1."บิ๊กตู่" รอด! ศาล รธน. ชี้ อยู่บ้านพักทหารไม่ผิด-ไม่ขัดจริยธรรม ไม่ได้แสวงประโยชน์ส่วนตน ไม่ต้องพ้นตำแหน่ง
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย กรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พักอาศัยในบ้านพักรับรองของกองทัพบกหลังเกษียณอายุราชการตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.57 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง มาตรา 184 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง
โดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้อง คำชี้แจงข้อกล่าวหา คำชี้แจงของผู้เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 53 และเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.57 ขณะที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ได้พักอาศัยที่บ้านพักอาคารหมายเลข 253/54 กรมทหารราบที่ 1 ซึ่งบ้านพักหลังนี้ได้มีการปรับโอนสถานะให้มีสถานะเป็นบ้านพักรับรองของกองทัพบกในปี 2555 และปัจจุบันเป็นพื้นที่ครอบครองดูแลและใช้ประโยชน์ราชการของกองทัพบก ซึ่งมีประเด็นต้องวินิจฉัยก่อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ กระทำการอันมีลักษณะต้องห้ามตามที่กล่าวหาหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า เมื่อพิจารณาระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก 2548 ประกอบคำชี้แจงของผู้บัญชาการทหารบก ได้ชี้แจงว่า ขณะพล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 57 พล.อ.ประยุทธ์ยังคงดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. จึงเป็นผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองของกองทัพบก โดยอาศัยระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรอง 2548 ข้อ 5 และเมื่อเกษียณอายุราชการในตำแหน่ง ผบ.ทบ.ขณะนั้นเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 57 แต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ ก็ยังคงเป็นผู้มีสิทธิพักอาศัยในบ้านพักรับรองดังกล่าว เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ เคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กองทัพและประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.มาแล้วตามข้อ 5.2
นอกจากนี้ ข้อ 8 กำหนดให้อำนาจกองทัพบกพิจารณาให้ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองของกองทัพบกที่หมดสิทธิเข้าพักอาศัยด้วยเหตุย้ายออกนอกกองทัพบก หรือออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด ให้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองเป็นกรณีเฉพาะรายก็ได้ การที่กองทัพบกกำหนดให้อาคารหมายเลข 253/54 เป็นบ้านพักรับรอง แม้จะเป็นการกำหนดขึ้นภายหลังปรากฏตามหนังสือ กบ.ทบ.ด่วนมากที่ ต่อ กห.0404/1560 ลงวันที่ 19 มิ.ย.55 โดยอนุมัติให้ปรับโอนอาคารรับรองดังกล่าวเป็นบ้านพักรับรองกองทัพบก ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพบกก็ตาม แต่เป็นการกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามข้อ 7.2 ให้กระทำได้
ส่วนการที่กองทัพบกสนับสนุนงบประมาณค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปาในการใช้งานบ้านพักรับรอง กองทัพบกพิจารณาตามความเหมาะสมในการพิจารณาค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการพักอาศัย ตามความเหมาะสมในการใช้งานตามข้อ 11 ซึ่งเป็นไปตามดุลยพินิจของกองทัพบก ที่มีอำนาจพิจารณาตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548
โดยระเบียบดังกล่าวใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 2548 ก่อนที่ผู้ถูกร้องจะดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ. และนายกรัฐมนตรี โดยที่นายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญของประเทศ นอกจากเป็นหัวหน้าของคณะรัฐมนตรี ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ยังมีฐานะเป็นผู้นำของประเทศ ความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งครอบครัวจึงมีส่วนสำคัญ รัฐมีหน้าที่จัดการดูแลให้ปลอดภัยแก่นายกรัฐมนตรีและครอบครัว ตามความเหมาะสมแก่สภาพการณ์ การจัดบ้านพักรับรองที่ปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกาย และจิตใจ การปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศ ล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่รัฐพึงจัดให้มีที่พำนักของผู้นำของประเทศในขณะที่ดำรงตำแหน่ง
ส่วนกรณีประเทศไทย แม้รัฐเคยกำหนดให้สถานที่บางแห่งเป็นที่พำนักของนายกรัฐมนตรี เช่น บ้านพิษณุโลก แต่ปัจจุบันการบำรุงรักษาไม่พร้อมใช้หรือจัดให้มีขึ้นใหม่ ดังนั้นเพื่อให้นายกรัฐมนตรีปฎิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำของประเทศได้อย่างสมเกียรติ รัฐพึงจัดให้มีที่พำนักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การที่กองทัพบกอนุมัติให้ใช้บ้านพักรับรองของกองทัพบก และสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เคยได้รับสิทธิตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยปฏิบัติเป็นไปตามระเบียบกองทัพบกฯ ซึ่งเป็นกฎที่ยังคงใช้บังคับอยู่ ประกอบกับกองทัพบกให้สิทธิดังกล่าวกับผู้มีคุณสมบัติตามระเบียบนั้น จึงไม่ได้เป็นการกระทำที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยราชการเป็นพิเศษ นอกเหนือจากปฏิบัติกับบุคคลอื่น
จึงไม่เข้าข่ายเป็นการกระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) จนทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสื้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ไม่เป็นกรณีการถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศ ไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเอง ไม่เป็นการขอ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ และไม่เป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ 9 เสียงวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง มาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3)
2.“เพนกวิน” เดือดโพสต์ด่า “ศาล รธน.” พร้อมปราศรัยประจานชื่อ-เผาภาพ “9 ตุลาการ” ด้านศาล รธน.แจ้งความแล้ว!
หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อาศัยอยู่ในบ้านพักรับรองของกองทัพบก ไม่ถือว่าเป็นความผิด ไม่ต้องพ้นจากตำแหน่ง ปรากฏว่า ได้สร้างความไม่พอใจให้กับแกนนำกลุ่มราษฎรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กด่าทอทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และศาลรัฐธรรมนูญด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย รวมทั้งอาจเข้าข่ายมาตรา 112 ด้วย โดยระบุว่า “ไม่ใช่แค่ขอแจก...ให้ประยุทธ์ ให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขอแจกให้ทุกตัวในคอกสุนัข... รวมถึง....ด้วย” หลังจากนั้นยังได้โพสต์ข้อความอีกว่า "ประยุทธ์รอดวันนี้ คงเพราะมันห้อยพระดี ไม่ได้ห้อยแค่พระรอดแต่ห้อยพระมหา... #ศาลรัฐธรรมนูญ #ม็อบ 2 ธันวา"
หลังจากนั้น ในช่วงค่ำ นายพริษฐ์ได้ปราศรัยบนเวทีม็อบราษฎรที่ห้าแยกลาดพร้าวโดยโจมตีทั้งศาลรัฐธรรมนูญและ พล.อ.ประยุทธ์ว่า ...วันนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนนี้ ก็ไม่ใช่ตุลาการในสายตาประชาชน พวกเขาคือนักโทษ ที่สมรู้ร่วมคิดล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ขอเสนอต่อไปนี้ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ ยุบทิ้ง ไล่มันออกไป...
จากนั้น นายพริษฐ์ได้ฉีกและเผาหนังสือของ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมต่อว่า ว่า ทำอย่างนี้เป็นการทำลายเกียรติภูมิตัวเอง หลังจากนั้นได้เผาภาพของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน และอ่านชื่อประจาน เพื่อให้ม็อบนำชื่อไปเสิร์ชหา หากเจอที่ไหน ให้ชูนิ้วใส่ที่นั่น อย่าให้มีที่ยืนในสังคม
นายพริษฐ์ ยังกล่าวอีกว่า ช่วงนี้มันเล่นจังหวะนรกกับเรา นักศึกษาสอบ ชาวนาเกี่ยวข้าว หลังสอบเสร็จ ชาวนาเกี่ยวข้าวเสร็จ ทัพใหญ่จะมาอย่างแน่นอน ภารกิจเราในวันนี้ฉีกหน้าเผด็จการทีละเปลาะ วันนี้เราสำเร็จแล้วขั้นหนึ่ง ไม่มีใครเกรงกลัวการพูดถึงสถาบันฯ อีกต่อไป
เป็นที่น่าสังเกตว่า การชุมนุมของม็อบราษฎรที่ห้าแยกลาดพร้าว ได้มีการตั้งเวที และจำลองบัลลังก์ศาลสีแดง ก่อนปราศรัยกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความผิดกรณีพักบ้านหลวง
ด้านนายศุภนัฎ กิจแก้ว แกนนำกลุ่มราษฎร ปราศรัยย้อนการตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ยุบพรรคไทยรักไทย จนมาถึงพรรคอนาคตใหม่ พร้อมระบุว่า เป็นองค์กรที่ทำลายรัฐบาลประชาธิปไตย ถือเป็นมะเร็งร้าย ถ้าประชาชนชนะ จะจัดการศาลรัฐธรรมนูญให้ได้
ส่วนนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ "ไมค์" แกนนำกลุ่มราษฎร ปราศรัยตอนหนึ่งว่า "สงสารเห็นใจทุกคนที่ต้องมาชุมนุม แต่ต้องมา เพราะนายกฯ ไม่มีสมอง ที่แกนนำไม่คุยด้วย เพราะใครจะไปคุยกับคนโง่ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ออกอยู่ยาว เราก็อยู่ยาวจนกว่าเขาตาย ประเทศจะก้าวหน้าได้ทุกอย่างต้องปฏิรูป มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ทั้งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) หรือพระสังฆราช ประชาธิปไตยประชาชนเป็นใหญ่ ทุกอย่างต้องถูกเลือกตั้งจากประชาชนเท่านั้น"
วันต่อมา (3 ธ.ค.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มอบอำนาจให้ ส.ต.ท.มนตรี แดงศรี ผู้อำนวยการกลุ่มงานนิติการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กรณีกลุ่มราษฎรที่ปราศรัยโจมตีการทำหน้าที่ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังมีคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ผิดในกรณีพักบ้านหลวง
โดย ส.ต.ท.มนตรี กล่าวว่า เนื้อหาการปราศรัยของแกนนำกลุ่มราษฎรตามที่ปรากฏผ่านสื่อโซเชียลเข้าข่ายดูหมิ่นศาล จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อ ปอท. โดยให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะพิจารณาว่า การปราศรัยของแกนนำคนใดบ้างเข้าข่ายเป็นความผิด รวมถึงกรณีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของแกนนำกลุ่มราษฎร การล้อเลียนการทำหน้าที่ของศาล ซึ่งเป็นการดูภาพรวมทั้งหมด
ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณา หรือพิพากษาของศาลต้องระวางโทษจำคุกตั้ง 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.ชายแดนพม่าระส่ำ โควิดระบาดหนัก คนไทยหนีท่าขี้เหล็กลักลอบกลับเข้า ปท.ติดโควิดนับสิบ!
ความคืบหน้าสถานการณ์โควิด-19 ในไทย หลังพบหญิงไทย อายุ 29 ปี ชาว จ.เชียงใหม่ ลักลอบเดินทางจากเมียนมาเข้าไทย ที่ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ก่อนเดินทางต่อไปยังเชียงใหม่ ติดเชื้อโควิด-19 ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ได้พบหญิงไทย ชาว จ.เชียงราย ติดเชื้อเพิ่มอีก 2 ราย อายุ 26 และ 23 ปี ทั้งคู่ทำงานในสถานบันเทิงแห่งหนึ่งใน จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา กลับไทยผ่านช่องทางธรรมชาติเมื่อวันที่ 27 พ.ย. พร้อมกับเพื่อนชาวไทย 1 ราย
ขณะที่เริ่มมีคนไทยในเมียนมาลักลอบกลับเมืองไทยตามช่องธรรมชาติเพื่อหนีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ฝั่งเมียนมา โดยเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 กองกำลังผาเมือง พร้อมฝ่ายปกครอง อ.แม่สาย และตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ได้จับกุมคนไทยที่ลักลอบเข้ามแดนจากท่าขี้เหล็ก เข้าไทย บริเวณพื้นที่ท่ากระหล่ำ ต.แม่สาย จ.เชียงราย ได้ 8 คน มีภูมิลำเนาอยู่ จ.อุดรธานี 2 คน, ขอนแก่น, ภูเก็ต, เชียงราย, นนทบุรี, กทม. และสมุทรปราการ จังหวัดละ 1 คน ซึ่งทั้งหมดทำงานใน จ.ท่าขี้เหล็ก เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาลักลอบข้ามแดน จากนั้นคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.เชียงราย ได้ส่งตัวทั้ง 8 คน ไปกักตัวที่กองร้อยอาสารักษาดินแดน จ.เชียงราย ตามขั้นตอนต่อไป
วันต่อมา (1 ธ.ค.) พบหญิงไทย อายุ 25 ปี ชาว จ.เชียงราย ติดโควิด-19 เป็นรายที่สี่ โดยติดเชื้อจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาเช่นกัน โดยทำงานอยู่ในสถานบันเทิงเดียวกับหญิงไทยที่ติดโควิดรายที่ 2 และ 3 ทั้งนี้ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า หญิงไทยที่ติดโควิดรายที่ 2-3-4 โอกาสแพร่เชื้อน้อย เนื่องจากผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยและหลีกเลี่ยงการพบผู้อื่น ซึ่งต่างจากผู้ติดเชื้อรายแรก
วันต่อมา (2 ธ.ค.) นพ.โสภณ แถลงว่า พบผู้ติดโควิด-19 รายใหม่อีก 6 ราย ซึ่งทั้ง 6 รายลักลอบเข้าไทยผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณชายแดน จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา รายแรกเป้นหญิงไทย อายุ 28 ปี พบที่ จ.พะเยา รายที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 21 ปี พบใน กทม. รายที่ 3 เป็นหญิงไทย อายุ 36 ปี พบที่ จ.ราชบุรี รายที่ 4 เป็นหญิงไทย อายุ 25 ปี พบที่ จ.พิจิตร รายที่ 5-6 เป็นหญิงไทย อายุ 23 และ 25 ปี พบที่ จ.เชียงใหม่
เป็นที่น่าสังเกตว่า กรณีที่พบว่า ผู้ติดเชื้อที่ จ.พะเยา ได้ไปท่องเที่ยวในงานฟาร์มเฟติวัล ออนเดอะฮิล 2020 ในสิงห์ปาร์ค อ.เมือง จ.เชียงราย ในคืนวันที่ 29 พ.ย. ซึ่งมีคนไปเที่ยวอย่างหนาแน่น ส่งผลให้ทางสิงห์ปาร์คได้แจ้งให้ผู้บริหารและพนักงานในเครือที่ไปร่วมงานดังกล่าว ให้ปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัยหรือเวิร์ก ฟรอม โฮม เป็นเวลา 14 วัน
ด้านนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าฯ เชียงราย ได้มีการประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงราย ให้คนไทยในเมียนมากลับไทยตามช่องทางปกติ แทนการลักลอบเข้าประเทศ โดยจะบริการตรวจโรคให้ฟรี ซึ่งส่งผลให้คนไทยในเมียนมาเดินทางกลับมาตามช่องทางปกติมากขึ้น
ต่อมา วันที่ 3 ธ.ค. พบชายไทย อายุ 49 ปี ชาว จ.กำแพงเพชร ติดโควิด-19 หลังเข้าตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน กทม.เมื่อวันที่ 30 พ.ย. เพื่อไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยรายนี้ อาศัยอยู่บ้านคนเดียว ทำสวนและขายมะนาว มีบุตรสาว 1 คน พักอยู่กับพี่สาวภรรยา ส่วนภรรยาค้าขายมะนาวอยู่ที่ อ.มาบตาพุด จ.ระยอง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยทำสวนอยู่บ้าน ไม่ได้เดินทางไปไหนในช่วง 14 วันที่ผ่านมา มีเพียงส่งบุตรสาวไปโรงเรียน ซึ่งต่อมา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อรายนี้เป็นผู้ติดเชื้อรายเก่า โดยผู้ป่วยรายนี้เคยทำงานที่ประเทศอุซเบกิสถาน ซึ่งในบริษัทที่ผู้ป่วยทำงาน มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นคนต่างชาติ จากนั้นผู้ป่วยได้เดินทางกลับไทยช่วงกลางเดือน ส.ค. และเข้ากักตัว 14 วัน ผลตรวจเป็นลบทั้ง 2 ครั้ง เมื่อครบกักตัว จึงเดินทางกลับบ้านที่กำแพงเพชร ล่าสุด เมื่อผู้ป่วยจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศอีกครั้ง จึงเดินทางมาตรวจสุขภาพก่อน
ล่าสุด วันนี้ (5 ธ.ค.) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 19 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 2 ราย ที่ จ.สิงห์บุรี และ จ.เชียงราย เดินทางมาจากต่างประเทศผ่านด่านคัดกรองและเข้าพักในสถานกักกันของรัฐ 13 ราย แบ่งเป็น มาจากสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย สวีเดน อินเดีย และเม็กซิโก ประเทศละ 1 ราย สหรัฐอเมริกา 3 ราย สวิตเซอร์แลนด์ 2 ราย และเมียนมา 2 ราย ส่วนอีก 4 ราย เดินทางข้ามพรมแดนมาจากเมียนมา ไม่ผ่านด่านคัดกรอง แยกเป็นคนไทยที่ลักลอบข้ามพรมแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ 3 ราย และอีก 1 ราย เป็นนักธุรกิจชาวเมียนมาเข้ามาตรวจสุขภาพที่ รพ.แม่สอด จ.ตาก
4.“สุดารัตน์” สุดทน นำทีม “โภคิน-วัฒนา” ลาออกสมาชิกเพื่อไทยแล้ว ด้าน “ฟิล์ม-รัฐภูมิ” ลาออกตาม!
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว โดยมีแกนนำคนอื่นๆ อาทิ นายโภคิน พลกุล, นายวัฒนา เมืองสุข และ นายพงศกร อรรณนพพร ลาออกด้วย
มีรายงานว่า สาเหตุที่คุณหญิงสุดารัตน์ ตัดสินใจลาออกจากพรรคเพื่อไทย เนื่องจากแนวทางการทำงานไม่ตรงกับแนวทางของกลุ่มผู้มีอำนาจในพรรคในปัจจุบัน โดยมีปัญหากันมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.62 ที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จนในที่สุดคุณหญิงสุดารัตน์ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ในช่วงที่มีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดใหม่ เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
จากนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ก็ยังลงพื้นที่ และมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านต่างๆ ของพรรคเพื่อไทยอยู่บ้าง โดยล่าสุด ในการหาเสียงเลือกตั้งสนามนายก และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ ซึ่งพรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครนายก อบจ.ลงในนามพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการใน 25 จังหวัด แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ ส.ส.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่สามารถช่วยหาเสียงในสนาม อบจ.ได้
ทางพรรคเพื่อไทยจึงได้จัดตั้งทีมผู้ช่วยหาเสียงของพรรค ที่ประกอบด้วย แกนนำและผู้บริหารพรรค ซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส. นำโดย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง, นายวรชัย เหมะ, นายพิชัย นริพทะพันธุ์, นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด เป็นต้น ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปช่วยหาเสียงใน 25 จังหวัด ที่ทางพรรคส่งผู้สมัคร ซึ่งระยะหลัง คุณหญิงสุดารัตน์ก็ได้ไปช่วยผู้สมัครนายก อบจ.หาเสียงในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน เนื่องจากได้รับการร้องขอจากกลุ่ม ส.ส.ภาคอีสานหลายจังหวัดที่รวมตัวกันไปเข้าพบที่บ้านพัก
มีรายงานว่า ที่ผ่านมา คุณหญิงสุดารัตน์ได้เดินสายไปแล้วหลายจังหวัด รวมทั้ง จ.ร้อยเอ็ด ที่คุณหญิงสุดารัตน์ไปช่วย นายมังกร ยนต์ตระกูล อดีตนายก อบจ.ร้อยเอ็ด ที่ลงสมัครในนามกลุ่มเพื่อไทยร้อยเอ็ด ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่า นายมังกรไม่ได้รับการรับรองส่งลงสมัครจากทางพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด ทำให้กลุ่มผู้มีอำนาจในพรรคเพื่อไทยปัจจุบันไม่พอใจ และตำหนิไปยังผู้สมัครนายก อบจ.และ ส.ส.ในพื้นที่ว่า หากมีการเชิญหรือให้คุณหญิงสุดารัตน์ไปช่วยหาเสียง จะถูกตัดการสนับสนุนจากทางพรรค และจะไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อและตราสัญลักษณ์พรรคเพื่อไทยในการหาเสียงอีก
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยได้กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการของพรรค 11 ด้าน โดยจะดึงบุคลากรของพรรค ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย, พรรคพลังประชาชน, กลุ่มแคร์ ตลอดจนอดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ เข้าร่วม
ซึ่งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบางชุดที่หลุดออกมาก่อนหน้านี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า แกนนำและบุคคลที่ใกล้ชิดกับคุณหญิงสุดารัตน์ได้ถูกลดบทบาทลงอย่างเห็นได้ชัด อาทิ กลุ่มเพื่อไทยพลัส ที่เป็นการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ตามนโยบายของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ในยุคคุณหญิงสุดารัตน์ ได้ถูกสั่งให้ยุติบทบาท ฯลฯ
เช่นเดียวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการสภา ซึ่งมีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน รวมทั้งคณะกรรมการด้านการบริหารและพัฒนากิจการพรรคเพื่อไทย ที่มีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค เป็นประธาน ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ขาดการมีส่วนร่วมจากกลุ่มคุณหญิงสุดารัตน์เช่นกัน นอกจากนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการการเมืองขึ้นมาอีก 1 ชุด มีนายชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม และผู้ได้รับการเสนอชื่อ (แคนดิเดต) เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน โดยมีอำนาจหน้าที่ทดแทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของคุณหญิงสุดารัตน์ที่ถูกยุบไปด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่า หนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ที่แจ้งต่อนายทะเบียนพรรคเพื่อไทย ลงวันที่ 30 พ.ย.2563 ที่มีการเผยแพร่ออกมา เป็นการแจ้งลาออก โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.2563 ไม่ได้มีการแจ้งเหตุผลที่ลาออกแต่อย่างใด
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือ ฟิล์ม ได้ส่งจดหมายแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคเพื่อไทย ว่าขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเช่นกัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค.2563
ทั้งนี้ นายรัฐภูมิ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2562 ผ่านการชักชวนของนายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส แกนนำกลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคเพื่อไทย และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. โดยมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรค และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตเลขาธิการพรรค ให้การต้อนรับ ณ ขณะนั้น
5.“บิ๊กตู่” เตรียมลงพื้นที่ “นครศรีธรรมราช” ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมให้กำลังใจผู้ประสบภัย-จนท.!
ความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคใต้ วันนี้ (5 ธ.ค.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า อิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และวาตภัย ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.ถึงปัจจุบัน (5 ธ.ค.) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และวาตภัย รวม 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีประชาชนได้รับผลกระทบ 383,669 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 13 ราย ใน จ.นครศรีธรรมราช
ปัจจุบัน ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังใน 6 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสงขลา โดย จ.สุราษฎร์ธานี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 16 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 30,128 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง, จ.กระบี่ น้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเขาพนม ประชาชนได้รับผลกระทบ 54 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง, จ.นครศรีธรรมราช น้ำท่วมขังในพื้นที่ 23 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 184,750 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง, จ.ตรัง น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,968 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและคลี่คลายสถานการณ์ โดยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมและสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ
ด้านนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันที่ 7 ธ.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดเดินทางลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมให้กำลังใจผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่
ส่วนสาเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ลงพื้นที่เป็นการด่วนตั้งแต่ก่อนหน้านี้ เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการสร้างภาระให้กับเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานราชการที่ต้องดูแลช่วยเหลือประชาชน ที่จะมาคอยให้การต้อนรับ นายกฯ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทำงานช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ไปก่อน ก่อนที่ตนเองจะเดินทางลงไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ห่วงสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ จึงได้สั่งการให้ระดมกำลังคนและเครื่องมือ เครื่องจักรจากทุกหน่วยงาน ทั้งทหาร พลเรือน ตำรวจ มูลนิธิ ประชาชนจิตอาสาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สถานการณ์ปกติ โดยให้ความสำคัญกับการจัดระดับดูแลประชาชน เพื่อให้มีสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพ รวมถึงจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจความเสียหายเพื่อช่วยเหลือต่อไป