xs
xsm
sm
md
lg

"วัฒนา"วางหลักทรัพย์ 10 ล้านได้ประกันสู้คดี หลังศาลฎีกาสั่งจำคุก 99 ปีทุจริตบ้านเอื้ออาทร

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ศาลฎีกานักการเมืองสั่งจำคุก “วัฒนา เมืองสุข” อดีต รมว.พัฒนาสังคมฯ เป็นเวลา 99 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ เรียกรับผลประโยชน์ในโครงการบ้านเอื้ออาทร จำคุก “อริสมันต์” 4 ปี “เสี่ยเปี๋ยง” โดนคุก 66 ปี "วัฒนา"ใช้หลักทรัพย์ 10 ล้านประกันตัวสู้คดีในชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์

เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (23 ก.ย.)ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะผู้พิพากษา 9 คน อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หมายเลขดำ อม.42/2561 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัฒนา เมืองสุข อายุ 62 ปี อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) , นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการปี 2548–2549, นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน), นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่, นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือกี้ร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย และกลุ่มเอกชน รวม 14 ราย เป็นจำเลย

ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157, ฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91

ศาลวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายและโจทก์มีอำนาจฟ้องข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีการขบวนการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการตามฟ้องซึ่งการดำเนินการมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำเป็นขบวนการอย่างมีระบบอันเป็นความผิดตามฟ้องเกิดขึ้นจริงส่วนปัญหาว่าจำเลยทั้ง 14 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ในส่วนจำเลยที่ 4 เป็นตัวกลางที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในขบวนการของกลุ่มในการเรียกเงินจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จำเลยที่ 4 หรือผู้ประกอบการบางรายเรียกเงินที่ผู้ประกอบการจ่ายแก่จำเลยที่ 4 ว่าเป็นค่าที่ปรึกษานั้นเป็นเพียงการอ้างให้เงินดังกล่าวนำไปลงบัญชีได้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 อ้างอำนาจในตำแหน่งของจำเลยที่ 1 โดยติดต่อในลักษณะข่มขืนใจหรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการที่ประสงค์เข้าดำเนินการโครงการบ้านเอื้ออาทรให้นำเงินมามอบให้เพื่อตอบแทนการได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างและเข้าทำสัญญาเป็นผู้จัดทำโครงการบ้านเอื้ออาทรขายให้แก่การเคหะแห่งชาติตามสัดส่วนที่ได้จ่ายเงินให้จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นเลขานุการจำเลยที่ 4 และเป็นพนักงานของ บริษัท จำเลยที่ 8 จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นพนักงานของ บริษัท จำเลยที่ 8 และจำเลยที่ 7 เคยเป็นแม่บ้านที่ บริษัท จำเลยที่ 8 นั้นได้รู้เห็นมา แต่ต้นและทำหน้าที่เป็นผู้โทรศัพท์ติดตามทวงถามเงินจากผู้ประกอบการรวมทั้งรับเช็คมาจากผู้ประกอบการเพื่อให้ได้เงินครบจำนวนเงินตามที่ได้ตกลงกันไว้ฟังได้ว่าร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 4 จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 5-7 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 4 ด้วยจำเลยที่ 8 เป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนและมีการนำเงินเข้า บริษัท จำเลยที่ 8 จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 8 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่4 ด้วยสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้นมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาการที่จำเลยที่ 1 กำหนดแนวทางในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทรใหม่นั้นและการที่จำเลยที่ 1 มีบันทึกข้อความลงวันที่ 17 ต.ค. 2548 สั่งให้แก้ไขข้อ 3 ของประกาศการเคหะแห่งชาติฉบับลงวันที่ 14 ต.ค. 2548 รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 แทรกแซงการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติและผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติส่วนความผิดฐานร่วมข่มขืนใจหรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการให้นำเงินมอบให้เพื่อตอบแทนการที่การเคหะแห่งชาติอนุมัติให้ได้เข้าทำสัญญาตามฟ้องหรือไม่นั้นเห็นว่าแม้จำเลยที่ 1 อ้างว่ารัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับงานด้านนโยบายและจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องเฉพาะการปรับปรุงประกาศฉบับใหม่หรือที่โออาร์ก็ตาม แต่ลักษณะการกระทำความผิดในคดีนี้เป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 4-7 ซึ่งเป็นเพียงบุคคลภายนอกจะสามารถกระทำการได้เองโดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 4 ไม่อาจจะแสดงตนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เชื่อถือได้ว่าจำเลยที่ 4 มีฐานะเป็นที่ปรึกษาไม่เป็นทางการของจำเลยที่ 1 ได้เองอีกทั้งจำเลยที่ 4 ย่อมไม่มีอำนาจใดที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ตกลงจ่ายเงินได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างทุกรายได้ดังที่เกิดขึ้นจริงในคดีนี้ทั้งจำเลยที่ 1 น่าจะรู้ข้อเท็จจริงที่มีการเรียกรับเงินเพราะเป็นเงินจำนวนสูงมากและเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอย่างแพร่หลายในเวลานั้นประกอบกับจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปกำกับดูแลการจ่ายเงินล่วงหน้าย่อมมีผลเป็นการเร่งรัดให้มีการจ่ายเงินล่วงหน้าอยู่ในตัวพฤติการณ์บ่งชี้ว่าเป็นการเร่งรัดและเพิ่มจำนวนเงินล่วงหน้าเพื่อให้ผู้ประกอบการนำเงินล่วงหน้าที่ได้รับมามอบให้แก่จำเลยที่ 4 เมื่อมีการเรียกทรัพย์สินก็ต้องถือเป็นความผิดแล้วการที่จำเลยที่ 1 จะเรียกเงินจากผู้ประกอบการด้วยตนเองหรือไม่ย่อมไม่ใช่ข้อสำคัญข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นเป็นใจในการข่มขืนใจหรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการให้นำเงินมอบให้เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 อันเป็นบทเฉพาะแล้วไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีกในส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการการเคหะแห่งชาติและประธานคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการบ้านเอื้ออาทรนั้นข้อเท็จจริงยังไม่แน่ชัดว่าเป็นการวางแผนคบคิดกระทำการเรียกรับทรัพย์สินจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดตามฟ้อง และฐานเป็นพนักงานเรียกรับทรัพย์สินจากจำเลยที่ 9 ที่ 11-14 และฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หน้าห้องรัฐมนตรีจำเลยที่ 1 ได้ประสานในกรอบของหน้าที่ของงานธุรการและการประสานที่กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เข้าไปรู้เห็นเป็นใจจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามฟ้อง

สำหรับจำเลยที่ 10 ซึ่งเคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีคนก่อนได้พูดยุยงส่งเสริมเพื่อช่วยในการตัดสินใจของนางชดช้อยให้เกิดความมั่นใจที่จะมอบเงินให้แก่ผู้มารับเช็คไปอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิดของขบวนการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการแม้ผู้ร่วมกระทำความผิดในขบวนการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการจะรู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกของจำเลยที่ 10 หรือไม่ก็ตาม แต่ก็ถือว่าจำเลยที่ 10 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามฟ้องส่วนจำเลยที่ 9, 11-14 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการนั้นเป็นฝ่ายถูกข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้นำเงินมามอบเงินให้โดยจำเลยที่ 9, 11-14 เป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างได้อยู่แล้วการอนุมัติหน่วยก่อสร้างมิได้สำเร็จลงด้วยการให้เงินทั้งการถูกข่มขืนใจหรือถูกจูงใจเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 จึงไม่อาจเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในเวลาเดียวกันได้และเมื่อจำเลยที่ 2 มิได้เป็นตัวการในการกระทำความผิดตามฟ้องจำเลยที่9, 11-14 จึงไม่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวการกระทำของจำเลยดังกล่าวตามฟ้องเป็นการกระทำในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำโดยมีการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการแต่ละรายต่างวันเวลาและต่างสถานที่แยกต่างหากจากกันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91

ดังนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 8 มีความผิดตามฟ้องรวม 11 กรรมจำเลยที่ 5 มีความผิด 5 กรรมจำเลยที่ 7 มีความผิดรวม 8 กรรมและจำเลยที่ 10 มีความผิดกรรมเดียวส่วนที่โจทก์ขอให้ริบเงินจำนวน 1,415,616,550 บาทและให้ชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของสิ่งที่ศาลสั่งริบได้นั้นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 42, 43, 44 กำหนดให้ศาลมีอำนาจริบทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือบุคคลได้มาจากการกระทำความผิดในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้มีหน้าที่ต้องส่งสิ่งที่ศาลสั่งริบชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของสิ่งที่ต้องส่งดังกล่าวได้พร้อมทั้งต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตามอัตราที่ศาลกำหนดโดยศาลมีอำนาจมีคำสั่งริบทรัพย์ตามที่ปรากฏจากทางไต่สวนของศาลได้ไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการขยายความเกี่ยวกับขั้นตอนการบังคับโทษในส่วนการริบทรัพย์สินจึงย่อมใช้บังคับแก่คดีนี้ได้เมื่อมีการรับเงินมาจากการกระทำความผิดแล้วได้โอนเงินเข้าบัญชีบุคคลอื่นหลายบัญชีและมีการเบิกถอนเงินสดด้วยเชื่อว่าโดยสภาพของเงินที่ได้รับมาไม่สามารถที่จะส่งมอบหรือคืนได้อันเป็นการที่แสดงให้เห็นว่าการติดตามเอาคืนกระทำได้ยากเกินสมควรจึงให้จำเลยผู้มีหน้าที่ต้องส่งเงินชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของเงินที่ศาลสั่งริบโดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 8 ร่วมกันชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าจำนวน 1,323,006,750 บาทจำเลยที่ 5 ร่วมชำระจำนวน 763,197,000 บาทจำเลยที่ 7 ร่วมชำระจำนวน 1,056,267,000 บาทและจำเลยที่ 10 ร่วมชำระจำนวน 40,000,000 บาท

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 (เดิม) จำเลยที่ 4-8 และที่ 10 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 4-8 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุกกระทงละ 9 ปีรวม 11 กระทงเป็นจำคุก 99 ปีเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (3) ลงโทษจำเลยที่ 4 จำคุกกระทงละ 6 ปีรวม 11 กระทงเป็นจำคุก 66 ปีเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 50 ปี ลงโทษจำเลยที่ 5 จำคุกกระทงละ 4 ปีรวม 5 กระทงเป็นจำคุก 20 ปีลงโทษจำเลยที่ 6 จำคุกกระทงละ 4 ปีรวม 11 กระทงเป็นจำคุก 44 ปีลงโทษจำเลยที่ 7 จำคุกกระทงละ 4 ปีรวม 8 กระทงเป็นจำคุก 32 ปีลงโทษจำเลยที่ 8 ปรับกระทงละ 25,000 บาทรวม 11 กระทงรวมเป็นเงิน 275,000 บาทลงโทษจำเลยที่ 10 จำคุก 4 ปีให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 10 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่อ.3331-3334 /2557 ของศาลแขวงสมุทรปราการและต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 14 ในคดีหมายเลขแดงที่อม. 178/2560 และอม. 179/2560 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 5 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 11 ในคดีหมายเลขแดงที่อม. 178-179/2560 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 10 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8488/2552 ของศาลจังหวัดพัทยาส่วนที่โจทก์มีคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 10 ต่อจากโทษจำเลยที่ 24 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2542/2553 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2076/2563 ของศาลอาญานั้นคดีดังกล่าวศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องจึงไม่อาจนับโทษต่อได้หากจำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นนิติบุคคลไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 และให้ริบเงินจำนวน 1,323,006,750 บาทโดยให้จำเลยผู้มีหน้าที่ต้องส่งเงินที่ริบชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของเงินที่ศาลสั่งริบภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหากไม่ชำระภายในระยะเวลากำหนดต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 8 ร่วมกันชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าจำนวน 1,323,006, 750 บาท จำเลยที่ 5 ร่วมชำระจำนวน 763,197,000 บาทจำเลยที่ 7 ร่วมชำระจำนวน 1,056,267,000 บาทจำเลยที่ 10 ร่วมชำระจำนวน 40,000,000 บาท

นอกจากนี้มีคำสั่งยกฟ้อง นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ดการเคหะแห่งชาติและอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการฯ จำเลยที่ 2 , นายพรพรหม วงศ์วิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงินบริษัทปริญสิริจำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 3 , บริษัทจิวเวอร์รี่อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด จำเลยที่ 9, และจำเลยที่ 11 บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด, จำเลยที่ 12 บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด , จำเลยที่ 13 บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด และจำเลยที่ 14 น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทยเฉนหยูฯ

และออกหมายจับจำเลยที่ 6 น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว ,จำเลยที่ 7 นางสาวรุ่งเรือง ขุนปัญญา และจำเลยที่ 10 นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เพื่อให้นำตัวมารับโทษ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลฎีกาอนุญาตให้นายวัฒนา ประกันตัว หลังทนายและญาติยื่นหลักทรัพย์ 10 ล้านบาท เป็นบัญชีธนาคารหลักทรัพย์เดิม 5 ล้านบาทเเละเพิ่มเงินสดอีก 5 ล้านบาท โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ เว้นได้รับอนุญาต

ภายหลังศาลอนุญาตให้ประกันตัว นายวัฒนาให้สัมภาษณ์ว่า ตนไม่เห็นพ้องด้วยก็จะใช้สิทธิอุทธรณ์ไปตามกฎหมาย ดีใจที่ตนเป็นเคสแรก ที่โทษสูงขณะนี้แต่ศาลให้ประกันตัว เพราะได้กราบเรียนท่านว่าตนเป็นคนว่าความ ทำคดีเองเอกสารมีเป็นหมื่นหน้าอยู่ในไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ถ้าไม่อนุญาตให้ประกันตัว ตนไม่สามารถอุทธรณ์ได้เพราะในเรือนจำไม่อนุญาตให้นำเครื่องมือสื่อสารเข้าไป ศาลอนุญาตประกันตัวด้วยเหตุผลว่าเชื่อว่าตนไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและมาศาลทุกนัด ส่วนการอุทธรณ์ไม่ต้องมีพยานใหม่เป็นการคัดค้านดุลยพินิจของศาล เป็นเรื่องความเห็นที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะมีความเห็นอย่างไร ตนมั่นใจตั้งแต่วันแรกแล้ว ดูภาษากายตนก็รู้ เชื่อว่าสิ่งที่ทำมาถูกต้อง

เมื่อถามว่ายืนยันว่าจะไม่หลบหนีคำพิพากษาศาลฎีกาแน่นอนใช่ไหม

นายวัฒนา กล่าวว่า หนีทำไม ตอนนี้จะหนีไปสภา อยากลุ้นรัฐธรรมนูญมากกว่า ตนรู้ดีทุกอย่างว่าทำอะไร จากภาษากายทุกคนรู้ว่าตนไม่หนี องค์คณะ 9 ท่านยังเชื่อว่าตนไม่หนี นี่เป็นคดีแรกที่โทษ 50 ปีแล้วศาลยังให้ประกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า อยากให้นายอริสมันต์ ที่หลบหนีกลับมาสู้คดีหรือไม่

นายวัฒนา กล่าวว่า นายอริสมันต์หนีคดีประชุมอาเซียนที่พัทยา ส่วนข้อเท็จจริงในคดีนี้นายอริสมันต์สามารถอุทธรณ์ได้ แต่การยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้เจ้าตัวต้องมาเอง ซึ่งเขาก็ยื่นไม่ได้โดยสภาพ

เมื่อถามว่านายวัฒนาเองก็ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิ์อุทธรณ์ได้

นายวัฒนากล่าวว่า ไม่ใช่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หลักการอุทธรณ์ได้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ICCPR ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ เขียนว่าการพิจารณาคดีต้องทำต่อหน้าจำเลยและในคดีอาญา จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลที่สูงกว่า ดังนั้นรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรตน เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องทำตาม ICCPR
กำลังโหลดความคิดเห็น