"ออมสิน" จับมือแบงก์พาณิชย์-แบงก์รัฐ พร้อมอัดฉีดเงินกู้ซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ประคองผู้ประกอบการไทยถูกพิษโควิด-19 หลังจัดลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ออนไลน์ ผ่าน VDO Conference โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 ธ.ค.63 คาดโครงการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินหมุนเวียนดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพได้ไม่น้อยกว่า 7.5 พันราย
วันนี้ (20 ม.ค.) ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อ Covid-19 ระหว่างธนาคารออมสิน และสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวม 20 แห่ง ด้วยระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ หรือ VDO Conference เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับเสริมสภาพคล่องและลงทุนให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านกลไกของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ ที่ร่วมผนึกกำลังเป็นแหล่งทุนสนับสนุน รวมถึงเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อ Covid-19 เป็นการเร่งด่วน
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยรวม ขณะที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว ซึ่งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อ Covid-19
โดยกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเร่งดำเนินการเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินโครงการรวม 150,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อ Covid-19 ภายในวงเงิน 135,000 ล้านบาท และให้ธนาคารออมสินให้สินเชื่อโดยตรงในวงเงินอีก 15,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2.00% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยังคาดว่า โครงการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินหมุนเวียนดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพได้ไม่น้อยกว่า 7,500 ราย และจากเครือข่ายสาขาของสถาบันการเงินทุกแห่งเข้าร่วมโครงการ จะช่วยให้เม็ดเงินจากโครงการนี้เข้าถึงลูกค้าและระบบเศรษฐกิจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการผ่อนคลายความกังวล มีความเข้มแข็งที่จะดำเนินกิจการภายใต้ความกดดันของพิษภัยจากเชื้อไวรัสโคโรนา Covid-19 นี้ได้
อย่างไรก็ตาม ธนาคารออมสินยังมีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระหนี้ของกิจการ สำหรับลูกค้ารายใหม่และลูกค้าเดิมของธนาคารออมสินสามารถขอสินเชื่อประชารัฐสร้างไทย หรือสินเชื่อ GSB SMEs Extra Liquidity ก็ได้ อีกทั้งยังมีมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าจะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการยังคงมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และพลิกฟื้นธุรกิจได้ต่อไป