xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นยังชิลล์ได้อีกแค่ไหนเมื่อไวรัสปะทุ ?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น โดย ซาระซั

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ตั้งแต่มีมติเลื่อนจัดโอลิมปิกในโตเกียวออกไปเป็นปีหน้า ก็ดูเหมือนตัวเลขผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นจะเพิ่มเร็วขึ้นกว่าเดิมอย่างน่าตกใจ ผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นวันละหลายร้อยคน แต่ที่ผ่านมาการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นก็ยังดูค่อนข้างปกติอยู่มาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่กำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

ณ วันที่ 5 เมษายน 2563 ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 3,497 คน มีผู้เสียชีวิต 95 คน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 127 ล้านคน นับว่ายังเป็นตัวเลขที่ไม่มากเมื่อเทียบกับความหนาแน่นของประชากร หรือประเทศอื่นที่ตัวเลขพุ่งเป็นหลักหมื่นหลักแสน แต่ที่น่าตกใจคือหลังจากวันที่ 24 มีนาคม ที่ญี่ปุ่นประกาศเลื่อนการจัดงานโตเกียว โอลิมปิก จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันเพิ่มขึ้นเหมือนระเบิดปะทุ สถิติที่สำนักข่าว NHK รวบรวมพบว่า ก่อน24 มี.ค. ผู้ติดเชื้อใหม่เฉลี่ยราว 30-60 คนต่อวัน แต่หลังจากนั้น ผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นวันละมากกว่า 100-300 คนล่าสุดวันที่ 5 เม.ย. ผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นวันเดียว 367 คน!!

ข้อมูลจาก https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/th/news/
ประเทศอื่นพากันมองญี่ปุ่นด้วยความสงสัย เพราะในขณะที่หลายประเทศต้องปิดเมือง โกลาหลกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทุกวัน เตียงโรงพยาบาลไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วย ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ และเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่รุนแรง คนญี่ปุ่นยังคงใช้ชีวิตตามปกติเป็นส่วนมาก สามารถไปทำงาน จับจ่ายซื้อของ รับประทานข้าวนอกบ้าน หาความเพลิดเพลินหลังเลิกงานหรือในวันหยุดตามปกติได้

“ตัวเลขผู้ติดเชื้อ” น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลทางจิตใจโดยตรงกับประชาชน แม้โดยส่วนมากแล้วผู้คนจะตื่นตกใจหากเห็น “ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูง” แต่ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละประเทศเหลื่อมล้ำกันน่าจะอยู่ที่ความต่างของมาตรการตรวจหาเชื้อด้วยนะคะ ประเทศที่ใช้นโยบายตรวจหาผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด ดูจะเป็นประเทศที่พบผู้ติดเชื้อเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศที่มีการตรวจน้อยกว่าจะมีผู้ติดเชื้อน้อยจริงเสมอไป เพียงแต่อาจตรวจน้อยหรือไม่มีทรัพยากรจึงไม่ได้มีสถิติก็เป็นได้

ญี่ปุ่นใช้มาตรการที่ต่างไปจากหลายประเทศ กล่าวคือ ไม่ตรวจหาผู้ติดเชื้อเป็นวงกว้าง อีกทั้งยังจำกัดตรวจเฉพาะคนที่ “อยู่ในเกณฑ์” ดังต่อไปนี้ คือ 1) มีไข้สูงตั้งแต่ 37.5 องศาขึ้นไป ติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 4 วัน 2) ร่างกายอ่อนเพลีย 3) หายใจลำบาก

และสำหรับสตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ (เช่น โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง) รับการฟอกไต ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน และรับคีโมบำบัด ต้องมีอาการดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 2 วัน


แต่ใช่ว่าเมื่ออยู่ในเกณฑ์แล้วจะได้รับการตรวจหาเชื้อได้เลยในทันที แต่ต้องโทรปรึกษาและได้รับอนุมัติจาก “ศูนย์ให้คำปรึกษาแก่ผู้กลับจากต่างประเทศและผู้ที่ได้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ” ก่อน ศูนย์ฯ จึงจะส่งเรื่องต่อไปยังสถานพยาบาลเฉพาะให้ นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้มีการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรน่าหากผู้ต้องการตรวจไม่แสดงอาการ อีกด้วย ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขของญี่ปุ่นยอมรับว่า การจำกัดการตรวจหาเชื้อเป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โรงพยาบาลล้นเพราะเต็มไปด้วยคนป่วยที่อาการน้อย

ถ้าญี่ปุ่นใช้เกณฑ์นี้อย่างรัดกุมก็หมายความว่าตัวเลข “ผู้ติดเชื้อ” ในญี่ปุ่นที่ทางการประกาศออกมานั้นล้วนแต่เป็นผู้ป่วยที่แสดงอาการค่อนข้างมากแล้วเท่านั้น ไม่ได้รวมคนที่อาการน้อยกว่าในเกณฑ์หรือไม่แสดงอาการ ซึ่งนี่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นต่ำ เมื่อตัวเลขดูต่ำก็ทำให้คนโล่งใจ ไม่แตกตื่นเกินไป จากเดิมที่คนค่อนข้างกลัวตอนที่ญี่ปุ่นเริ่มมีผู้ติดเชื้อแรก ๆ ต่อมาคนก็ดูจะคลายความกังวลลงไปมาก

ฉันจำได้ว่าช่วงแรก ๆ ที่ญี่ปุ่นเริ่มมีผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะจากกรณีเรือสำราญไดมอนด์พรินเซส เคยมีข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นไม่ให้คนในกระทรวงฯ ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจติดเชื้อไปตรวจ เพราะหากติดเชื้อก็จะไม่มีคนพอมาทำงาน เรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอาจจะพยายามประคองให้แต่ละภาคส่วนยังคงดำเนินกิจการตามปกติให้ได้มากที่สุดไปก่อน ไม่อย่างนั้นอาจเกิดปัญหาโผล่ตรงนั้นตรงนี้ต่อเนื่องกันไปเป็นโดมิโน แล้วทุกอย่างอาจจะยากเกินควบคุม


ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ที่ผ่านมากฎหมายของญี่ปุ่นไม่เปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีประกาศภาวะฉุกเฉินได้อย่างในหลายประเทศ ที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงการ “ร้องขอ” จากภาครัฐ ให้ประชาชนช่วยกันเลี่ยงอยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเทหรือคนพลุกพล่าน งดงานสังคมและอีเวนท์ รวมทั้งทำงานจากบ้านหากทำได้ เป็นต้น ช่วงแรก ๆ ประชาชนก็ดูจะให้ความร่วมมืออยู่บ้าง แต่ผ่านไปได้ไม่นานคนก็เริ่มเบื่อ และอยากออกไปข้างนอกตามปกติ

การที่ “จำนวนผู้ติดเชื้อ” ในญี่ปุ่นดูไม่สูงและเพิ่มอย่างช้า ๆ (ก่อนประกาศเลื่อนการจัดโอลิมปิกในกรุงโตเกียวออกไปเป็นปีหน้า) และการที่ภาครัฐเพียง “ร้องขอ” แต่ “ไม่ได้บังคับ” รวมทั้งการที่ประชาชนจำนวนมากยังคงใช้ชีวิตค่อนข้างตามปกติ เช่น เดินทางไปทำงานกันด้วยบริการขนส่งสาธารณะอย่างเนืองแน่นเช่นเคย ยังคงไปรับประทานอาหารที่ร้านได้ ไปร้านกาแฟได้ หรือไปช็อปปิ้ง ไปคาราโอเกะได้อย่างเสรี อาจมีผลในทางจิตวิทยาที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องน่าหวั่นวิตกแต่อย่างใด

คนที่เป็นกังวลและพยายามไม่ออกนอกบ้านหากไม่จำเป็นก็มี แต่ก็มีคนอีกมากเช่นกันที่ไม่ได้ใส่ใจ ที่เห็นชัดคือช่วงที่ดอกซากุระบานและคนแห่แหนไปชมกันอย่างแน่นขนัด พอปิดบางแห่งไป คนก็แห่ไปอีกที่หนึ่งแทน เห็นในโทรทัศน์สัมภาษณ์คนที่ไปชมซากุระเมื่อสุดสัปดาห์ก่อน คนถูกสัมภาษณ์บอกว่า “คิดเหมือนกันว่าไม่ควรออกนอกบ้าน แต่มันก็ค่อยไม่รู้สึกว่าสถานการณ์น่ากังวลจริง ๆ” บางคนก็ว่าสถานการณ์ดูแย่มากในยุโรปและสหรัฐ ฯ แต่ไม่คิดว่าสถานการณ์ในญี่ปุ่นน่าเป็นห่วงเท่าไหร่

ข้อดีที่เห็นได้ชัดในขณะนี้คือ ญี่ปุ่นไม่เกิดความโกลาหลแบบเดียวกับประเทศอื่น ๆ อีกจำนวนมาก หากตอนแรกญี่ปุ่นให้ทุกคนสามารถตรวจหาเชื้อได้ คนจะแห่กันไปตรวจหาเชื้อ เตียงโรงพยาบาลอาจจะล้น บุคลากรทางการแพทย์จะรับมือไม่ไหว หากยอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว คนก็จะตระหนกและจะกดดันให้รัฐบาลสั่งปิดเมือง หากเกิดสภาวะเช่นนั้น ปัญหาจะเกิดขึ้นตามมาจากทุกทิศทางในทันที ญี่ปุ่นที่มีปัญหาเศรษฐกิจและสังคมหนักพออยู่แล้วจะทำอย่างไร ?

นายกฯซินโซ อาเบะ สวมหน้ากากอนามัยเข้าประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นักวิชาการอเมริกันตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสภาพการณ์ของญี่ปุ่นที่ยังค่อนข้างชิลล์อยู่ว่า “อาจเป็นไปได้ว่าญี่ปุ่นมาถูกทางหรือไม่ก็ยังบอกไม่ได้” บางคนก็ว่าวิธีที่ญี่ปุ่นใช้เป็นการ “เดิมพัน” และปัญหาอาจจะกำลังรอเวลาปะทุ ซึ่งถึงเวลาอาจสายเกินที่จะไหวตัวทัน 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีการประกาศเลื่อนการจัดโอลิมปิกออกไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนตัวเลขผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นจะเพิ่มเร็วกว่าปกติในทันที ทางการให้เหตุผลว่ามาจากชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศ หรือเป็นผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศ (แต่ก็น่าแปลกใจว่าในช่วงก่อนหน้านั้นที่ตัวเลขยังค่อนข้างทรงตัว ไม่ได้มีคนกลุ่มนี้เข้าประเทศมาบ้างเลยหรือ)

ปัจจุบันญี่ปุ่นมีกฎหมายฉบับใหม่ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งประกาศภาวะฉุกเฉินได้หากจำเป็น รวมทั้งมีแรงกดดันมากขึ้นเรื่อย ๆ ให้รัฐบาลปิดกรุงโตเกียวด้วย หากญี่ปุ่นต้องปิดเมืองจริง ๆ ก็มีความน่าเป็นห่วงหลายประการ เพราะจากที่เห็นในยุโรปและสหรัฐฯ คือนอกจากจำนวนผู้ติดเชื้อจะยังคงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่องในหลายแห่งแล้ว ยังเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสภาพจิตใจของประชาชนอย่างมากด้วย

อย่างในนิวยอร์กนั้น คนประมาณ 5.4 ล้านคนเช่าบ้านอยู่ และหลายคนซึ่งตกงานหรือขาดรายได้กระทันหันกำลังไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน หรือถ้าจ่ายค่าเช่าบ้านก็ไม่มีเงินพอสำหรับค่าอาหาร แม้เจ้าของบ้านเช่าบางรายที่มีกำลังทรัพย์อาจจะช่วยด้วยการให้เลื่อนจ่ายค่าเช่าบ้านได้ แต่เจ้าของบ้านเช่าที่กำลังทรัพย์น้อยซึ่งไม่ค่อยมีส่วนเผื่อเหลือเผื่อขาดก็ตกที่นั่งลำบาก เพราะไม่มีเงินสำหรับค่าใช้จ่ายของตนไปด้วย

แม้ที่ผ่านมาหลายธุรกิจจะยังให้ค่าจ้างพนักงานแม้จะไม่ได้มาทำงานตามปกติ แต่ก็มีความกังวลว่าธุรกิจเหล่านี้จะยังสามารถประคองได้ไปอีกนานแค่ไหน ยิ่งปิดเมืองนานเท่าใด ก็คาดว่าจะยิ่งมีกิจการที่ต้องปิดตัวลงถาวร และประชาชนที่ตกงานก็จะยิ่งเพิ่มอีกจำนวนมาก ล่าสุด สหรัฐ ฯ มีผู้ยื่นเรื่องขอสวัสดิการสำหรับคนตกงานราว 10 ล้านคนในเวลาเพียงแค่สองสัปดาห์


นักวิชาการให้ความเห็นว่าแม้การควบคุมการแพร่ระบาดจะเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอันดับแรก แต่การปิดเมืองในระยะยาวอาจไม่คุ้มเพราะเสี่ยงต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพกายใจของประชาชนมากเกินไปในระยะยาว

ในญี่ปุ่นมีผู้เสนอว่าควรจะปิดเมืองสักสองสามอาทิตย์เพื่อยับยั้งไม่ให้สถานการณ์บานปลาย แต่ก็ไม่ทราบว่าเอาเข้าจริงแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อนะคะ เพราะถ้าปิดเมืองแล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ การตัดสินใจเปิดเมืองกลับมาดังเดิมจะทำได้ยาก อย่างที่ตอนนี้นิวยอร์กเองก็ไม่สามารถทำได้ เพราะกลัวว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงลิ่วขึ้นทันทีทันใด ในขณะที่ความเป็นอยู่ของประชาชนก็ลำบากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยหากยังปิดเมืองต่อไปอีก

อีกอย่างฉันคิดว่า รัฐบาลอยู่ในฐานะที่ต้องดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนครอบคลุมทุกด้าน ถ้าจะเลือกให้ความสำคัญกับสิ่งหนึ่งแล้วปล่อยสิ่งอื่นไปก่อนก็นับว่าเสี่ยงอยู่มาก เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงกันเกี่ยวเนื่องกันไปหมด ปรับส่วนหนึ่งก็ไปกระทบส่วนอื่น ๆ จำต้องชั่งน้ำหนักดูส่วนได้ส่วนเสียต่อทั้งสังคมโดยรวม การเดินหมากตานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และวิธีหนึ่งที่ประเทศหนึ่งใช้ได้ผลก็ไม่แปลว่าจะใช้ได้ผลกับประเทศอื่น ๆ เสมอไปเสียด้วย

ถ้าญี่ปุ่นสามารถประคับประคองให้สถานการณ์โดยรวมไม่บานปลายได้ก็คงดีนะคะ ต้องติดตามดูกันต่อไปละค่ะ

ขอให้คุณผู้อ่านทุกท่านรักษาสุขภาพให้แข็งแรง แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.



ซาระซัง สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.




กำลังโหลดความคิดเห็น