xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ”หนุนโยก10%ของงบ63ไว้ในงบกลางสู้โควิด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณี นายสมคิด จารุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า จะออกกฎหมายโอนงบประมาณ 10 % ของงบประมาณรายจ่าย ปี 2563 ที่เหลืออยู่จากทุกหน่วยมาไว้ที่งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการ"เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น" เพื่อรับมือวิกฤตโควิด-19 ว่า ขอสนับสนุนแนวทางนี้ของรัฐบาล เพราะขณะนี้งบกลาง จำนวน 96,000 ล้านบาท ถูกใช้จ่ายในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ของเชื้อ โควิด-19 ไปแล้วจำนวนมาก และยังมีค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆอีก ในขณะที่งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2563 ในปัจจุบัน จัดทำมาตั้งแต่กลางปี 2562 ซึ่งมีบางส่วนไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยบางส่วนไม่สามารถใช้จ่ายได้ หรือบางส่วนใช้จ่ายไม่ทัน โดยเฉพาะงบประมาณในส่วนของการอบรมสัมมนา การเดินทางไปดูงานต่างประเทศ จึงควรจัดสรรเงินในส่วนที่ไม่ได้ใช้จ่ายดังกล่าวนี้ มากองไว้ที่งบสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อรับมือกับโควิด-19 และกรณีนี้ถือว่าเข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 สามารถออกเป็นพระราชกำหนดโยกงบประมาณได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์
"เห็นว่าเป็นแนวทางแรกที่จะได้เงินมาเร็วที่สุด เพราะเป็นเงินงบประมาณอยู่แล้ว เพียงแต่เอามาใช้ให้ถูกที่ถูกทาง ซึ่งเมื่อออกเป็นกฎหมายแล้ว ก็สามารถจะตัดมาใช้ได้เลย เช่น งบบริหารราชการของหน่วยงานที่จะไปดูงานต่างประเทศ การจัดอบรมสัมมนา หรือเบี้ยประชุมต่างๆ ซึ่งไม่ได้ทำอย่างน้อย 3 เดือน เพราะไม่มีทางเดินทางไปไหนได้อยู่แล้ว ก็เอาออกมาจากหมวดนั้น โอนย้ายมาที่งบกลาง ใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งเมื่อเอามากองอยู่ตรงนี้ท่านนายกรัฐมนตรี ก็สามารถ นำมาใช้ได้เลย จะซื้อหน้ากาก จะจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม หรือจะเยียวยาอะไร ก็สามารถทำได้เลย"
นายคำนูณ กล่าวว่า หากเงินงบประมาณในส่วนนี้ยังไม่พอเพียง ยังมีอีกทางเลือก คือเงินในกองทุนสำรอง ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ ซึ่งใน มาตรา 45 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่จำเป็นในการใช้บริหารราชการแผ่นดิน และงบกลางในการใช้สำรองจ่ายฉุกเฉิน หรือจำเป็นไม่เพียงพอ คณะรัฐมนตรี ก็สามารถมีมติออกมา ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำเงินกองทุนในส่วนนี้ออกมาใช้ได้ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 50,000 ล้านบาท แต่มีข้อเสียว่าเมื่อนำออกมาใช้แล้ว จะต้องไปตั้งจ่ายคืนในปีงบประมาณถัดไป อาจทำให้งบประมาณ ปี 2564 ต้องลดลง หรืออีกทางคือ การออกเป็นพระราชกำหนด อนุญาตให้กระทรวงการคลัง กู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาวิกฤตนี้ แต่เห็นว่าแนวทางนี้ น่าจะเป็นทางสุดท้ายที่จะดำเนินการ
กำลังโหลดความคิดเห็น