xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยหลุดโคม่า! กองทุนพยุงหุ้นกู้วิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การแพร่ระบาดของ Covid-19 ฉุดหุ้นไทยดิ่งเหวตลอดสัปดาห์ ลดลงกว่า 235 จุด ผันผวนหนักจนต้องใช้ Circuit Breaker ถึง 2 วันติด ร้อนถึง “สมคิด” ต้องจัดยาแรงสั่งตลาดหลักทรัพย์ปรับเกณฑ์ Short Sell และ Forced Sell เป็นการชั่วคราว พร้อมเร่งตั้งกองทุนพยุงหุ้นเหมือนช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง (ปี 2540) อุ้มดัชนีฝ่ามรสุม ฟากนักลงทุนขานรับกลับมาซื้อ ผลักดันส่งท้ายสัปดาห์ปิดบวก

สัปดาห์ที่ผ่านมาของตลาดหุ้นไทยถือเป็นการดิ่งเหวอีกครั้งในรอบหลายปี จากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่กำลังลุกลามไปทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย จนกดดันตลาดหุ้นดาวนโจนส์ปรับตัวลงหนัก ส่งผลให้ตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลกทรุดตัว

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังกดดันให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศดิ่งตัว อีกทั้งยังต้องเผชิญภาวะความกังวลต่อการทำสงครามราคาน้ำมันหลังกลุ่มโอเปกและพันธมิตรไร้ข้อสรุปเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิต แถมท้ายด้วยองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ไวรัส Covid-19 เข้าสู่ภาวะระบาดใหญ่ทั่วโลก เรียกได้ว่ามีแต่ปัจจัยลบกดดันจนดัชนีหลักทรัพย์ร่วงหนัก จนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องประกาศใช้มาตรการ Circuit Breaker ถึงสองวัน ในวันที่ 12 และ 13 มี.ค.

ภาพรวม (9-13 มี.ค.) ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลง 235.66 จุด จาก 1,364.57 จุด เมื่อวันที่ 6 มี.ค. มาอยู่ที่ระดับ 1,128.91 จุด นักลงทุนต่างประเทศขายสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ออกไป 4.08 หมื่นล้านบาท รวมตั้งแต่ต้นปี 2563 มีการขายสะสมออกไปแล้ว 7.78 หมื่นล้านบาท ขณะทื่สถาบันในประเทศ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสะสมตั้งแต่ต้นปี 2.45 พันล้านบาท และ 8.51 พันล้านบาท ตามลำดับ โดยนักลงทุนในประเทศเข้าซื้อสะสมแล้ว 8.87 หมื่นล้านบาท

เริ่มจากวันที่ 9 มี.ค. 63 หุ้นไทยเคลื่อนไหวในแดนลบตลอดทั้งวันก่อนปิดที่ระดับ 1,255.94 จุด ลดลง 108.63 จุด (-7.96%) มูลค่าการซื้อขาย 1.03 แสนล้านบาท ตลาดหุ้นไทยร่วงแรงทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ เพราะนอกเหนือจากเจอแรงกดดันการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 ระบาดไปทั่วโลกแล้ว ยังมาเจอราคาน้ำมันร่วงหนักอีกเมื่อซาอุดีอาระเบียและรัสเซียไม่สามารถตกลงกันได้ในการประชุมร่วมกันของกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรเพื่อลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียประกาศลดราคาขายและเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบโต้รัสเซีย ราคาน้ำมันจึงดิ่งลงไปอย่างมาก

ถัดมาวันที่ 10 มี.ค. ดัชนีหลักทรัพย์ฟื้นตัวเล็กน้อย เมื่อนักลงทุนยังขานรับข่าวที่ว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ จะใช้มาตรการครั้งใหญ่ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการปรับลดภาษีเงินเดือน (payroll tax) เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 รวมถึงคลายวิตกกังวลภายหลังจากที่ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ชะลอตัว ส่งให้ตลาดฯ ปิดที่ระดับ 1,271.25 จุด ปิดบวก 15.31 จุด มูลค่าการซื้อขาย 7.46 หมื่นล้านบาท

แต่พอเข้าสู่วันที่ 11 มี.ค. ดัชนีหุ้นไทยปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,249.89 จุด ลดลง 21.36 จุด เปลี่ยนแปลง -1.68% มูลค่าการซื้อขาย 7.22 หมื่นล้านบาท ปรับตัวลงทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชีย และตลาดในยุโรป โดยปัจจัยหลักกดดันตลาดยังมาจากความกังวลการแพร่ระบาด Covid-19 ในไทยเริ่มรุนแรงขึ้นและยังมีประเด็นจะปล่อยตัวแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้กลับไปกักตัวที่บ้านจนอาจมีความเสี่ยงในประเทศเรื่องของการแพร่ระบาด ส่วนต่างประเทศมีการแพร่ระบาดมากขึ้นทั้งอิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และอังกฤษ ทำให้เกิดความวิตกเศรษฐกิจในยุโรปจะชะลอตัว

และพอถึงวันที่ 12 มี.ค. ถือเป็นจุดเริ่มของวิกฤตในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง โดยเพียงแค่การซื้อขายในรอบเช้าของวันดังกล่าวดัชนีปิดที่ระดับ 1,140.05 จุด ลดลง 109.84 จุด หรือ -8.79% เป็นการร่วงแรงตามตลาดหุ้นทั่วโลกจาก Panic จากการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 ที่กระจายไปทั่วโลกอย่างเร่งตัวขึ้น จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์ว่ากำลัง เข้าสู่ภาวะแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้ต่างวิตกจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นยังรับผลกระทบจากราคาน้ำมันร่วงลง ทำให้วิตกความเสี่ยงจากหนี้เสียที่จะมีสูงขึ้นได้ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตน้ำมันมีต้นทุนสูงกว่าซาอุดีอาระเบีย และส่วนใหญ่จะมีการออกหุ้นกู้กันหากค้าขายไม่ดีอาจไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ทำให้หนี้เสียมีโอกาสที่จะสูงขึ้น ซึ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ

ไม่เพียงเท่านี้ พอเข้าสู่การซื้อขายในช่วงบ่าย เมื่อเวลา 14.41 น. ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้หยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราว (Circuit Breaker) หลังดัชนีร่วงหนักถึง 125.05 จุด หรือลดลง 10.00% ส่งผลให้ดัชนีอยู่ที่ 1,124.84 จุด นับเป็น Circuit Breaker ครั้งที่ 4 ของตลาดหุ้นไทย จากครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2549 ครั้งที่ 2 วันที่ 10 ต.ค. 51 และครั้งที่ 3 วันที่ 27 ต.ค. 51 โดยเมื่อจบการซื้อขายของวันดัชนี SET Index ปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 1,114.91 จุด ปรับลง 134.98 จุด หรือคิดเป็น -10.8% มีมูลค่าซื้อขายรวมทั้งสิ้น 1.01 แสนล้านบาท

จากนั้นเมื่อวันที่ 13 มี.ค. ทันทีที่เปิดตลาดภาคเช้าดัชนีหุ้นไทยรูดลงรวดเดียว 10% หรือลดลง 106.15 จุด มาอยู่ที่ระดับ 1,008.76 จุด ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องนำมาตรการ Circuit Breaker มาใช้อีกครั้ง โดยหยุดพักการซื้อขายเป็นเวลา 30 นาที ตั้งแต่เวลา 09.59 น. ก่อนจะกลับมาเปิดซื้อขายอีกครั้งในเวลา 10.29 น.จากนั้นดัชนีได้ไหลรูดลงต่อเนื่องอย่างรุนแรงวูบเดียวลงไปทำจุดต่ำสุดของวันที่ระดับ 969.08 จุด ลดลง 145.83 จุด

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นร้อนไปถึง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ต้องรีบออกมาสั่งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หารืออย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือดัชนีหุ้นที่ดิ่งลงหนัก โดยให้ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะห้ามการขายหุ้นล่วงหน้าโดยไม่มีหุ้นในมือ หรือ Short Sell เพราะเชื่อว่าสาเหตุที่หุ้นไทยลดลงรวดเร็วเป็นร้อยจุดเกิดจากวิธีดังกล่าว รวมถึงหาวิธีรับมือการถูกบังคับขายหุ้น หรือ Forced Sell ของนักลงทุนที่ใช้บัญชีสินเชื่อเพื่อซื้อขายหุ้น (บัญชีมาร์จิ้น) รวมทั้งเตรียมจะเสนอนายกรัฐมนตรีอนุมัติเพื่อเดินหน้าการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นในวันที่ 16 มี.ค. ออกมาพยุงสถานการณ์

“รัฐบาลจะเร่งจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น โดยเสนอนายกรัฐมนตรี 16 มี.ค.นี้ ซึ่งหน่วยงานรัฐใส่เงินก้อนหนึ่งและให้เอกชนร่วมลงขันด้วย โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ ซึ่งต้องเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่มีเงินเพียงพอพยุงราคาหุ้นได้ เพราะตลาดหุ้นไทยมีขนาดใหญ่พอๆ กับมูลค่าจีดีพีประเทศที่ 17 ล้านล้านบาท ดังนั้น กองทุนพยุงหุ้นครั้งนี้จะต้องใหญ่กว่าในอดีต (ปี 2540) ที่มีมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท”

และเมื่อตลาดหลักทรัพย์ขานรับคำสั่ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ดัชนีเริ่มรีบาวนด์กลับมาเคลื่อนไหวในแดนบวกจนจบการซื้อของวันที่ระดับ 1,128.91 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 14.00 จุด หรือ 1.26% โดยดัชนีทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1,164.16 จุด และทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 969.08 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ 1.19 แสนล้านบาท

“ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แสดงความเห็นว่า จากที่ตลาดหลักทรัพย์มีการติดตามการซื้อขายอย่างใกล้ชิด พบว่าในช่วงที่ผ่านมาการซื้อขายจากวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายหุ้นโดยไม่มีในมือ (ชอร์ตเซล) หรือโปรแกรมการซื้อขายมีความผันผวนค่อนข้างมาก แม้การซื้อขายจะยังเป็นไปตามปกติ แต่เพื่อให้สามารถดูแลตลาดได้ดีขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับปรุงเกณฑ์การขายชอร์ตเพื่อใช้เป็นการชั่วคราว จากเดิมที่กำหนดให้สมาชิกจะขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย เปลี่ยนเป็นจะสามารถขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยให้เสริมสร้างความมั่นใจในการลงทุนให้แก่นักลงทุนในภาพรวม เนื่องจากตลาดจะมีความแน่นอนมากขึ้น โดยจะมีผลใช้บังคับเป็นการชั่วคราวตั้งแต่การซื้อขายในภาคบ่ายของวันที่ 13 มี.ค. และไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์สามารถยกเลิกกฎเกณฑ์ดังกล่าวก่อนกำหนดได้ หากตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ได้ออกมาแถลงข่าวด่วนว่า ได้ปรับปรุงเกณฑ์การขายชอร์ต จากเดิมที่กำหนดให้สมาชิกจะขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย ปรับเป็นให้ขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายเท่านั้น เชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน โดยจะมีผลใช้บังคับชั่วคราวโดยเริ่มใช้ตั้งแต่การซื้อขายภาคบ่ายวันที่ 13 มี.ค.เป็นต้นไป และไม่เกิน 30 มิ.ย. 63 เช่นกัน

ภาพรวมภายหลังตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการปรับเกณฑ์ทั้ง 2 เรื่องออกมา ช่วยให้นักลงทุนเบาใจขึ้นและมองว่า ตลท.เริ่มออกมาตรการมาช่วยแล้ว จึงสนับสนุนให้ดัชนีปรับตัว ถือเป็นบรรยากาศในเชิงบวกให้ตลาดแต่ก็ยังมีความผันผวนอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม ทิศทางต่อไปจะต้องดูตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นหลัก เพราะตลาดต่างประเทศเป็นตัวชี้นำตลาดหุ้นไทย รวมถึงต้องติดตามมาตรการเพิ่มเติมที่จะออกมาทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย อาทิ จีน ที่ประกาศปรับลดดอกเบี้ยอัตราเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ จาก 1.5% เหลือ 1% ซึ่งจะทำให้ธนาคารนำเงินไปปล่อยกู้ได้มากขึ้น พร้อมกับการอัดฉีดเงินเข้าระบบกว่า 80,000 ล้านบาท เป็นต้น

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันดัชนีปรับฐานลงรวมกว่า 461 จุด หรือประมาณ 29.4% นั่นทำให้เชื่อว่าจะเกิดการปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยในปี 2563 ลดลงไป 14.6% จากปัจจุบันคาดอยู่ที่ 8.54 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะอยู่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท หากการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปี 2563 อยู่ที่ 1.6%

นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 จะดีขึ้นเหมือนกับจีนที่สถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อใด และบางประเทศมีมาตรการที่เฉียบขาดในการควบคุมการติดเชื้อ โดยประกาศปิดประเทศ เช่น อิตาลี และอินเดีย ประกาศห้ามต่างชาติเดินทางเข้าประเทศจะแก้ไขสถานการณ์ได้หรือไม่ โดยรวมหากจำนวนผู้ติดเชื้อนอกจีนเริ่มเพิ่มขึ้นในอัตราน้อยลงเหมือนจีน เชื่อว่าตลาดหุ้นมีโอกาสฟื้นตัวแรงเหมือนในอดีตที่ผ่านมาได้

สำหรับสัปดาห์นี้ (16-20 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่าดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,085 และ 1,040 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,165 และ 1,200 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายละเอียดของกองทุนพยุงหุ้น การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ สถานการณ์ราคาน้ำมัน และสถานการณ์การระบาดของไวรัส Covid-19 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และยอดขายบ้านมือสองเดือน ก.พ. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ม.ค.-ก.พ.ของจีน รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.พ.ของยูโรโซนและญี่ปุ่น






กำลังโหลดความคิดเห็น