xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อรัฐบาลใช้งบประมาณแผ่นดินสร้างหนังไทย!! “เลือดทหารไทย” “บ้านไร่นาเรา”!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค



เมื่อ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพศาตร์ศุภกิจ ทรงนำกล้องถ่ายภาพยนตร์เข้ามาในเมืองไทย เป็นกล้องแรกใน พ.ศ.๒๔๔๐ คราวตามเสด็จรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก การถ่ายภาพยนตร์ก็ได้รับความนิยมและเป็นของเล่นใหม่ในกลุ่มของคนมีเงินในสังคมชั้นสูง
พอถึง พ.ศ.๒๔๖๕ สมัยรัชกาลที่ ๖ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ซึ่งเป็นนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นพระองค์หนึ่ง ทรงเห็นความสำคัญของภาพยนตร์ที่จะใช้เป็นสื่อในการโฆษณา จึงทรงจัดตั้ง “กองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าว” ขึ้นในกรมรถไฟหลวง ทำหน้าที่ผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์ข่าวของรัฐบาล ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟ และรับถ่ายภาพยนตร์ให้บุคคลทั่วไป

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กองภาพยนตร์ฯของกรมรถไฟหลวงลดบทบาทลง รัฐบาลระบอบประชาธิปไตยได้จัดตั้งสำนักงานโฆษณาการขึ้น และต่อมายกฐานะขึ้นเป็นกรมโฆษณาการ ซึ่งก็คือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน โดยดึง หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) หัวหน้าช่างถ่ายภาพยนตร์ของกรมรถไฟหลวง ซึ่งได้ลาออกแล้ว มาเป็นหัวหน้าสำนักงาน

ใน พ.ศ.๒๔๗๗ นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เสนอคณะรัฐมนตรีขอให้สำนักงานโฆษณาการสร้างภาพยนตร์ให้กระทรวงกลาโหมเรื่องหนึ่ง เพื่อโฆษณาให้ประชาชนนิยมในกิจการของของทหาร ครม.อนุมัติ

ภาพยนตร์ที่สร้างในโครงการนี้ก็คือ “เลือดทหารไทย” ซึ่งท่านรัฐมนตรีกลาโหมวางพล็อตเรื่องด้วยตนเอง มอบให้ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) เขียนบทภาพยนตร์และกำกับการแสดง หลวงกลการเจนจิต ถ่ายภาพ พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) แต่งดนตรีประกอบ นำแสดงโดย ร้อยเอก ม.ล.ขาบ กุญชร และนางสาวจำรุ กรรณสูต โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงของพี่น้องตระกูลวสุวัต ผู้สร้างภาพยนตร์เสียงในฟิล์มสำเร็จเป็นรายแรกมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๓ และได้สร้างภาพยนตร์เรื่องยาวเสียงในฟิล์มเรื่อง “หลงทาง” ออกฉายเป็นเรื่องแรกใน พ.ศ.๒๔๗๕

“เลือดทหารไทย” เป็นภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ในยุคนั้น ใช้งบประมาณการถ่ายทำสูงเป็นประวัติการณ์ถึง ๑๐,๐๐๐ บาท มี ๓ เหล่าทัพให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ มีทั้งปืนใหญ่ เรือรบ เรือดำน้ำ เครื่องบิน เข้าฉาก และจบลงด้วยฉากสวนสนามฉลองชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ ใช้เวลาถ่ายทำ ๓ เดือนเสร็จ เข้าฉายที่ศาลาเฉลิมกรุงและเฉลิมบุรีเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๔๗๘ และนำไปฉายต่อที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร และควีนส์ด้วย ซึ่งแสดงว่าได้รับการต้อนรับจากคนดูอย่างมาก

ในภาพยนตร์เรื่องนี้มีเพลงเอกคือ “กุหลาบในมือเธอ” ซึ่งขึ้นต้นว่า “ใจพี่หายวาบ เมื่อเห็นกุหลาบ กลีบกระจาย...” กลายเป็นเพลงฮิตข้ามยุคอยู่นาน

ต่อมานายพันเอกหลวงพิบูลสงครามขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนยศทางทหารก็ก้าวกระโดดขึ้นเป็น จอมพล ป.พิบูลสงคราม และเป็นวีรบุรุษของชาติจากการทำสงครามกับฝรั่งเศสในอินโดจีน สามารถทวงดินแดนในลาวและเขมรที่เสียไปในสมัยรัชกาลที่ ๕ คืนมาได้ ท่านนายกรัฐมนตรีพยายามจะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยให้เท่าเทียมกับอารยะประเทศ บังคับให้เลิกกินหมาก นำเสื้อเชิร์ตและกางเกงฝรั่งมาแทนผ้าม่วง ให้ใส่หมวกออกจากบ้าน โดยมีคำขวัญ “มาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ” ปลุกเร้าประชาชนด้วยคำขวัญ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย”

ท่านผู้นำคงจะคาดการณ์ว่าเมืองไทยไม่อาจหนีภาวะสงครามที่คุกรุ่นอยู่ในยุโรปได้ จึงรณรงค์ให้ทุกบ้านทำสวนครัวไว้กิน และส่งเสริมการกสิกรรม โดยแต่งเพลงเร้าใจกระหึ่มเมืองว่า “กสิกรแข็งขันเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ไทยจะเรืองอำนาจก็เพราะไทยเป็นชาติกสิกรรม...”

ใน พ.ศ.๒๔๘๔ ท่านผู้นำจึงวางพล็อตภาพยนตร์อีกเรื่อง มอบให้ขุนวิจิตรมาตรานำไปเขียนเป็นบทภาพยนตร์เช่นเคย ให้ชื่อเรื่องว่า “บ้านไร่นาเรา” ปลุกเร้าให้ทำอาชีพกสิกรรม แต่ก็ไม่ทิ้งการโน้มน้าวให้นิยมทหารด้วย พ่อของพระเอกจึงอาสาไปรบชิงดินแดนคืนในสงครามอินโดจีน เมื่อบาดเจ็บกลับมาก็ยึดอาชีพกสิกรตามเดิม และปลูกฝังต่อไปจนถึงรุ่นลูก

“บ้านไร่นาเรา” นอกจากจะชักชวนให้กสิกรรวมตัวกันเป็นสหกรณ์เพื่อต่อสู้กับพ่อค้าคนกลางที่เอารัดเอาเปรียบแล้ว ยังพยายามยกฐานะของชาวนาให้เป็นชาวนาวัฒนา ไม่ได้นุ่งกางเกงครึ่งน่อง สวมงอบลุยโคลนด้วยเท้าเปล่าแบบชาวนาทั่วไป แต่ใส่เสื้อเชิร์ต นุ่งกางเกงขายาวมีเอี๊ยมปิดอก และสวมบู๊ทแบบชาวไร่ตะวันตก ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า “เว่อร์ไปหน่อย” แต่ถ้าเชื่อท่านผู้นำใส่บู๊ทดำนากันมาตั้งแต่สมัยนั้น ก็คงพ้นภัยจากโรคฉี่หนูและหอยเชอรี่บาด ที่ต้องมารณรงค์ให้ใส่กันในยุคต่อมา

“บ้านไร่นาเรา” สร้างโดยทีมงานเดิมของ “เลือดทหารไทย” นำแสดงโดย เรืออากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ และนางสาวอารี ปิ่นแสง อดีตนางงามลำปางและรองนางสาวสยามปี ๒๔๘๓ ซึ่งต่อมาก็คือ คุณหญิงอารี จุลละทรัพย์ อันเป็นผลมาจาก “บ้านไร่นาเรา” แต่ผู้รับผิดชอบในการสร้างคือกองทัพอากาศ ซึ่งได้ตั้งกองภาพยนตร์ทหารอากาศขึ้นมา และได้ซื้อโรงถ่ายของบริษัทไทยฟิล์มที่ทุ่งมหาเมฆมาเป็นโรงถ่ายทหารอากาศ
เพลงเอกในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือเพลง“บ้านไร่นาเรา” ก็เป็นเพลงที่ดังข้ามยุคเหมือน “กุหลาบในมือเธอ” จนมีผู้นำ “บ้านไร่นาเรา” มาสร้างใหม่อีกครั้งในยุคหลังนี้
“บ้านไร่นาเรา” เข้าฉายในเดือนเมษายน ๒๔๘๕ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ และถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่สร้างโดยรัฐบาล จากงบราชการแผ่นดิน เพื่อเป็นสื่อในการโฆษณาประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐบาล

เมื่อสงครามเกิดขึ้นตามที่ “ท่านผู้นำ” คาด คนที่ทำตามนโยบายของรัฐบาล ปลูกผักทำสวนครัวไว้ ก็พออยู่ดีมีกินกว่าคนอื่น เพราะตอนนั้นของกินของใช้อัตคัตไปเสียทุกอย่าง ถึงมีเงินบางอย่างก็หาซื้อไม่ได้ ของจากนอกไม่มีเข้ามาแล้ว ของผลิตในไทยไมว่าอะไร ญี่ปุ่นก็กว้านซื้อเอาไปเลี้ยงกองทัพและส่งไปเลี้ยงคนในญี่ปุ่นด้วย สินค้าไทยขายดี ขายได้ราคาแพงกว่าราคาตลาดเสียด้วย ยอมอดเอาหน่อยก็พอรับได้ แต่หน่อยแน่ะ...เล่นพิมพ์แบงค์ไทยเอง เอามากว้านซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า คนไทยก็ได้แต่มองตาปริบๆ

ฉากหนึ่งของ “เลือดทหารไทย”

พล.อ.อ.ทวี และคุณหญิงอารี ในบทคู่พระคู่นาง “บ้านไร่นาเรา”

งานรำลึกอดีต “บ้านไร่นาเรา” ที่ลำปาง
กำลังโหลดความคิดเห็น