“ชุติมา ซุ้นเจริญ” บก.เซกชันจุดประกาย นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ลาออกไปทำงานมูลนิธิสยามกัมมาจล พบที่ผ่านมาหยุดพิมพ์ฉบับเสาร์-อาทิตย์ และลดหน้าหนังสือพิมพ์ลง ผลก็คือเซกชันดังลดจาก 12 หน้า เหลือแค่หน้าเดียว อึ้ง! เคยเจออดีตผู้บริหารเนชั่นทีวี ที่เคยลอกข่าวสอนว่า “คุณภาพเท่ากับยอดวิว” ไม่ใช่ความถูกต้องรอบด้าน
วันนี้ (1 ธ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ในโซเชียลมีเดียมีการแชร์ข้อความของ น.ส.ชุติมา ซุ้นเจริญ บรรณาธิการเซกชันจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Aey Chutima ถึงการลาออกจากตำแหน่ง มีผลตั้งแต่เมื่อวานนี้ (30 พ.ย.)
ที่น่าสนใจก็คือ ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเปลี่ยนผู้บริหารมาเป็นนายวีระศักดิ์ พงษ์อักษร มาเป็นบรรณาธิการบริหาร เมื่อปี 2561 กระทั่งปี 2562 น.ส.ชุติมาได้รับมอบหมายจากเดิมเป็นบรรณาธิการเสาร์สวัสดี (เซกชันจุดประกายฉบับวันเสาร์) ให้เป็นบรรณาธิการเซกชันจุดประกาย โดยให้อิสระในการเลือกประเด็นข่าวและไม่เคยด้อยค่าการทำประเด็นสังคม กระทั่งสถานการณ์โควิด-19 เซกชันจุดประกายเข้าสู่โปรแกรม PIP (Performance Improvement Program) ประกอบด้วย ผู้สื่อข่าว 10 คน ซับเอดิเตอร์ 4 คน เพื่อหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ โดยใช้ประสบการณ์การทำเรื่องไลฟ์สไตล์ของจุดประกายเป็นตัวต่อยอด
ในตอนหนึ่ง ผู้บริหารเว็บไซต์แห่งหนึ่งที่ผันตัวมาเป็นผู้บริหารเนชั่นทีวี มาเล่าประสบการณ์ในการทำเว็บไซต์ที่มีคนทำไม่กี่คนให้มียอดวิวหลักล้านวิวต่อวัน ช่วงหนึ่งตั้งคำถามว่า “อะไรคือคุณภาพข่าว” ชาวจุดประกายบางคนตอบไปว่า “คือความถูกต้องรอบด้าน” ปรากฏว่าไม่ใช่ “คุณภาพเท่ากับยอดวิว” ทำให้นึกถึงเรื่องที่ตนเคยถูกคัดลอกเนื้อหาไปลงเว็บไซต์แห่งนั้น แล้วพาดหัวใหม่จนได้ยอดวิวถล่มทลาย ก็จัดอยู่ในเรื่องคุณภาพด้วย แต่ก็มองว่าคำพูดของคนคนนั้นไม่ได้มีค่าอะไร และในที่สุดเขาก็ได้ลาออกไปจากเครือเนชั่น
ต่อมา นายฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหารเครือเนชั่น แจ้งยุติการพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันเสาร์-อาทิตย์ และลดหน้าในฉบับวันจันทร์-ศุกร์ ผลที่ตามมาคือ เซกชันจุดประกายที่เคยมีสูงสุด 12 หน้า เหลือเพียงคอลัมน์จุดประกาย Talk ทุกวันจันทร์ 1 หน้าเท่านั้น สิ่งที่หายไปไม่ใช่คอนเทนต์ แต่คือใจ การหายไปของปกจุดประกายแบบโอลด์สกูล จะนำมาซึ่งการหายไปของการเขียนในแนวสารคดีกับประเด็นสังคมที่ไม่อิงกระแส เพราะมีคนสนใจค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม นับจากนี้อาจทำให้ไม่มีเรี่ยวแรงพอที่จะทำเรื่องแบบที่เคยทำ ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ยอดวิวเป็นค่าเริ่มต้นท่ามกลางการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดของสื่อออนไลน์ แต่เป็นเพียงการคาดการณ์และความกังวลส่วนตัว ไม่ใช่เหตุผลในการลาออกครั้งนี้
อ่านประกอบ : เนชั่นเล็งหยุดพิมพ์ “กรุงเทพธุรกิจ” เสาร์-อาทิตย์ หลังรายได้โฆษณาลดลงเกือบครึ่ง