xs
xsm
sm
md
lg

รัฐอัดเงินเข้าระบบ 1.9 ล้านล้าน หนุนจีดีพีปีนี้ติดลบน้อย-หุ้นขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บล.เอเซีย พลัส มองเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเฟส 3-4 ที่เตรียมเข้าระบบอีกกว่า 1.9 ล้านล้านบาทช่วยดันเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบต่ำกว่าคาดการณ์ หนุนตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวระยะสั้น แนะกลยุทธ์ลงทุนเดือน เม.ย. สะสมหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งที่ปรับฐานลงมาแรงในช่วงเกิด COVID-19 แต่มีโอกาสฟื้นได้แรงกว่าตลาดฯ เชียร์ CENTEL SEAFCO

วานนี้ (7 เม.ย.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิด-เยียวยาโควิด-19 เฟส 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท และอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์ว่า มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจะทําให้การเติบโตของ GDP ปี 2563 ไม่เลวร้ายมากนัก เนื่องจากประเมินว่าไวรัส COVID-19 ที่เกิดพร้อมกันทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัว และตลาดหุ้นปรับฐานแรง ซึ่งหากพิจารณาวิกฤตไวรัส COVID-19 ครั้งนี้เทียบกับวิกฤตแต่ละครั้ง พิจารณาปัจจัยแวดล้อม และเทียบกับวิกฤตซับไพรม์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ปี 2552 มีความคล้ายกันในหลายประเด็น ดังนี้

เศรษฐกิจหดตัวคล้ายกัน คือ World GDP Growth ปี 2563 คาด -1% yoy เทียบกับวิกฤตซับไพรม์ World GDP Growth -0.1% ขณะที่ไทยคาดการณ์ GDP Growth ปี 2563 (Consensus เช่น ธปท.คาด -5.3%yoy, Worldbank คาด -5% ASPSคาด -1.4%) เทียบกับวิกฤตซับไพรม์ GDP Growth ไทยหดตัว -0.7%

มาตรการกระตุ้นการเงิน หลายประเทศทั่วโลกปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์ อาทิ สหรัฐฯ ล่าสุด อยู่ที่ 0.25% รวมถึงไทยที่ปรับอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ 0.75% ระดับต่ำกว่าในช่วงวิกฤตต้มยํากุ้งปี 2540 และอัดฉีดเงินเข้าซื้อพันธบัตร QE หลายประเทศ ปัจจุบันใช้วงเงินมากกว่าวิกฤตซับไพรม์

มาตรการกระตุ้นการคลัง เศรษฐกิจที่ชะลอทั่วโลก ทําให้เห็นว่ารัฐบาลกลางเร่งอัดฉัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และช่วยเหลือผ่านภาษี เช่น สหรัฐฯ อัดฉีดงบประมาณวงเงินราว 2.16 ล้านล้านเหรียญ (10% ของ GDP) เช่น ให้เงินแก่ประชาชน 1,000 เหรียญต่อคน, ชดเชยการหยุดงาน, ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น, ญี่ปุ่น พิจารณางบประมาณฉุกเฉินกว่า 108 ล้านล้านเยน (9.89 แสนล้านเหรียญ) หรือประมาณ 20% ของ GDP เพื่อช่วยครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

ขณะที่ไทยเตรียมการจัดหาเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 3-4 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท หรือราว 10% ของ GDP ไทย หลังจากการประชุม ครม.รอบพิเศษเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วได้ข้อสรุปสําคัญ หลักๆ คือ Funding เงินทุน เพื่อรองรับมาตรการทั้งการช่วยเหลือประชาชน และดูแลตลาดเงินและตลาดทุนรองรับผลกระทบ COVID-19 หลักๆ 2 ทาง คือ

มาตรการด้านภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ประกอบด้วย พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท (50.8% ของวงเงินรวม) การปรับลดงบประมาณรายจ่ายของแต่ละกระทรวงลง 10% วงเงินประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท (3-3.5% ของวงเงินรวม) มาตรการด้านภาคการเงิน (Financial Sector) ผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อให้ ธปท.เข้าไปซื้อตราสารหนี้ผ่านกองทุนที่ตั้งขึ้น (20.3% ของวงเงินรวม) และ พ.ร.ก. Solf Loan วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินนําไปปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือภาคธุรกิจและลูกหนี้ของธนาคารในกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ (25.4% ของวงเงินรวม)

เม็ดเงินฟื้นเศรษฐกิจ ช่วยจีดีพีปีนี้ติดลบน้อยลง-หนุนหุ้นขึ้น


ASPS ระบุว่า เป็นที่แน่ชัดว่า GDP ปี 2563 คาดจะติดลบหากอ้างอิงประมาณการของ ธปท. เศรษฐกิจไทยปี 2563 หมายความว่าขนาด GDP จะลดลงราว 5.79 แสนล้านบาท คิดจาก Real GDP ปี 2562 ที่อยู่ที่ 10.93 ล้านล้านบาท โดยรวม 2 เม็ดเงินรวมเข้าระบบราว 1.9 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีส่วนทำให้ GDP Growth ไทยปี 2563 ติดลบน้อยลง และถือเป็นปัจจยหนุนตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น

ทั้งนี้ แรงหนุนทั้งจากมาตรการกระต้นเศรษฐกิจแบบจัดเต็มของแต่ละประเทศ เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่นอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบกว่า 10% ของ GDP และ 20% ของ GDP ตามลำดับ บวกกับการคาดหวังว่าการ Lock Down จะช่วยให้การระบาดของโรคคลี่คลายได้เร็วขึ้น หนุนให้ตลาดหุ้นที่มีการประกาศ Lock Down ปรับตัวขึ้นตั้งแต่วันประกาศถึงปัจจุบันเฉลี่ยสูงถึง 6.23% (ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20 ใน 25 ประเทศ)

สภาวะดังกล่าวตรงตามกลยุทธ์การลงทุนในเดือน เม.ย. แนะนําสะสมหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งที่ปรับฐานลงมาแรงในช่วงที่เกิด COVID-19 แต่เวลาฟื้นมีโอกาสฟื้นได้แรงกว่าตลาดฯ

Top Picks เลือก CENTEL และ SEAFCO

CENTEL(FV @ 21.00) แม้ฝ่ายวิจัยประเมินบริษัขาดทุนในปี 2563F ราว 111 ล้านบาท และ Turn Around เป็นกําไร 1,118 ล้านบาท ในปี 2564F แต่ราคาหุ้นปรับฐานลงมากว่า 40%ytd จน Upside เปิดกว้างมาก บวกกับ CENTEL มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งสุดในกลุ่ม โดยมีสัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยเทียบส่วนของผู้ถือหุ้น IBD/E ณ สิ้นปี 2562 เพียง 0.62 เท่า ถือเป็นโอกาสดีในการเข้าสะสมเพื่อหวังผลระยะกลางถึงยาว

SEAFCO(FV @ 9.30) หนึ่งในหุ้นกลุ่มก่อสร้างที่ราคาปรับตัวลงแรงกว่า 30% ตั้งแต่ต้นปีเนื่องจากได้รับ Sentiment เชิงลบจากประเด็น COVID-19 อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยคาดว่าทิศทางกําไร 1Q63 ยังโดดเด่น จากการรับรู้รายได้โครงการใหญ่พร้อมกัน เช่น โครงการทางด่วนดาวคะนอง-พระราม 3, หมอชิต คอมเพล็กซ์ และดุสิตธานี ขณะที่ Backlog ปัจจุบันสูงถึง 2.57 พันล้านบาท สามารถ Secured รายได้ปีนี้ไปแล้วกว่า 87% หากพิจารณาด้าน Valuation ถือว่าน่าสนใจ โดยให้ Dividend Yield 63F สูงถึง 6.34% และ PER ซื้อขายเพียงแค่ 8 เท่า จึงถือเป็นโอกาสสะสม


กำลังโหลดความคิดเห็น