“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ศิลปินแห่งชาติ เป็นตัวแทนยื่นหนังสือต่อ มธ. จี้ เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาชุมนุม 19 ก.ย.นี้ พร้อมย้ำ มธ. ควรเป็นหลังอิงให้นักศึกษา มีพื้นที่แสดงออกทางความคิดเห็น ไม่ใช่ให้ไปเผชิญกับอันตรายภายนอก
วันนี้ (15 ก.ย.) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2554 ในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ยื่นหนังสือและข้อเรียกร้อง ต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนามนักเขียน บรรณาธิการ ศิลปิน สื่อมวลชนและประชาชนผู้เชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย หรือในเพจ “WAY” พร้อมรวบรวมรายชื่อ ประชาชน 1,964 รายชื่อ มอบให้กับอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมอบหมายให้ นางณัฐยา มิตรมูลพิทักษ์ ผู้อำนวยการกองบริหารศูนย์ท่าพระจันทร์ มารับหนังสือแทน
โดยก่อนยื่นหนังสือ นายสุชาติ อ่านแถลงการณ์ ย้ำถึงข้อเรียกร้องทางการเมือง 3 ข้อ ได้แก่ 1. หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบสภา และความฝันในการอยู่ร่วมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงความเคลื่อนไหวให้ปฏิรูประบบการศึกษา ทั้งหมดนี้นอกจากจะไม่ได้มีเนื้อหาส่วนใดละเมิดกฎหมายแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงเจตจำนงของคนรุ่นใหม่ ความใฝ่ฝันที่จะเห็นสังคมดีขึ้นกว่าเดิม เราขอเรียกร้องให้รัฐและผู้เห็นต่าง โต้แย้งด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง และเหตุผล หยุดให้ร้ายบิดเบือน หยุดละเมิดเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ด้วยวิธีการและท่วงทำนองต่ำทราม
2. ตามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563 โดยมิได้ระบุเหตุผลชัดเจน มากไปกว่าถ้อยคำกว้างๆ ว่า กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มิได้ดำเนินการขออนุญาตตามเงื่อนไขมหาวิทยาลัย
ในฐานะที่เรามีความผูกพันกับประวัติศาสตร์อันยาวนานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในการจำหลักเป็นหลังพิง ให้ที่อยู่ที่ยืนกับผู้คนในระบอบประชาธิปไตย เราขอเรียกร้องให้คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิจารณาทบทวน เปิดพื้นที่ให้นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ได้แสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองอันเป็นเรื่องพื้นฐาน สนับสนุนระบบดูแลความปลอดภัยในการชุมนุม แทนการปิดกั้นผลักไส ให้ออกไปรับความเสี่ยงนอกรั้วมหาวิทยาลัย
3. เราขอเรียกร้องสื่อมวลชน และขอความร่วมมือจากผู้สนใจติดตามข่าวสาร ให้ออกแรงช่วยกันตรวจสอบข้อมูลหลักฐาน ร่วมกันยับยั้ง แก้ไข ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ จากกลุ่มคนที่ประสงค์ให้เกิดการเผชิญหน้า ปรารถนาจะให้สถานการณ์รุนแรง เพื่อนำไปสู่การใช้เครื่องมือทางอำนาจนอกระบบ ไม่ว่าจะในรูปแบบการทำรัฐประหาร หรือการจัดตั้งรัฐบาลพิเศษ ซึ่งล้วนแล้วแต่จะนำพาประเทศถอยหลังและตกต่ำยิ่งขึ้น
นายสุชาติ ยังกล่าวต่อว่า การชุมนุมของนักศึกษาดำเนินการภายใต้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่การที่มหาวิทยาลัยไม่อนุญาต เป็นการผลักนักศึกษาให้ไปเผชิญกับอันตรายนอกมหาวิทยาลัย และเห็นว่า มหาวิทยาลัยต้องเป็นหลังอิงของคนที่ ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าได้เห็นถึงความหลากหลายทางความคิด แต่การคิดจนเลยเถิดไปถึงการมองว่านักศึกษา บิดเบือนและละเมิดรัฐธรรมนูญ ถือเป็นความเห็นที่เลอะเลือน
พร้อมยืนยันว่า นักศึกษาไม่ได้เลอะเทอะ แต่มาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ การชุมนุมก็ปราศจากอาวุธ มหาวิทยาลัย จึงควรเป็นหลังอิงและดูแลการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงจะเป็นจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์อย่างแท้จริง ตามเจตนารมณ์ที่ยืนยัน มาโดยตลอดว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว
ส่วนข้อกังวลโดยเฉพาะข้อเรียกร้องสิทธิที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบัน นายสุชาติ เห็นว่า นักศึกษาไม่ได้ล้มสถาบัน แต่ต้องการให้สถาบันมีความงอกงามและสง่างามในโลกสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นจึงใช้คำว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งหมายถึงการอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
ส่วนกรณีที่ศิษย์เก่ามีความเห็นแตกต่างกัน อย่างรุนแรงโดยเฉพาะการจัดการชุมนุม ส่วนตัวเห็นว่าความขัดแย้งทางความคิดเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตยแต่ขอให้ใช้ตรรกะและเหตุผลใช้การแลกเปลี่ยนข้อมูลและอดทนรับฟังซึ่งกันและกันจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะไม่สูญเสียไปกว่านี้
ทั้งนี้ ส่วนตัวยังเห็นว่า ธรรมศาสตร์ในยุคของตนเองและปัจจุบันอุดมการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่ตัวบุคคลอาจจะเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม ช่วงระหว่างการเตรียมยื่นหนังสือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงมาจากตึก ผ่านวงสัมภาษณ์ของสื่อมวลชน ออกไปทางด้านหลังตึกโดม ซึ่งตัวแทนที่มารับหนังสือชี้แจงว่าอธิการมีภารกิจจึงไม่สามารถมารับหนังสือด้วยตนเองได้