นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หารือกับ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา
นายอนุทิน เปิดเผยว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบเพื่อการค้นคว้าวิจัยวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ 1,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเพื่อการเตรียมความพร้อมในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี อีกส่วนหนึ่งจะสนับสนุนแก่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความคืบหน้ามาระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งรัฐบาลให้คำยืนยันว่า จะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้เร็วที่สุด และในจำนวนที่เหมาะสม
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้จัดสรรให้เฉพาะงบประมาณ แต่ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทุ่มเท สนับสนุน ร่วมมือเรื่องนี้เต็มที่ ถ้าพิสูจน์ชัดเจนว่าวัคซีนปลอดภัย ต้องผ่าน เพื่อนำไปสู่การทดลองต่อโดยเร็วที่สุด
ด้าน ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจะนำมาดำเนินงานโครงการพัฒนาวัคซีน mRNA รวมถึงการผลิตวัคซีน 10,000 โดส สำหรับทดสอบในอาสาสมัครระยะที่ 1-2 ในกรอบวงเงินจำนวน 400 ล้านบาทนั้น จะเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะให้การทำงานขับเคลื่อนไปข้างหน้า
ในขณะที่ภาพใหญ่ของโลก มีวัคซีน 7 ชนิดที่เข้าสู่การทดลองระยะที่ 3 คือ ประเทศจีน อเมริกา อังกฤษ เชื่อว่าอย่างน้อยต้นปีหน้าจะมีวัคซีน 1 ชนิดที่เข้าเส้นชัย จะทำให้ทราบว่าภูมิคุ้มกันของวัคซีนจะต้องสูงระดับใดเพื่อนำมาเป็นข้อมูลสำหรับพัฒนาวัคซีนไทย เมื่อทราบระดับภูมิคุ้มกันที่จะทดลองในอาสาสมัครไทยแล้ว คาดว่าจะผลิตในโรงงานของไทยได้ภายในไตรมาส 3 หรือ 4 ปีหน้า คือ ไบโอเนทเอเชียที่รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เมื่อได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศซึ่งใช้เวลาประมาณ 9 เดือน ไทยก็จะสามารถผลิตวัคซีนได้เอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งข้อมูลให้ อย.ตรวจสอบความปลอดภัย การเสนอคณะกรรมการจริยธรรม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การเตรียมโรงงานสำหรับผลิตวัคซีน 10,000 โดส เตรียมทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกรรม ห้องปฏิบัติการ
เมื่อกระบวนการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย จึงจะประกาศรับอาสาสมัครทดลองวัคซีน คาดว่าประมาณเดือนธันวาคม 2563 โดยจะเร่งในระยะที่ 1-2 ก่อน คือ ดูขนาดที่เหมาะสมในคนที่อายุไม่มาก 18-55 ปี จำนวน 48 คน เมื่อปลอดภัยจะทดลองในคนอายุ 65-75 ปี อีก 48 คน และขนาดที่เหมาะสมสำหรับคนไทย และจะทดลองในระยะที่ 2 อีก 300 คน ทั้งนี้ หากต้นปีหน้ามีวัคซีนต่างประเทศที่สำเร็จ ไทยอาจไม่ต้องทดลองในระยะที่ 3 เพราะรู้ว่าภูมิจะต้องสูงเท่าไร หากระยะที่ 2 มีภูมิคุ้มกันเท่ากับวัคซีนที่ต่างประเทศผลิตสำเร็จ อย.อาจรับรองให้ผลิตได้ 30 ล้านโดส หรือเท่ากับจำนวนที่โรงงานเราสามารถผลิตได้
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า ประเทศไทยทำถูกแล้วที่ได้เตรียมตัว ทั้งการเตรียมการจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศ การต่อรองเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีของวัคซีนเพื่อให้สามารถผลิตในประเทศไทย รวมทั้งการให้ทุนสนับสนุนและส่งเสริมการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ