เอเจนซีส์ - ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งที่อเมริกาและยุโรปยังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ตรงข้ามกับจีนที่ไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เป็นครั้งแรก และเตรียมยกเลิกการปิดอู่ฮั่นหลังเที่ยงคืนวันอังคาร (7 เม.ย.) ส่วนญี่ปุ่นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในโตเกียวและอีก 6 จังหวัด พร้อมคลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านดอลลาร์ และองค์การอนามัยโลกย้ำโลกขณะนี้ขาดแคลนพยาบาลถึง 6 ล้านคน
ไวรัสโคโรนาทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 73,000 คน และติดเชื้อราว 1.32 ล้านคนทั่วโลก ท่ามกลางคำเตือนว่า สถานการณ์เลวร้ายในหลายพื้นที่ยังมาไม่ถึง
วันจันทร์ (6) ฝรั่งเศสรายงานผู้เสียชีวิตใหม่เพิ่มขึ้น 833 คน และตัวเลขของอิตาลีดีดกลับขึ้นมาอีกรอบ ดับความหวังว่า สถานการณ์การระบาดในยุโรปเริ่มคลี่คลาย ขณะที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ซึ่งติดตามรวบรวมตัวเลขเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคระบาดไวรัสโควิดแบบออนไลน์ เผยว่า อเมริกามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ 1,150 คน เป็น 10,986 คน และผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็นกว่า 368,000 คน
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทวิตว่า “เริ่มมีแสงที่ปลายอุโมงค์แล้ว!” ซึ่งพาดพิงถึงการที่อัตราการเสียชีวิตในรัฐนิวยอร์กที่เป็นศูนย์กลางการระบาดในอเมริกา เริ่มนิ่งลง 2 วันติดกัน โดยในวันจันทร์มีผู้เสียชีวิต 599 คน จาก 594 คนในวันอาทิตย์ เทียบกับสถิติสูงสุดที่ทำไว้ในวันเสาร์ (4) 630 คน
กระนั้น แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก เตือนว่า นี่ไม่ใช่เวลาผ่อนคลาย ซ้ำประกาศขยายเวลาการปิดโรงเรียนและธุรกิจที่ไม่จำเป็นต่ออีก 3 สัปดาห์
เช่นเดียวกับ บิลล์ เดอ บลาสิโอ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ที่บอกว่า นิวยอร์กซิตี้กำลังตอบโต้ศัตรูที่มองไม่เห็นด้วยทุกสิ่งที่มี
แต่สำหรับจีน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการระบาดของไวรัสโคโรนาเมื่อปลายปีที่แล้ว กลับรายงานว่า ไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เป็นครั้งแรก นอกจากนั้น หลังเที่ยงคืนวันอังคาร (7) ชาวเมืองอู่ฮั่นที่ถูกปิดตายมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม จะได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกเมืองภายใต้มาตรการจำกัดบางอย่างเพื่อป้องกันการระบาดรอบสอง
ทั้งนี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ในวันจันทร์ 32 คน ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งหมด
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ตอกย้ำความสำเร็จของจีนในการใช้ยาแรงเพื่อต่อสู้กับการระบาดที่เริ่มต้นขึ้นในเมืองอู่ฮั่นและลุกลามไปยังทั่วประเทศและทั่วโลกในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความหวาดกลัวการระบาดรอบสองในเอเชีย วันอังคาร นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในหลายพื้นที่ที่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงโตเกียวที่ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อเพิ่มกว่า 80 คน รวมเป็น 1,200 คนโดยประมาณ มาตรการนี้จะบังคับใช้จนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม นอกจากนั้น รัฐบาลยังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เพื่อบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโคโรนามูลค่า 990,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 20% ของมูลค่าผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อทั่วประเทศทะลุ 4,000 คน และเสียชีวิตรวม 93 คนจนถึงวันจันทร์
รัฐบาลอาเบะถูกแรงบีบคั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้รับมืออย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้นกับการระบาด ซึ่งถึงแม้จำนวนยังคงน้อยอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานของโลก ทว่าถูกทัดทานจากพวกผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ว่า สืบเนื่องมาจากญี่ปุ่นตั้งกฎเกณฑ์เคร่งครัดในการพิจารณารับตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีผู้ได้รับการตรวจทดสอบเพื่อยืนยันเพียงจำนวนน้อยนิด โดยมากเป็นกรณีที่ป่วยรุนแรงแล้ว ดังนั้นจึงน่าจะมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นแม้กระทั่งเพียงแค่มีผู้ป่วยในระดับที่เป็นอยู่ แต่ระบบดูแลสุขภาพในระดับท้องถิ่นก็ทำท่าจะรับมือไม่ค่อยไหวแล้ว
จากการประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งนี้ เป็นการเปิดทางให้พวกผู้ว่าการของ 7 พื้นที่ซึ่งกำลังประสบปัญหารวมทั้งโตเกียวด้วย สามารถขอร้องประชาชนให้อยู่กับบ้าน ตลอดจนขอให้ธุรกิจต่างๆ ปิดทำการ ทว่าไม่ได้มีกลไกใดๆ เพื่อบังคับให้มีการปฏิบัติตาม รวมทั้งไม่มีบทลงโทษใดๆ สำหรับพวกที่ละเมิดหลีกเลี่ยง
“ถึงแม้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว มันก็ไม่ได้หมายความถึงการล็อกดาวน์เมืองอย่างที่ได้พบเห็นกันในต่างประเทศ” อาเบะบอก พร้อมกับให้สัญญาว่าการคมนาคมขนส่งสาธารณะจะยังคงให้บริการตามปกติ และถนนต่างๆ จะไม่มีการปิดกั้น
แต่เขาเรียกร้องประชาชนให้ยึดถือคำประกาศฉบับนี้อย่างเคร่งครัด โดยบอกว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตนของพวกท่าน”
เขาเตือนด้วยว่า ประชาชนจะต้องลดการติดต่อสัมผัสผู้อื่นลงไปประมาณ 70-80% จึงจะสามารถยกเลิกภาวะฉุกเฉินได้ภายใน 1 เดือน
สำหรับทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ ย่านธุรกิจที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาได้กลับกลายเป็นเมืองร้าง เนื่องจากที่ทำงานส่วนใหญ่ปิดเพื่อหยุดยั้งการระบาด หลังพบเคสใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
มาเลเซียรายงานเมื่อวันอังคารพบผู้ติดเชื้อใหม่ 170 คน รวมยอดสะสมเป็น 3,963 คน และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 คน เป็น 63 คน
วันเดียวกัน อินโดนีเซียยืนยันพบเคสใหม่ 247 คน เป็น 2,738 คน และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 12 คน เป็น 221 คน
โควิด-19 ยังทำให้ทรัพยากรทางการแพทย์ตึงเครียดหนัก องค์การอนามัยโลก (ฮู) เตือนว่า โลกขาดแคลนพยาบาลถึง 6 ล้านคนในขณะนี้
ผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งข้าวของเครื่องใช้ขาดแคลน เอกวาดอร์ต้องใช้กล่องกระดาษแทนโลงศพ และมัสยิดในอิหร่านแปรสภาพเป็นโรงงานผลิตหน้ากากชั่วคราว
แพต มาร์โม ผู้อำนวยการสถานประกอบพิธีศพแห่งหนึ่งในนิวยอร์กซิตี้ เปรยว่า สถานการณ์ตอนนี้เกือบเหมือนตอนวินาศกรรม 9/11 และมหาวิหารที่มีพื้นที่กว้างขวางแห่งหนึ่งในแมนแฮตตันถูกดัดแปลงเป็นโรงพยาบาลชั่วคราวรองรับผู้ป่วยอย่างน้อย 200 คน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลทั่วโลกระดมออกมาตรการกู้เศรษฐกิจเพื่อป้องกันภาวะถดถอยครั้งใหญ่
ทรัมป์เผยเมื่อวันจันทร์ว่า ต้องการออกมาตรการใช้จ่ายมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ อัดฉีดโครงการโครงสร้างพื้นฐาน หลังจากเมื่อไม่นานมานี้รัฐสภาเพิ่งอนุมัติแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 ล้านล้านดอลลาร์เท่ากัน
รัฐมนตรีคลังอียูถูกคาดหมายว่า จะบรรลุข้อตกลงเพื่อนำเงินจากกองทุนพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่มีอยู่ทั้งสิ้น 410,000 ล้านยูโร มาต่อสู้กับไวรัส อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ตกลงกันไม่ได้เรื่องการออกพันธบัตร “โคโรนาบอนด์”
ทว่า ฝรั่งเศสเตือนว่า ตนกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งรุนแรงที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล กล่าวว่า สหภาพยุโรป (อียู) กำลังเผชิญบททดสอบสำคัญที่สุดนับจากก่อตั้งขึ้นในปี 1957
นักวิเคราะห์ของออกซ์ฟอร์ด อิโคโนมิกส์ ขานรับว่า การระบาดของโควิด-19 อาจทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ตกต่ำที่สุดในรอบ 100 ปี และทั่วโลกมีคนตกงานหลายล้านคน
อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นในวันแรกของสัปดาห์เริ่มกระเตื้องขึ้นจากความหวังว่า โรคระบาดอาจใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว โดยดัชนีดาวโจนส์ในตลาดนิวยอร์กพุ่งขึ้นถึง 1,600 จุดเมื่อวันจันทร์