xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ชี้ช่องรัฐนำ “เงินทุนสำรองจ่าย” ใช้สู้วิกฤตโควิด-19 ไม่ต้องโอนหรือกู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.ว.คำนูณ” เสนอรัฐนำ “เงินทุนสำรองจ่าย” ที่มี 50,000 ล. ออกมาใช้กับมาตรการโควิด-19 ทำได้เลยไม่ต้องโอน หรือกู้

วันนี้ (30 มี.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kamnoon Sidhisamarn หัวข้อเรื่องเงินทุนสำรองจ่าย 50,000 ล้าน ! โดยระบุว่า เข้าใจครับว่างบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการ “เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น” ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มาตรา 6(11) ที่ตั้งไว้จำนวน 96,000 ล้านบาท ร่อยหรอลงจนใกล้หมดในอีกไม่นานนัก เพราะวิกฤต COVID-19 โดยหมดไปกับค่าใช้จ่ายเพื่อการเตรียมการป้องกันและรักษา รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเนื่องกันหลายต่อหลายมาตรการ และยังจะต้องมีอีกหลายต่อหลายมาตรการ จำเป็นต้องเติมเงินเป็นการด่วน

วิธีการที่ผม และอีกหลายท่านรวมทั้งรัฐมนตรีบางท่าน เคยเสนอไป มีอยู่ 2 วิธี
1. โอนงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ที่ไม่เหมาะกับสถานการณ์แล้วมาสัก 10% เป็นอย่างน้อย
2. กู้เงินมาใช้จ่ายเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

โดยผมเห็นว่าควรทำ 1 ก่อน 2 ด้วยเหตุผลหลายประการที่ยังไม่ขอกล่าวซ้ำและเสริมในวันนี้ ทั้ง 2 วิธีต้องทำเป็นกฎหมายและในสถานการณ์ปัจจุบันสามารถืำเป็นกฎหมายระดับพระราชกำหนด

แต่มีอยู่อีกวิธีหนึ่งตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 45 สามารถทำได้เลยโดยใช้เพียงมติคณะรัฐมนตรี ไม่ต้องทำเป็นพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติด้วยซ้ำ คือให้นำเงินส่วนที่เรียกว่า “เงินทุนสำรองจ่าย” ออกมาใช้! มีอยู่ 50,000 ล้านบาท!

เงื่อนไขที่จะสามารถทำได้ ก็คือ เมื่องบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการ “เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือมีความจำเป็น” ไม่เพียงพอ และเมื่อได้จ่ายไปแล้ว ก็เพียงแต่ให้คณะรัฐมนตรีตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายเพื่อสมทบเงินทุนนั้นไว้จ่ายต่อไปในโอกาสแรก ซึ่งในกรณีนี้ก็คือในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการแล้ว

นี้ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นบทบัญญัติใหม่ใน พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เสียทีเดียว เพราะใน พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ก็มีบัญญัติไว้ในทำนองเดียวกัน โดยอยู่ในมาตรา 29 ทวิ เพียงแต่ยอดเงินในกฎหมายวิธีการงบประมาณฉบับเก่าปี 2502 มีเพียง 100 ล้านบาทเท่านั้น

สรุป นอกจากจะโอน หรือกู้ วิธีที่ทำได้ก่อนเลย คือ คณะรัฐมนตรีมีมติให้นำเงินทุนสำรองจ่ายจำนวน 50,000 ล้านบาทตามมาตรา 45 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ออกมาใช้ไปก่อน

จึงเรียนเสนอมาด้วยความเคารพ
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา


กำลังโหลดความคิดเห็น