xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เห็นชอบเยียวยาพิษโควิดชุดใหญ่ระยะ 3 ครอบคลุมทุกมิติ ตัด 10% ของงบฯ 63 มาใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
ครม.นัดพิเศษ เห็นชอบมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ระยะที่ 3 ในช่วงเวลา 6 เดือน โดยช่วยเหลือประชาชน-ภาคธุรกิจ ที่ยังไม่ได้รับการดูแล จัดกิจกรรมเศรษฐกิจในช่วงที่ทุกอย่างติดขัด และดูแลภาคการเงิน โดยดึงเงิน 10% จากงบฯ 63 มาใช้จ่าย พร้อมออก พ.ร.ก.2 ฉบับ จัดหาเงินกู้ซอฟต์โลนช่วยเอสเอ็มอี

วันนี้ (3 เม.ย.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจระยะ 3 ชุดใหญ ที่ครอบคลุมทุกมิติในระยะ 6 เดือน แบ่งมาตรการเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. เยียวยาดูแลภาคประชาชนและธุรกิจ ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ 2. ดูแลให้มีกิจกรรมเศรษฐกิจในช่วงที่ทุกอย่างติดขัด เพื่อไม่ให้เศรษกิจไทยหยุดชะงักในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า และ 3. ดูแลภาคเศรษฐกิจการเงิน เพราะทุกครั้งที่เกิดปัญหากับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ย่อมกระทบไปถึงภาคการเงินด้วย แม้ขณะนี้ทุกอย่างยังไม่มีปัญหา แต่เพื่อความไม่ประมาท รัฐบาลจึงต้องวางมาตรการให้ครอบคลุมครบถ้วน

ส่วนวงเงินที่นำมาใช้ส่วนหนึ่งจะนำมาจากงบประมาณรายจ่ายของประเทศ เพื่อให้การใช้งบประมาณแก้ปัญหาบ้านเมืองมีประสิทธิภาพสูงสุด คาดว่า จะอยู่ที่ 10% ของงบประมาณปี 2563 ในส่วนที่สามารถนำมาใช้ได้ โดยกระทรวงต่างๆ ก็เห็นด้วยซึ่งกระทรวงการคลังจะหารือกับสำนักงบประมาณต่อไป และอีกส่วนหนึ่ง จะมาจากการกู้ยืมโดยกระทรวงการคลัง เพื่อนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจและดูแลประชาชน และจากการออก พ.ร.ก.ของธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนวงเงินที่ใช้ทั้งหมดจะเป็นเท่าไรนั้น นายสมคิดกล่าวว่า ต้องรอให้หลัง ครม.ชุดใหญ่มีมติก่อน เพระว่าต้องมีการเจรจากับสำนักงบประมาณ เพื่อดูรายละเอียดต่างๆ แต่ทั้งหมดนี้เชื่อว่าจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ให้ภาคธุรกิจได้ว่าเราจะก้าวข้ามวิกฤติการนี้ได้

ด้าน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงว่า เตรียมเสนอมาตรการต่างๆ ให้คณะรัฐมตรีชุดใหญ่เห็นชอบในหลักการวันที่ 7 เมษายนนี้ เพื่อลดกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วยการออก พ.ร.ก.เพื่อจัดทำโครงการซอฟต์โลนพิเศษโดยตรง ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโครงการสินเชื่อของธนาคารออมสิน ที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอีขนาดเล็ก

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์ ในการนำเสนอมาตรการชุดต่างๆ โดยเน้นไปที่ลูกค้ารายย่อย ให้พักชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ยระยะหนึ่ง แต่การแพร่ระบาดยังมีความไม่แน่นอน และมีแนวโน้มขยายวงกว้าง จึงจำเป็นต้องขยายมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยการพักเงินต้นและดอกเบี้ย ให้เอสเอ็มอีที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีสินเชื่อที่เป็นสภาพคล่องใหม่ เพื่อช่วยเหลือรายที่ขาดเงินทุนหมุนเวียน และดูแลให้ธุรกิจก้าวข้ามสถานการณ์วิกฤตไปได้

นอกจากนี้ เสนอให้ออก พ.ร.ก.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ซื้อตราสารที่ครบกำหนดชำระ แต่ต้องเป็นตราสารที่ออกโดยบริษัทที่มีคุณภาพดี

นายวิรไท บอกด้วยว่า จะมีมาตรการขยายระยะเวลาคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งตามกำหนดเดิมเดือนสิงหาคม 2563 วงเงินคุ้มครองเงินฝากจะลดลงจาก 5 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท ซึ่งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เสนอให้ยืดระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี เพื่อยังคงคุ้มครองเงินฝาก 5 ล้านบาทต่อไปถึงเดือนสิงหาคม 2564 เพื่อช่วยลดความกังวลของประชาชน รวมทั้งจะให้สถาบันการเงินลดการนำเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จากเดิมอัตรา 0.46% เหลือ 0.23% ในระยะเวลา 2 ปี เพื่อลดต้นทุนให้สถาบันการเงิน ซึ่งคาดหวังว่า จะนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้กับประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น