xs
xsm
sm
md
lg

ตร.จ่อไม่ดำเนินคดี พขร.รถไฟ ระบุใช้ความระมัดระวังเต็มที่ ชี้บัสกฐินบรรทุกเกินพิกัดเกือบเท่าตัว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา - ตำรวจจ่อไม่ดำเนินคดีพขร.รถไฟ ระบุ รฟท.มีกฎหมายพิเศษคุ้มครอง ซ้ำได้ใช้ความระมัดระวังเต็มที่แล้ว แต่ช่วงเกิดเหตุทัศนวิสัยไม่ดี ประกอบกับคนขับรถบัสประมาท ไม่ชินเส้นทาง ทั้งบรรทุกคนเกินพิกัดเกือบเท่าตัว เตรียมงัด พ.ร.บ.ขนส่งเล่นงานเจ้าของบัสกฐิน

จากเหตุการณ์รถไฟบรรทุกตู้สินค้าพุ่งชนรถบัสทอดกฐินสามัคคี บริเวณสถานีรถไฟคลองแขวงกลั่น ม.7 ต.บางเตย อ.เมืองฉะเชิงเทรา จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 40 ราย เสียชีวิต 19 ราย ซึ่ง 1 ในนั้นคือ นายบุญส่ง สวนยิ้ม อายุ 54 ปี คนขับรถบัส นำพนักงานบริษัทเอกชนใน จ.สมุทรปราการกว่า 60 ชีวิต เดินทางมาทำบุญที่วัดบางปลานัก ต.บางเตย อ.เมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่หากจากจุดเกิดเหตุเพียง 4 กิโลเมตร เหตุเกิดเมื่อช่วงเช้าวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (12 ต.ค.) พล.ต.ต.ชาคริต สวัสดี ผบก. ภ.จว.ฉะเชิงเทรา ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่ห้องประชุม 2 สภ.เมืองฉะเชิงเทรา เกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพทัศนวิสัยที่ไม่ดีเนื่องจากในวัดเกิดเหตุได้มีฝนตกลงมาในพื้นที่ จึงทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นของผู้ขับขี่เหลือเพียงระยะ 300 เมตรเท่านั้น  

อีกทั้งคนขับรถบัสไม่คุ้นเคยเส้นทาง โดยเฉพาะจุดตัดข้ามทางรถไฟ และภายในรถยังมีการเปิดเพลงเสียงดัง รวมทั้งยังมีผู้โดยสารเต้นรำกันอย่างสนุกสนานจึงอาจทำให้ผู้ขับขี่ไม่ได้ยินเสียงหวูดเตือนจากรถไฟ ประกอบกับที่เกิดเหตุไม่มีเครื่องกั้นรถไฟ แต่มีป้ายเตือนและสัญญาณไฟให้เห็นอย่างชัดเจน




นอกจากนี้ จุดเกิดเหตุยังมีลักษณะเป็นทางลาดชัน ผู้ขับขี่จึงต้องเร่งความเร็วเพื่อให้ผ่านพ้นจุดดังกล่าว ขณะที่ภายในรถบัสมีผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่ได้รับอนุญาต 42 คน แต่กลับมีการบรรทุกผู้โดยสารมากถึง 70 คน จึงทำให้เครื่องยนต์เร่งเขึ้นเนินได้ช้ากว่าปกติ ขณะที่ขบวนรถไฟวิ่งมาด้วยความเร็วสูงจึงไม่สามารถหยุดรถในระยะกระชั้นชิดได้ทัน

“สำหรับขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าเที่ยวนี้มีความยาว 439 เมตร มีน้ำหนักประมาณ 2,000 ตัน ซึ่งต้องใช้ระยะเบรกหยุดรถมากถึง 600 เมตรตามปกติ จึงจะสามารถหยุดรถได้ และในขณะเกิดเหตุคนขับได้เปิดหวีด หรือหวูด พร้อมเปิดไฟให้สัญญาณเตือนแล้วในระยะที่มองเห็นประมาณ 300 เมตร จึงถือว่ามีการเตือนผู้ข้ามทางแล้ว และถือว่าได้ใช้ความระมัดระวังในจุดที่เพียงพอ อุบัติเหตุในครั้งนี้จึงไม่ได้เกิดจากความประมาทของ พขร.รถไฟ แต่เป็นความประมาทของคนขับรถบัสที่ใช้ความระวัดระวังไม่เพียงพอ”




ผบก.ภ.จว.ฉะเชิงเทรา ยังเผยอีกว่า นอกจากนี้รถไฟยังมีกฎหมายพิเศษที่ผู้ข้ามทางจะต้องใช้ความระมัดระวังเอง เมื่อเห็นว่ามีความปลอดภัยแล้วจึงจะข้ามได้ และทางข้ามดังกล่าวยังเป็นทางลักข้ามที่ไม่ได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทย และเป็นเพียงทางข้ามท้องถิ่น และชาวบ้านใช้ตัดผ่านข้ามกันเองในหมู่บ้าน ซึ่งใน จ.ฉะเชิงเทรา มีทางข้ามลักษณะดังกล่าวจำนวน 16 จุด

ส่วนการดำเนินคดีต่อเจ้าของรถบัสที่ปล่อยปละละเลยให้มีการบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนกว่าพิกัดบรรทุก หรือบรรทุกคนเกินจำนวนนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะให้สำนักงานขนส่งเข้าแจ้งความร้องทุกข์ เพื่อดำเนินคดีต่อเจ้าของรถ

และจากการตรวจสอบการทำประกันภัยของรถบัสหมายเลขทะเบียน 30-1476 พระนครศรีอยุธยา พบว่า มีการทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัทอาคเนย์ประกันภัย ซึ่งมีวงเงินทุนประกันภัยในการชดเชยค่าเสียหายกรณีเสียชีวิตไม่เกิน 5 แสนบาทต่อคน และไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีการทำประกันภัยในภาคสมัครใจ ประเภท 3 ไว้กับบริษัทสินมั่นคงประกันภัย วงเงินความคุ้มครองการเสียชีวิต 5 แสนบาทต่อคน และไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อครั้งเช่นกัน ซึ่งรวมถึงค่ารักษาพยาบาลรายบุคคลที่มีวงเงิน 5 หมื่นบาทเท่ากันทั้ง 2 ประเภท


ทั้งนี้ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก หากเกินกว่าวงเงินเอาประกันภัยจะต้องเฉลี่ยกันไปในแต่ละราย ส่วนยอดของผู้เสียชีวิตล่าสุดขณะนี้มีทั้งสิ้น 19 ราย และเป็นการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานในที่เกิดเหตุ 1 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายล่าสุดญาติได้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ และเสียชีวิตลงเมื่อเวลา 23.40 น.วานนี้

พล.ต.ต.ชาคริต ยังได้เปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 19 ราย บาดเจ็บ 39 ราย และสำหรับการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลของผู้เสียชีวิตนั้นขณะนี้สามารถตรวจพิสูจน์ทราบได้แล้ว 18 ราย แต่ยังมีชิ้นส่วนท่อนร่างอีก 1 ชิ้นที่ยังไม่ทราบว่าเป็นของใคร จึงได้ส่งไปตรวจพิสูจน์ยังสถาบันนิติเวช

ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บซึ่งพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพุทธโสธร ขณะนี้แบ่งเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 ราย อาการปานกลาง 9 ราย ส่วนที่เหลือจำนวน 6 ราย สามารถกลับบ้านได้แล้ว

ส่วนที่โรงพยาบาลบ้านโพธิ์ มีผู้ได้รับบาดเจ็บถูกส่งไปรักษาตัวจำนวน 10 ราย แพทย์ให้นอนพักรักษาตัว 2 ราย และส่งต่อมายังโรงพยาบาลพุทธโสธร 1 ราย ที่เหลือแพทย์ให้กลับบ้านได้

และโรงพยาบาลคลองเขื่อน มีผู้ได้รับบาดเจ็บถูกส่งไปรักษาจำนวน 6 ราย โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ 7 ราย และแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วทั้งหมด


ผวจ.ฉะเชิงเทรา สั่งหน่วยงานท้องถิ่นจัดงบสร้างที่กั้นทางรถไฟเอง

อย่างไรก็ดี นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีคำสั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล ที่มีเส้นทางตัดข้ามทางรถไฟ เร่งจัดหางบประมาณเพื่อสร้างเครื่องกั้นทางรถไฟแบบอัตโนมัติ จุดละประมาณ 3.5 ล้านบาทไปก่อนทั้ง 16 จุด เพื่อป้องกันเหตุไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

ก่อนจะประสานขออนุญาตไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทยอีกครั้ง เพื่อให้เป็นทางผ่านที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะถือเอาวิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ใช้เป็นตัวอย่างให้แก่จังหวัดอื่นๆ ในการหาหนทางแก้ไขและป้องกันปัญหาในลักษณะเดียวกันต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น