xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เคาะออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน โอนงบ 63 อีก 1 แสนล้านแก้พิษโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครม.อนุมัติปรับ พ.ร.บ.งบประมาณ 63 โอนงบ 8 หมื่น-1 แสนล้านใช้แก้ผลกระทบโควิด-19 พร้อมออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทฟื้นฟูเศรษฐกิจ และออก พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับให้อำนาจ ธปท.ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 500,000 ล้านบาท และซื้อตราสารหนี้เอกชนวงเงิน 400,000 ล้านบาท

วันนี้ (7 เม.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมมีการพิจารณาการแก้ปัญหาโควิด-19 ตนในฐานะนายกฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานไปคิดมาตรการต่างๆ ออกมาซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนหนึ่ง โดยวันนี้มีการหารือในประเด็นการจัดทำ พ.ร.บ.การโอนงบประมาณปี 63 เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งกลับมาใช้ในระบบโดยเติมที่งบกลางให้มากยิ่งขึ้น แต่งบประมาณปี 63 ได้ใช้จ่ายไปพลางก่อนมากพอสมควรแล้ว และยังเหลืออีกจำนวนหนึ่งประมาณ 8 หมื่น ถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นก้อนแรกที่จะมาเพิ่มเติมในงบกลางที่เหลืออยู่ปัจจุบันประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยในส่วนนี้ที่ใช้จ่ายไปแล้วคืองบกลางที่ตั้งไว้ในปี 63 ประมาณ 69,000 ล้านบาท

“วันนี้พูดกันถึงเรื่อง พ.ร.บ.การโอนงบกลาง ซึ่งจะต้องนำเสนอเข้า ครม. สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาอีกครั้งหนึ่ง โดยดาดว่ามีผลบังคับใช้ต้นเดือน มิ.ย. อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายข้อกำหนดว่าจะเอาเงินอะไรมาใช้ได้บ้าง โอนส่วนไหนได้บ้าง เพราะบางอย่างก็ไม่โอนไม่ได้ เช่น งบฯ บุคลากรอะไรต่างๆ ที่บางอย่างโอนไม่ได้ ดังนั้น ขอให้ทราบว่าการเอาตัวเลขใหญ่ๆ มาทั้งหมดแล้วเอา 10% ไปตัดทีเดียวทำได้ยาก ไม่เป็นไปตามกฎหมายและ พ.ร.บ.งบประมาณที่มีอยู่แล้วเดิม” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) และ พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.สามารถเข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดีที่ครบกำหนดชำระ โดยมีวงเงิน 9 แสนล้าน ซึ่งในส่วนนี้ไม่ได้เป็นการกู้เงิน ไม่ได้ใช้เงินของรัฐบาล แต่เป็นการให้อำนาจ ธปท.

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งตั้งวงเงินไว้ที่ 1 ล้านล้านบาท โดยในระยะที่ 1 ประมาณ 6 แสนล้านบาท เป็นการเยียวยาและใช้ในด้านสาธารณสุข ระยะที่ 2 จำนวน 4 แสนล้านบาทเป็นการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจที่ต้องดำเนินการคู่ขนานกันไป อย่างไรก็ตาม ต้องรอ พ.ร.บ.งบประมาณมีผลบังคับใช้ต้นเดือน มิ.ย.นี้ โดนหลังจากนี้ต้องเร่งดำเนินการเรื่อง พ.ร.ก.เงินกู้ให้เรียบร้อย ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการพิจารณามาตรามาตรการต่างๆ ไว้แล้วว่าจะใช้เงินตรงไหนอย่างไรบ้าง แต่ก็สามารถปรับโอนกันได้ วันนี้หลายอย่างมีความจำเป็นอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น