การสร้างภาพยนตร์ เป็นงานที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก แต่ตลาดหนังไทยสมัยก่อนยังอยู่ในวงแคบ ขณะเดียวกันคนดูก็ต้องการความบันเทิงจากภาพยนตร์ในรสชาติไทยๆ ผู้สร้างหนังไทยจึงต้องหาวิธีการต่างๆมาสร้างหนังให้ได้รสชาติถึงใจคนดู แต่ใช้เงินลงทุนต่ำที่สามารถทำได้ จึงต้องมีวิธีสร้างกันแบบแปลกๆ อย่างที่นักสร้างฮอลลีวูดพากันตะลึงมาแล้วในเรื่องการพากษ์พร้อมทำซาวด์เอฟเฝคประกอบกันสดๆของ รุจิรา-มารศรี ในงานมหกรรมภาพยนตร์นานาชาติ เมื่อปี ๒๕๐๕ อย่างที่เขียนเล่าในคอลัมนี้มาแล้วในชื่อ “เปิดตำนานการพากย์หนังไทย! เขย่างานประกวดที่ซานฟรานซิสโกตะลึง! ฮอลลีวูดยอมรับเป็นความมหัศจรรย์ของโลกภาพยนตร์
อีกวิธีการหนึ่งคือ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ กองทัพเรือได้ส่ง ร.ล.เจ้าพระยา ไปอิตาลี นอกจากจะนำนักเรียนนายเรือไปฝึกภาคต่างประเทศแล้ว ยังไปเพื่อรับเรือตอร์ปิโดใหม่ ๒ ลำ คือ ร.ล.ตราด และ ร.ล.ภูเก็ต ที่สั่งต่อไว้กลับมาด้วย และได้ขอตัว หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) หัวหน้าแผนกภาพยนตร์ของกรมโฆษณาการ ไปถ่ายภาพยนตร์บันทึกประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือช่วงนี้ไว้ เพราะเป็นการเดินเรือข้ามมหาสมุทรด้วยความรู้ความสามารถของทีมลูกนาวีไทยล้วนเป็นครั้งแรก จากอ่าวไทยข้ามมหาสมุทรอินเดียไปอิตาลีและกลับสู่มาตุภูมิ รวมระยะทางราว ๑๕,๐๐๐ ไมล์ ใช้เวลารอนแรมไปในทะเลกว่า ๔ เดือน
หลวงกลการเจนจิตผู้นี้ เป็นคนหนุ่มที่ฉลาดปราดเปรื่องและมีฝีมือทางงานช่างหลายประเภท ทั้งช่างเครื่องยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างวิทยุ และช่างภาพภาพยนตร์รุ่นบุกเบิกของไทย ต่อมาได้ร่วมกับพี่น้องตระกูลวสุวัตก่อตั้งบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงขึ้น ซึ่งเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ไทยเสียงในฟิล์มเป็นรายแรก ในขณะนั้นแม้หนังต่างประเทศที่เข้ามาฉายในเมืองไทยมีเสียงในฟิล์มแล้ว แต่ก็ยังไม่มีเครื่องฉายที่ฉายภาพยนตร์เสียงได้ หลวงกลการเจนกิจก็ได้สร้างอุปกรณ์เสริมให้ฉายภาพยนตร์เสียงขึ้นมา ทั้งยังเป็นผู้สร้างเครื่องมือบันทึกเสียงในการถ่ายหนังเสียงเองด้วย
เมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศหลายเมืองพร้อมด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์คู่มือ หลวงกลฯผู้มีจิตวิญญาณของนักสร้างหนังก็เห็นว่า น่าจะถือโอกาสถ่ายภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงมาฉายด้วย โดยเป็นเรื่องเที่ยวเตร่ของทหารเรือตามเมืองท่าต่างๆ จึงได้เสนอขออนุญาตจากกองทัพเรือ ซึ่งก็ได้รับคำอนุญาต
หลวงกลฯเลือก จ.ท.เอื้อม ชีวะกานนท์ เป็นพระเอก และ จ.ท.ว่อง โลหิตนาวี เป็นพระรอง ถ่ายการใช้ชีวิตของทหารในเรือระหว่างการเดินทาง พอขึ้นท่าเมืองไหนเห็นแหม่มสวยๆ ก็ทาบทามขอแสดงหนังให้หน่อย ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดีเพราะเห็นเป็นเรื่องสนุก เริ่มตั้งแต่สิงคโปร์ โคลอมโบ ปอร์ตเสด เอเดน โรม และเวนิช โดยหลวงกลฯแสดงฝีมือวันแมนโปรดักชั่นเสร็จสรรพ ทั้งช่างภาพ เขียนบทสด และกำกับการแสดง ทหารเรือและนักเรียนนายเรือต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือ ตั้งแต่แบกกล้อง แบกอุปกรณ์ บันทึกเสียง และช่างเทคนิคต่างๆ ตามแต่หลวงกลฯจะขอแรง ต่อมาลูกมือหลวงกลฯเหล่านี้ก็ได้เป็นนายพลเรือกันหลายคน
เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย ก็เอาหนังที่ถ่ายจากต่างประเทศมาฉายดู แล้วเขียนบทให้เรื่องที่จะถ่ายใหม่กลมกลืนกับเรื่องที่ถ่ายมา จนเป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายในโรงได้ ทั้งยังได้รับความสนใจจากคนดูอย่างมากมาย ถือว่าเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ไปถ่ายทำในต่างประเทศหลายเมืองจนถึงยุโรป
ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ “แก่นกลาสี” ของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง เข้าฉายที่ศาลาเฉลิมกรุงและเฉลิมบุรีเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๗๙ และเป็นหนังทำเงินเรื่องหนึ่ง
เนื้อเรื่องย่อของ “แก่นกลาสี” มีว่า จ่าโทว่อง นักเรียนใหม่ของโรงเรียนชุมพลทหารเรือ มีเรื่องเขม่นไม่ถูกชะตากับจ่าโทเอื้อม ทั้งสองมีเรื่องชกต่อยกันเป็นประจำ ต่างคนต่างไม่ทราบว่ากำลังจีบผู้หญิงคนเดียวกัน คือ ศรีสวาท ต่อมาทั้งสองได้รับคัดเลือกให้ไปปฏิบัติราชการรับเรือตอร์ปิโดลำใหม่ที่อิตาลี ระหว่างเดินทางจ่าโทเอื้อมประสบอุบัติเหตุ ทั้งสองจึงเลิกทะเลาะกันตั้งแต่นั้นมา และต่างเปิดใจต่อกันเรื่องคนรัก ทำให้รู้ว่ารักผู้หญิงคนเดียวกัน จ่าโทว่องจึงขอเป็นฝ่ายเสียสละให้เพื่อน แต่ขณะขึ้นแวะตามเมืองท่าต่างๆนั้น จ่าโทเอื้อมสนุกกับการจีบแหม่มสาวไปทุกเมือง จ่าโทว่องจึงแอบถ่ายรูปไว้แล้วส่งมาให้ศรีสวาท เมื่อศรีสวาทเห็นรูปบาดตาบาดใจจึงหันไปหา เสี่ยเซ้ง ที่พี่ชายแนะนำ เมื่อลูกนาวีทั้งสองกลับมาถึงเมืองไทย ต่างก็ตรงไปหาศรีสวาท แล้วก็รู้ความจริงว่าแห้วด้วยกันทั้งคู่
ส่วนภาพยนตร์บันทึกการเดินทางไปรับเรือตอร์ปิโดทั้ง ๒ ลำ ซึ่งมีความยาว ๗๙.๔๗ นาทีนั้น ก็ได้นำออกฉายในโรงภาพยนตร์ให้ประชาชนชมด้วย ขณะนี้เก็บรักษาไว้อย่างดีที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ