างไร แต่เป็นไปได้ เพราะเป็นประเทศคนไม่เท่ากัน ประเทศที่คนมีอำนาจ คนที่มีเงิน ไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย คอร์รัปชันเป็นข้อหาที่ใช้เล่นเกมทางการเมือง
ดังนั้น เชื่อว่าคนอยากจะฟังธนาธรพูดถึงเรื่องการจ่ายสินบนใต้โต๊ะเพื่อให้ได้ที่ดินแปลงงามของน้องชาย และบริษัทในครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องชั่วร้ายสำหรับประเทศนี้หรือไม่
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan