นักการเงิน ออกโรงหนุน มาตรการเยียวยา ศก. สู้โควิด ระยะที่ 3 “สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” จี้ รัฐบาลเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมอาหาร-อุปโภคบริโภค พร้อมประคองภาคการท่องเที่ยว ด้าน “รศ.ดร.ณรงค์” เชียร์ กู้ภายในประเทศ ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ชี้ช่องพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม เพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยอิงทองคำสำรองระหว่างประเทศ เดือน ! จะเกิดสงครามการเงิน หลังวิกฤตโควิด “เงินหยวน” มีบทบาทเหนือดอลลาร์
กล่าวได้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 3 ของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ประกาศออกมาเมื่อวันอังคารที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ได้สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและบรรดานักลงทุนได้ไม่น้อยทีเดียว โดยจะเห็นได้จากตลาดหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นขานรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และจำนวนผู้ป่วยโควิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ มองว่า มาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ระยะที่ 3 ถือเป็นมาตรการที่เหมาะสมและแก้ปัญหาได้ตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นเงินชดเชยเดือนละ 5,000 บาท ซึ่งจ่ายให้แก่แรงงานนอกระบบ ที่เพิ่มจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับ SME ซึ่งมีวงเงินรวมสูงถึง 500,000 ล้านบาท มาตรการที่ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพ.) และธนาคารเฉพาะกิจ ((Specialized Financial Institutions : SFIs) พักชำระหนี้แก่ลูกหนี้ทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลาถึง 6 เดือน ตลอดจนมาตรการดูแลเสถียภาพทางการเงิน โดยตั้งกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund หรือ BSF และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว
“ มาตรการช่วยเหลือ SME จะช่วยประคับประคองให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ขณะที่มาตรการทางการเงินนั้นบางคนอาจจะมองว่าเป็นการช่วยคนรวย ซึ่งหากเป็นสถานการณ์ปกติผมก็ไม่เห็นด้วย แต่ในช่วงวิกฤตโควิดเช่นนี้ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เป็นการป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจอ่อนแอ ไม่ให้ปัญหาลุกลามขยายวงไปยังภาคการเงิน ซึ่งหากภาคเงินมีปัญหาเศรษฐกิจไทยอาจจะทรุดหนัก” ผศ.ดร.สมชาย ระบุ
สำหรับการออก พ.ร.ก.เงินกู้ ทั้งในส่วนของกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อนำเงินมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งบางฝ่ายมีความกังวลต่อภาระที่จะเกิดขึ้นตามมานั้น
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นว่า การที่รัฐบาลมีแนวทางชัดเจนว่าจะไม่กู้เงินจากต่างประเทศนั้นถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะทำให้ประเทศไทยไม่ต้องรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนสูง และภาระดอกเบี้ยซึ่งไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้อัตราดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาเรามีบทเรียนมาแล้วจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งผู้ประกอบการณ์ของไทยส่วนใหญ่นิยมกู้เงินจากจากประเทศเนื่องจากช่วงปี 2539-2540 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศอยู่ที่ 1-2% เท่านั้น ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศสูงถึง 15% แต่ทันทีที่มีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้หนี้เงินกู้และดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมหาศาล จนเศรษฐกิจในประเทศล้มระเนระนาด
ส่วนทางออกในการหาแหล่งเงินในกรณีที่ไม่กู้จากต่างประเทศนั้น รศ.ดร.ณรงค์ ระบุว่ามีอยู่ 3 แนวทางด้วยกัน คือ 1.กู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ ซึ่งหากดูจากศักยภาพของธนาคารพาณิชย์ของไทยแล้วจะพบว่าธนาคารเหล่านี้ยังมีเงินฝากอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาแบงก์ปล่อยกู้ให้ภาคเอกชนค่อนข้างน้อย เพราะหลักเกณฑ์ในการปล่อยกู้เข้มงวดมาก ดังนั้นแบงก์พาณิชย์จึงมีเงินเหลือให้รัฐบาลกู้อีกมาก
2. กู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งใช้วิธีทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 32 บาทกว่าต่อดอลลาร์ ให้ลดลงเหลือ 34 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเมื่อนำดอลลาร์ไปแลกเป็นเงินบาทก็จะได้เงินบาทในจำนวนที่มากขึ้น โดยส่วนต่างดังกล่าวมีจำนวนมากพอที่จะทดแทนเงินกู้บางส่วนได้
3. รัฐบาลสามารถพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นแทนการกู้เงิน โดยการพิมพ์ธนบัตรจะอิงจากปริมาณทองคำที่ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นมาก ล่าสุดราคาทองคำแท่งอยู่ที่บาทละ 25,000 บาท แปลว่าหากมีทองคำแท่งที่ใช้เป็นทุนสำรอง 1 บาท เราสามารถพิมพ์ธนบัตรได้ 25,000 บาท ดังนั้นรัฐบาลสามารถใช้วิธีกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศส่วหนึ่ง และออกธนบัตรอีกส่วนหนึ่ง
“โชคดีที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยนอกจากจะประกอบด้วย เงินตราสกุลต่างๆ ทั้งดอลลาร์ ยูโร เงินเยน เงินปอนด์ และเงินหยวนแล้ว ยังมีทองคำอีกด้วย ทำให้การเงินของไทยมีเสถียรภาพ ขณะที่เมื่อหันไปดูภาวะการเงินในตลาดโลกจะพบว่าอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนอย่างมาก และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการทำสงครามการเงินระหว่างประเทศมหาอำนาจที่มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น” รศ.ดร.ณรงค์ ระบุ
สำหรับสถานการณ์นับจากนี้นั้น รศ.ดร.สมชาย เชื่อว่า หากหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 60% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ก็ถือว่ายังอยู่ในอัตราที่รับได้ เนื่องจากในภาวะวิกฤตโควิดเช่นนี้ หนี้สาธารณะของหลายๆประเทศ แม้แต่ประเทศที่เจริญแล้วอย่างสิงคโปร์ก็ยังสูงกว่า 100% ของ GDP ส่วนการขาดดุลงบประมาณก็เชื่อว่าไม่น่าจะเกิน 3% ของ GDP ซึ่งก็ถือว่าเหมาะสม
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.สมชาย มองว่า รัฐบาลควรมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์หลังจากวิกฤตโควิดสิ้นสุดลง โดยต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในการกระตุ้นภาคธุรกิจที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงกิจการคมนาคมขนส่ง ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามประคับประคองภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ อย่าง อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการส่งออก
ขณะที่ รศ.ดร.ณรงค์ ได้ประเมินสถานการณ์นับจากนี้ว่า หลังวิกฤตโควิดที่คุกคามนานาประเทศยุติลง สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ “สงครามการเงิน” ระหว่างประเทศมหาอำนาจ โดยจะเห็นได้ว่าขณะนี้ประเทศจีนและรัสเซียนพยายามผลักดันให้เงินหยวนและเงินรูเบิลขึ้นมามีบทบาทเหนือเงินดอลลาร์ของสหรัฐ โดยจีนและรัสเซียได้กว้านซื้อทองคำเพื่อใช้เป็นทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เงินหยวนและเงินรูเบิลมีเสถียรภาพมากกว่าเงินดอลลาร์ เนื่องจากสหรัฐฯใช้วิธีพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาใช้โดยอ้างความต้องการใช้เงินสกุลดอลลาร์ของประเทศต่างๆโดยที่ไม่ต้องอิงปริมาณทองคำหรือสินทรัพย์มีค่าอื่นๆ ทำให้ความน่าเชื่อถือที่มีต่อเงินดอลลาร์ลดลง
นอกจากนั้นจีนและรัสเซียยังดำเนินมาตรการทางการค้าเพื่อให้เงินหยวนและเงินรูเบิลขึ้นมามีบทบาทเหนือเงินดอลลาร์ โดยเสนอให้ประเทศคู่ค้าจ่ายค่าสินค้าเป็นเงินหยวนและเงินรูเบิล แทนการจ่ายเป็นเงินดอลลาร์ แลกกับการที่จีนและรัสเซียจ่ายค่าสินค้าโดยใช้สกุลเงินของประเทศคู่ค้าโดยตรง ไม่ต้องจ่ายเป็นดอลลาร์แล้วนำไปแลกเป็นสกุลของประเทศคู่ค้าอีกต่อหนึ่งซึ่งทำให้ต้องเสียส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยน
“ ในเมื่อจีนสามารถหลุดพ้นจากวิกฤตโควิดได้ก่อนสหรัฐ จีนก็สามารถผลิตสินค้าขายประเทศต่างๆได้ก่อน จีนสามารถใช้ช่วงที่สหรัฐยังต้องเผชิญกับการต่อสู้กับวิกฤตโควิดในการผลักดันให้เงินหยวนขึ้นมามีบทบาทแทนเงินดอลลาร์ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากปัจจุบันหากเปรียบเทียบศักยภาพของสกุลเงินต่างๆแล้ว เงินหยวนเป็นรองอยู่แค่ สกุลดอลลาร์และยูโรเท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงควรเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้” รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว