xs
xsm
sm
md
lg

บล.โกลเบล็กมองทิศทาง SET ยังผันผวนทางลง รับแรงกดดันการระบาดไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



GLOBLEX มองทิศทาง SET ยังผันผวนทางลง ให้กรอบ 970-1,100 จุด รับแรงกดดันการระบาดไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น แนะทยอยสะสมหุ้นที่ได้ประโยชน์หากประกาศแพร่ระบาดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้น เช่น MAKRO, BJC และ CPALL รองลงมาหุ้น High Dividend Yield เช่น KKP, TISCO และ INTUCH และแนะนำเก็งกำไรหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการคาดการณ์ กนง.ลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดต้นทุนการเงิน เช่น BAM, MTC, BFIT และ AMANAH

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก (GLOBLEX) ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวนในทิศทางขาลง โดยนักลงทุนวิตกกังวลว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในโซนยุโรปและอเมริกามีหลายประเทศประกาศภาวะฉุกเฉิน สำหรับในประเทศไทยมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแบบเป็นกลุ่มและต่างจับตาว่าอาจมีประกาศว่าการระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 ในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ตลาดยังมีความกังวลหากมีการแพร่ระบาดมากขึ้นจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมากกว่าคาด ภายหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินลงสู่ระดับ 0.00-0.25% เทียบเท่ากับอัตราดอกเบี้ยในช่วงวิกฤตปี 51 พร้อมกับอัดฉีดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทั่วโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย จึงให้กรอบดัชนีแกว่งตัวในระดับ 970-1,100 จุด

นอกจากนี้ยังคงต้องจับตาในวันที่ 18 มี.ค. จะมีการประกาศตัวเลขความเชื่อมั่นของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอดการผลิตและส่งออกรถยนต์ รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ขณะเดียวกันทางสหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผยดุลการค้าเดือน ม.ค. ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ก.พ. และสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้าง และสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ ส่วนวันที่ 19 มี.ค. สหรัฐฯ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีการผลิตเดือน มี.ค. และดุลบัญชีเดินสะพัดไตรมาส 4/62 และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ก.พ. และวันที่ 20 มี.ค. จีนเปิดเผยธนาคารกลางจีนกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ประจำเดือน มี.ค. ซึ่งจะบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจมีการเติบโตไปในทิศทางใด

สำหรับสถานการณ์ด้านบวก ไม่ว่าจะเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ครั้งต่อไปเตรียมพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมเน้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แพร่ระบาดในระยะยาว เช่น ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจโลจิสติกส์ หรือหน่วยงานทั้งในตลาดเงิน-ตลาดทุนเร่งระดมมาตรการเสริมเพื่อลดความผันผวนและเสริมสภาพคล่อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เร่งออกเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองพิเศษสำหรับลงทุนระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปรับเกณฑ์ขายชอร์ตชั่วคราวจนถึงเดือน มิ.ย. สนับสนุนบริษัทจดทะเบียนซื้อหุ้นคืน มองว่ายังคงต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ซึ่งไม่อาจจะเห็นผลได้ในเร็วๆ นี้

นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก แนะนำว่าทยอยสะสมหุ้นที่ได้ประโยชน์หากประกาศแพร่ระบาดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้น เช่น MAKRO, BJC และ CPALL รองลงมาหุ้น High Dividend Yield เช่น KKP, TISCO และ INTUCH และแนะนำเก็งกำไรหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการคาดการณ์คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดต้นทุนการเงิน เช่น BAM, MTC, BFIT และ AMANAH

ส่วนราคาทองคำ คาดว่าสัปดาห์นี้ถูกกดดันจากแรงขายในทุกสินทรัพย์ เนื่องจากนักลงทุนต้องการถือเงินสดในช่วงเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ก็ตามแต่ราคาทองคำกลับตอบสนองเชิงบวกเพียง 1-2% ซึ่งต่างจากครั้งก่อนๆ เป็นสัญญาณของการจบรอบในราคาทองคำ นอกจากนี้ กองทุน SPDR เริ่มทยอยขายต่อเนื่องกว่า 32 ตัน จากที่ก่อนหน้านี้มีการเข้าซื้ออย่างต่อเนื่องกว่า 68 ตัน มองกรอบราคาทองคำในสัปดาห์นี้ที่ 1,480-1,550 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ หรือเท่ากับ 22,500-23,670 บาทต่อบาททองคำ


กำลังโหลดความคิดเห็น