หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ไม่รู้ว่ามีใครตั้งคำถามบ้างว่า หลังจากรัฐบาลรณรงค์ให้เราอยู่บ้านปลอดเชื้อมา 1สัปดาห์เศษแล้ว เรารู้สึกอย่างไรบ้าง ถ้าเราจะต้องอยู่ไปจนหมดเดือนเมษายนจะเป็นอย่างไร แล้วถามต่อไปว่า ถ้าเราต้องอยู่อย่างนี้ไปอีก 3 เดือนจะเป็นอย่างไร เราจะรับมือกับสถานการณ์นี้ไหวไหม
ล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีบอกว่า ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นจะตัดการขนส่งสาธารณะเพื่อให้การเดินทางไปไหนมาไหนลำบากยากขึ้น สะท้อนว่า ยังจะไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ เจ็บแต่จบที่หลายคนเชียร์ให้ทำ แต่จะขอความร่วมมือและทำให้เดินทางไปไหนมาไหนได้ยากขึ้นเท่านั้น
แต่ถ้าทำอย่างนั้นคนที่มีรถยนต์ส่วนตัวเขาไม่ลำบากหรอกครับ แต่ต้องนึกนะว่าคนหาเช้ากินค่ำที่พึ่งขนส่งสาธารณะเขาจะดำรงชีวิตอย่างไร ถ้าจะให้เขากักตัวอยู่แต่ในบ้านไม่มีงานทำเขาจะอยู่รอดไหม
ถ้าถามผมส่วนตัวตอนนี้ก็รู้สึกอึดอัดแล้วไปไหนมาไหนได้ลำบาก กิจวัตรประจำที่ควรจะทำก็ทำไม่ได้ อยากไปร้านตัดแว่นเพื่อเปลี่ยนแว่นใหม่ก็ทำไม่ได้ อยากเข้าร้านสระผมก็ต้องสระผมเอง นึกถึงคุณผู้หญิงทั้งหลายที่ต้องทำผมทุกวัน ถึงตอนนี้ก็ต้องทำเอง อยากไปหาอะไรกินอร่อยๆ ก็ทำไม่ได้ นึกไม่ออกเลยว่า 3 เดือนภาวะความอึดอัดแบบนี้จะสะท้อนออกมาเป็นอะไร
นี่เป็นความนึกคิดของผมคนเดียว แต่ความนึกคิดเดี่ยวๆ ของปัจเจกแบบนี้หลายคนรวมกันลองคิดว่ามันจะเป็นอย่างไร บางคนที่ไม่มีงานทำไม่มีรายได้ มีเงินช่วยเหลือจากรัฐ 5,000 บาทต่อเดือน 3 เดือนติดกัน ก็พอช่วยได้แค่การยังชีพเท่านั้น รายจ่ายๆ อื่นที่เป็นรายจ่ายประจำ ค่าน้ำค่าไฟเล่าจะทำอย่างไร เชื่อได้เลยว่า ภาวะแบบนี้คนระดับกลางลงล่างๆ จะต้องประสบภาวะวิกฤตกันหมด
นี่ยังไม่ต้องคิดนะว่าถ้า 3 เดือนยังไม่จบจะเป็นอย่างไร ถ้าอาจจะต้องยาวไปเป็นปี
ทางออกที่เลวร้ายที่สุดนั้นมีแน่นะครับว่า จะกลับมาสู่ภาวะปกติได้ เมื่อมนุษย์สามารถคิดค้นวัคซีนป้องกันมันได้ แม้ตอนนี้หลายชาติหลายบริษัทยาชั้นนำจะแย่งกันทดลอง แต่เสียงที่ได้ยินเหมือนกันก็คือต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี แล้ว 1 ปีถ้าต้องจำกัดวิถีชีวิตแบบนี้จะไหวไหม
ความอึดอัดคับข้องหมองใจนี้จะปะทุใส่รัฐบาลที่บริหารประเทศไหม จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง จลาจลไหม จะเกิดการปล้นชิงไหม ถ้าประชาชนจำนวนมากไม่สามารถประทังชีวิตอยู่ได้ และร้านค้าเศรษฐกิจซบเซาเจ้าของกิจการก็ย่ำแย่กันเกือบหมด
Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF กล่าวว่าจากการประเมินการเติบโตในปี 2563 และ 2564 ตอนนี้เห็นได้ชัดว่าเรากำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และจะแย่กว่าในปี 2552 เธอบอกว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ต่อเมื่อประสบความสำเร็จในการค้นพบไวรัส ผลกระทบระยะยาวของการหยุดยั้งเศรษฐกิจโลกอย่างฉับพลันคือความเสี่ยงของการล้มละลายและการปลดพนักงาน
คนไทยอาจไม่ค่อยชอบ IMF แต่ต้องยอมรับว่านี่เป็นคำเตือนที่น่าสะพรึง
ความโหดร้ายจากภาวะเศรษฐกิจกับความคาดหวังว่ารัฐบาลจะช่วยให้อยู่รอด แต่เมื่อต้องพบกับความผิดหวังจะขับความคับแค้นใจของประชาชนออกมาถั่งโถมใส่รัฐบาล จนกระทั่งออกมาขับไล่ไหม
ตอนนี้คนตั้งคำถามว่า งบกลางหายไปไหน ทั้งที่หากเข้าใจจริงแล้วงบกลางที่รัฐบาลมีอยู่ 5 แสนกว่าล้านบาทนั้นมันมีวาระจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายจำแนกออกไปสารพัด ในจำนวน 5 แสนล้านบาทนั้นมันเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีจำเป็นฉุกเฉินได้เพียง 96,000 ล้านบาท และขณะนี้เงินจำนวนนี้ถูกใช้ไปหมดแล้วอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์เอ่ยปากนั่นแหละ หลังจากนี้จึงไม่มีทางออกอื่นที่รัฐบาลกำลังจะทำก็คือ โอนเงินงบประมาณคืนจากกระทรวงต่าง 10 % ซึ่งถามว่าพอไหมคำตอบคือเงิน 3 แสนกว่าล้านที่จะได้มาก็ไม่พอแน่
สุดท้ายทางเดียวที่ทำได้และจำเป็นต้องทำก็คือการกู้เงิน
เราต้องยอมรับว่า โจทย์นี้เป็นโจทย์ที่ยากของรัฐบาลทุกประเทศ เราเห็นความโกลาหลในสหรัฐอเมริกาชาติผู้นำของโลก ความโกลาหลในอิตาลี เราเห็นการตั้งรับของรัฐบาลไทยของบุคลากรทางการแพทย์ไทยแล้ว เราต้องยอมรับว่าดีกว่าหลายเท่า แต่แค่นี้จะพอไหม เพราะประชาชนที่มีความเดือดร้อนจะต้องมีความคับแค้นจากความคาดหวังมากกว่าภาวะปกติธรรมดา
ว่าไปแล้วการจัดการแบบที่ชวนหงุดหงิดของรัฐบาลไทยก็เห็นได้ชัดว่า ไร้ศักยภาพตั้งแต่การปล่อยให้มีการจัดการแข่งขันที่สนามมวยลุมพินี จนกลายเป็น Super Spreader บานปลายทะลักทลายมาจนถึงวันนี้ การขาดความเชื่อมโยงของหน่วยงานรัฐแบบต่างคนต่างทำ เมื่อรัฐบาลต้องการสกัดกั้นคนเดินทางจำนวนมากในช่วงสงกรานต์ แต่กทม.สั่งปิดสถานบริการจนคนทะลักกลับต่างจังหวัด จนทำให้ยอดผู้ป่วยในต่างจังหวัดวันนี้มีจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ในระยะแรกนั้นจำกัดอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น
เรื่องหน้ากากอนามัยก็เป็นเรื่องที่ยากแล้ว ตอนระบาดใหม่ๆปลายเดือนมกราคม รัฐมนตรีพาณิชย์ยังบอกอยู่เลยว่าเรามีสต็อกอยู่ 200 ล้านชิ้น และมีโรงงานอยู่ 11 โรงงานมีศักยภาพการผลิต เดือนละ 100 ล้านชิ้น น่าจะเพียงพอ จริงอยู่การพูดตอนนั้นภาวการณ์ระบาดยังไม่รุนแรงความต้องการใช้หน้ากากของคนไทยยังไม่สูงเหมือนตอนนี้ ตอนนี้อุปสงค์นั้นมันมีสูงกว่าอุปทาน แต่เรื่องหน้ากาก 200 ล้านชิ้นที่สังคมตั้งคำถามก็ไม่มีใครออกมาอธิบายให้กระจ่าง
กระทั่งผ่านไป 1 เดือน ท่ามกลางวิกฤตหน้ากากอนามัยของทั้งประชาชนและโรงพยาบาล เพิ่งจะออกมาบอกว่า ที่บอกว่า มีสต็อกอยู่ 200 ล้านชิ้นนั้นเป็นวัตถุดิบที่สามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้ คำถามว่าจริงไหม ถ้าจริง ทำไมเพิ่งมาอธิบายตอนนี้ และทำไมไม่อธิบายเสียตั้งแต่เขาตั้งคำถามกันในช่วงแรก จนเป็นเหตุนายกรัฐมนตรีต้องสั่งปลดอธิบดีกรมการค้าข้ามหน้ารัฐมนตรีอย่างไร้เยื่อใย แล้วยึดอำนาจในการแจกหน้ากากกอนามัยจากกระทรวงพาณิชย์ไปให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข
ตอนนี้โรงพยาบาลเกือบทุกโรงก็ไม่ได้รอคอยความหวังจากรัฐบาล ต่างๆออกมาขอบริจาคทั้งเงินและอุปกรณ์การแพทย์จากประชาชน เพราะรู้ว่ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ ทางเดียวคือ พึ่งพิงการบริจาคจากประชาชนที่ไประดมกว๊านซื้อจากตลาดมืดมาให้
แต่วิธีการแบบนี้ก็เป็นดาบสองคม เพราะตราบใดที่รัฐบาลทำให้อุปกรณ์การแพทย์ขาดแคลนแบบนี้และแก้ปัญหาไม่ได้ ภาคเอกชนที่อ่อนแรงอยู่แล้วก็ต้องเอาไปซื้อในตลาดมืดเพื่อนำมาบริจาคให้โรงพยาบาล กลายเป็นการส่งเสริมตลาดมืดและทำให้พ่อค้าที่กักตุนยิ่งร่ำรวยขึ้น แต่ถ้าไม่ช่วยกันตามนิสัยการมีน้ำใจของคนไทยก็สงสารและเป็นห่วงบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้
ประชาชนหงุดหงิดกับการจัดการไม่ได้ของการขาดแคลนหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ มาจนถึงไข่ไก่ ที่เป็นงานของกระทรวงพาณิชย์ที่สะท้อนความผิดพลาดล้มเหลวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แม้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะทำให้นายกรัฐมนตรียึดอำนาจของรัฐมนตรีไปให้ปลัดกระทรวงเพื่อสั่งการตรงด้วยตัวเองแล้ว แต่ประชาชนก็มีคำถามอยู่ดีว่า เราจะเก็บรัฐมนตรีที่มีคุณสมบัติแบบนี้เอาไว้ไหม
แม้จะรู้ว่าเป็นเรื่องยากในภาวะที่รัฐบาลผสมจากการเลือกตั้งที่ต้องพึ่งพาเสียงของพรรคร่วม มันยากยิ่งขึ้นไปอีกว่า นายกรัฐมนตรีจะบอกแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ว่าของเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีก็คงจะยาก เพราะแกนนำสำคัญสุดของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นั่นแหละ
แต่ไม่รู้ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะรู้ตัวไหม คนในพรรคอาจจะรู้ตัวแต่ระบบลำดับชั้นและศักดิ์ในพรรคนั้นก็คงยากที่จะจัดการอะไร ชวนให้คิดว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคจะเหลือเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานที่มั่นอย่างภาคใต้ ก่อนหน้านี้เราก็เห็นประสิทธิภาพกับรัฐมนตรีของพรรคนี้มาครั้งหนึ่งแล้วเรื่อง 3 สารพิษ ที่เราเห็นว่า รัฐมนตรีเกษตรเจ้ากระทรวงไม่ได้แข็งขันเลยเมื่อเทียบกับรัฐมนตรีช่วยจากพรรคภูมิใจไทยที่ตีกินเก็บแต้มไปหมด แล้วให้ตายเถอะทั้ง 2 กระทรวงก็ยังบริหารโดย 2 คนที่อยู่บนยอดสุดของพรรคเสียด้วย
ภาวการณ์เป็นผู้นำขอ งพล.อ.ประยุทธ์เองก็ไม่ได้สะท้อนความคาดหวังอะไร แน่นอนประชาชนที่เชียร์รัฐบาลก็ยังออกมาเถียงแทนและให้กำลังใจอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านเลยไปภาวะวิกฤตมากระทบกับตัวเองตรงๆ แล้ว ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จะยังรักษาอารมณ์แบบนั้นอดกลั้นเพื่อนายกรัฐมนตรีที่เรารักอยู่ได้ตลอดไปไหม
อย่าประมาทกับภาวการณ์แบบนี้ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถ้าประชาชนในยุคโซเชียลมีเดียจะต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยข้าวยากหมากแพงดังคำคาดการณ์ของ IMF แล้ว รัฐบาลก็ต้องเตรียมการรับมือกับคลื่นสึนามิเอาไว้ ซึ่งผมเชื่อว่า อำนาจรัฐจะเข้มแข็งขนาดไหนจะใช้อำนาจตามกฎหมายที่เข้มข้นแค่ไหนก็เอาไม่อยู่
ผมนึกภาพภาวะเลวร้ายที่สุดไม่ออก เพราะโรคระบาดร้ายแรงแบบนี้เคยเกิดกับโลกของเราถอยไปเป็นร้อยปี ตอนนั้นอาจจะยังไม่รู้จักไวรัส อาจนึกว่าผีห่าซาตานลงทัณฑ์เสียด้วยซ้ำ แถมตอนนั้นยังมีไม่กี่ประเทศที่รู้จักประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของประชาชน อำนาจหน้าที่ของรัฐ จึงยังไม่เห็นความวุ่นวายที่กลายเป็นการจลาจล
ผมคิดว่า ตอนนี้รัฐบาลต้องคิดให้ยาวไกลไป หลายคนถามว่าเราจะกลับมาใช้ชีวิตทำมาหากินเลี้ยงชีพได้ตามปกติเมื่อไหร่ ถ้าให้ผมตอบก็จะนึกว่า อาจต้องให้มียอดผู้ป่วยมียอดเป็นศูนย์ทุกวันติดต่อกันอย่างน้อย 1 วงรอบของการแพร่เชื้อคือ 14 วัน แต่ถามว่ามองเห็นความหวังนั้นไหม ก็ต้องบอกว่ายังไม่เห็นเลย แล้วถ้ายิ่งหวังให้เจอวัคซีนป้องกันก็ยิ่งจะรู้อยู่แล้วว่ามันอาจจะยาวนานเป็นปี
ดังนั้นต้องนึกภาพความเลวร้ายที่สุดที่อาจจะต้องเผชิญนึกถึงความโกลาหลจากภาวะที่บีบคั้นจากการดำรงชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคม ณ วันนั้นเอาไว้ แล้วคิดเสียแต่วันนี้ว่ารัฐบาลจะรับมืออย่างไร
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan