xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักกันมั๊ย..ตั๋วผี-ซื้อตั๋ว-ล้างอาการ! ศัพท์เทคนิคเฉพาะวงการหนังไทยในอดีต!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


โรงหนังไทยยุคนั้นคนล้นโรงเป็นประจำ ยังงี้ผีชอบ
“ตั๋วผี” กับ “ซื้อตั๋ว และ ล้างอากร เป็นศัพท์เทคนิคในตำนานหนังไทยโดยเฉพาะ อย่าไปเปิดหาในปทานุกรมกันเลย ไม่เจอหรอก

“ตั่วผี” หรือ “ผีหน้าโรงหนัง” ความจริงไม่ได้มีเฉพาะหนังไทย หนังฝรั่งก็มี หนังเรื่องไหนมีตั๋วผีแสดงว่าหนังเรื่องนั้นเป็นหนังทำเงิน มีคนดูแต่ละรอบล้นโรง จึงเกิดแก๊งผีหน้าโรงหนังขึ้น พวกนี้จะไปรอเข้าคิวตอนเปิดขายตั๋วจองหรือเปิดขายแต่ละรอบ แล้วกว้านซื้อไว้มากๆ พอคนดูหนังมาเข้าคิวซื้อตั๋วซื้อได้ไม่กี่ใบตั๋วก็หมด แก๊งผีหน้าโรงหนังจึงเอามาเดินเร่ขายเกินราคา ตั๋ว ๑๐ บาท ก็ขาย ๑๕ บาท ตั๋ว ๑๒.๕๐ บาท ก็ขาย ๒๐ หรือ ๒๕ ไปเลย ขึ้นกับคนแน่นมากแน่นน้อยแค่ไหน คนดูที่ไม่ยอมให้ขูดรีดก็อดใจไว้ดูวันหนัง ต้องกลับบ้านเสียเวลาเสียค่ารถฟรี ซึ่งส่วนมากก็ยอมเสียเงินซื้อ แก๊งขายตั๋วผีหน้าโรงหนังจึงหากินกันง่ายๆแบบนี้

ในโปรแกรมรอบปฐมฤกษ์ของหนังไทย นิยมจัดรายการกันขาวเหยียด มีทั้งวงดนตรีและจำอวดก่อนฉายหนัง เพื่อสร้างข่าวว่าคนล้นโรงตั้งแต่เข้าฉายรอบแรก คนดูก็นิยมดู เพราะแค่ของแถมก็คุ้มค่าดูแล้ว พวกแก๊งผีหน้าโรงหนังจึงชอบรายการแบบนี้เช่นกัน บัตรราคา ๒๐ บาทก็ขาย ๓๐ หรือ ๓๕ บางทีก็ได้ถึง ๔๐ บางโปรแกรมดังๆก็แบ่งให้คนขายตั๋วใบละ ๓ บาทบ้าง ๕ บาทบ้าง แล้วขอซื้อไปเป็นปึก บางโปรแกรมคนที่เข้าคิวซื้อไม่ได้เลยซักใบก็มี คนขายบอกว่าตั๋วหมดตั้งแต่จองแล้ว

โรงหนังชั้นนำแต่ละโรงจะมีแก๊งขายตั๋วผียึดเป็นแหล่งทำมาหากินประจำ และไม่รุกล้ำแย่งแหล่งกัน คนดูที่เป็นแฟนประจำโรงก็มักจำหน้าพวกนี้ได้ ส่วนฝ่ายโรงก็รู้จักหน้าแก๊งขายตั๋วผีดี แม้ไม่อยากให้มีการเอารัดเอาเปรียบแฟนโรงแบบนี้ ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะแก๊งผีก็มีสิทธิ์ซื้อตั๋วเท่ากับคนดูทั่วไป ทั้งทางโรงยังไม่อยากมีปัญากับแก๊งผีซึ่งมักเป็นนักเลงเจ้าถิ่น อย่างมากก็แค่ตั้งกฏว่าจะขายให้คนละไม่เกิน ๕ ใบและขอร้องแก๊งผีว่าอย่า “เวียนทียน” เข้าคิวหลายรอบให้น่าเกลียด ซึ่งแก๊งผีก็ให้คว่ามร่ววมือด้วยดี เกณฑ์พรรคพวกมาเข้าคิวตามระเบียบไม่ผิดกติกา 

การซื้อขายตั๋วผีหน้าโรงหนังแม้จะเป็นการสมยอมกันระหว่างคนซื้อกับคนขาย แต่ก็เป็นเรื่องผิดกฏหมาย เพราะกฏหมายกำหนดว่าตั๋วเข้าชมมหรศพต้องติดอากร ๓๐ เปอร์เซนต์ ภาษีเทศบาลอีก ๕ เปอร์เซนต์ ฉะนั้นราคาค่าตั๋วจึงรวมค่าดู ค่าอากร และภาษีเทศบาลไว้เสร็จ แต่ส่วนเกินที่แก๊งผีบวกเข้าไปไม่ได้จ่ายภาษี จึงมีความผิดในฐานโกงภาษีอากรจากส่วนที่เกิน แต่ตำรวจก็ไม่อยากจะไปวิ่งไล่จับผีให้เหนื่อย บางทีตำรวจนอกเครื่องแบบมาซุ่มอยู่หน้าโรง พวกผีก็จำหน้าตำรจที่โรงพักได้ทุกคน จึงหลบไปขายหลังโรง ทั้งยังส่งคนมากระซิบคนที่ซื้อตั๋วไม่ได้ให้ไปซื้อที่หลังโรงด้วย

ต่อมาเมื่อยุคสมัยเปลี่ยไป โรงหนังกระจายออกเป็นโรงเล็กอยู่ตามศูนย์การค้า โรงประเภท “ใหญ่ที่สุดในโลก” ซึ่งนิยมสร้างในเมืองไทยก็หมดยุค อีกทั้งโรงหนังสมัยใหม่เปิดให้จองตั่วได้ทางโทรศัพท์ ต่อมก็จองทางคอมพิวเตอร์ และเรื่องเดียวก็ฉายหลายโรงทั่วกรุง ไม่ใช่โรงเดียวอย่างแต่ก่อน แก๊งขายตั๋วผีหน้าโรงหนังก็ต้องสูญพันธุ์ไปตามยุคสมัย แต่เกิดใหม่เป็นแก๊งขายตั๋วผีหน้าสนามฟุตบอล

ส่วน “ซื้อตั๋ว” เป็นศัพท์ของหนังไทยโดยเฉพาะ หนังฝรั่งไม่ทำกัน และไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย เพราะรัฐก็ได้อากรไปครบตามระเบียบ โรงหนังก็ได้ส่วนแบ่งไปตามกติกา แต่แปลกตรงที่คนซื้อตั๋วไม่ใช่คนดูตามปกติ กลับเป็นเจ้าของหนังจ่ายเงินให้คนมาซื้อตั๋วดูหนังของตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้โรงหนังพลอยเจ๊งไปด้วย

หนังไทยที่เข้าฉาย ตามสัญญาจะต้องกำหนดรายได้ขั้นต่ำไว้ เช่นรายได้ต่ำกว่าวันละ ๑๒,๐๐๐ บาท จะต้องฉายต่อไปได้อีก ๓ วันเท่านั้น ซึ่งตามทางปฏิบัติจะให้ฉายถึงวันพฤหัสบดี วันศุกร์จะได้ปิดโรงทำความสะอาดเพื่อเตรียมเปิดรอบปฐมฤกษ์ของเรื่องต่อไปในตอนค่ำ ฉะนั้นวันจันทร์จึงเป็นวันสำคัญของเจ้าของหนังที่เข้าฉายอยู่

ตามปกติ หนังที่เข้าฉายใรอบปฐมฤกษ์ก็พออ่านออกแล้วว่า จะฉายได้อาทิตย์เดียว สองอาทิตย์ หรือสามอาทิตย์ขึ้นไป แต่ถึงอย่างไรเจ้าของหนังก็จะไม่ยอมให้หนังของตัวเองเข้าฉายเพียง ๑ อาทิตย์หรือ ๒ อาทิตย์ เพราะจะมีผลต่อรายได้ในต่างจังหวัด ซึ่งหนังเรื่องใดเจ๊งในโรงใหญ่ที่กรุงเทพฯ คนต่างจังหวัดก็ไม่อยากเสียเงินไปดู ฉะนั้นถ้ารายได้ในวันเสาร์วันอาทิตย์ไม่ดี วันจันทร์ตั้งแต่รอบแรก เจ้าของหนังจึงต้องเกณฑ์คนพร้อมจ่ายเงินให้มาซื้อตั๋วเข้าดู และต้องซื้อต่อไปจนถึงรอบดึกเพื่อไม่ให้รายได้ต่ำกว่า ๑๒,๐๐๐ บาท ถ้าผ่านวันจันทร์ไปได้ แม้วันอังคารรายได้จะต่ำกว่ากำหด วันศุกร์ก็ถอดหนังออกไม่ได้ตามสัญญา เพราะยังไม่ครบ ๓ วัน โรงจำต้องปล่อยให้ฉายต่อไปอีก ๑ สัปดาห์

สมัยนั้นชาวบ้านตามชุมชนต่างๆมักจะโชคดีอยู่บ่อยๆ มีคนจัดรถมารับ เอาเงินมาแจกให้ไปซื้อตั๋วดูหนัง
วิธีนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เจ้าของหนังที่ต้องหาเงินมาสร้างหนัง หาเงินมาทำโฆษณาแล้ว ยังต้องหาเงินมาซื้อตั๋วหนังของตัวเองอีก ทั้งยังเป็นการกอดคอให้โรงหนังเจ๊งไปด้วย

ทั้งนี้โรงแต่ละโรงในยุคนั้น จะมีรายจ่ายประจำวันๆละ ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ บาท เมื่อเจ้าของหนังซื้อตั๋วให้ผ่านวันจันทร์ไปได้ ทางโรงจึงต้องแบกค่าใช้จ่ายขาดทุนลากหนังตั้งแต่วันอังคารไปถึงวันพฤสบดีหน้าเป็นเวลาถึง ๑๐ วัน ถ้าปล่อยให้เกิดกรณีนี้ขึ้นบ่อยๆ ผู้จัดการโรงก็ต้องเดือดร้อนแน่ จึงต้อหาทางเล่นงานเจ้าของหนังที่ “ซื้อตั๋ว” ให้ได้

มีกรณีที่ผู้อำนวยการสร้างชื่อดังคนหนึ่ง เคยทำหนังได้เงินมาก็มาก แต่เรื่องหนึ่งเกิดผิดฟอร์ม ทำท่าว่าจะฉายได้ไม่เกิน ๒ สัปดาห์ ซึ่งจะทำให้เสียศักดิ์ศรีมือสร้างระดับชั้นนำ แต่ถ้าไปขนคนจากชุมชนมา “ซื้อตั๋ว” ให้อื้อฉาว ก็จะขายหน้า อาศัยที่เคยทำหนังเข้าฉายที่ศาลาเฉลิมกรุงมาหลายเรื่อง มักคุ้นกับพนักงานโรงเป็นอย่างดี จึงเจรจาลับกับพนักงานขายขอซื้อทีละปึก แล้วส่งให้พนักงานหน้าประตูฉีกเอาหางตั๋วไว้ทั้งปึกโดยไม่ต้องมีคนดู แบบนี้หลักฐานมันฟ้องว่าหางตั๋วมากกว่าคนดู เหมือนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งในหีบมากกว่าจำนวนคนที่มาลงคะแนน แบบนี้ถ้าผู้จัดการปล่อยไปก็เหมือนไม่มีน้ำยา หรืออาจโดนข้อหาสมรู้ร่วมคิด ดีไม่ดีเก้าอี้อาจหาย จึงจำต้องถอดหนังเรื่องนั้นออกแม้รายได้จะไม่ต่ำกว่าสัญญา แต่ในข้อหา “ซื้อตั๋ว” ทำให้โรงเสียหาย ทั้งยังลงโทษพนักงานที่ร่วมมือถึงขั้นไล่ออก เพื่อให้เจ้าของหนังละอายใจว่าจะเอาแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่คำนึงว่าจะทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วย

สำหรับ “ล้างอากร” ที่สร้างมั่งคั่งให้เจ้าของโรงหนังหลายราย ก็โดยกำชับให้คนฉีกตั๋วหน้าประตู อย่าฉีกอากรสแตมป์มหรสพเป็นอันขาด แล้วนำหางตั๋วที่มีอากรสแตมป์ติดมาแช่น้ำ แกะอากรสแตมป์ออกมาผึ่งลมนำไปใช้ใหม่ เรียกกันว่า “ล้างอากร” เกือบทุกโรงก็ใช้วิธีนี้ ล้างจนมือเปื่อยกันทั้งนี้น จนสรรพาการต้องหันไปใช้วิธีประเมินเป็นโรงๆไป วิธี “ล้างอากร” จึงหยดยุค ต่อมาการขายตั๋วยุคใหม่ยังใช้คอมพิวเตอร์ ทำให้รายได้ของโรงหนังมีหลักฐานให้เก็บอากรมหรสพได้ครบ

เรื่อง “ตั๋วผี” “ซื้อตั๋ว” “ล้างอากร” จึงเป็นตำนานอีกเรื่องหนึ่งของวงการบันเทิงไทยเมื่อวันวาน
กำลังโหลดความคิดเห็น