บล.โกลเบล็กแนะลงทุนทองคำ แม้ราคาขยับสูงสุดในรอบ 7 ปีจากสถานการณ์ไวรัส Covid-19 ระบาดรอบ 2 ขยายวงกว้างไปยังญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน บวกอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีต่ำสุดในปีนี้อยู่ที่ 1.46% โดยให้กรอบราคาทองคำ 1,640-1,690 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ส่วนทิศทางตลาดหุ้นไทยมีโอกาสลงต่อ เหตุกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว และการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีกดดันการลงทุน จึงให้กรอบดัชนี 1,410-1,450 จุด แนะกลยุทธ์ลงทุนหุ้นได้อานิสงส์ค่าเงินบาทอ่อน-หุ้น Defensive Stock-หุ้นปันผลเด่น
นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก (GBS) ประเมินสถานการณ์ราคาทองคำในสัปดาห์นี้ว่ามีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อในกรอบ 1,640-1,690 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ หลังจากราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี เนื่องจากนักลงทุนได้หันมาลงทุนในทองคำเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังเศรษฐกิจโลกอยู่ในแนวโน้มชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 และคาดว่าหากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ลุกลามต่อไปอีกจะส่งผลให้ราคาทองปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในปีนี้ที่ระดับ 1.46% เป็นสัญญาณของการลดความเสี่ยงของนักลงทุนเพิ่มเติม
"การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำในขณะนี้เกิดจากความกังวลต่อสถานการณ์ไวรัส Covid-19 ที่ได้แพร่ระบาดรอบ 2 ในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน ส่งผลให้นักลงทุนกลับมากังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัว ซึ่งถือเป็นจังหวะทำกำไรทองคำในระยะสั้นได้"
ส่วนภาพรวมตลาดหุ้นไทย ทางฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็กประเมินว่าดัชนีมีโอกาสปรับตัวลงต่อ จากความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวในไตรมาส 1/2563 หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 ล่าสุดทาง IMF ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของจีนในปี 2563 ลงสู่ระดับ 5.6% โดยลดลง 0.4% จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน ม.ค. เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ขณะเดียวกัน สถานการณ์การเมืองในประเทศยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่จะลงมติในวันที่ 27 ก.พ.นี้ ซึ่งจะกดดันด้านจิตวิทยาด้านการลงทุนในสัปดาห์นี้ต่อเนื่อง จึงคาดการณ์การเคลื่อนไหวของดัชนีในกรอบ 1,410-1,450 จุด
พร้อมทั้งยังต้องจับตาการรายงานตัวเลขดัชนีราคาบ้านในเดือน ธ.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.พ.ของสหรัฐฯ ในวันนี้ (25 ก.พ.) และการเปิดเผยยอดขายบ้านใหม่ และสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ในวันที่ 26 ก.พ. ส่วนวันที่ 27 ก.พ. ทางอียูเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนก.พ. ขณะเดียวกันสหรัฐฯ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ม.ค. และ GDP ไตรมาส 4 (ประมาณการครั้งที่ 2) และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนม.ค. และวันที่ 28 ก.พ. ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย และกระทรวงพาณิชย์ประชุมกับทูตพาณิชย์หารือเป้าส่งออก สุดท้ายวันที่ 2 มี.ค. วันสุดท้ายในการส่งงบการเงินประจำปี 62
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแง่ของภาพรวมในประเทศนั้นน่าจะส่งผลเชิงบวกระยะสั้น อาทิ การคาดเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ได้ราวเดือน มี.ค. หลังการประกาศราชกิจจานุเบกษา ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้เมื่อเทียบกับต้นปีมองว่าส่งผลเชิงบวกต่อการส่งออก ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์รายงานการส่งออก ม.ค. 63 ขยายตัว 3.35% กลับมาบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือน สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะหดตัว ซึ่งหากไม่รวมทองคำและน้ำมัน การส่งออกหดตัว 0.6%
ดังนั้น แนะนำการจัดพอร์ตการลงทุนในทองคำที่ 30% ลงทุนในหุ้น 20% และถือครองเงินสด 50% สำหรับหุ้นที่แนะนำนั้นยังคงเน้นหุ้นได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า ได้แก่ TU และ CPF หุ้นปลอดภัย (Defensive Stock) ได้แก่ RATCH, TTW, ADVANC และ CHG รวมทั้งหุ้นปันผลสูง ได้แก่ KKP, TISCO และ INTUCH