ความผันผวนของตลาดหุ้นไทยที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยมีต้นเหตุสำคัญคือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 นั้น ถือว่าสร้างผลกระทบอย่างมากต่อบรรยากาศการลงทุนในช่วงเวลานี้ โดยดัชนีหุ้นไทยในวันแรกของปี (3 ม.ค. 2563) ที่ระดับ 1,595.82 จุด แต่ปัจจุบันดัชนีหลักทรัพย์ลดลงไปแล้วกว่า 450 จุด จึงทำให้นักลงทุนหลายรายเลือกที่จะลดการลงทุน และถือครองเงินสดมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตย่อมมีโอกาส และการลดลงของดัชนีหลักทรัพย์ รวมถึงราคาหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพหลายบริษัท ทำให้หลายต่อหลายคนมองว่าเป็นโอกาสต่อการลงทุนเพื่อรอสร้างผลตอบแทนเมื่อดัชนีรีบาวนด์ขึ้น ทว่า ยังมีนักลงทุนบางรายไม่ทราบว่าจะแบ่งสัดส่วนการลงทุนในภาวการณ์ช่วงนี้อย่างไรให้เหมาะสม และช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้
“วิลาสินี บุญมาสูงทรง” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยว่ายังคงแกว่งตัวผันผวนจากแรงกดดันหลักๆ คือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ Covid-19 ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดสหรัฐฯ ได้แซงหน้าจีนและอิตาลีขึ้นเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดแล้ว และจากยอดผู้เสียชีวิตสูงขึ้นทั่วโลกส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทุกประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินความเสียหายล่าสุดว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อาจรุนแรงกว่าวิกฤตการเงินปี 2008-2009 หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (ซับไพรม์) และจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2021ประกอบกับราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับตัวลงต่อเนื่องจนหลุดระดับ 21 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่งผลลบเชิงจิตวิทยาต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน จึงคาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,050-1,150 จุด
“หากพิจารณาสถานการณ์ตอนนี้หลายๆ ฝ่ายต่างออกมาช่วยกอบกู้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างเร่งด่วนมากขึ้น พร้อมทั้งการออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ ขณะที่ บลจ.เตรียมเปิดขายกองทุน SSF วงเงินพิเศษ มีกำหนดระยะเวลาลงทุน 3 เดือน ระหว่าง 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 63 พร้อมกันวันแรก 1 เม.ย. เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวเน้นลงทุนหุ้นไทย และทาง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางการออก พ.ร.ก.กู้เงินกว่า 2 แสนล้านบาทนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเร่งจัดทำมาตรการระยะ 3 หลังประกาศมาตรการระยะ 2 แล้ว ซึ่งหากเม็ดเงินกระตุ้นต่างๆ เข้าสู่ระบบได้รวดเร็วก็จะสามารถพยุงเศรษฐกิจได้”
ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์การลงทุน บล.โกลเบล็กแนะนำว่ากระจายการลงทุนในการถือเงินสดหรือเงินฝากระยะสั้นในสัดส่วน 75% ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ 10% และอีก 15% เลือกทยอยสะสมหุ้นได้ประโยชน์จากการส่งเสริมการทำงานที่บ้าน เช่น ADVANC, INTUCH, DTAC, TRUE, JAS, JASIF ,DIF, COM7, SIS และ SYNEX รวมทั้งหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการ Lockdown เช่น MAKRO, BJC, CPALL,TU และ TFM
บล.ทรีนีตี้แนะลงทุน 5 กลุ่ม
“ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนในเดือนเมษายน 2563 ว่าจะมีสภาพคล่องส่วนเพิ่มในประเทศเกิดขึ้นใหม่จากโครงการซื้อหุ้นคืนของ บจ.กว่า 20 แห่ง และการเริ่มขายกองทุน SSF ประเภทพิเศษหรือ SSF-X คาดว่าจะมีเม็ดเงินราว 2 หมื่นล้านบาทไหลเข้าสู่กองทุน SSF-X ในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีจะมีแนวต้านสำคัญอยู่ 2 บริเวณ ได้แก่ 1,130-1,140 จุด และ1,220 จุด โดยในสถานการณ์แบบนี้ยังคงแนะนำให้นักลงทุน Selective การถือครองไปยังหุ้นแนะนำ ขณะเดียวกันถ้าดัชนีขึ้นไปแตะแนวต้านแรกที่ 1,130-1,140 จุด แนะนำขายหุ้นออกมาบางส่วน และหากยังเดินหน้าไปต่อถึงระดับ 1,220 จุด แนะนำเป็นจุดขายหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“มองว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาสที่ 1 ที่ 970 จุด แต่ต้องอยู่บนสมมติฐานที่ว่าเศรษฐกิจไทยนั้นจะปรับตัวทำจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ เนื่องจากโดยปกติแล้วดัชนีหุ้นไทยมักปรับตัวชี้นำเศรษฐกิจและกำไรของ บจ.อยู่ประมาณ 1 ไตรมาส มองการประกาศเคอร์ฟิวหากเกิดขึ้นจริงจะเป็นผลบวกต่อ SET เนื่องจากจะเป็นการช่วยร่นระยะเวลาจุดสูงสุดของปัญหาให้ใกล้เข้ามายิ่งขึ้น” นายณัฐชาตกล่าว
สำหรับธีมการลงทุนแนะนำในเดือนเมษายนนั้นยังคงโฟกัสไปที่ 5 กลุ่มการลงทุน 1. กลุ่มโรงไฟฟ้า ที่ Valuation เริ่มลดความร้อนแรงลงและยังมีความน่าสนใจจากฐานรายได้ที่สม่ำเสมอและปันผลดี ได้แก่ BGRIM GPSC GULF EGCO RATCH 2. กลุ่มสื่อสาร ที่มีอัตราเงินปันผลสูง มีความผันผวนต่ำและยังได้รับประโยชน์จากปริมาณการใช้ Data ที่สูงขึ้นจากการทำงานที่บ้าน เช่น ADVANC และ INTUCH 3. กลุ่ม Consumer staple ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตประจำวันและได้ประโยชน์จากการเร่งกักตุนสินค้าของประชาชน รวมถึงมาตรการเพิ่มเงินในกระเป๋าจากทางรัฐบาลและ ธปท. คือ MAKRO และ BJC 4. กลุ่มบริหารสินทรัพย์ ที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยลดลงทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลง และมีโอกาสซื้อหนี้ในราคาถูกในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว คือ BAM และ 5. กลุ่มอาหารที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า การบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และการ Turn around ของกำไร คือ CPF และ TU
“เคทีบี” แนะพิจารณาหุ้น Big cap
“วิน อุดมรัชตวนิชย์” ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีแรกยังถูกรุมเร้าจากความไม่แน่นอนของวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส Covid-19 ลุกลามไปหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก จึงปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในช่วงครึ่งปีแรกเป็นติดลบ 4-8% เป็นปัจจัยหลักบั่นทอนตัวเลขกำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้ต่ำกว่าประมาณการเดิม ล่าสุดหั่นกำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดหุ้นไทยปีนี้เหลือ 75 บาทต่อหุ้น ลดลงราว 15-20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ภายใต้สมมติฐานดังกล่าวระดับดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) เหมาะสมลดลงมาเหลือ 1,280 จุด แต่สิ่งที่ทำให้ดัชนีฯ ลงลึกมากกว่าปกติคือแรงขาย Forced sell บัญชีเทรดมาร์จิ้นโลน นอกจากนั้น แรงซื้อกลับค่อนข้างเบาบางภายใต้ความกังวล กับสภาพคล่องเงินหมุนเวียนในตลาดลดลงจากความไม่เชื่อมั่นในแนวโน้มเศรษฐกิจโลกระยะถัดไป
ดังนั้น ช่วงนี้ แนะนำปรับพอร์ตลงทุนใหม่โดยเพิ่มน้ำหนักในสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดหุ้นมากขึ้น โดยระดับดัชนีฯ ที่เหมาะสมคือเมื่อต่ำกว่า 1,100 จุด นักลงทุนระยะยาวที่มีเงินสดสามารถ "ทยอยซื้อสะสม" แต่ต้องระมัดระวังการลงทุนใน Sector ที่มีความเสี่ยงต่อเนื่องจากผลกระทบวิกฤตโควิด-19 โดยกลยุทธ์การเลือกลงทุนในหุ้นควร "หลีกเลี่ยงซื้อสะสม" หุ้นที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤต Covid-19 ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว, กลุ่มอิงกับการใช้จ่าย-ชอปปิ้ง, กลุ่มธุรกิจโรงแรม และกลุ่มธุรกิจขนส่ง ส่วนหุ้น Big cap ที่นอกเหนือจากกลุ่มเสี่ยง แนะนำ "ทยอยซื้อสะสม" แต่ต้องใช้ความระมัดระวังความถูกและแพงเป็นสำคัญ ซึ่งอาจใช้แนวทางวัด Valuation คือหุ้นต้องต่ำกว่า 0.7 เท่าของ book value ถ้าหากสูงกว่า book value อาจมองว่าแพงเกินไป
ขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ ยังคงน้ำหนักเชิงบวกท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าเศรษฐกิจโลก แต่ระยะสั้นเพดานการปรับขึ้นอาจมีกรอบจำกัด ประเมินกรอบด้านบนไว้ที่ 1,700-1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนการลงทุนตราสารหนี้ยังไม่แนะนำให้ลงทุน หรือถ้าต้องการลงทุนก็ควรเลือกเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) หรือพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) ที่มีความปลอดภัยมากกว่า
บล.กรุงไทยฯ มองตลาดหุ้นขาลง แนะหุ้นปลอดภัย
นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงไทย ซีมิโก้ หรือ บล.กรุงไทยฯ ได้ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้ไว้ว่า ดัชนี SET จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 747-1,017 จุด อิงระดับ PER 11-15 เท่า โดยกรณี Base Case อยู่ที่ 884 จุด อิง 2020E EPS ที่ 67.90 บาท -20.5% ซึ่งต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับประมาณการ Bloomberg Consensus EPS ที่ 92.9 บาท +8.7% เป็นผลจากที่ บล.กรุงไทยฯ คาดว่าผลกำไรกลุ่มอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว กลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร จะถูกปรับลดประมาณการกำไรลงอย่างมีนัยสำคัญ หลัง บล.กรุงไทยฯ ปรับลดเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็น -4.6% (VS ธปท. -5.3%) ส่วนการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยจะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ให้เข้าสู่ภาวะควบคุมได้ ซึ่งเราคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ภายในกลางปีนี้ และต้องใช้เวลาอีก 3-6 เดือนสำหรับการกลับสู่ภาวะปกติ รวมถึงภาคการผลิตจีนสามารถกลับสู่ภาวะการผลิตปกติได้เร็วเพียงใด และความรวดเร็วในการออกมาตรการด้านการเงินและการคลังจำนวนมหาศาลของทุกประเทศทั่วโลก
สำหรับพอร์ตลงทุน บล.กรุงไทยฯ แนะนำกลุ่ม บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้า อย่าง GPSC, EGCO, RATCH จากรายได้ที่มีความแน่นอนและจ่ายปันผลได้ต่อเนื่อง กลุ่มบริษัทที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอ ด้วยยิลด์ปันผลสูงกว่า 5% เช่น DIF, JASIF, INTUCH, TISCO กลุ่มบริษัทที่ได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐบาล คือ CK, STEC, AIT, ADVANC, CPF และกลุ่มบริษัทที่จะฟื้นตัวได้เร็วหากเศรษฐกิจกลับคืนสู่ภาวะปกติ อย่าง MTC ,SAWAD
นอกจากนี้ ยังมองว่าดัชนี SET ในไตรมาส 2 ยังคงมีความเสี่ยงที่จะอ่อนตัวลง หลังดัชนียังไร้สัญญาณบวก หรือการกลับตัวที่ชัดเจน ที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงการรีบาวนด์สลับเข้ามา แต่ก็มีมุมมองบวกต่อแนวรับบริเวณ 1,010 / 969-950 และ 903 จุด เพราะคาดว่าดัชนีอาจสามารถสร้างฐานบริเวณดังกล่าวได้ หลังจากช่วงที่ผ่านมาดัชนีพยายามเด้งตัวขึ้นมาเคลื่อนไหวในระดับ 1,100 จุด และมักจะเด้งตัวกลับขึ้นมาเร็วจากบริเวณ 1,010 จุด รวมถึงที่บริเวณดังกล่าวดัชนีปรับตัวลงราว 45% จาก 1,852 จุด ดังนั้นการปรับตัวลงต่อก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสการรีบาวนด์รอบใหญ่ได้ ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,120 และ 1,219 จุด โดยเฉพาะการผ่าน 1,219 จุดไปได้ ดัชนีก็น่าจะกลับขึ้นมาเคลื่อนไหวในกรอบ 1,300-1,400 จุดอีกครั้ง
ส่วนการลงทุนในตลาดสินค้า TFEX หรือตราสารอนุพันธ์ แนะนำ ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ที่มีความน่าสนใจในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยมีกรอบการเคลื่อนไหวทางเทคนิคอยู่ที่บริเวณ 1,400-1,750 ดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะมีความผันผวน แต่ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อยู่ โดยมีเป้าหมายสำคัญในไตรมาส 2 อยู่ที่บริเวณ 1,750 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ราคาทองคำมีการปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง ขึ้นไปทดสอบที่ 1,700 ดอลลาร์สหรัฐ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกในตอนนี้ และกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้มีการชะลอตัวแรง ดังนั้น ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ที่มีความน่าสนใจอยู่สำหรับนักลงทุน และยังน่าที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีได้ ตามแรงหนุนจากความต้องการทองคำที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และธนาคารกลางทั่วโลกต่างพร้อมใจกันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
“เอเซีย พลัส” แนะหุ้นรับอานิสงส์กระตุ้นเศรษฐกิจ
“เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ความผันผวนยังมีต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสที่จะฟื้นตัวขึ้นมาบริเวณ 1,300 จุด อย่างไรก็ตามยังมีความกังวลเรื่องการระบาดของ Covid-19 ซึ่งมีการระบาดไปหลายประเทศทั่วโลกจะเป็นตัวบั่นทอนภาวะเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ และคาดว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อไปจนถึงครึ่งปี 2563
ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ให้นักลงทุนกระจายการลงทุน โดย 45% ถือเป็นเงินสดหรือลงทุนในตราสารหนี้ อีก 35% ลงทุนในหุ้นไทยใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเงินปันผลสูง เช่น INTUCH, DIF, LH กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น CPALL, JMART กลุ่มธุรกิจผูกขาด เช่น AOT ส่วนอีก 10% ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ และอีก 10% ลงทุนในอนุพันธ์กึ่งทุน กึ่งหนี้
โดยสรุป จากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น นักวิเคราะห์ยังคงให้น้ำหนักลงทุนในหุ้นไทย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์แบบนี้จำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนการถือครองเงินสดควบคู่ไปโดย โดย กลุ่มหุ้นที่แนะนำลงทุนจะเป็นหุ้นบลูชิพขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ เพราะจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ได้มากกว่าบริษัททั่วไป ขณะที่กลุ่มถัดมาคือหุ้นที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และความต้องการบริโภคของภาคประชาชน ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังเป็นกลุ่มที่ถูกแนะนำเลี่ยงการลงทุน
อย่างไรก็ดี ล่าสุดหลังจากมติ ครม.ที่เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 เฟส 3 วงเงินรวมกว่า 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งส่งผลให้มีแรงซื้อกระจายเข้ามา เก็งกำไรในหุ้นหลายกลุ่ม โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มพลังงาน, น้ำมัน ,ปิโตรเคมี ,โรงไฟฟ้า และกลุ่มธนาคาร ที่มีแรงซื้อเข้ามากันอย่างคึกคัก สอดคล้องกับตลาดหุ้นทั่วโลก หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มชะลอ
ทั้งนี้ เมื่อเห็นตลาดหุ้นทั่วโลกพากันปรับตัวโงหัวขึ้น และนั่นทำให้เป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการเรียก ความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาแล้ว ก็อาจยังเป็นที่กังขา เพราะแม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มดีขึ้น แต่อย่าลืมว่าไวรัสนี่หรือจะจบลงง่ายๆ เช่นเดียวกับสภาวะตลาดหุ้นที่ยากต่อการคาดเดา เพราะของแท้คือเศรษฐกิจทั่วโลกต่างหาก ที่จะเป็นเครื่องชี้วัดว่าตลาดหุ้นเข้าการเป็นหมีหลับหรือกระทิงดุ เช่นนั้นแล้ว นักลงทุนเองควรใช้ความระมัดระวังในการลงทุน เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง ซึ่งยังเป็นคำที่ต้องท่องจำให้ขึ้นใจ !!!!!
สภาวะปัจจุบัน จำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนการถือครองเงินสดหรือเงินฝากระยะสั้น แบ่งลงทุนตราสารหนี้ควบคู่ไป ส่วนหุ้นให้เลือกบลูชิพขนาดใหญ่อย่างหุ้นพลังงานที่ราคาต่ำลงมาก และขาดไม่ได้คือหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลจากมาตรการของรัฐ อย่างกลุ่มค้าปลีกซึ่งได้ประโยชน์จากการส่งเสริมการทำงานที่บ้าน ส่วนหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแนะนำเลี่ยงลงทุน