นักลงทุนรุ่นใหม่ ประเมินการระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจทั่วโลกและประเทศไทย นักลงทุนลังเลรอดูตัวเลขความเสียหาย และมาตรการพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน ตลาดการลงทุนทั่วโลกและหุ้นไทยปรับขึ้นแค่ช่วงสั้น แนะรอประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/63 ที่จะสะท้อนทิศทางการลงทุน แต่คาดหุ้นกลุ่มสื่อสาร ประกันและอาหาร มีโอกาสที่จะ Outperform ตลาดได้
นายณพวีร์ พุกกะมาน ผู้บริหารส่วนภูมิภาค จีเอ็มไอ เอดจ์ กลุ่มสถาบันการเงินจากประเทศอังกฤษและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ ประเมินการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจทั่วโลกและประเทศไทย นักลงทุนลังเลรอความชัดเจนหลังประกาศผลประกอบการในไตรมาส 2/63 แม้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) สัปดาห์นี้จะปรับตัวขึ้นแรงตามตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งเริ่มมีการรายงานมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวยืนเหนือ 1,200 จุด หากนับตั้งแต่ลงไปทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 966 จุด ถือว่าฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว 25%
อย่างไรก็ตามการปรับตัวขึ้นที่ผ่านมาอาจจะยังไม่ใช่สัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เนื่องจากวิกฤตรอบนี้ส่งผลกระทบไปยังภาคธุรกิจจริง (Real Sector) ต่างจากวิกฤตซับไพร์มรอบที่แล้วที่กระทบเพียงแค่ภาคการเงินและไทยเป็นผู้ได้ผลกระทบข้างเคียง แต่วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทยเข้าอย่างจัง ในเรื่องของการท่องเที่ยว ตัวเลขจากสภาการเดินทางและท่องเที่ยวโลก ระบุว่าประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้จากภาคการท่องเที่ยวเทียบต่อจีดีพีสูงถึงระดับ 22% ซึ่งสูงที่สุดในโลก รองลงมาคือฟิลิปปินส์ที่ 21% และเม็กซิโก 16% ตามด้วยสเปนและอิตาลี
“อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีสัดส่วนถึงเกือบหนึ่งในสี่ของจีดีพีไทยและวิกฤตรอบนี้ได้ทำลายอุตสาหกรรมนี้อย่างชัดเจน แม้ตอนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตทั่วโลกจะมีแนวโน้มลดลงแต่ยังไม่สามารถ ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจนและยังไม่รู้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นกลับมาได้เมื่อไหร่”
ข้อสังเกตสำคัญทางสถิติของตลาดหุ้นไทย คือวิกฤตครั้งก่อนๆ ทั้งต้มยำกุ้งและซับไพร์ม ค่า P/BV ของ SET Index จะลงมาทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 0.75 แต่รอบนี้ยังลงมาไม่ถึงทั้งที่ระดับความเสียหายทางเศรษฐกิจมีความรุนแรงมากกว่า ภาพรวมของดัชนี SET Index ณ ตอนนี้ยังไม่สะท้อน “ความเสียหาย” ที่แท้จริง ซึ่งเกิดจากไวรัสโควิด-19 แม้ผลประกอบการไตรมาส 1/63 ที่ออกมาก็ยังไม่สะท้อนความจริง เพราะผลกระทบเริ่มเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2563 และในไตรมาสแรกบันทึกความเสียหายที่เพิ่งเริ่มในเดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียว
“แนะนำให้รอผลประกอบการไตรมาสสอง ซึ่งครอบคลุมเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงก่อนค่อยตัดสินใจลงทุน เพราะคาดว่าน่าจะมีการปรับลดกำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดหุ้นไทย ลงจากผลประกอบการที่แย่ลง ทำให้ดัชนีในตอนนี้อาจจะ “แพง” ก็เป็นได้”
หากดูกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงแรงในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่าเป็นกลุ่มพลังงาน ธนาคารพาณิชย์และขนส่ง ซึ่งต่างเป็นเซ็กเตอร์ที่มีน้ำหนักเกินกว่าครึ่งหนึ่งของดัชนี SET Index และยังมีปัจจัยเสี่ยงรออยู่ข้างหน้าอีก เช่น สงครามราคาน้ำมัน หนี้เสียที่เกิดจากการผิดนัดชำระหนี้
ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะปรับตัวมากกว่าดัชนีตลาด (Outperform) น่าจะเป็นกลุ่มสื่อสาร เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากปริมาณการใช้ระบบข้อมูล (Data) ที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากกระแสการปรับพฤติกรรมการทำงานแบบ Work From Home เพื่อช่วยหยุดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเมื่อวิเคราะห์โอกาสทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมีความเป็นไปได้สูงที่พฤติกรรมในอนาคตผู้คนจะคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตกับโลกออนไลน์มากขึ้น
กลุ่มประกัน จากข่าวล่าสุดที่ออกมาจากสำนักงาน คปภ. พบว่าคนไทยแห่ซื้อประกันภัยโควิด จำนวนกว่า 7.1 ล้านฉบับ ภายในระยะเวลาสองเดือน หากไม่มีการเคลมประกันเกิดขึ้นจำนวนมหาศาล จะทำให้ผลประกอบการของหุ้นกลุ่มนี้เติบโตขึ้น และจากเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดนี้น่าจะทำให้คนไทยมองเห็นว่าการทำประกันมีความสำคัญกับชีวิตมากขึ้น แต่อาจจะมีปัจจัยเสี่ยงจากพอร์ตการลงทุนที่จะต้องนำไปลงทุนต่อในสภาวะที่ตลาดการเงินผันผวนสูงรวมถึงแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง
กลุ่มอาหาร อาหารก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นเสมอ โดยเฉพาะยิ่งในภาวะวิกฤตแบบนี้ความต้องการอาหารยิ่งมีเพิ่มขึ้น ทั้งผู้ผลิตอาหารสดและอาหารสำเร็จรูป
นายณพวีร์ เน้นย้ำว่า ในช่วงเวลานี้ คือจังหวะที่ต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดและที่สำคัญ “อย่าใจร้อน” ไล่ซื้อหุ้น เพราะหมอกควันของวิกฤตยังไม่จางลง ยังไม่เห็นทางข้างหน้าว่ามีอุปสรรคอะไรรออยู่ ไม่จำเป็นต้องเล่นซื้อหุ้นจนหมดพอร์ตในตอนนี้
“หลังวิกฤตจบลงทุกครั้งจะเกิดเศรษฐีใหม่ ครั้งนี้ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น”