xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมญี่ปุ่นยัง'ชิลๆ'เรื่องสู้ไวรัส? ผู้ว่าโตกียวอยาก'ล็อกดาวน์' แต่‘อาเบะ’ไม่ยอม

เผยแพร่:   โดย: เจค อเดลสไตน์


<i>ถนนบริเวณกลางย่านชิบูยะ ในกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ไม่มีบรรยากาศคึกคักจอแจเหมือนปกติ  ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19  และผู้ว่าการโตเกียว ยูริโกะ โคอิเกะ ขอร้องให้ผู้คนอยู่กับบ้าน </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Tokyo wrestles with possible lockdown
By JAKE ADELSTEIN
01/04/2020

ถึงแม้ผู้ว่าการมหานครโตเกียว ยูริโกะ โคอิเกะ เตรียมการอย่างเงียบๆ เพื่อหาทางประกาศ “ล็อกดาวน์” เมืองหลวงของญี่ปุ่น ซึ่งกำลังเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่จากการที่รัฐบาลระดับชาติของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ไม่เห็นด้วย ทำให้พื้นฐานทางกฎหมายสำหรับดำเนินการเรื่องนี้ยังคงคลอนแคลนหละหลวม

เหล่าประเทศและดินแดนประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ อันได้แก่ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, และไต้หวัน จวบจนถึงเวลานี้ยังคงต่อต้านไม่ยอมเดินตามมาตรการสไตล์ของจีน-หรือยุโรป ในการต่อสู้เอาชนะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ด้วยการล็อกดาวน์ปิดพื้นที่ห้ามการเคลื่อนไหวของผู้คนในเมืองใหญ่ๆ

แต่ว่ามาถึงขณะนี้ กรุงโตเกียวกลับกำลังหันมาเตรียมการต่างๆ อย่างเงียบๆ เพื่อดำเนินการดังเช่นว่านี้แหละ

อย่างไรก็ดี ยูริโกะ โคอิเกะ (Yuriko Koike) ผู้ว่าการหญิงของกรุงโตเกียว ซึ่งขาดไร้ปราศจากกลไกต่างๆ ในทางกฎหมาย อาจจะต้องพึ่งพาอาศัยวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น มาเป็นเครื่องมือที่จะให้อำนาจแก่ความเคลื่อนไหวของเธอ

ผลลัพธ์เลยยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า การล็อกดาวน์นี้ –ถ้าหากมันจะเกิดขึ้นได้จริงๆ แล้ว— จะออกมาในรูปแบบของคำขอร้องอย่างสุภาพจากผู้ว่าการมหานครผู้นี้ ให้ชาวโตเกียวอยู่กับบ้านอย่าออกไปไหนมาไหน หรือว่าเธอจะได้รับการหนุนหลังด้วยมาตรการขึงขังเข้มงวดอื่นๆ อย่างเช่น มีตำรวจออกมาตรวจตรารักษาการณ์ตามท้องถนนสายต่างๆ และการขนส่งสาธารณะก็หยุดให้บริการ

การเลื่อนมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2020 ออกไปซึ่งประกาศออกมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม กลายเป็นการผ่อนคลายแรงบีบคั้นกดดันในฉับพลันทันทีให้แก่โตเกียว ซึ่งที่ผ่านมาต้องคอยตีหน้าสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่สายตาชาวโลก แล้วก็ทันทีทันควันหลังจากนั้นเช่นกัน จำนวนผู้ที่ติดเชื้อโรคติดต่อของไวรัสโควิด-19 ในนครหลวงของญี่ปุ่นก็พุ่งพรวดขึ้นมา (หมายเหตุผู้แปล - ตามกราฟฟิกของสำนักข่าวเกียวโด ซึ่งจัดทำขึ้นโดยรวบรวมจากข้อมูลตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุข, แรงงาน, และสวัสดิการของญี่ปุ่น โตเกียวมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวม 217 คนในวันที่ 25 มีนาคม แล้วเพิ่มเป็น 432 คนในวันที่ 29 มีนาคม จากนั้นก็กลายเป็น 773 คนในวันที่ 3 เมษายน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://english.kyodonews.net/news/2020/04/8428f5735aa0-coronavirus-outbreak-latest-april-4-2020.html) แล้วจากการที่วิกฤตการณ์บนเกาะฮอกไกโดดูเหมือนสามารถที่จะควบคุมกันเอาไว้ได้แล้ว เวลานี้โตเกียวจึงกำลังกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 ในญี่ปุ่นไปแทนที่

โคอิเกะ VS อาเบะ

การล็อกดาวน์เป็นขั้นตอนการดำเนินการที่ขึงขังรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องมีพื้นฐานทางกฎหมายอันแข็งแกร่งมารองรับ และพื้นฐานทางกฎหมายนี้แหละซึ่งผู้ว่าโคอิเกะกำลังค้นพบว่า เธอไม่ได้มีอยู่ในครอบครองหรอก เมื่อเธอได้หารือกับพวกที่ปรึกษาต่างๆ แล้ว

ก่อนอื่นใดเลย เธอจำเป็นต้องรอให้นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินในขอบเขตทั่วประเทศ โดยอิงอยู่กับกฎหมายควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่เสียก่อน ทั้งนี้กฎหมายนี้เพิ่งมีการทบทวนแก้ไขล่าสุดในเดือนมีนาคมนี้เอง ภาวะฉุกเฉินจะทำให้พวกผู้นำท้องถิ่นต่างๆ มีอำนาจเพิ่มพูนขึ้นมากมาย ทว่าอาเบะยังคงลังเลที่จะขยับเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลว่ากลัวเกรงผลกระทบที่มันจะสร้างความเสียหายให้แก่แวดวงธุรกิจญี่ปุ่น (เจแปนอิงค์ Japan Inc) ซึ่งได้รับความเสียหายหนักอยู่แล้วจากโควิด-19

อย่างไรก็ดี แรงบีบคั้นกดดันกำลังสะสมเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ

ระหว่างการแถลงข่าวในวันจันทร์ (30 มี.ค.) ซาโตชิ คามายาชิ (Satoshi Kamayachi) สมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของสมาคมการแพทย์ญี่ปุ่น (Japan Medical Association) รวมทั้งนั่งอยู่ในคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเรื่องโควิด-19 ของรัฐบาลด้วย ออกมากล่าวว่า “ผมมีความรู้สึกโดยส่วนตัวว่า ถึงเวลาแล้วที่ญี่ปุ่นจะต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในระดับชาติ” พร้อมกับพูดอย่างอ้อมๆ ด้วยว่าผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ก็เห็นพ้องต้องกันกับเขา

ฮิโรฟุมิ โยชิมุระ (Hirofumi Yoshimura) ผู้ว่าการนครโอซากา ที่เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น ก็บอกว่า เขาเองเชื่อเช่นกันว่าโตเกียวกับโอซากาจำเป็นต้องใช้พวกมาตรการฉุกเฉินแล้ว เพื่อสกัดกั้นกระแสคลื่นของการติดเชื้อจากช่องทางต่างๆ ที่ยังไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจน วัตถุประสงค์ของการล็อกดาวน์คือเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของไวรัส, เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โรงพยาบาลสถานการแพทย์ต่างๆ ต้องรับภาระหนักเกินกำลัง, และเพื่อตรึงจำนวนผู้เสียชีวิตตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเอาไว้ไม่ให้บานปลายออกไป

จากการที่โคอิเกะปราศจากอำนาจต่างๆ ซึ่งจะได้มาก็ต่อเมื่อมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ทำให้เธอต้องเผชิญกับความยากลำบากซึ่งเธอจะต้องหาทางแก้ไข

ออกคำสั่งหรือแค่ขอร้อง?

การที่ผู้ว่าการโตเกียวเอ่ยถึงเรื่องการล็อกดาวน์อยู่บ่อยๆ ได้จุดชนวนให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันในระดับชาติ และส่งผลให้โรงงานผลิตข่าวลือแห่งชาติเปิดเดินเครื่องกันเต็มสตีมอย่างชนิดควบคุมไม่อยู่

อันที่จริง เรื่องนี้ถือว่า โคอิเกะ มีการเปลี่ยนแปลงท่าทีอย่างชนิดหักเลี้ยวกลับ 180 องศาอย่างน่าสนใจทีเดียว กล่าวคือ คำว่า “ล็อกดาวน์” ไม่ได้ปรากฏอยู่ในคำศัพท์ที่เธอใช้เอาเลยจวบจนกระทั่งเมื่อ ไอโอซี (คณะกรรมการโอลิมปิกสากล) ประกาศในวันที่ 24 มีนาคมเลื่อนโอลิมปิกโตเกียวออกไปนั่นแหละ แล้วก็ถ้าหากมีการเสแสร้งแกล้งทำอะไรกันก่อนหน้านี้ การออกข่าวแบบมองโลกแง่ดีแง่สดใสอย่างสุดๆ ประเภท โตเกียวกำลังชื่นมื่นกับฤดูดอกซากุระบาน, มีกำลังใจดีเยี่ยม, และจำนวนผู้ติดเชื้อก็ต่ำ มาถึงตอนนี้เป็นอันว่าไม่มีเหลือหรออยู่อีกต่อไปแล้ว

ณ การแถลงข่าวเมื่อวันที่ 25 มีนาคม โคอิเกะกล่าวย้ำว่า “เวลานี้ (ถนนหนทางของ) ปารีสและนิวยอร์ก ไม่มีผู้คนออกมาแล้ว เราก็มีความจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากพวกท่านเพื่อทำให้แน่ใจว่า โตเกียวจะได้ไม่จบสิ้นลงด้วยวิถีทางเดียวกัน”

ทั้งนี้ ในฝรั่งเศสนั้น ประชาชนไม่สามารถออกจากบ้านของพวกเขาได้ถ้าหากไม่มีเหตุผลที่ฟังขึ้น โดยผู้ล่วงละเมิดอาจถูกปรับเงิน และหากเป็นผู้กระทำผิดซ้ำซากก็จะถูกจับกุมคุมขัง ส่วนในนิวยอร์ก พวกพิพิธภัณฑ์, โรงภาพยนตร์, และสถานบันเทิงสาธารณะต่างๆ ถูกสั่งปิดตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม บริษัทต่างๆ ออกคำสั่งให้ลูกจ้างพนักงานทำงานจากบ้าน

คำแถลงของผู้ว่าโตเกียวคราวนี้จัดว่าเป็นการคุกคามที่น่ากลัวเกรงใช่หรือไม่? อาจจะไม่ใช่หรอก เพราะขณะที่โคอิเกะสามารถที่จะพูดไปข่มขู่ไป แต่เธอก็จะพบว่ามันลำบากยากเย็นที่จะทำให้ได้อย่างที่พูด

พวกอุปสรรคเครื่องกีดขวางทางกฎหมายที่โคอิเกะจะต้องกระโดดข้ามให้พ้นเสียก่อนจึงจะดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ได้อย่างเต็มที่นั้น มันช่างสูงลิ่วเสียเหลือเกิน เป็นต้นว่า การที่จะทำล็อกดาวน์แบบแข็งขันเต็มที่ อย่างเช่น การปิดบรรดาจุดเข้า/ออกเมือง, การกำหนดให้ประชาชนอยู่กับบ้าน, และการบังคับให้ธุรกิจต่างๆ ปิดทำการ ปรากฏว่าไม่ได้มีกฎหมายฉบับหนึ่งฉบับเดียวซึ่งให้อำนาจครอบคลุมเช่นนี้เอาไว้

พวกผู้รับผิดชอบของเมืองสามารถที่จะขอร้องประชาชนให้อยู่กับบ้าน และหลีกเลี่ยงสภาวการณ์ที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อ แต่อย่างที่ โยชิกาซุ ทางามิ (Yoshikazu Tagami) ผู้เป็นนักกฎหมายและนักยุทธศาสตร์ เขียนเอาไว้ในบทความซึ่งเผยแพร่วันที่ 31 มีนาคมใน โตโย เคไซ ออนไลน์ (Toyo Keizai Online) นั่นแหละ การขอร้องเหล่านี้ไม่ได้มีผลผูกพันทางกฎหมาย ไม่ได้มีบทลงโทษที่จะนำมาใช้ได้ในกรณีมีผู้ล่วงละเมิด

กระนั้น แหล่งข่าวหลายรายในรัฐบาลท้องถิ่นของมหานครโตเกียว บอกกับเอเชียไทมส์ โดยขอไม่ให้เปิดเผยนามว่า พวกเขากำลังทำงานแก้ไขอุปสรรคเพื่อให้สามารถนำเอาการล็อกดาวน์มาใช้ รวมทั้งกำลังจัดทำแผนการกันอยู่

<i>ยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าการมหานครโตเกียว แถลงข่าวว่าด้วยมาตรการต่อสู้โควิด-19 เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ทั้งนี้เธอแสดงท่าทีต้องการใช้มาตรการล็อกดาวน์โตเกียว ทว่ารัฐบาลระดับชาติของนายกรัฐมนตรีชินโซ  อาเบะ ตั้งท่าไม่เห็นด้วย </i>
สำหรับในปัจจุบัน โคอิเกะยังอยู่ในขั้นตอนของ “การขอร้องอย่างสุภาพ”

ผู้ว่าการผู้นี้กำลังขอร้องชาวเมืองให้หลีกเลี่ยงจากสถานการณ์ซึ่งพวกเขาจะต้องมีการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับคนอื่นๆ, อยู่ในพื้นที่ซึ่งการระบายอากาศย่ำแย่, และสถานที่ซึ่งมีผู้คนแออัด ในการแถลงข่าวครั้งหนึ่งซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (30 มี.ค.) โคอิเกะขอร้องประชาชนให้หลีกเลี่ยงไนต์คลับ, บาร์ที่มีโฮสเตสให้บริการ, และสถานที่แสดงดนตรีต่างๆ

ทว่า แม้กระทั่งเมื่อกระทรวงสาธารณสุขของประเทศได้ออกคำเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะด้วย แต่โคอิเกะกลับไม่ได้เอ่ยถึงรถไฟใต้ดินของโตเกียว

ระบบรถไฟใต้ดินของโตเกียวนั้นขึ้นชื่อลือฉาวในเรื่องมีผู้โดยสารแออัดยัดเยียดจนแน่นเอี๊ยด โดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน และการระบายอากาศก็ย่ำแย่ จึงมีศักยภาพที่จะกลายเป็นแหล่งนำพาไวรัสแหล่งใหญ่ ซึ่งจะแพร่เชื้อให้กระจายไปทั่วทั้งมหานคร ในขบวนรถซึ่งไวรัสนี้สามารถมีชีวิตอยู่ได้หลายชั่วโมงตามเสาโลหะและห่วงมือจับนั้น โดยสาระสำคัญแล้วจึงไม่แตกต่างจากการเป็นเครื่องเพาะเชื้อที่กำลังแล่นด้วยความเร็วสูงเท่านั้น

และขณะที่โตเกียวขอร้องพวกบริษัทต่างๆ อนุญาตให้ลูกจ้างพนักงานทำงานจากบ้าน รวมทั้งใช้ช่วงเวลาเข้าออกงานแบบยืดหยุ่นเพื่อช่วยบรรเทาความแออัดในการเดินทาง ปรากฏว่าบริษัทจำนวนมากยังไม่ได้สนใจทำตาม

อย่างไรก็ดี เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว โคอิเกะก็ยังคงเดินหน้าการล็อกดาวน์ซึ่งเธอเรียกว่าเป็นการ“เทสต์รัน”

ช่วงสุดสัปดาห์อันยาวนาน

ญี่ปุ่นมีชื่อเสียงในเรื่องเป็นสังคมที่มีระเบียบอย่างยิ่ง โดยที่พลเมืองต่างแสดงการตอบสนองในทางบวกต่อรัฐบาลของพวกเขา เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนในช่วงเวลาภายหลังเกิดภัยพิบัติหายนะที่มีทั้งแผ่นดินไหว, คลื่นสึนามิ, และวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทับถมซ้อนกันเข้ามาเมื่อเดือนมีนาคม 2011 ปรากฏว่า การฉกชิงข้าวของเป็นอาชญากรรมที่มีน้อยอย่างยิ่ง และการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมก็กระทำได้โดยไม่ยากลำบากอะไร

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง ได้แก่ ฮอกไกโด จังหวัดทางภาคเหนือซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของไวรัสโคโรนานี้ในญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ โดยที่จังหวัดนี้ถูกสั่งล็อกดาวน์ภายหลังมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ถึงแม้การใช้ภาวะฉุกเฉินคราวนั้นไม่ได้มีพื้นฐานทางกฎหมายใดๆ รองรับเลย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงทำตามคำขอร้องของทางการท้องถิ่นอยู่ดี

ครั้นเมื่อโตเกียวนำเอากลอุบายแบบฮอกไกโดมาใช้บ้าง มันก็ดูเหมือนได้ผลเช่นเดียวกัน

สุดสัปดาห์ที่แล้ว คำขอร้องของโคอิเกะให้ชาวโตเกียวหลีกเลี่ยงการออกมานอกบ้าน, การชุมนุมจัดปาร์ตี้, หรือการเดินทางโดยไม่จำเป็น ปรากฏว่าส่งผลทำให้ปริมาณการใช้การคมนาคมขนส่งลดฮวบลงอย่างชัดเจน ถนนสายต่างๆ ในย่านกินซ่า (Ginza) ว่างเปล่า และแถวย่านชิบูยะ (Shibuya) ก็แทบไม่มีคน ธุรกิจและศูนย์การค้าจำนวนมากพากันปิดทำการด้วยความสมัครใจ จุดชุมนุมศูนย์รวมยามค่ำคืนต่างๆ ที่เคยอึกทึกครึกโครม ต่างว่างโล่งหรือเกือบจะว่างโล่ง

กระทั่งจุดที่พวกต้นซากุระกำลังออกดอกบานสะพรั่ง ก็แทบไม่มีบรรดานักนิยมดื่มกินเสพความงามออกมาชุมนุมกัน

ใช้ความกลัวอับอายขายหน้ามาเป็นอาวุธ

แต่ว่านั่นเป็นเพียงแค่สุดสัปดาห์เดียว และยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าพวกพ่อค้าแม่ขายของโตเกียวจะยินดีปิดร้านกันนานขึ้นกว่านั้นหรือกระทั่งปิดแบบไม่รู้กำหนดหรือไม่ อย่างไรก็ดี มีผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งให้ความเห็นว่า ถึงแม้ไม่ได้มีอะไรมาบังคับให้ธุรกิจต่างๆ ต้องทำตามคำขอร้องให้จำกัดเวลาเปิดสถานที่ของพวกเขา แต่ยังคงสามารถทำให้พวกเขารู้สึกอับอายขายหน้าจนกระทั่งต้องยินยอมกระทำตาม

“รัฐบาลสามารถที่จะประกาศรายชื่อพวกธุรกิจและพวกสถาบันที่ถูกขอร้อง (ให้กระทำตามคำขอให้จำกัดเวลาเปิดทำการ ฯลฯ) และนั่นก็จะส่งผลกลายเป็นแรงบีบคั้นกดดันทางสังคมในระดับสูงขึ้นมา” เทตสึโร คาวาโมโต (Tetsuro Kawamoto) อาจารย์ด้านกฎหมายอาญาของมหาวิทยาลัยโดชิ (Doshi University) กล่าวในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไมนิชิ (Mainichi)

ตามคำบอกเล่าของสมาชิกคนหนึ่งของพรรค โทมิน เฟิร์สต์ โน ไค (Tomin First No Kai) พรรคการเมืองของโคอิเกะ ซึ่งสามารถควบคุมสภานิติบัญญัติของโตเกียวได้อย่างอยู่มือ เรื่องการสร้างแรงบีบคั้นทางสังคม โดยรวมถึงการปรากฏตัวของตำรวจด้วยนั้น อาจจะมีการนำออกมาใช้ในเวลาต่อไป

ถึงแม้ญี่ปุ่นขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความมีระเบียบเรียบร้อยในสังคม แต่พวกตำรวจก็ไม่ได้รู้สึกลำบากยุ่งยากอะไรในการหาข้อแก้ตัวสำหรับการยกกำลังกันออกมาตามท้องถนนในเมืองที่ร้างผู้คนตามท้องถนน เพราะคนส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน แหล่งข่าวรายนี้บอกกับเอเชียไทมส์

“เพื่อป้องกันพวกตีนแมวและขโมยอื่นๆ ไม่ให้ก่อเหตุลักข้าวของ หรือฉวยประโยชน์จากสถานการณ์ ตำรวจนครบาลโตเกียวย่อมพร้อมที่จะออกมาลาดตระเวน” เขากล่าว โดยที่ไม่ได้ทำท่าลับลมคมในอะไรนักหนา

“เมื่อตำรวจพบใครกำลังเดินอยู่คนเดียว ย่อมสามารถเข้าไปสอบถามได้ว่าทำไมพวกเขาถึงออกมาข้างนอก ตำรวจไม่สามารถจับคนเหล่านี้หรอก แต่มันจะทำให้คนต้องคิดกันมากขึ้น” เขากล่าวต่อ “ถ้าคุณต้องหาเหตุผลเพื่อบอกกล่าวกับเจ้าหน้าที่ สำหรับการออกไปข้างนอกของคุณ นั่นจะทำให้บางคนต้องเกิดความลังเลขึ้นมา”

การล็อกดาวน์ “อย่างแท้จริง”

อาจารย์คาวาโมโต บอกกับหนังสือพิมพ์ไมนิชิว่า การล็อกดาวน์ยังคงเป็นเรื่องยากในปัจจุบัน แต่มันอาจเปลี่ยนไปถ้าอาเบะประกาศภาวะฉุกเฉิน ภายใต้ฉากทัศน์ดังกล่าว โคอิเกะและพวกผู้ว่าการท้องถิ่นอื่นๆ ทั่วประเทศ จะได้รับอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเพื่อใช้สกัดการแพร่กระจายของไวรัส

และหากเป็นกรณีเช่นนั้น รัฐบาลท้องถิ่นของโตเกียวก็จะพิจารณาขอให้ผู้ดำเนินกิจการคมนาคมขนส่งทั้งหมดหยุดกิจการ หรือจำกัดการดำเนินงานลงไปอย่างมากๆ เมื่อมีการประกาศภาวะฉุกเฉินกันแล้ว แหล่งข่าวรายนี้บอกกับเอเชียไทมส์

พวกสมาชิกของกลุ่มแนวร่วมที่ครองอำนาจอยู่ในสภานิติบัญญัติโตเกียวในเวลานี้บอกว่า มาตรา 45 ของกฎหมายไข้หวัดใหญ่ที่แก้ไขใหม่นั้น ให้อำนาจแก่โตเกียวในการประกาศระบุรายชื่อผู้ประกอบการคมนาคมขนส่ง ซึ่งจะต้องทำตาม “คำขอ” ของมหานคร

มหานครโตเกียวนั้นมีกิจการระบบรถไฟใต้ดินของตนเอง จึงเปิดทางให้สามารถกระทำเป็นตัวอย่างนำร่องก่อน สำหรับระบบรถไฟใต้ดินใหญ่อีกระบบหนึ่งนั้นดำเนินการโดยบริษิทโตเกียว เมโทร (Tokyo Metro Co, Ltd) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน อย่างไรก็ตาม หุ้นของบริษัทแห่งนี้ก็ถือโดยรัฐบาลกลางของญี่ปุ่นและโดยศาลามหานครโตเกียวอยู่ดี

โตเกียวเป็นนครที่กว้างใหญ่มาก ถ้ารถไฟใต้ดินปิดทำการ มนุษย์เงินเดือนจำนวนมากอาจต้องหันไปอาศัยรถยนต์กัน ในกรณีเช่นนั้น ศาลามหานครก็มีอาวุธอีกอย่างหนึ่งที่สามารถนำออกมาฟาดฟัน กล่าวคือ การขอให้พวกปั๊มน้ำมันปิดทำการ ซึ่งย่อมทำให้การใช้รถยนต์ต้องยุติหรือผ่อนเพลาลงไป

นอกจากนั้นแล้ว ภาวะฉุกเฉินยังให้อำนาจรัฐบาลมหานครในการนำเอาที่ดินและอาคารต่างๆ มาใช้เป็นสถานที่ทางการแพทย์และในการกักกันโรค โดยไม่ต้องขอรับความยินยอมจากเจ้าของ

รัฐบาลมหานครโตเกียวได้มีการอภิปรายถกเถียงกันไปแล้วในเรื่องการออกข้อบัญญัติฉบับใหม่ ซึ่งอาจจะสั่งจำกัดความเคลื่อนไหวของประชาชน และมีบทลงโทษผู้ล่วงละเมิด อย่างไรก็ตาม พวกที่ปรึกษากฎหมายยังคงรู้สึกว่า ข้อบัญญัติที่ให้อำนาจล็อกดาวน์แก่ทางมหานครเช่นนี้ น่าจะเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญของประเทศ

เห็นกันว่ากระทั่งไม่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน โคอิเกะก็ยังมีทางเลือกที่เป็นไปได้อีกทางหนึ่ง

<i>นายกรัฐมนตรีชินโซ  อาเบะ ของญี่ปุ่น ขณะอภิปรายในรัฐสภา ที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 1 เม.ย. </i>
ทางเลือกแบบปีศาจร้าย

โตเกียวสามารถที่จะบังคับให้หลายๆ ส่วนของมหานครต้องล็อกดาวน์อย่างสิ้นเชิงเป็นระยะเวลาอย่างน้อยที่สุด 72 ชั่วโมง –และกระทั่งนานกว่านั้นก็มีความเป็นไปได้ โดยที่การแก้ไขกฎหมายเมื่อเร็วๆ นี้นั่นเองซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ในเรื่องนี้

ในระหว่างการอภิปรายใน รัฐสภาแห่งชาติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ยาสุโตชิ นิชิมุระ (Yasutoshi Nishimura) รัฐมนตรีการฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการแก้ไขกฎหมายเพื่อใช้ต่อสู้กับการระบาดคราวนี้ แถลงยอมรับว่าทางรัฐบาลท้องถิ่นของนครต่างๆ สามารถที่จะใช้กฎหมายโรคติดต่อ (Infectious Disease Law) ของญี่ปุ่น ไปในการจำกัดความเคลื่อนไหวของประชาชนและล็อกดาวน์นคร

มาตรา 33 ของกฎหมายฉบับนี้ เปิดทางให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถจำกัดการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ซึ่งกำลังเกิดโรคติดต่ออย่างกว้างขวางใหญ่โตได้ นอกจากนั้นยังให้อำนาจแก่รัฐบาลท้องถิ่นในการระงับการคมนาคมขนส่งทั้งหมดที่เข้าไปและออกมาจากพื้นที่ดังกล่าวได้ด้วย

นิชิมุระกล่าวย้ำว่า กฎหมายฉบับนี้ในปัจจุบันมีเจตนารมณ์ที่จะใช้ในกรณีที่เกิดโรอีโบลา และโรคติดต่อในแวดวงจำกัดอย่างอื่นๆ ทว่าไม่รวมถึงโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสโคโรนา อย่างไรก็ตาม พอถึงวันที่ 26 มีนาคม กฎหมายนี้ได้รับการแก้ไขให้รวมไวรัสโคโรนาเข้าไว้ด้วย

ดังนั้น อย่างน้อยที่สุดก็ในทางทฤษฎี รัฐบาลท้องถิ่นอาจขยายการใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ให้ยาวกว่า 72 ชั่วโมง

กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ต่างรู้สึกว่านี่เป็นมาตรการที่เข้มงวดทารุณ รวมทั้งกลไกในการบังคับใช้ก็ยังไม่มีความชัดเจน นิชิมุระได้ออกมากล่าวย้ำจุดยืนของเขา (และก็เป็นจุดยืนของอาเบะด้วย) อีกครั้งเมื่อวันที่ 31 มีนาคมว่า การล็อกดาวน์โตเกียวจะก่อความเสียหายหนักให้แก่เศรษฐกิจ

ในสภาพเช่นนี้ หากอาเบะยังไม่เปลี่ยนจุดยืน ทางเลือกสำหรับโคอิเกะย่อมมีเพียงจำกัด

อย่างไรก็ตาม ในเวลาซึ่งพวกผู้เรียกร้องสนับสนุนความเป็นส่วนตัวในทั่วโลก ต่างกำลังพากันวิตกกังวลกันว่า บรรดากฎหมายและกติกาทางการปฏิบัติสำหรับสถานการณ์ที่เป็นวิกฤตการณ์ อาจจะถูกนำมาใช้ต่อไปอีกภายหลังโรคระบาดใหญ่ผ่านพ้นไปแล้ว จึงมีบางคนบางฝ่ายในญี่ปุ่นหวาดกลัวว่า อาเบะอาจตัดสินใจแบบไม่คำนึงถึงการล็อบบี้ของแวดวงธุรกิจ และประกาศภาวะฉุกเฉิน –เพื่อให้ตนเองมีอำนาจในการผลักดันเดินหน้าวาระต่างๆ ที่ตัวเขาเองมุ่งมั่นตั้งใจเอาไว้ ให้สำเร็จเสร็จสิ้น

ยึดอำนาจมาไว้ในกำมือเสียเลย ?

ไม่ใช่ความลับแต่อย่างใดในเรื่องที่พรรคแอลดีพีของอาเบะมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าผลักดันงานอันสุดหินทางการเมือง อันได้แก่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกำจัดข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถที่จะมีกองทัพแห่งรัฐ

คาร์ล กูดแมน (Carl Goodman) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบกฎหมายในญี่ปุ่น เขียนเอาไว้ในบทความปี 2017 ของเขาที่ใช้ชื่อว่า “ภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยของญี่ปุ่น” (The Threat to Japanese Democracy) ดังนี้: “แผนการของแอลดีพีสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ระบุถึงอำนาจฉุกเฉินต่างๆ นั้น อธิบายให้เห็นถึงประวัติศาสตร์แห่งการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอดของพรรคนี้ ด้วยการเพิ่มเติมข้อความซึ่งจะเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่พวกเขามีอยู่ในปัจจุบัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://apjjf.org/2017/10/Goodman.html)

ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ฮากุบุน ชิโมมุระ (Hakubun Shimomura) สมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรคแอลดีพี และก็เป็นพันธมิตรของอาเบะ ประกาศเอาไว้ว่า “เรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่สวัสดิภาพของสาธารณชนก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน เราควรเริ่มต้นอภิปรายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันได้”

ระฆังเตือนภัยส่งเสียงดังลั่น

กระทั่งนิกเกอิ ชิมบุง (Nikkei Shimbun) สื่ออนุรักษ์นิยม ก็ยังต้องออกมากล่าวเตือนแอลดีพีและอาเบะ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ว่า อย่าได้พยายามอาศัยเรื่องไวรัสโคโรนามาสนองวัตถุประสงค์ทางการเมืองของพวกตน โดยได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการเรียกร้องนายกรัฐมนตรีให้นำเอากฎหมายไข้หวัดใหญ่มาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างสมเหตุสมผลมากกว่าที่เป็นอยู่

ขณะที่ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ของการมุ่งยึดอำนาจเอาไว้ในกำมือดังกล่าว แต่ถ้าโตเกียวมีการล็อกดาวน์กันจริงๆ แล้ว มันก็น่าที่จะกำจัดการประท้วงคัดค้านการออกกฎหมายซึ่งเปิดทางให้อาเบะและทีมของเขามีอำนาจใหม่ๆ อย่างกว้างขวางครอบจักรวาล
กำลังโหลดความคิดเห็น