xs
xsm
sm
md
lg

#MGRTOP7 : ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม | โศกนาฏกรรม "ทัวร์บุญกฐิน" | "โควิด" ประชิดไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รวบตึงทุกเรื่องราว คัดข่าวเด็ด เบ็ดเสร็จในที่เดียว ... MGR Online ขอนำเสนอ “Top 7 ข่าวฮอตในรอบ 7 วัน” สรุปข่าวเด่น ประเด็นฮอตที่พลาดไม่ได้ เป็นประจำทาง mgronline.com และเฟซบุ๊ก MGR Online Live แฮชแท็ก #MGROnline #MGRTOP7

(สรุปข่าวประจำวันที่ 11 - 17 ต.ค. 2563)


ขบวนเสด็จ “พระราชินี-พระองค์ที” ถูกม็อบชูสามนิ้วล้อมข้างทำเนียบรัฐบาล

เมื่อเย็นวันที่ 14 ต.ค. ระหว่างที่มีการชุมนุมของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "คณะราษฎร 2563" เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปตามถนนนครสวรรค์ ขณะที่ตำรวจสกัดกั้นบริเวณหน้าธนาคาร ธ.ก.ส. สาขานางเลิ้งนั้น พบว่าขบวนเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ผ่านบริเวณถนนพิษณุโลก ข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อขึ้นทางด่วนที่ด่านยมราช ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งที่รอขบวนใหญ่เข้ามาปิดล้อม ตะโกนคำต่างๆ พร้อมชูสามนิ้ว โดยที่พระองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์และโบกพระหัตถ์ให้ กลายเป็นภาพที่คนไทยผู้จงรักภักดีรับไม่ได้อย่างยิ่ง

หลังเกิดเหตุ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งย้าย พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท่วม รอง ผบช.น. พล.ต.ต.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผบก.อคฝ. และ พล.ต.ต.ปราศัย จิตสนธิ ผบก.น.1 มาช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะที่พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ออกหมายจับ นายเอกชัย หงส์กังวาน และ นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง นักกิจกรรมทางการเมือง ในข้อหา “ประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี” ตามมาตรา 110 และจับกุมได้เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ภายหลังศาลให้ประกันตัวนายบุญเกื้อหนุน โดยตีราคา 2 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ต้องหาไปกระทำการใดในลักษณะเช่นนี้อีก


อันดับ 2 : จากคณะราษฎร 2563 สู่ม็อบออร์แกนิค แกนนำถูกรวบ ผู้ชุมนุมถูกรถฉีดน้ำแรงดันสูงสลาย แต่ยิ่งปรามยิ่งพุ่ง

การชุมนุมของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่าคณะราษฎร 2563 นำโดย นายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เริ่มต้นเมื่อเช้าวันที่ 14 ต.ค. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล ขณะเดียวกัน นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ (อดีตพระพุทธะอิสระ) นพ.เหรียญทอง แน่นหนา และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำประชาชนสวมเสื้อสีเหลืองเฝ้าฯ รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อมาหลังผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 มาถึงในช่วงค่ำ แกนนำประกาศชัยชนะก่อนปราศรัยไปถึงเวลาประมาณ 02.00 น. นายอานนท์จึงประกาศยุติการชุมนุมและนัดเคลื่อนไหวใหม่ในวันรุ่งขึ้น

เวลา 04.00 น. วันที่ 15 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก่อนที่ตำรวจจะจับนายอานนท์ นายพริษฐ์ และ น.ส.ปนัสยา ทำให้ในช่วงเย็นมีการรวมตัวกันที่สี่แยกราชประสงค์ จากนั้นวันที่ 16 ต.ค. ได้นัดชุมนุมที่สี่แยกปทุมวัน ปรากฎว่าตำรวจใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ที่มีน้ำผสมสีน้ำเงินและสารเคมีใส่ผู้ชุมนุม ทำให้กระแสสังคมไม่พอใจที่รัฐใช้ความรุนแรง ขณะที่ตำรวจชี้แจงว่าสลายการชุมนุมตามหลักสากล กระทั่งวันที่ 17 ต.ค. ผู้ชุมนุมนัดรวมตัวกันที่ห้าแยกลาดพร้าว วงเวียนใหญ่ และอุดมสุข รวมทั้งจัดชุมนุมย่อยเพื่อกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก แก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์


อันดับ 3 : โศกนาฏกรรมทัวร์บุญกฐิน ขับไม่พ้นทางรถไฟ เจอขบวนขนตู้สินค้าชนยับที่แปดริ้ว เสียชีวิต 19 ราย

โศกนาฏกรรมบนจุดตัดทางรถไฟเกิดขึ้นเมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 11 ต.ค. เกิดอุบัติเหตุรถบัสโดยสารซึ่งมีนายบุญส่ง สวนยิ้ม อายุ 54 ปี เป็นคนขับ นำพนักงานโรงงานเพอร์เฟค อินเตอร์ โพรดักส์ ย่านสำโรง จ.สมุทรปราการ ประมาณ 60 คน ไปทอดกฐินที่วัดบางปลานัก ต.บางเตย อ.เมืองฯ จ.ฉะเชิงเทรา ประสบอุบัติเหตุชนกับรถไฟบรรทุกสินค้าคอนเทนเนอร์ที่ 852 ดีเซลเลขที่ 5102 ขนสินค้าระหว่างสถานีแหลมฉบัง-ICD ร่มเกล้า บริเวณจุดตัดทางรถไฟใกล้ที่หยุดรถคลองแขวงกลั่น ห่างจากวัดประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 18 ราย เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย บาดเจ็บอีก 39 คน

พล.ต.ต.ชาคริต สวัสดี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทรา ระบุว่า สาเหตุคาดว่าเกิดจากคนขับรถบัสไม่ชินเส้นทาง มีการเปิดเพลงเสียงดัง ทำให้ไม่ได้ยินเสียงหวูดรถไฟ อีกทั้งจุดเกิดเหตุไม่มีเครื่องกั้นรถไฟ จุดตัดทางรถไฟมีลักษณะเป็นทางลาดชัน ภายในรถบัสมีการบรรทุกผู้โดยสารมากกว่าปกติ และรถไฟวิ่งด้วยความเร็วสูง ทำให้หยุดรถกระชั้นชิดไม่ทัน ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์จุดเกิดเหตุจนโล่งเตียน ส่วนชาวบ้านคลองแขวงกลั่น และชาวบ้านบางปลานัก จัดพิธีทำบุญเลี้ยงเพลพระครั้งใหญ่ เพื่อสานต่อเส้นทางบุญของกลุ่มผู้เสียชีวิต ก่อนจะกลับมาใช้เส้นทางจุดตัดทางรถไฟตามปกติ


อันดับ 4 : โควิดประชิดไทย! แม่สอดวุ่นหนัก รถขนสินค้าฝั่งเมียนมา ลามมาถึงชุมชน ชาวบ้านลุกฮือวอนปิดด่าน

ความวุ่นวายจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ทีมแพทย์โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก ออกหน่วยเคลื่อนที่สุ่มตรวจคนขับรถขนส่งสินค้าชาวเมียนมา หน้าด่านพรมแดนถาวรแม่สอดแห่งที่ 2 ปรากฎว่าพบเชื้อโควิด 19 จำนวน 2 ราย เมื่อสอบสวนโรคระบุว่าได้ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-พม่า 2 เข้ามาในตลาดพาเจริญเพื่อส่งสินค้าที่โกดังอาลีและโกดังสิงห์รุ่งเรือง ไป-กลับ 2 เที่ยว พบผู้สัมผัสรวม 74 คน จึงได้ทำการตรวจหาเชื้อ พบผู้ติดเชื้อเป็นชาวเมียนมา 1 ราย ทำให้จังหวัดตากออกคำสั่งเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ห้ามยานพาหนะเข้า โดยให้ขนถ่ายสินค้าที่ด่านแม่สอดแห่งที่ 2 แทน

ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนชายแดนแม่สอด ชุมนุมเรียกร้องให้ปิดด่าน เพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดจากฝั่งเมียนมา เทศบาลเมืองแม่สอดสั่งปิดโรงเรียน 13 แห่งในเขตเทศบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนก ต่อมาวันที่ 16 ต.ค. พบสองสามีภรรยาชาวเมียนมาในย่านมะดีนะห์ และย่านถุงทอง ชุมชนวัดหลวง มีเชื้อโควิด-19 โดยมีบุตรทำงานที่ท่าขนส่งสินค้า และเมื่อวันที่ 17 ต.ค. พบผู้ติดเชื้อเป็นบุตรของสองสามีภรรยา และหลานอีก 2 คน รวมเป็น 5 คน ทำให้ทางจังหวัดตากออกประกาศ 7 ข้อ ปิดสถานบริการ ห้ามมั่วสุม ร้านอาหารให้สั่งกลับบ้าน

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อ 39.85 ล้านราย เสียชีวิต 1.11 ล้านคน รักษาหายแล้ว 29.8 ล้านคน ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสม 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 8.32 ล้านราย รองลงมาคืออินเดีย บราซิล รัสเซีย และสเปน


อันดับ 5 : จำคุก 8 ปี "น้ำอุ่น" มอมเหล้า-อุ้มพริตตี้สาว "ลัลลาเบล" ศาลชี้ปราศจากเสรีภาพ-ถึงแก่ความตาย

กรณีการเสียชีวิตอย่างปริศนาของ น.ส.ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ หรือ ลัลลาเบล อายุ 26 ปี พริตตี้สาว หลังถูกนายรัชเดช วงศ์ทะบุตร หรือน้ำอุ่น อายุ 26 ปี นายแบบและเทรนเนอร์ฟิตเนสอุ้มตัวมาจากบ้านปาร์ตี้ใน อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ไปยังคอนโดมิเนียมย่านดาวคะนอง เขตธนบุรี กรุงเทพฯ แล้วพบว่าเสียชีวิต เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2562 ที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 14 ต.ค. ศาลอาญาธนบุรีมีคำพิพากษาจำคุกนายรัชเดช 8 ปี ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ส่วนเจ้าของบ้านปาร์ตี้และผู้เกี่ยวข้องอีก 5 ราย จำคุกคนละ 5 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันสนับสนุนการกระทำผิด และร่วมกันชดใช้เงิน 7.4 แสนบาท

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายรัชเดชได้พา น.ส.ธิติมา ขณะนั้นอยู่ในภาวะมึนเมาไปกระทำอนาจาร โดยใช้กำลังประทุษร้ายอุ้มออกจากบ้านปาร์ตี้ไปขึ้นรถยนต์ พาไปที่คอนโดฯ ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขัง ปราศจากเสรีภาพในร่างกายและถึงแก่ความตาย ส่วนจำเลยที่เหลือร่วมกันสนับสนุนการกระทำผิด และะต่างล่วงรู้ถึงเป้าหมายของการจัดงานปาร์ตี้ โดยให้ น.ส.ธิติมาดื่มสุราจนไม่สามารถครองสติและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ยินยอมให้นายรัชเดชพาไปกระทำอนาจารโดยไม่ได้ขัดขวางหรือเข้าห้ามปราม ภายหลังศาลให้ประกันตัวชั่วคราวนายรัชเดช ตีเงินประกัน 3.5 แสนบาท และจำเลยที่เหลือคนละ 1.5 แสนบาท


อันดับ 6 : ฝนตกทั่วฟ้า-โคราชอ่วมหนัก เขาใหญ่ท่วมยันคฤหาสน์ 15 ล้านจมน้ำไปกับตา หนักสุดในรอบ 20 ปี

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "นังกา" ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. โดยเฉพาะภาคอีสาน เมื่อวันที่ 9 ต.ค. น้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เข้าท่วมพื้นที่ ต.หมูสี ต.ขนงพระ ต.ปากช่อง ต.หนองน้ำแดง และ ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา บางส่วนผ่านคฤหาสน์และสถานที่ตากอากาศสุดหรู มูลค่าราว 15 ล้านบาท จมน้ำไปกับตา ก่อนเข้าท่วมถนนมิตรภาพสายเก่า สัญจรไม่ได้ในช่วงสั้นๆ ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง หนักที่สุดในรอบ 20 ปี

จากนั้นเมื่อวันที่ 15 ต.ค. มีฝนตกลงมาอย่างหนักในตัวเมืองนครราชสีมา ทำให้มีน้ำท่วมขังหลายจุดทั่วเมืองโคราช โดยเฉพาะตลาดเซฟวัน น้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ร้านค้าขนของหนีน้ำไม่ทันได้รับความเสียหาย ส่วนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา มีการขุดเจาะถนนหลายสายเพื่อนำสายไฟลงดิน มีรถยนต์เก๋งขับลุยน้ำท่วมตกลงไปในหลุมกลางถนน ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ต.ค. เขื่อนลำพระเพลิง ล้นสปิลเวย์ทะลักท่วม อ.ปักธงชัย และ อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่งในจังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำมากกว่า 100% ของความจุอ่างแล้ว 10 แห่ง ต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด


อันดับ 7 : การบินไทยระส่ำ! สุดเคืองตั้ง "ภรรยาประธานบอร์ด" ผงาด พนักงานผู้น้อยสั่นคลอน วัดดวง "จำใจจาก"

หลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา แม้คนการบินไทยจะสามัคคีหารายได้ ขายปาท่องโก๋เพื่อความอยู่รอด แต่ก็มีเสียงวิจารณ์กรณีที่นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ แต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารทั้งที่อยู่ในระหว่างลดขนาดองค์กร โดยเฉพาะนางพงศ์อุมา ดิษยะศริน ภรรยา พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานบอร์ดการบินไทย จากเดิมดูแลมาตรฐานการบิน (JO) ระดับ 9 มาเป็นรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายซีเอสอาร์ (CSR) ระดับ 10 นำไปสู่การแต่งชุดดำประท้วงของพนักงานระหว่างประชุม Staff Meeting

แม้นายชาญศิลป์จะออกมาเคลียร์ประเด็นนี้ แต่พนักงานยังระส่ำไม่หาย เพราะมีโครงการร่วมใจเสียสละ หลังไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ แต่มีรายจ่ายมากมาย ทำให้กระแสเงินสดไม่เพียงพอ จนกว่าแผนฟื้นฟูกิจการจะได้รับความเห็นชอบ โดยแบ่งเป็น 2 โครงการ คือ 1. ให้พนักงานสมัครใจลาออก ตั้งแต่ 30 พ.ย. 2563 ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน บวกเงินช่วยเหลือพิเศษอีก 1 เดือน ผ่อนจ่าย 12 งวดตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564 และ 2. ลาระยะยาว รับเงินเดือน 20% เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ พ.ย. 2563 ถึง เม.ย. 2564 ก่อนให้สิทธิสมัครใจลาออกอีกรอบ ได้รับเงินชดเชยบวกเงินช่วยเหลือพิเศษอีก 4 เดือน