“สถาบันวัคซีนแห่งชาติ” แจงรัฐบาลเมินวัคซีนโควิดของไทย ไม่เป็นความจริง ยันสถาบันวัคซีนฯให้การสนับสนุน ร่วมกันวางแผนดำเนินการมาโดยตลอด ซึ่งขั้นตอนทดลองในสัตว์ ทางบริษัท ใบยาฯ แจ้งว่าจะใช้เงินทุนตนเองไปก่อน หากได้ผลดี สถาบันวัคซีนจะทำเรื่องของบประมาณจากรัฐบาลต่อไป
จากกรณีมีกระแสข่าวว่า ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยว่า ขณะนี้บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัพของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ สามารถผลิตวัคซีนจากใบยาสูบชนิดพิเศษที่กำหนดให้สร้างโปรตีนสำหรับทำวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แล้ว สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับที่สูงมาก เป็นระดับที่สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ แต่ต้องผลิตด้วยโรงงานที่มีศักยภาพ และต้องลงทุนสูง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ แต่น่าเสียดายที่โครงการนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร
ล่าสุด วันที่ 3 ก.ย. 2563 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้เผยแพร่ข่าวชี้แจงว่า ตามที่ได้มีข่าวสื่อมวลชนถึงกรณีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้แล้วแต่รัฐบาลไม่สนับสนุนนั้น
“สถาบันวัคซีนแห่งชาติขอเรียนว่า “ข้อมูลดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง” เพราะทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้มีการดำเนินการสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จากใบยาสูบร่วมกับบริษัท ใบยา ไฟโต ฟาร์ม จำกัด และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการปรึกษาหารือ และวางแผนการดำเนินการร่วมกัน ในการวิจัยพัฒนาวัคซีนในสัตว์ทดลองจนถึงการทดสอบในคน ซึ่งทางบริษัท ใบยาฯ ได้แจ้งแล้วว่าจะดำเนินการทดสอบในสัตว์ทดลองด้วยเงินทุนตนเองไปก่อน หากได้ผลดีจะขอรับการสนับสนุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติในขั้นตอนต่อไป
ดังนั้น ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติจึงได้บรรจุแผนการวิจัยขั้นตอนต่อไปในแผนคำของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลตาม พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ที่จะเสนอผ่านความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลต่อไป ในส่วนการวิจัยเพื่อการผลิต สถาบันฯยังได้ช่วยประสานการทำงานร่วมกันระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยมหิดล ในการขยายการผลิตสู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรม
อนึ่ง ข้อเท็จจริงในขณะนี้คือวัคซีนต้นแบบของบริษัท ใบยา ไฟโต ฟาร์ม จำกัดนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนของสัตว์ทดลองที่ได้ผลการทดสอบดีในลิง จำเป็นต้องมีการวิจัยทดสอบต่อในคน จนพิสูจน์ผลในการป้องกันโรคได้ จึงจะถือว่ามีวัคซีนที่ใช้ได้”