xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรัฐธรรมนูญและความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ไม่เกินความหมายของผู้ติดตามการเมืองมากนักกับผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ พลเอกประยุทธ์ จันท์โอชา พ้นจากข้อกล่าวหาทั้งปวงจากการได้รับประโยชน์จากหน่วยราชการอย่างกองทัพบก ทั้งในเรื่องการอยู่อาศัยและค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า การกระทำเหล่านั้นของพลเอกประยุทธ์ไม่ขัดจริยธรรม ไม่มีการขัดกันของผลประโยชน์ และไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้

หลักฐานและเหตุผลหลักประกอบการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินว่าพลเอกประยุทธ์ ไม่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือ ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรอง พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่กำหนดเกี่ยวกับผู้มีสิทธิพักอาศัย ประเภทบ้านพัก การหมดสิทธิพักอาศัย และให้อำนาจกองทัพในการกำหนดข้อยกเว้นที่จะให้สิทธิแก่บุคลากรของกองทัพเข้าอาศัยเป็นกรณีเฉพาะราย และกำหนดให้สนับสนุนค่าสาธารณูปโภคตามความเหมาะสม

ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายว่า พลเอกประยุทธ์เคยเป็นอดีตผู้บัญชาการชั้นสูงของกองทัพบก ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพและประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มาแล้ว ไม่ใช่อาศัยในบ้านพักรับรองในฐานะดำรงตำแหน่งนายกฯ เพียงสถานะเดียว หากพลเอกประยุทธ์ไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของ ทบ. แม้เป็นนายกฯ พลเรือนย่อมไม่มีสิทธิพักอาศัยในบ้านพักรับรองตามระเบียบกองทัพบกได้ ดังนั้นกองทัพบกอาจพิจารณาให้เข้าอาศัยเป็นกรณีเฉพาะรายก็ได้

ส่วนการสนับสนุนงบประมาณค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปาในการใช้งานบ้านพักรับรอง กองทัพบกก็พิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม และในการให้สิทธินี้ กองทัพบกได้พิจารณาให้สิทธิแก่ผู้เข้าเงื่อนไขมีคุณสมบัติในการพักอาศัยในบ้านพักรับรอง มิใช่ให้สิทธิเฉพาะพลเอกประยุทธ์เท่านั้น

ทั้งยังให้เหตุผลว่า การจัดบ้านพักรับรองที่ปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกายและจิตใจในการปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวมมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐพึงจัดสรรให้มีที่พำนักแก่ผู้นำของประเทศขณะดำรงตำแหน่ง กรณีประเทศไทยเคยกำหนดให้ บ้านพิษณุโลก เป็นที่พำนักของนายกฯ ขณะดำรงตำแหน่ง แต่ในปัจจุบันการบำรุงรักษายังไม่พร้อมใช้ หรือจัดให้มีขึ้นใหม่ ดังนั้นเพื่อให้นายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ผู้นำประเทศได้อย่างสมเกียรติ รัฐพึงจัดให้มีที่พำนักประจำตำแหน่งนายกฯ


สรุปคือ พลเอกประยุทธ์ไม่ผิด แม้ได้รับผลประโยชน์จากหน่วยงานรัฐเพราะระเบียบกองทัพบกกำหนดว่าทำได้ และเป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดที่พักให้ผู้นำประเทศอยู่อย่างปลอดภัย สร้างความพร้อมทั้งกายและใจเพื่อให้ทำหน้าที่บริหารประเทศ แต่กรณีประเทศไทยแม้รัฐกำหนดให้บ้านพิษณุโลกเป็นบ้านพักรับรองนายกรัฐมนตรี แต่ยังซ่อมแซมไม่พร้อมใช้ ดังนั้นรัฐ (ในกรณีนี้คือกองทัพบก) ต้องจัดที่พักให้นายกรัฐมนตรีอย่างสมเกียรติ

นัยการอธิบายและการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่า ระเบียบกองทัพบกซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากรมมีศักดิ์เหนือรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งขัดกับจารีตทางกฎหมาย และขาดความชอบธรรมและไม่อาจยอมรับได้ ระเบียบดังกล่าวสามารถใช้ได้แก่บุคลากรของกองทัพ แต่ย่อมมีปัญหาหากบุคคลที่ได้รับสิทธิ์เป็นส.ส. ส.ว.และรัฐมนตรี เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘๔ ว่า ไม่อาจรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจงานปกติ การให้บ้านพักและค่าไฟฟ้าและน้ำประปาในบ้านแก่นายทหารเกษียณคนหนึ่งเป็นการเฉพาะย่อมมิใช่ธุรกิจปกติของกองทัพบก และการให้ค่าใช้จ่ายสนับสนุนค่าน้ำค่าไฟฟ้าเป็นการให้เปล่าที่มีมูลค่าเกิน ๓,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด และข้าราชการทุกคนไม่ว่าจะเป็นข้าราชการการเมืองหรือข้าราชการประจำมิอาจรับได้

ส่วนการอ้างว่าพลเอกประยุทธ์ทำคุณความดีต่อกองทัพและทำประโยชน์แก่ประเทศเป็นข้ออ้างที่คลุมเครือและอาจก่อให้เกิดการใช้อำนาจในทางที่มิชอบตามมาได้ เพราะกองทัพสามารถใช้ข้ออ้างนี้ให้ผลประโยชน์แก่ใครบางคนก็ได้ตามความปรารถนาของผู้มีอำนาจในกองทัพ โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ ความชอบธรรมและความรับผิดชอบต่อเงินภาษีที่ประชาชนที่ต้องใช้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือกองทัพไม่มีหน้าที่จัดบ้านพักรับรองให้แก่นายกรัฐมนตรี การทำเช่นนี้ของกองทัพจึงเป็นการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตหน้าที่ของหน่วยงาน สำหรับหน้าที่ในการจัดบ้านพักรับรองให้แก่นายกรัฐมนตรีนั้นน่าจะเป็นของสำนักนายกรัฐมนตรีเสียมากกว่า


การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญกรณีบ้านพักหลวงของพลเอกประยุทธ์สามารถตีความได้ว่าเป็นการใช้อำนาจขององค์กรอิสระในทางที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจทางการเมือง จนละเลยหลักนิติธรรมอย่างสิ้นเชิง และทำให้คนจำนวนมากมองว่าสิ่งนี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงเครือข่ายอำนาจที่เกื้อกูลระหว่างกันของกลุ่มชนชั้นนำในสังคมไทยที่มักใช้กฎหมายเป็นเครื่องในการรักษาตำแหน่ง อำนาจ และผลประโยชน์ของพวกพ้อง รวมทั้งทำให้ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการปฏิบัติสองมาตรของศาลรัฐธรรมนูญมีน้ำหนักมากขึ้น และส่งผลให้ความชอบธรรมทางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญตกต่ำลงยิ่งกว่าเดิม จนมีคำถามจากสังคมมากขึ้นว่า สังคมไทยจำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ หากการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญยังคงมีแนวโน้มเป็นไปตามทิศทางดังที่ผ่านมา

ในส่วนของพลเอกประยุทธ์ แม้ว่าถูกตัดสินให้พ้นความผิดโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ในทางการเมืองแล้วไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองได้ เพราะเป็นการกระทำที่รับผลประโยชน์อันไม่พึงได้จากหน่วยงานของราชการ อันที่จริงพลเอกประยุทธ์มีการกระทำหลายครั้งหลายหนในอดีตในลักษณะที่ไม่สนใจและไม่ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่มีใครหรือหน่วยงานใดสามารถเอาผิดกับพลเอกประยุทธ์ได้ ในแง่นี้จึงกลายเป็นเสมือนว่าพลเอกประยุทธ์มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญก็ถูกพลเอกประยุทธ์ทำให้ด้อยค่าลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พลเอกประยุทธ์เรียกร้องให้ประชาชนเคารพกฎหมาย แต่ตัวเขาเองกลับมีการกระทำหลายครั้งที่ดูเหมือนไม่เคารพกฎหมายแต่อย่างใด โดยเฉพาะกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ


กล่าวได้ว่าพลเอกประยุทธ์และศาลรัฐธรรมนูญเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบยุติธรรมและกฎหมายของประเทศสั่นคลอนและสูญสิ้นความน่าเชื่อถือ เมื่อผู้นำประเทศและองค์กรหลักทางการเมืองกระทำเป็นแบบอย่าง ก็ย่อมส่งผลต่อความคิดและการกระทำของประชาชนจำนวนมากในสังคม และหากเมื่อใดที่การเลียนแบบพฤติกรรมเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย สภาพสังคมก็จะไร้ระเบียบและเต็มไปด้วยผู้คนที่ไม่ปฏิบัติกฎหมาย สังคมเช่นนั้นย่อมไม่ใช่สังคมที่น่าพึงปรารถนา แต่เป็นสังคมที่น่าหวาดกลัว


สถานะทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ในเวลานี้คือ เครื่องจักรเก่า ๆ ที่กำลังเสื่อมสภาพ ต้องใช้บุคคล องค์การ และทรัพยากรของรัฐจำนวนมากโอบอุ้ม ประคับประคอง และซ่อมแซมไปเรื่อย ๆ ในฐานะที่เป็นผู้นำทางการเมือง ฯ เวลานี้ พลเอกประยุทธ์หลงเหลือความชอบธรรมเพียงน้อยนิด ปราศการเคารพนับถือจากประชาชนจำนวนมาก เสียงขับไล่ดังขึ้นทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่มีความสง่างามและเกียรติยศในการดำรงตำแหน่งต่อไป ยิ่งอยู่นานเท่าไรปัญหาต่าง ๆ ก็ยิ่งมีมากขึ้น และยิ่งส่งผลกระทบทางลบต่อสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ ที่คอยโอบอุ้มมากขึ้นทุกวัน

การลาออกจากตำแหน่งโดยเร็ววันของพลเอกประยุทธ์ จึงเป็นทางเลือกน่าจะเป็นส่งผลดีสังคมโดยรวม ช่วยลดความขัดแย้งทางการเมือง และรักษาความน่าเชื่อถือขององค์การและสถาบันต่าง ๆ ทางการเมืองเอาไว้ได้ในระดับหนึ่งด้วย ดังนั้นเวลานี้ น่าจะถึงวันที่พลเอกประยุทธ์ ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตว่าจะเลือกไปอย่างมีศักดิ์ศรี หรือจะอยู่ต่อท่ามกลางเสียงขับไล่


กำลังโหลดความคิดเห็น