สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชี้แจงบทความ “ลม เปลี่ยนทิศ” อ้างไทยผลิตวัคซีนต้านโควิดได้แล้ว แต่รัฐบาลไม่สนับสนุน คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะบริษัทสตาร์ทอัพของจุฬาฯ บอกเองว่าจะใช้เงินตัวเองทดสอบในสัตว์ทดลองไปก่อน ถ้าได้ผลดีจะขอทุนที่หลัง บรรจุใน พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 ไปแล้ว
วันนี้ (4 ก.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ออกคำชี้แจงกรณีที่คอลัมน์ ลม เปลี่ยนทิศ ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา ตีพิมพ์บทความในหัวข้อ “ไทยผลิตวัคซีนต้านโควิดได้แล้ว แต่รัฐบาลไม่สนับสนุน” โดยอ้างว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ผลการทดสอบวัคซีนจากโปรตีนพิเศษในใบยาสูบ ที่พัฒนาโดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัพของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถยับยั้งไวรัสโควิด-19 ได้ แต่ต้องผลิตด้วยโรงงานที่มีศักยภาพสูง ต้องลงทุนสูง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ที่น่าเสียดายคือโครงการนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ขอเรียนว่า “ข้อมูลดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง” เพราะทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้มีการดำเนินการสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จากใบยาสูบร่วมกับบริษัท ใบยา ไฟโต ฟาร์ม จำกัด และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการปรึกษาหารือ และวางแผนการดำเนินการร่วมกัน ในการวิจัยพัฒนาวัคซีนในสัตว์ทดลอง จนถึงการทดสอบในคน ซึ่งทางบริษัท ใบยาฯ ได้แจ้งแล้วว่าจะดำเนินการทดสอบในสัตว์ทดลองด้วยเงินทุนตนเองไปก่อน หากได้ผลดีจะขอรับการสนับสนุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติในขั้นตอนต่อไป
ดังนั้น ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จึงได้บรรจุแผนการวิจัยขั้นตอนต่อไป ในแผนคำของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ที่จะเสนอผ่านความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลต่อไป ในส่วนการวิจัยเพื่อการผลิต สถาบันฯ ยังได้ช่วยประสานการทำงานร่วมกันระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยมหิดลในการขยายการผลิตสู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรม
อนึ่ง ข้อเท็จจริงในขณะนี้คือวัคซีนต้นแบบของบริษัทใบยา ไฟโต ฟาร์ม จำกัด นี้ ยังอยู่ในขั้นตอนของสัตว์ทดลองที่ได้ผลการทดสอบดีในลิง จำเป็นต้องมีการวิจัยทดสอบต่อในคน จนพิสูจน์ผลในการป้องกันโรคได้จึงจะถือว่ามีวัคซีนที่ใช้ได้