xs
xsm
sm
md
lg

๑๐ มิถุนานี้เมื่อ ๑๒๑ ปีก่อน คนไทยได้ดูหนังเป็นครั้งแรก! ภาพมหัศจรรย์ที่เคลื่อนไหวได้!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค

ป้ายโฆษณาของพี่น้องลูมิแอร์
การฉายภาพยนตร์ครั้งแรกจองโลกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๔๓๘ ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในปารีส โดยชาวฝรั่งเศส ๒ พี่น้อง โอกุส และ หลุยส์ ลูมิแอร์ นำภาพยนตร์ ๑๒ เรื่องที่เขาถ่ายทำโดยเครื่องมือให้ชื่อว่า “ซีเนมาโตกราฟ” ที่คิดขึ้นเองใช้ถ่ายและฉายได้ด้วยตัวเอง ต่อมาก็สร้างขึ้นอีกหลายเรื่อง ส่งไปฉายยังประเทศต่างๆทั่วโลก ขณะเดียวกันก็ถ่ายภาพยนตร์ในท้องถิ่นนั้นมาด้วย

มีบันทึกว่า ในปลายปี ๒๔๓๙ ภาพยนตร์ของพี่น้องลูมิแอร์ ได้เข้ามาฉายที่อินเดียและออสเตรเลีย จนในปี ๒๔๔๐ จึงมาถึงประเทศไทย โดยหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลายในยุคนั้น ลงพิมพ์โฆษณาฉายภาพยนตร์ขึ้นเป็นครั้งแรกในวันพุธที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๔๐ โดยลงทั้งในหน้าภาษาอังกฤษและหน้าภาษาไทย มีข้อความทำนองเดียวกันว่า จะมีการแสดงสิ่งมหัศจรรย์ที่เรียกว่า ปาริเซียน ซีเนมาโตกราฟ ซึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวได้ โดยจะแสดงเพียง ๓ คืน คือวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ ถึงวันเสาร์ที่ ๑๒ มิถุนายนเท่านั้น ที่โรงหม่อมเจ้าอลังการ มีแตรวงประกอบ และมีการแสดงมายากลโดยโปรเฟสเซอร์มอริส นักมายากลผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกตะวันตกสลับด้วย โรงจะเปิดในเวลา ๒ ทุ่ม ตรงกับ ๘ โมงฝรั่ง ราคาค่าชมห้องหนึ่งที่มีเก้าอี้หลายตัว (ชั้นบ็อกซ์) ราคา ๑๐ บาท ชั้นที่ ๑ ราคา ๓ บาท ชั้นที่สองราคา ๒ บาท ชั้นที่สี่นั่งที่วงเวียน ๒ สลึง เด็กที่อายุต่ำกว่า ๑๐ ขวบจะเรียกเอาราคาแต่ครึ่งเดียว พร้อมระบุผู้นำภาพยนตร์มาฉาย คือนาย เอส.จี. มาร์คอฟสกี้

แม้ราคาค่าดูจะค่อนข้างสูงสำหรับยุคนั้น แต่ก็มีคนสนใจไปชมกันมากกว่า ๖๐๐ คน ซึ่งบางกอกไทม์ฉบับวันที่ ๑๒ มิถุนายน ได้รายงานไว้ว่า

“การเล่นเรียกชื่อว่า ปาริเซิน ซีเนโตรแกรฟ อันได้เล่นที่โรงลครหม่อมเจ้าอลังการ ริมโรงหวย เมื่อคืนที่แล้วนั้น เปนการแปลกปลาดน่าดูจริง รูปประดาน้ำกับรูปศรีต่อยมวยทำเหนจริง มีคนชอบกันมาก แล้วตัวละครที่ชำนาญในการเล่น ได้ออกมาแสดงการเล่นต่างเปนที่เห็นจริงน่าชมทุกอย่าง มีเจ้านาย ขุนนาง แลประชาชนชายหญิง ได้ไปดูไปชมประมาณ ๖๐๐ กว่า ละครนี้จะเล่นอีกคืนเดียววันนี้เท่านั้น เชิญไปดูเถิดจะได้เป็นขวัญตาไว้เล่าสู่บุตรหลานฟังต่อไป ไม่น่าเสียดายเงินเลย”
ประตูสามยอดที่ตั้งโรงละครหม่อมเจ้าอลังการ
นี่ก็เป็นประวัติศาสตร์การฉายภาพยนตร์ครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ ๑๒๑ ปีก่อน ซึ่งในวันนี้คนไทยเราก็เป็นแฟนภาพยนตร์ไม่น้อยหน้าชาติไหนในโลก

หลังจากที่นาย เอส.จี. มาร์คอฟสกี้ นำปาริเซียน ซีนีมาโตกราฟเข้ามาสร้างความตื่นเต้นให้คนไทยแล้ว ก็มีคณะหนังเร่นำหนังเข้ามาฉายให้คนไทยดูเป็นระยะ ซึ่งส่วนมากจะใช้โรงละครและโรงแรมโอเรียลเตลเป็นที่ฉาย จนในปี ๒๔๔๗ จึงมีคณะหนังเร่จากญี่ปุ่นเข้ามาพร้อมกระโจมผ้าใบ และใช้ลานกว้างของวัดชัยชนะสงครามหรือวัดตึก เป็นที่กางกระโจมฉาย ส่วนภาพยนตร์ที่ฉายก็ถ่ายมาจากสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซียซึ่งเกิดขึ้นในขณะนั้น โดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะ มีศพทหารรัสเซียนอนตายกันเกลื่อนกลาด

ในปีต่อมา คณะหนังเร่ของญี่ปุ่นคณะเก่ากลับเข้ามาอีก และเห็นว่าชาวสยามนิยมดูภาพยนตร์แต่ยังไม่มีโรงภาพยนตร์เลย จึงสร้างโรงถาวรขึ้นที่ลานวัดตึกนั้น จัดฉายภาพยนตร์เป็นประจำทุกวัน

โรงภาพยนตร์แห่งนี้จึงถือได้ว่าเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกของสยาม เรียกกันว่า “โรงหนังญี่ปุ่น” และเรียกภาพยนตร์ในยุคนั้นว่า “หนังญี่ปุ่น”ไปด้วย

กิจการของโรงหนังญี่ปุ่นรุ่งเรืองมาก จึงมีนักธุรกิจสยามสร้างโรงภาพยนตร์ขึ้นบ้างอีกหลายโรง เช่น โรงหนังวังเจ้าปรีดา โรงหนังสามแยก โรงหนังพัฒนากร เป็นต้น หนังที่ฉายยุคแรกยังเป็นหนังข่าว หนังสารคดี ยาวพียงไม่กี่นาที จะมีหนังเรื่องบ้างก็แค่สั้นๆ จัดฉากแบบละครถ่ายทำ และเป็นหนังเงียบ แม้หนังเงียบจากฮอลลีวูดก็มีเสียงดนตรีในฟิล์มด้วย แต่เมืองไทยไม่มีเครื่องฉายหนังเสียงเลย ต่อมา หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) หัวหน้าแผนกภาพยนตร์ของกรมรถไฟหลวง จึงดัดแปลงเครื่องฉายหนังเงียบของกรมรถไฟหลวงฉายหนังเสียงได้ โดยซื้ออุปกรณ์มาจากสิงคโปร์ และติดตั้งให้โรงพัฒนากรเป็นแห่งแรก เริ่มฉายตั้งแต่วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๔๗๓ เป็นวันแรก หลังจากนั้นโรงภาพยนตร์อีกหลายโรงก็ให้หลวงกลฯติดตั้งเครื่องฉายหนังสียงให้ด้วย สยามจึงมีโรงฉายหนังเสียงเป็นครั้งแรก
เมื่อภาพยนตร์ได้รับความนิยมจากคนไทยมาก และเข้าถึงคนทุกระดับชั้น เป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อสังคมอยู่มาก ทางราชการในสมัยรัชกาลที่ ๗ จึงต้องยื่นมือเข้าควบคุม เพื่อไม่ให้ภาพยนตร์ที่มีพิษภัยออกไปสู่สายตาประชาชน โดยออกพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับแรกขึ้นในปี ๒๔๗๓ ให้ภาพยนตร์ทุกเรื่องต้องส่งให้เจ้าพนักงานตรวจพิจารณาก่อนนำออกฉาย นับเป็นการเริ่มยุคเซนเซอร์ขึ้น
โรงหนังแห่งแรกที่วัดตึก
ในปี ๒๔๗๕ ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองกรุงเทพฯอายุครบ ๑๕๐ ปี นอกจากจะมีการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าและพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๑ ผู้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นที่ระลึกแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่น ยังทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงินกว่า ๙ ล้านบาทให้สร้างโรงภาพยนตร์ที่เชิดหน้าชูตาประเทศขึ้นในงานนี้ด้วย โดยทรงมอบให้ หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกจากฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบ พระราชทานชื่อโรงภาพยนตร์แห่งนี้ว่า “ศาลาเฉลิมกรุง” เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ออกแบบ และเป็นที่ระลึกในการเฉลิมฉลองกรุง

ศาลาเฉลิมกรุงในยุคนั้น ถือได้ว่าเป็นโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยที่สุดในเอเซีย และเป็นโรงแรกที่ติดเครื่องปรับอากาศ เปิดอย่างทางการในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๗๖
ศาลาเฉลิมกรุงในวันเปิด


กำลังโหลดความคิดเห็น