1.สภามีมติเลื่อนโหวตญัตติร่างแก้ไข รธน. ให้ตั้ง กมธ.ศึกษา 30 วัน ด้าน "รุ้ง" ถูกสวดยับหลังด่า "ชวน หลีกภัย" ด้วยคำหยาบคาย!
ความคืบหน้าสถานการณ์การเมืองและการชุมนุมสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้ชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. โดยใช้พื้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แม้ทาง มธ.จะมีมติไม่อนุญาตก็ตาม แต่ทางผู้ชุมนุมได้มีการใช้คีมตัดเหล็กตัดโซ่ที่คล้องประตูเพื่อเข้าไปชุมนุมใน มธ.และภายหลังได้เคลื่อนขบวนไปยึดพื้นที่สนามหลวงเพื่อชุมนุม โดยได้พังรั้วกั้นเพื่อเข้าพื้นที่สนามหลวง ซึ่งในการชุมนุม ได้มีการขุดเจาะคอนกรีตพื้นที่สนามหลวงเพื่อปักหมุดคณะราษฎร นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแผนการเคลื่อนขบวนจากที่ตั้งใจว่าจะไปทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าวันที่ 20 ก.ย. เปลี่ยนเป็นไปทำเนียบองคมนตรีแทน เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี
โดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ขึ้นประกาศบนเวทีเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ว่า วันนี้มีบิ๊กเซอร์ไพรส์ใหญ่ที่สุด เรามียุทธศาสตร์ข้อที่ 1 ขับไล่รัฐบาล ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ และพวกพ้อง เมือคืนเราประกาศไปแล้วจะไปไล่ประยุทธ์ที่ทำเนียบฯ แต่เมื่อคืนตนนอนคิด คุยกับเพื่อน ว่าประยุทธ์เป็นแค่สุนัขรับใช้ ขอถามพี่น้องตรงนี้ ถ้าข้างบ้านมีหมาเห่าเสียงดัง จะไปบอกหมาหรือไปบอกเจ้าของ อยากทะเลาะกับหมาหรือนาย “ดังนั้น วันนี้บิ๊กเซอร์ไพรส์ไม่ไปทำเนียบฯ แต่เราจะส่งตัวแทนยื่นหนังสือ ยุทธศาสตร์ 3 ข้อ และ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้คนที่ควรฟังสิ่งนี้มากที่สุด คือคนที่เป็นเจ้าของสิ่งนั้น”
ซึ่งต่อมา ได้มีการเคลื่อนขบวนเพื่อไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบองคมนตรี กระทั่ง พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น.ได้เป็นตัวแทนเข้าเจรจา จากนั้น น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำม็อบกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้เป็นตัวแทนยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผ่าน ผบช.น. เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนในการยื่นถึงทำเนียบองคมนตรีต่อไป ก่อนที่ทางแกนนำม็อบจะประกาศชัยชนะ และยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 09.00 น.
โดยนายพริษฐ์ ยังกล่าวหลังยื่นหนังสือเรียกร้องด้วย โดยเชิญชวนผู้ชุมนุมไปสังเกตการณ์การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 วาระแรกในวันที่ 24 ก.ย.ที่หน้ารัฐสภา
ทั้งนี้ วันต่อมา (21 ก.ย.) นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี ในฐานะตัวแทนจากกรมศิลปากร ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สน.ชนะสงคราม เพื่อเอาผิดแกนนำผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กรณีปักหมุดคณะราษฎร์ที่ 2 บริเวณลานปูนท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มีการถอนหมุดดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานในคดี
วันเดียวกัน นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สน.ชนะสงคราม เพื่อดำเนินคดี น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, นายอานนท์ นำภา และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ในความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีปราศรัยบนเวทีชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย. โดยนำหลักฐานเอกสารข่าว ไฟล์ภาพ และเสียงการปราศรัยบนเวทีมาประกอบการแจ้งความ
ด้านนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สน.ชนะสงครามเช่นกัน เพื่อเอาผิดนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.พรรคไทยศรีวิไลย์ นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.พรรคไทยรักธรรม นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล กรณีไปร่วมชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.ในสถานที่ห้ามชุมนุม และมีภาพทั้ง 3 คนไปชูสามนิ้วกับแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จึงแจ้งความร้องทุกข์ให้ตำรวจตรวจสอบว่า พฤติกรรมของ ส.ส.ทั้ง 3 คน เข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนการชุมนุมด้วยหรือไม่ รวมทั้งจะยื่นเรื่องให้ตรวจสอบจริยธรรมของ ส.ส.ทั้ง 3 คน หากฝ่ายกฎหมายตรวจสอบแล้วเข้าข่ายยุบพรรคการเมืองได้ ก็จะยื่นฟ้องต่อศาลให้สั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวต่อไป
วันต่อมา (22 ก.ย.) พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น. กล่าวถึงการดำเนินคดีแกนนำผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่จัดชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.ว่า เบื้องต้นมีผู้เข้าข่ายทำความผิด 16 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้จัดการชุมนุมโดยไม่ได้ขออนุญาต 2.กลุ่มที่เชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุม 3.กลุ่มคนที่ร่วมปราศรัยบนเวที ซึ่งขณะนี้กำลังแกะคำพูดปราศรัย เนื่องจากมีบางตอนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย
ขณะที่บรรยากาศการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ ซึ่งมีทั้งเสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน เมื่อวันที่ 23-24 ก.ย.นั้น ได้มีแกนนำและมวลชนคณะประชาชนปลดแอกไปตั้งเวทีปราศรัยที่หน้าสภา ซึ่งทันทีที่รู้ว่า ที่ประชุมไม่ได้ลงมติเพื่อรับหรือไม่รับญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติดังกล่าว แต่มีมติ 432 ต่อ 255 งดออกเสียง 28 ไม่ลงคะแนน 1 เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาก่อนรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 45 คน เป็นเวลา 30 วัน ทางผู้ชุมนุมและฝ่ายค้านจึงมองว่า การตั้ง กมธ.ดังกล่าวเป็นการยื้อเวลาการพิจารณาออกไปอีก 1 เดือน จึงแสดงความไม่พอใจ แต่ไม่ได้เกิดเหตุการณ์บานปลายใดๆ
อย่างไรก็ตาม ได้มีปฏิกิริยาจาก น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ทวีตผ่านทวิตเตอร์ด่านายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และ ส.ว.ด้วยถ้อยคำที่หยาบคายชนิดที่ไม่สามารถเผยแพร่ได้ และไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า บุคคลระดับแกนนำม็อบและเป็นนักศึกษาจะใช้กล้าใช้ถ้อยคำด่านักการเมืองอาวุโสที่สังคมต่างให้การยอมรับขนาดนี้ได้ กระทั่งเกิดกระแสตีกลับ ส่งผลให้ น.ส.ปนัสยา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดย น.ส.ปนัสยา ทวีตข้อความว่า “ถึงชวน หลีกภัย และ สว.ทุกคนนะคะ.........ค่ะ”
ทั้งนี้ ในบรรดาบุคคลที่ไม่พอใจการใช้ถ้อยคำที่หยาบคายของ น.ส.ปนัสยา ได้แก่ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้ออกมายืนยันว่า “ที่ผ่านมา นายชวน หลีกภัย ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาอย่างตรงไปตรงมา ไม่แบ่งว่าใครจะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือสมาชิกวุฒิสภา ...จากการติดตามความเคลื่อนไหวของน้องรุ้งมาตลอด นายชวน หลีกภัย ได้แสดงความเป็นห่วงผู้ชุมนุมอยู่เสมอ และกำชับให้เจ้าหน้าที่ดูแลด้วยมิตรไมตรี ...คำพูดที่รุ้ง ปนัสยา ใช้กล่าวพาดพิงนายชวน หลีกภัย ในลักษณะเช่นนี้ จึงจำต้องบอกว่า ถ้าไม่มีใครบอกน้องได้ว่า ถ้อยคำดังกล่าวมันเตี้ยต่ำ หยาบคายขนาดไหน ขอให้กลับไปถามพ่อกับแม่น้องดูว่า คำพูดเช่นนั้น ควรพูดออกมาหรือไม่”
ด้าน พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ “ว่าด้วยเรื่อง..สำเนียงส่อภาษากิริยาส่อสกุล” โดยระบุว่า “การที่ “รุ้ง” ออกมาเขียนคำนั้น ฝากไปถึงอดีตนายกฯ ชวน (หลีกภัย) นั้น ถือว่าเป็นความสำเร็จที่มหาวิทยาลัยไม่มีสอน และเชื่อว่า “ครอบครัว” ของรุ้ง ก็คงไม่สอนเหมือนกัน รุ้งไม่เกรงใจคุณชวน หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นนับว่า แย่อยู่แล้ว แต่ควรเกรงใจคนในครอบครัวบ้าง เมื่อเวลาที่พวกเขาต้องไปเจอคนอื่น ซึ่งจะทำให้พวกเขาต้องทนต่อสายตาที่ไม่เป็นมิตร ดูถูก เหยียดหยามแทนรุ้ง...ถึงไม่มีใครอบรมเรา คนที่มีวุฒิภาวะพอก็สามารถเรียนรู้อบรมตัวเองได้ เพราะเราเกิดเป็นคน ถ้าจิตใจไม่ต่ำตมจนเกินไปนัก ก็ไม่ยากที่จะพัฒนา ดูอย่างวัวควายซิครับ หมั่นฝึกฝน มันยังพูดรู้เรื่องเลยครับ”
2.ศาลพิพากษาจำคุก “วัฒนา เมืองสุข” 99 ปี คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร ด้าน “เสี่ยเปี๋ยง” โดน 66 ปี ขณะที่ “กี้ร์-อริสมันต์” 4 ปี!
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา เมืองสุข อายุ 62 ปี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการปี 2548–2549, นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน), นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่, นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือกี้ร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย และกลุ่มเอกชน รวม 14 ราย เป็นจำเลย
ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157, ฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91
คดีนี้ เริ่มพิจารณาไต่สวนพยานในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2562 เรื่อยมา จนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 26 ส.ค.63 ที่ผ่านมา ขณะที่จำเลยที่ 6-7 และ 10 หลบหนีคดี ศาลได้ออกหมายจับไว้แล้ว
ทั้งนี้ ศาลพิพากษาว่า นายวัฒนา เมืองสุข จำเลยที่ 1 มีความผิดทั้งหมด 11 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 9 ปี รวมทั้งหมด 99 ปี ตามกฎหมายให้จำคุกได้สูงสุด 50 ปี, จำเลยที่ 4 นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง มีความผิด 11 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 6 ปี รวมทั้งหมด 66 ปี ตามกฎหมายให้จำคุกได้สูงสุด 50 ปี, จำคุกจำเลยที่ 5 เป็นเวลา 20 ปี, จำเลยที่ 6 เป็นเวลา 44 ปี, จำเลยที่ 7 เป็นเวลา 32 ปี, ปรับจำเลยที่ 8 เป็นเงิน 275,000 บาท และจำคุก นายอริสมันต์ หรือกี้ร์ พงษ์เรืองรอง จำเลยที่ 10 เป็นเวลา 4 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2, 3, 9 และ 11-14
สำหรับจำเลยทั้ง 14 ราย ประกอบด้วย 1.นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พม. 2.นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ด กคช. และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการระหว่างวันที่ 9 ก.ย. 2548–19 ก.ย. 2549 3.นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีต ผอ.ฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) 4.นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ 5.น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทเสี่ยเปี๋ยง 6.น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด, 7.น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์ฯ 8.บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยนายปกรณ์ อัศวีนารักษ์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน
9.บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนล คอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) โดยนางพิมพ์วรา รัชต์ธนโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน, 10.นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือกี้ร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย, 11.บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด, 12.บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย, 13.บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง และ 14.น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทย เฉน หยูฯ
3.“บิ๊กโจ๊ก” เปิดเกมฟ้องศาลปกครอง “บิ๊กตู่” โอนย้ายไม่ชอบ ด้าน “บิ๊กตู่” ยันตรวจสอบแล้วถึงได้ดำเนินการ!
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ศาลปกครองกลาง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายสิทธิ งามลำยวง ทนาความ เดินทางไปยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีออกคำสั่งย้ายโอนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นายสิทธิ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์มีคำสั่งย้ายโอน พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ จากผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) มาเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผ่านมากว่า 1 ปี 5 เดือนแล้ว ยังไม่มีการตั้งกรรมการสอบสวนความผิด และไม่มีการสอบสวนทั้งจากหน่วยงานที่ตรวจสอบทั้ง ปปท ปปช. และ สตง. ตามกระบวนการที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด อีกทั้ง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ก็ไม่ได้สมัครใจที่จะโอนย้ายไปในตำแหน่งดังกล่าว
นายสิทธิ กล่าวอีกว่า "ที่ผ่านมา พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ก็ปฏิบัติหน้ที่เต็มกำลังความสามารถในฐานะตำรวจที่ต้องบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน ด้วยการเข้าไปแก้ปัญหาคดีฉ้อโกงประชาชน หนี้นอกระบบแก๊งโรแมนซ์สแกม แก๊งอาชญากรข้ามชาติ รวมถึงคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชน โดยดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างเอาจริงเอาจัง จนผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่หลังจาก พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ถูกโอนย้าย ความเดือดร้อนของประชาชนก็ไม่ได้รับการเอาใจใส่และประสานต่อ ทั้งที่เรื่องปากท้องของประชาชนเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ทำให้ปัญหาซ้ำๆ เดิมๆ ที่เคยห่างหายไปในช่วงปราบปรามหนักๆ หวนกลับมาทำร้ายประชาชนอีก"
นายสิทธิ ย้ำด้วยว่า ที่ผ่านมา พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ไม่เคยถูกระบุว่า มีความผิดอะไร ไม่มีการตั้งกรรมการสอบ แม้แต่รองนายกฯ เอง ยังออกมาระบุว่า มีความผิดอะไรหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็มีสิทธิกลับต้นสังกัดได้ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการออกคำสั่งแก้ไข คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และว่า ที่ผ่านมามีข้าราชการกว่า 90 คน ที่ถูกย้ายโอนมาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปัจจุบัน เกินกว่า 80 คน ทยอยกลับต้นสังกัดแล้ว หลังสอบสวนไม่มีความผิด และอีกไม่กี่คนกำลังจะเกษียณอายุราชการในเดือน ต.ค.นี้ ขณะที่พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ไม่เพียงแต่ไม่มีผลสอบสวนความผิด ยังไม่มีการแก้ไขคำสั่งที่ผิดพลาด ทำให้เสียโอกาสที่จะไปปฏิบัติหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องออกมายื่นฟ้องขอให้นายกฯ พิจารณาแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเพื่อให้ความเป็นธรรมและสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องต่อไป
วันเดียวกัน (22 ก.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) ถึงกรณีที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ส่งทนายยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง กรณีถูกย้ายโอนไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า “ก็ว่าไป เป็นเรื่องของกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้มีการตรวจสอบกันแล้วถึงได้ดำเนินการ มีการตรวจสอบแล้วทั้งหมด”
เมื่อถามว่า จากการตรวจสอบถือว่ามีความผิดจริงใช่หรือไม่ นายกฯ ตอบเพียงสั้นๆว่า “ให้ฝ่ายกฎหมายว่ากันไป”
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้นายกฯ ตอบแล้ว ขอไม่ตอบ และไม่ได้เจอ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ เลย คงไม่ต้องฝากอะไร เมื่อถามว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ เคยเป็นคนสนิทแต่กลับมาฟ้องนายกฯ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “โอ๊ะ ผมจะไปเกี่ยวได้อย่างไร ไม่ได้เจอกันตั้งนานเป็นปีแล้ว จะไปรู้ได้อย่างไร จะไม่เรียกคุย ถือเป็นเรื่องส่วนตัว”
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ฟ้องนายกฯ ต่อศาลปกครองว่า ไม่เป็นไร ก็ใช้สิทธิของเขาไป เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดปกติอะไร และไม่เป็นความผิดอะไรด้วย
ส่วนที่มีการนำกรณีโอนย้าย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ไปเทียบกับการสั่งย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้มีความแตกต่างกัน เพราะกรณีของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ มาตามคำสั่งของ คสช. ซึ่งคำสั่ง คสช.ระบุไว้ในบทเฉพาะกาล ชื่อของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์อยู่ในบัญชีที่ 5 คนที่อยู่ในบัญชีนี้ จะกลับไปได้ก็ต่อเมื่อปลัดสำนักนายกฯ ได้รายงานต่อนายกฯ หากนายกฯ ให้ความเห็นชอบ ก็นำความกราบบังคมทูลต่อไป
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า “ความจริงที่ยังไม่ได้กลับไปแต่ละคน มันมีเหตุผลอธิบายทั้งนั้น แต่ไม่อยากออกมาพูดกับสื่อ เพราะพูดไปมา อาจทำให้เจ้าตัวเสียหาย ไม่มีหรอกที่จะลืม ปัญหามันก็ติดอยู่เท่านั้นเอง ทีนี้เมื่อถามมา ก็ต้องพูด แต่เมื่อพูดอาจจะเกิดความเสียหายย ก็อย่าเพิ่งพูด”
4.ศาล รธน.ชี้ “ปารีณา-ศรีนวล” ไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงราชการ ไม่ต้องพ้น ส.ส.!
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ผู้ถูกร้องที่ 1 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (1) หรือไม่ และสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (2) หรือไม่
ทั้งนี้ น.ส.ปารีณาถูกกล่าวหาว่าใช้ตำแหน่งหน้าที่ ส.ส.เข้าไปแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ราชการ จากการนำเจ้าหน้าที่รัฐไปตรวจสอบที่ดินใน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ขณะนั้น บุกรุกป่า ส่วน น.ส.ศรีนวล ถูกกล่าวหาว่า ใช้ตำแหน่งหน้าที่ ส.ส.เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ขณะเป็น ส.ส.พรรค อนค. เดินทางเข้าไปพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้จัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลในพื้นที่ จ.เชียงใหม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกระทำของ น.ส.ปารีณา ผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นเพียงการติดตามเรื่องร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ อ.จอมบึง ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตเลือกตั้งของผู้ถูกร้องที่ 1 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด จึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการการอันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงในเรื่องการปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการและหน่วยงานของรัฐ เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องที่ 1 จึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (1)
ส่วน น.ส.ศรีนวล บุญลือ ผู้ถูกร้องที่ 2 ศาลรัฐรรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกระทำของ น.ส.ศรีนวล ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นการแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.จอมทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตเลือกตั้งของผู้ถูกร้องที่ 2 เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรับทราบเท่านั้น และไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นใดของผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ หรือให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใด ๆ ของกระทรวงสาธารณสุข จึงยังฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการอันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแชงในลักษณะที่ทำให้ตนมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ หรือให้ความห็นชอบในการจัดทำโครงการใด ๆ ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องที่ 2 จึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (2)
5.ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง “อดีตพระพรหมดิลก” ฟอกเงินทุจริตเงินทอนวัด เตรียมห่มเหลืองอีกครั้ง ด้านอดีต ผอ.พศ.ชี้ คดียังไม่จบ-ห่มเหลืองไม่ได้!
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ศาลอาญาคดีทุจริตได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีฟอกเงินทุจริตจัดสรรงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ของวัดสามพระยา ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปราบการทุจริต 1 ได้ยื่นฟ้องนายเอื้อน กลิ่นสาลี อดีตพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา, กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร กับนายสมทรง อรรถกฤษณ์ อดีตพระอรรถกิจโสภณและเลขาฯ เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 1-2
ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานฯ, ร่วมกันฟอกเงินอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กรณีร่วมกันฟอกเงินจากการทุจริตจัดสรรเงินงบประมาณของ พศ. ในปี 2557 ให้กับวัดสามพระยา จำนวน 5 ล้านบาท ในงบส่วนอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งที่ไม่มีการดำเนินโครงการ โดยเจ้าอาวาสวัดสามพระยานำงบที่ได้มานั้นไปใช้ก่อสร้างอาคารร่มธรรมแทน ทั้งที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินนั้นมาตั้งแต่แรก ซึ่งอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2561
ต่อมา ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562 ให้จำคุกอดีตพระพรหมดิลก จำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันฟอกเงิน 2 กระทงๆ ละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี และนายสมทรง หรืออดีตพระอรรถกิจโสภณ จำเลยที่ 2 จำคุก 2 กระทงๆ ละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี หลังจากนั้น ทั้งอัยการโจทก์และจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คดี
เมื่อศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองซึ่งได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ ได้สวมชุดขาวเดินทางมาศาลพร้อมทนายความเพื่อฟังคำพิพากษา ขณะเดียวกันได้มีกลุ่มพระสงฆ์และกลุ่มฆราวาสลูกศิษย์ เดินทางมาให้กำลังใจระหว่างร่วมติดตามฟังคำพิพากษาด้วย
ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า เรื่องการขออนุมัติงบศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น หาใช่เฉพาะวัดที่มีโรงเรียนศึกษาพระปริยัติธรรม แต่วัดสามพระยามีโรงเรียนสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล ย่อมมีสิทธิในการใช้งบดังกล่าว ขณะที่จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลภายนอกไม่เกี่ยวกับการบริหารสำนักงาน พศ. อีกทั้งไม่มีหลักฐานว่า จำเลยทราบว่าเป็นเงินเกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยในหนังสือยื่นคำขอระบุได้รับเงินเกี่ยวกับการบูรณะปฏิสังขรณ์ ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าเป็นงบบูรณะปฏิสังขรณ์ เมื่อได้รับงบ 5 ล้านบาทตามเช็คแล้ว จำเลยได้มอบอำนาจให้มีการถอนเงินจ่ายค่าก่อสร้างอาคารร่มธรรม ซึ่งวัดมีการก่อสร้างอาคารและโอนเงินชำระหนี้จริง และจำเลยได้จ่ายเงินให้ผู้ดูแลการก่อสร้าง จึงเชื่อได้ว่า จำเลยในฐานะผู้ดูแลวัด ได้นำเงินไปทำนุบำรุงวัด
แม้วัดสามพระยาไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม และไม่ได้นำเงินไปใช้โดยตรง ก็ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนทรัพย์สินที่เป็นการกระทำความผิดมูลฐานฟอกเงิน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ พิพากษาแก้เป็นยกฟ้อง
หลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายสมทรง หรืออดีตพระอรรถกิจโสภณ จำเลยที่ 2 ถึงกับยกมือไหว้และร่ำไห้ด้วยความดีใจ รวมถึงพระสงฆ์และกลุ่มฆราวาสที่เดินทางมาให้กำลังใจก็ร่วมแสดงความยินดีด้วย
ด้านนายอรรณพ บุญสว่าง ทนายความ กล่าวว่า วันนี้จำเลยก็ดีใจที่ศาลอุทธรณ์มีความเห็นตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า เงินส่วนนี้ให้ใช้ในการก่อสร้างอาคารซึ่งเป็นที่พักของพระสงฆ์ ส่วนเรื่องสมณเพศ ความจริงแล้วท่านทั้งสองก็ไม่ได้เปล่งวาจาสึก และยังรักษาดำรงพฤติการณ์เสมือนตอนเป็นพระอยู่ แต่ในทางกฎหมายอาจจะยังมีข้อโต้แย้ง ตรงนี้เราต้องทำความเข้าใจกัน ซึ่งจริงๆ แล้ว ท่านตั้งใจว่าหากศาลยกฟ้อง จะเรียกร้องสิทธิในการแสดงออกด้วยการห่มเหลือง
ด้าน พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีศาลอุทธรณ์ยกฟ้องอดีตพระพรหมดิลก ในความผิดฐานฟอกเงิน จนมีข่าวเตรียมกลับมาห่มจีวรอีกรอบ เพราะไม่เคยเปล่งวาจาสึกว่า คดีเงินทอนวัดที่อดีตพระพรหมดิลกตกเป็นจำเลย พนักงานอัยการยื่นฟ้อง 3 คดี คือ 1. คดีความผิดมูลฐาน เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 5 มี.ค.2563 ว่า อดีตพระพรหมดิลกมีความผิดฐานสนับสนุนให้เกิดการทุจริต มีโทษจำคุก 8 เดือน แต่โทษจำให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี ซึ่งขณะนี้ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี และยังไม่ชัดเจนว่ามีการยื่่นอุทธรณ์ด้วยหรือไม่
2. คดีอาญาฐานฟอกเงิน ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2562 ว่า อดีตพระพรหมดิลกมีความผิด ให้จำคุก 6 ปี แต่ล่าสุดศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง 3. คดีแพ่ง ฐานฟอกเงิน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเงินในบัญชีเงินฝากของอดีตพระพรหมดิลกเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จึงให้ตกเป็นของแผ่นดิน 1.7 ล้านบาท
ส่วนประเด็นว่า อดีตพระพรหมดิลกขาดจากความเป็นพระหรือยัง พ.ต.ท.พงศ์พร กล่าวว่า เรื่องนี้เมื่อตรวจสอบย้อนหลังไปในชั้นสอบสวน จำเลยถูกจับกุมและศาลมีคำสั่งให้ขัง ไม่อนุญาตให้ประกันตัว จึงถูกเจ้าพนักงานใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (พ.ร.บ.สงฆ์) มาตรา 30 ให้สละสมณเพศก่อนเข้าเรือนจำ ทำให้ขาดจากความเป็นพระแล้วตามกฎหมาย ไม่สามารถกลับมาห่มจีวรได้ หากจะห่มจีวร ต้องกลับมาบวชใหม่ โดยมีพระอุปัชฌาย์ ถ้าไม่ได้บวชใหม่ แล้วไปห่มจีวร จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 ว่าด้วยการแต่งกายเลียนแบบสงฆ์
แต่ถามว่า อดีตพระพรหมดิลกกลับมาบวชใหม่ได้หรือไม่ คำตอบคือ ยังเข้าบรรพชาหรืออุปสมบทไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 ข้อ 14 เนื่องจากอดีตพระพรหมดิลกยังต้องคดีอาญาอยู่ คดียังไม่ถึงที่สุด แม้คดีฟอกเงินในศาลอุทธรณ์ ศาลจะยกฟ้องก็ตาม แต่อัยการยังมีสิทธิ์ฎีกา ขณะที่คดีทุจริตก็ยังไม่พ้นระยะเวลารอลงอาญา