ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สิ้นสุดการรอคอยคดีข้ามทศวรรษ ในที่สุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาในคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร เมื่อปี 2548 ให้จำคุก “เสี่ยไก่” นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นเวลา 99 ปี พร้อมด้วย “เสี่ยเปี๋ยง” นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร ที่เจอคุก 66 ปี ส่วน “กี้ร์” นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เบาะๆ แค่ 4 ปี
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาคดี อม.42/61 หรือคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่มีอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา เมืองสุข อายุ 62 ปี อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กับพวกรวม 14 คน ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน ตาม ป.อาญา มาตรา 148, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157, และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 ในฐานะเป็นตัวการและผู้สนับสนุน จำเลยที่ 6-7 และ 10-12 หลบหนี ศาลออกหมายจับปรับนายประกัน
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว พิพากษาว่า นายวัฒนา จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบฯตาม มาตรา 148 จำนวน 11 กระทง กระทงละ 9 ปี รวมจำคุก 99 ปี แต่เมื่อรวมโทษตามกฎหมายแล้วคงจำคุก 50 ปี
นอกจากนี้ ศาลยังตัดสินให้จำคุกนายอภิชาติ หรือ “เสี่ยเปี๋ยง” จำเลยที่ 4 รวม 6 กระทง กระทงละ 11 ปี รวม จำคุก 66 ปี แต่เมื่อรวมโทษตามกฎหมายแล้วคงจำคุก 50 ปี และให้จำคุกนายอริสมันต์ จำเลยที่ 10 เป็นเวลา 4 ปีโดยให้ออกหมายจับมารับโทษ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ,3,9,11-14
อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า คดียังไม่ถึงที่สุด เพราะคู่ความสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตามรัฐธรรมนูญฯ ปี พ.ศ. 2560 ที่ได้ให้สิทธิคู่ความในการยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วัน ซึ่งแน่นอนว่า ทั้ง 3 คนต้องต่อสู้ตามสิทธิที่มี โดยเฉพาะ “เสี่ยไก่” ที่กำลังใจเต็มเปี่ยมด้วยมี น้องโบว์-ณัฏฐา มหัทธนา” แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ออกมาโพสต์ข้อความให้กำลังใจในฐานะเพื่อนร่วมอุดมการณ์
กล่าวสำหรับคดีนี้เริ่มมีการพิจารณาไต่สวนพยานในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2562 เรื่อยมา จนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ขณะที่จำเลยที่ 6-7, 10-12 หลบหนีคดี ศาลได้ออกหมายจับไว้แล้ว โดยในวันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษา อัยการโจทก์, นายวัฒนา จำเลยที่ 1 กับพวก พร้อมทนายความมาศาล ส่วนน.ส.กรองทอง จำเลยที่ 6, น.ส.รุ่งเรือง 7, นายอริสมันต์ จำเลยที่ 10 หลบหนีไม่มาศาล
สำหรับจำเลยในคดีนี้ทั้ง 14 ราย ประกอบด้วย 1.นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พม. 2.นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ดการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการระหว่างวันที่ 9 กันยายน 2548 – 19 กันยายน 2549 3.นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีต ผอ.ฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย 4.นายอภิชาติ หรือ “เสี่ยเปี๋ยง” จันทร์สกุลพร นักธุรกิจค้าข้าว 5.น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิท “เสี่ยเปี๋ยง” 6.น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด 7.น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์ฯ
8.บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยนายปกรณ์ อัศวีนารักษ์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน 9.บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนลคอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) โดยนางพิมพ์วรา รัชต์ธนโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน 10.นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือกี้ร์ อดีตนักร้องนักแต่งเพลง อดีตส.ส.พรรคไทยรักไทย 11.บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด 12.บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย 13.บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง และ 14.น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทยเฉนหยูฯ
ทั้งนี้ ก่อนที่ศาลจะอ่านคำตัดสิน นายวัฒนา ได้เดินทางมาพร้อมกับ น.ส.วีรดา เมืองสุข บุตรสาว ให้สัมภาษณ์สื่อก่อนฟังคำพิพากษาว่า สู้มา 14 ปีก็รอวันนี้ รัฐประหาร 2 ครั้งได้มา 10 คดี คดีนี้เป็นคดีสุดท้าย เกิดจากรัฐประหาร 2549 จนกระทั่งปี 2557 คดีไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไร มีความมั่นใจและไม่เคยคิดหลบหนี
โดยวันก่อนหน้าที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษา นายวัฒนา ได้โฟสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ผมแปลกใจที่ผู้สื่อข่าวหลายสำนักโทรมาถามว่าผมจะไปฟังคำพิพากษาหรือไม่ ผมยอมรับผลคำพิพากษาที่จะออกมาในทางร้ายได้หรือไม่ เสมือนคาดเดาคำพิพากษาได้ล่วงหน้า”
พร้อมกับร่ายยาวว่า คดีนี้ตนเองถูกกล่าวหาว่า (1) ใช้อำนาจในตำแหน่งรัฐมนตรีเข้าแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการและผู้ว่าการการเคหะเพื่อออกประกาศฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2548 ให้เป็นไปตามความต้องการของตน แต่ผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าการออกประกาศดังกล่าวเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าของโครงการ และดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง ตามรายงานของ ป.ป.ช. เอกสารหมาย จ. 251 หน้า 46
(2) ผลการออกประกาศดังกล่าวทำให้การเคหะเสียหายต้องรับซื้อโครงการในราคาที่แพงขึ้น แต่ผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. ระบุว่าการออกประกาศดังกล่าวเป็นประโยชน์และไม่ทำให้การเคหะเสียประโยชน์ รวมทั้งไม่ทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น ตามรายงานของ ป.ป.ช. เอกสารหมาย จ. 251 หน้า 47
และ (3) เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดจากผู้ประกอบการเพื่อตอบแทนการอนุมัติหน่วยก่อสร้างและการรับซื้อโครงการจากผู้ประกอบการ แต่ผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. ระบุว่าผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติ ทุนจดทะเบียน และหลักประกันถูกต้องได้รับอนุมัติจำนวนหน่วยตามคำขอทุกราย
นอกจากนี้ อัยการสูงสุดยังมีความเห็นว่า พฤติกรรมของคดีคือตนเองใช้อำนาจครอบงำในลักษณะเป็นการใช้อำนาจกำหนดนโยบายต่างๆ แต่ไม่ปรากฏพฤติการณ์ที่เชื่อมโยงว่าตนเองใช้อำนาจไปเรียกรับเงิน ตามรายงาน ป.ป.ช. เอกสารหมาย จ. 251 หน้า 46 และตามบันทึกการประชุมระหว่างอัยการกับ ป.ป.ช. เอกสารหมาย จ. 354 หน้า 940
ผลการไต่สวนยังปรากฏว่าเจ้าหน้าที่การเคหะทุกคนปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ การอนุมัติหน่วยก่อสร้าง การรับซื้อโครงการเป็นไปอย่างถูกต้องทุกโครงการ ไม่มีการเอื้อประโยชน์ใดๆ แก่ผู้ประกอบการ และไม่มีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นกับการเคหะ ปรากฏตามเอกสารที่ถ่ายมาจากต้นฉบับที่ตนเองโพสต์มาให้ดูเป็นหลักฐาน
ในคดีอาญาภาระการพิสูจน์เป็นของโจทก์ โจทก์จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นจนปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดศาลจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลย หลักฐานที่ตนเองโพสต์มาให้ดูคงเป็นคำตอบว่าเพราะอะไรจึงมีความมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตนเอง
“ผมสู้คดีตามครรลองและไปศาลทุกนัดโดยไม่เคยขอเลื่อนคดี ผมเชื่อว่าการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาจะต้องเป็นไปตามพยานหลักฐาน ไม่ใช่เป็นไปตามความเชื่อหรือเป็นไปตามกระแสทางการเมือง”
ถึงแม้นายวัฒนา จะมั่นอกมั่นใจเต็มที่ แต่สุดท้ายก็หนีกรรมไม่พ้น