xs
xsm
sm
md
lg

เผย 35 จุดตัดรถไฟ! เสี่ยงสูง “ทางลักผ่าน” เกิดเหตุซ้ำซาก-คมนาคมสั่งเร่งแก้ไขด่วน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คมนาคม” ประชุมด่วนแก้ปัญหาจุดตัดรถไฟ ล้อมคอกเหตุชนรถบัสกฐินที่ฉะเชิงเทรา สั่งซ่อมสัญญาณไฟใน 7 วัน ดึงเงิน กปถ.ติดเครื่องกั้นอัตโนมัติเร่งด่วน เผยมีทางลักผ่าน 35 จุดเสี่ยงเกิดเหตุซ้ำ ด้านกรมรางขอเงิน กปภ. 29.5 ล้านทำแผนแม่บทแก้ไขทั่วประเทศ

นายพิศักดิ์ จิตวิริยวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) และโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีอุบัติเหตุขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าคอนเทนเนอร์ ที่ 852 ดีเซลเลขที่ 5102 มีต้นทางสถานีแหลมฉบัง และสถานีปลายทางลาดกระบัง (ไอซีดี) ขณะที่ขบวนผ่านสถานีคลองบางพระ ก่อนถึงบริเวณป้ายหยุดรถคลองแขวงกลั่น เป็นทางผ่านที่ยังไม่ได้รับอนุญาต หรือทางลักผ่าน กม. 50+031 ซึ่งการรถไฟฯ ได้ติดตั้งป้ายหยุด และสัญญาณไฟเตือนเพื่อช่วยในด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ขับขี่ โดยช่วงเกิดเหตุมีรถบัสโดยสารไม่ประจำทางขับผ่านจุดตัดบริเวณดังกล่าว แม้ว่าพนักงานขับรถไฟได้ปฏิบัติตามข้อบังคับ โดยการเปิดหวูดเตือนก่อนจะถึงจุดตัดเสมอระดับทาง แต่ด้วยระยะที่กระชั้นชิดทำให้ไม่สามารถหยุดขบวนรถได้ทัน จนทำให้เกิดเหตุเฉี่ยวชนรถบัสโดยสารหมายเลขทะเบียน 30-1476 พระนครศรีอยุธยา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 19 ราย และได้รับบาดเจ็บ 44 ราย (กลับบ้านแล้ว 31 ราย) ที่เหลือรักษาตัวที่ รพ.พุทธโสธรนั้น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีข้อสั่งการด่วนให้ปลัดกระทรวงคมนาคมประชุมร่วมกับรองปลัดฯ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กรมการขนส่งทางบก ผู้ว่าฯ รฟท. ซึ่งได้ข้อสรุปที่ต้องดำเนินการแก้ไขระยะเร่งด่วน จุดที่เกิดเหตุ 2 เรื่อง คือ 1. ให้ รฟท.ปรับปรุงแก้ไขป้ายเตือน สัญญาณไฟกะพริบให้เสร็จและพร้อมใช้งานภายใน 7 วัน

2. ให้ รฟท.เร่งเสนอคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟระดับจังหวัด เพื่อพิจารณาขอติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติ ก่อนเสนอคณะกรรมการร่วมพิจารณาการขออนุญาตและการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนที่มีรองปลัดคมนาคมเป็นประธานเป็นการเร่งด่วน เพื่ออนุญาตให้ รฟท.ดำเนินการติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติเป็นการชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหา โดยขอใช้เงินจาก กปถ.ดำเนินการเร่งด่วนประมาณ 4-5 ล้านบาท เนื่องจาก รฟท.และจังหวัดไม่มีงบประมาณ

ส่วนมาตรการระยะต่อไป ให้ รฟท.ร่วมกับจังหวัดสำรวจตรวจสอบจุดตัดทางรถไฟที่เป็นทางลักผ่านที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนและมีความเสี่ยงสูง พิจารณาแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ตามเกณฑ์ความปลอดภัยในการเดินรถ ซึ่งหากเป็นทางลักผ่านขนาดใหญ่ และมีความจำเป็นต้องเปิดให้สัญจรจะต้องติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติ ทางลักผ่านขนาดเล็ก หากไม่จำเป็นมีปริมาณรถน้อย และมีผลต่อความปลอดภัยในการเดินรถไฟ จำเป็นต้องปิด ต้องเร่งดำเนินการ

จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีจุดตัดทางรถไฟทั่วประเทศรวม 2,684 แห่ง แบ่งเป็นจุดตัดต่างระดับ 406 แห่ง จุดตัดเสมอระดับ 2,278 แห่ง ซึ่งเป็นจุดตัดเสมอระดับที่ได้รับอนุญาตจำนวน 1,657 แห่ง (ติดตั้งเครื่องกั้น 1,450 แห่ง ติดไฟกะพริบและป้ายสัญญาณเตือน 207 แห่ง) เป็นจุดตัดเสมอระดับลักผ่าน ไม่ได้รับอนุญาตจำนวน 621 แห่ง ซึ่งจากสถิติช่วงปี 2558-2562 พบว่ามีการเกิดอุบัติเหตุบ่อย ซ้ำซ้อน จำนวน 35 แห่ง เบื้องต้นเป็นทางลักผ่าน 9 แห่ง โดยบางแห่งเกิดเหตุซ้ำ 2-3 ครั้ง ดังนั้นต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน

“กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟมาตั้งแต่ปี 2557 โดยจะใช้เกณฑ์พิจารณาจากปริมาณการจราจรผ่านจุดตัด เช่นเกิน 1 แสนคันจะก่อสร้างถนนเป็นทางต่างระดับข้ามทางรถไฟ กรณีต่ำกว่าจะติดเครื่องกั้นอัตโนมัติ เป็นต้น ส่วนจุดตัดเสมอระดับที่เป็นทางลักผ่าน ได้มีการติดป้ายเตือนและสัญญาณไฟกะพริบ แต่ต้องยอมรับว่าการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เมื่อถึงจุดตัดทางรถไฟ ผู้ขับขี่ต้องหยุดรถและมองซ้ายมองขวา มั่นใจว่าไม่มีรถไฟแล้วจึงขับผ่านไปนั้นยังเป็นสิ่งที่ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้ดีที่สุด เพราะแม้จะมีเครื่องกั้น แต่ยังมีผู้ขับขี่พยายามฝ่าเครื่องกั้นไปอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นจึงขอความร่วมมือประชาชนในการระมัดระวังเมื่อขับผ่านจุดตัดทางรถไฟ”

สำหรับการช่วยเหลือกรณีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น รมว.คมนาคมได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ และให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดย รฟท.ได้ติดตั้งศูนย์ One Stop Service (ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเฉพาะกิจ) ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่คอยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย บริษัทประกันภัย โรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งเบื้องต้น รฟท.จะดูแลค่ารักษาพยาบาล ผู้บาดเจ็บ และช่วยเหลือเงินค่าจัดการงานศพสำหรับญาติผู้เสียชีวิต โดยติดต่อประสานงานได้ที่ โทร. 0-2272-5068 ตลอด 24 ชั่วโมง

@กรมรางของบ กปถ. 29.5 ล้าน เร่งศึกษาแผนแม่บทแก้จุดตัดทั่วประเทศ พร้อมแผนปฏิบัติการ

ด้าน นายทยากร จันทรางศุ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง กรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า กรมรางอยู่ระหว่างจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการแก้ปัญหาอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟทั่วประเทศ และแผนปฏิบัติการ รวมถึงออกแบบรายละเอียดในการปรับปรุงกายภาพจุดตัดแต่ละแห่ง โดยใช้งบศึกษาจาก กปถ.จำนวน 29.5 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 15 เดือน

@ขบ.ย้ำตรวจมาตรฐานรถบัสตาม กม. แนะผู้ใช้บริการเช่าเหมาต้องตรวจเอกสารและคาดเข็มขัดทุกที่นั่ง

ด้านกรมการขนส่งทางบกระบุว่า รถโดยสารไม่ประจำทางที่เกิดเหตุ หมายเลขทะเบียน 30-1476 พระนครศรีอยุธยา ขาดการต่อภาษี และอยู่ระหว่างทำการโอนรถ ซึ่งผู้ประกอบการจะปรับไม่เกิน 50,000 บาท ตามกฎหมาย แต่ทั้งนี้ รถดังกล่าวได้ทำประกันภาคบังคับไว้กับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย ซึ่งจะจ่ายชดเชยกรณีบาดเจ็บ 80,000 บาท/ราย กรณีเสียชีวิต 500,000 บาท/ราย นอกจากนี้ยังทำประกันภัยภาคสมัครใจ ประเภท 3 กับบริษัท สินมั่นคง ประกันภัย ซึ่งคุ้มครองกรณีเสียชีวิต 500,000 บาท/ราย โดยรวมกันวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท

สำหรับตัวรถบัสโดยสาร เป็นรถมาตรฐาน 3 ข พัดลม ไม่เกิน 42 ที่นั่ง ซึ่งจากข้อสันนิษฐานพบว่ามีการบรรทุกเกินทำให้มีผู้โดยสารยืน และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุผู้โดยสารจึงกระเด็นออกมานอกรถ เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งตามกฎหมายและมาตรฐานความปลอดภัย บังคับให้ผู้โดยสารจะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ฝ่าฝืนโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ขบ.ได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจถึงความปลอดภัยในการใช้บริการ รถโดยสารแบบไม่ประจำทาง กรณีต้องการเช่าเหมาบริการนั้นจะต้องตรวจสอบสำเนาจดทะเบียน การชำระภาษี ใบขับขี่คนขับ ประกันภัย จำนวนที่นั่ง และอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยตามกฎหมาย และเมื่อใช้บริการจะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งอย่างเคร่งครัด




กำลังโหลดความคิดเห็น