Gearing Up for the Third Gulf War -- Will Washington, Tel Aviv, Riyadh, and Tehran Face Off in a Future Cataclysm?
By Michael T. Klare
13/05/2018
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ตัดสินใจฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อเร็วๆ นี้ จึงถึงเวลาที่ต้องเริ่มต้นขบคิดพิจารณาว่า “สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 3” ซึ่งกำลังทำท่าจะระเบิดขึ้นมานี้ จะมีความหมายว่าอย่างไรได้บ้าง โดยที่คำตอบซึ่งอิงอยู่กับประสบการณ์ของชาวอเมริกันในมหาภูมิภาคตะวันออกกลางในช่วงระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา บ่งชี้ว่ามันจะไม่สวยสดงดงามอะไรหรอก
จากการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์ โดยมีการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่พวกเราที่เหลือทั้งหมดจะต้องเริ่มต้นขบคิดพิจารณาว่า “สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 3” (Third Gulf War) ซึ่งกำลังทำท่าจะระเบิดขึ้นมานี้ จะมีความหมายว่าอย่างไรได้บ้าง โดยที่คำตอบซึ่งอิงอยู่กับประสบการณ์ของชาวอเมริกันในมหาภูมิภาคตะวันออกกลาง (Greater Middle East) ในช่วงระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา บ่งชี้ว่ามันจะไม่สวยสดงดงามอะไรหรอก
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ [1]ว่า กองทหารรบพิเศษของกองทัพบกสหรัฐฯกำลังแอบให้ความช่วยเหลือกองทัพซาอุดีอาระเบียอย่างลับๆ ในการโจมตีเล่นงานพวกกบฎฮูตี (Houthi) ในเยเมน ที่มีอิหร่านคอยหนุนหลังอยู่ นี่เป็นเพียงสัญญาณล่าสุดที่ปรากฏขึ้นมาก่อนการประกาศเรื่องอิหร่านของทรัมป์ ซึ่งบ่งบอกให้ทราบว่าวอชิงตันกำลังเตรียมการสร้างความพรักพร้อมสำหรับความเป็นไปได้ของการเกิดสงครามระหว่างรัฐต่างๆ ในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง สงครามอ่าวเปอร์เซีย 2 ครั้งแรก –ซึ่งก็คือ “ยุทธการพายุทะเลทราย” (Operation Desert Storm) ที่เป็นการรณรงค์ขับไล่กองทหารอิรักให้ออกไปจากคูเวตเมื่อปี 1990 และสงครามสหรัฐฯรุกรานอิรักในปี 2003— ต่างยุติลงด้วย “ชัยชนะ” ของฝ่ายอเมริกัน ถึงแม้ความจริงแล้วมันกลายเป็นการแก้เชือกปลดปล่อยลัทธิก่อการร้ายสายพันธุ์ที่มีพิษร้ายแรงอย่างเช่นพวกไอซิส [2] (ISIS –อีกชื่อย่อหนึ่งของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” หรือ ไอเอส—ผู้แปล) ให้แผ่ขยายลุกลามออกไป , ขณะเดียวกันนั้นก็ทำให้ผู้คนเป็นล้านๆ ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ [3], รวมทั้งยังเขย่าสั่นคลอนมหาภูมิภาคตะวันออกกลางในวิถีทางที่ก่อให้เกิดความวิบัติหายนะ สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 3 –ซึ่งจะไม่ใช่เป็นการเปิดศึกกับอิรักเหมือน 2 ครั้งแรก แต่เป็นการทำสงครามกับอิหร่านและพันธมิตรของประเทศนั้น— ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลลัพธ์จะออกมาโดยฝ่ายอเมริกันได้รับ “ชัยชนะ” อีกหนหนึ่ง ซึ่งน่าจะหมายถึงการคลายปมปลดปล่อยกลุ่มพลังแห่งความปั่นป่วนวุ่นวายและการนองเลือดอันแสนสยดสยองยิ่งกว่าที่ผ่านๆ มาด้วยซ้ำ
เหมือนกับสงครามอ่าวเปอร์เซีย 2 คราวแรก ในครั้งที่ 3 นี้อาจจะมีการปะทะสู้รบกันอย่างดุเดือดรุนแรงยิ่ง ระหว่างกองกำลังรูปแบบต่างๆ ของฝ่ายอเมริกัน กับกองกำลังของอิหร่าน ซึ่งถือเป็นรัฐที่มีการประกอบอาวุธอย่างเพียบพร้อมรายหนึ่ง ขณะที่สหรัฐฯมีประสบการณ์การสู้รบกับไอซิสและพวกองค์กรก่อการร้ายอื่นๆ ในตะวันออกกลางตลอดจนที่อื่นๆ ตลอดระยะเวลาไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ แต่การสงครามเหล่านั้นแทบไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับการทำศึกกับรัฐสมัยใหม่ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะพิทักษ์ปกป้องดินแดนแห่งอธิปไตยของตนด้วยกองทัพมืออาชีพอันมีเจตนารมณ์ความตั้งใจ (ถ้าหากไม่พูดถึงเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์) ที่จะใช้ตอบโต้ต่อสู้กับระบบอาวุธสำคัญๆ ของสหรัฐฯ
สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 3 นี้น่าจะมีความโดดเด่นแตกต่างไปจากการสู้รบขัดแย้งในตะวันออกกลางคราวก่อนๆ ในช่วงระยะหลังๆ ทั้งเมื่อพิจารณาจากขนาดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของการสู้รบกัน และจากจำนวนของตัวแสดงสำคัญๆ ซึ่งอาจเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันด้วย ทั้งนี้มีความเป็นไปได้มากว่าอาณาบริเวณของสมรภูมิจะแผ่ขยายจากชายฝั่งต่างๆ ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเลบานอนตั้งประชิดติดกับอิสราเอล ไปจนถึงช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) ที่อ่าวเปอร์เซียบรรจบเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย ขณะที่ผู้ซึ่งเข้าร่วมสงครามอาจจะประกอบไปด้วย ทางฝ่ายหนึ่งมีอิหร่าน, ระบอบปกครองบาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) ในซีเรีย, กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ในเลบานอน [4], และกองกำลังอาวุธท้องถิ่นสารพัดสารพันของพวกชีอะห์ในอิรักและเยเมน ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมีอิสราเอล, ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐฯ, และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) แล้วถ้าการสู้รบในซีเรียเกิดบานปลายควบคุมกันไม่อยู่ กองทหารรัสเซียก็อาจจะเข้ามาร่วมทำศึกด้วยได้เหมือนกัน
กองกำลังทั้งหมดเหล่านี้ต่างกำลังประกอบอาวุธให้ตนเองด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ชนิดต่างๆ จำนวนมากมายมหาศาลในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้แน่ใจได้ว่าหากเกิดการสู้รบใดๆ ขึ้นมาก็จะเป็นการทำศึกที่เข้มข้นดุเดือด, นองเลือด, และก่อให้เกิดการทำลายล้างอย่างน่าสยดสยอง ทั้งนี้อิหร่านกำลังได้รับอาวุธสมัยใหม่ชนิดต่างๆ จากรัสเซีย [5] ขณะที่ตัวเองก็เป็นเจ้าของอุตสาหกรรมอาวุธที่เป็นเรื่องเป็นราวทีเดียว ในทางกลับกัน อิหร่านยังกำลังซัปพลายอาวุธสมัยใหม่ให้ระบอบปกครองอัสซาด [6] และถูกกล่าวหาตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้ลำเลียงอาวุธปล่อยชนิดต่างๆ ตลอดจนเครื่องกระสุนอื่นๆ ไปให้แก่พวกฮิซบอลเลาะห์ [7] ส่วนทางอิสราเอล, ซาอุดีอาระเบีย, และยูเออี ก็เป็นผู้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อันซับซ้อนทันสมัยของอเมริกันมูลค่าระดับหลายหมื่นล้านดอลลาร์มานานแล้ว [8] โดยที่ประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่งให้สัญญาที่จะซัปพลายพวกเขาเพิ่มขึ้นอีกอย่างมากมาย [9]
นี่หมายความว่าทันทีที่ชนวนถูกจุดขึ้นมา สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 3 ก็อาจจะลุกลามบานปลายยกระดับไปอย่างรวดเร็ว [10] และไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายทั้งในหมู่พลเรือนและทหารเป็นจำนวนมาก แล้วก็ทำให้เกิดกระแสผู้อพยพหลั่งไหลออกไปหาที่ปลอดภัยระลอกใหม่ขึ้นมา สหรัฐฯและพวกพันธมิตรจะต้องพยายามทำให้สมรรถนะในการทำสงครามของอิหร่านกลายเป็นอัมพาตไปอย่างรวดเร็ว นี่เป็นภารกิจที่จะต้องอาศัยการถล่มโจมตีทางอากาศและใช้จรวดอาวุธปล่อยระลอกแล้วระลอกเล่า โดยที่แน่ใจได้เลยว่าบางส่วนจะตกใส่อาคารสถานที่ในย่านที่มีผู้คนพำนักอาศัยกันหนาแน่น ส่วนอิหร่านและพวกพันธมิตรก็จะต้องหาทางตอบโต้ด้วยการเข้าโจมตีบรรดาเป้าหมายที่มีมูลค่าสูงๆ ในอิสราเอลและซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งนครใหญ่แห่งต่างๆ และพวกสถานที่ตั้งทางด้านน้ำมันทั้งหลาย สามารถคาดหมายได้ว่าพวกพันธมิตรชีอะห์ของอิหร่านที่อยู่ในอิรัก, เยเมน, และที่อื่นๆ น่าจะเปิดการโจมตีของพวกเขาเอง [11] ต่อกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯนี้ ในทันทีที่สงครามระเบิดขึ้นมา ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จะนำไปสู่แห่งหนใด แน่นอนทีเดียวว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดทายพยากรณ์ล่วงหน้าได้ แต่ประวัติศาสตร์ของยุคศตวรรษที่ 21 นี้บ่งชี้ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมาก็ตามที มันจะไม่เป็นไปตามแผนการที่พวกนายพลผู้บัญชาการทั้งหลาย (หรือพวกพลเรือนที่เป็นคนกำกับดูแลพวกเขา) วางแผนเอาไว้อย่างระมัดระวัง และก็จะไม่ยุติลงอย่างที่คาดหวังเอาไว้หรือมีการจบลงได้อย่างสวยสดงดงาม
แล้วก้อกรณีชนิดไหนหรือเหตุการณ์ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องอันใดจะกลายเป็นตัวจุดชนวนสงครามเช่นนี้ขึ้นมา นี่เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำนายได้อย่างแน่นอนชัดเจนเช่นเดียวกัน กระนั้นก็ตามที ดูจะเป็นที่ปรากฏชัดว่าสืบเนื่องจากการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ปฏิเสธโยนทิ้งข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านเมื่อเร็วๆ นี้ โลกของเราก็ดูเหมือนกำลังเคลื่อนขยับใกล้เข้าไปเรื่อยๆ ทุกขณะ จนกระทั่งเมื่อไปถึงชั่วเวลาใดชั่วเวลาหนึ่งซึ่งประกายไฟที่ถูกต้องเหมาะเจาะ จะจุดระเบิดทำให้สายชนวนแห่งเหตุการณ์อันต่อเนื่องเป็นสาย นำไปสู่ความเป็นศัตรูกันอย่างเต็มขั้นขึ้นในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ตัวอย่างหนึ่งที่เราอาจลองสมมุติลองจินตนาการดูเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้แก่ การปะทะสู้รบกันระหว่างกองทหารอิสราเอลกับกองทหารของอิหร่านซึ่งเข้าไปอยู่ในซีเรีย มีการระบุกันว่าฝ่ายอิหร่านได้จัดตั้งค่ายขึ้นมาหลายแห่งที่ประเทศนั้นทั้งเพื่อให้การสนับสนุนระบอบปกครองอัสซาดและเพื่อแอบลักลอบลำเลียงอาวุธไปให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน แล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา อิสราเอลก็ได้จัดส่งฝูงเครื่องบินไอพ่นเข้าไปโจมตีสถานที่เช่นนี้หลายๆ แห่ง [12] ภายหลังจากมีการยิงจรวดเข้าไปยังบริเวณที่ราบสูงโกลาน (Golan Heights) ซึ่งอิสราเอลยึดครองอยู่ โดยที่กล่าวกันว่าพวกที่ยิงคือทหารอิหร่านในซีเรีย แน่นอนทีเดียวว่าการโจมตีของอิสราเอลยังจะเกิดเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า ในเมื่ออิหร่านพยายามกระทำตามแรงขับดันของตนในการก่อตั้ง [13] และควบคุมพื้นที่ซึ่งเรียกกันว่า “สะพานบก” (land bridge) ที่ข้ามจากอิหร่านผ่านอิรักและซีเรียไปถึงเลบานอน ประกายไฟจุดชนวนสงครามใหญ่อีกอย่างหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ ได้แก่การชนกันหรือเกิดเหตุการณ์อื่นๆ ขึ้นมาระหว่างเรือของนาวีอเมริกันกับเรือของนาวีอิหร่านในบริเวณอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเรือรบของทั้งสองฝ่ายมีการแล่นเข้าใกล้กันในลักษณะแสดงความก้าวร้าวเข้าใส่กันอยู่บ่อยครั้ง [14] ไม่ว่าลักษณะของการปะทะในเบื้องต้นจะเป็นอย่างไร แต่การขยายตัวบานปลายอย่างรวดเร็วจนกระทั่งกลายเป็นการแสดงความเป็นศัตรูกันอย่างเต็มขั้นนั้นอาจจะเกิดขึ้นมาได้โดยที่แทบไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้าใดๆ เลย
ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาข้อหนึ่ง นั่นคือ ทำไมสหรัฐฯกับพวกพันธมิตรที่อยู่ในภูมิภาคแถบนี้จึงกำลังขยับเคลื่อนเข้าใกล้ที่จะทำสงครามใหญ่ในอ่าวเปอร์เซียอีกครั้ง? ทำไมต้องเป็นเวลานี้?
แรงกระตุ้นทางภูมิรัฐศาสตร์
สงครามอ่าวเปอร์เซีย 2 ครั้งแรกนั้น พลังขับดันที่มีความสำคัญมากเลยคือ “ภูมิรัฐศาสตร์แห่งน้ำมัน” (geopolitics of oil) [15] ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่สหรัฐฯอยู่ในฐานะที่ต้องพึ่งพาอาศัยน้ำมันปิโตรเลียมนำเข้าจากแหล่งภายนอกประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศนี้จึงถูกดึงดูดเข้าใกล้ชิดซาอุดีอาระเบีย ชาติผู้ผลิตน้ำมันชั้นนำของโลก เพิ่มขึ้นทุกทีๆ ภายใต้ “หลักการคาร์เตอร์” (Carter Doctrine) [16] ที่ประกาศเมื่อเดือนมกราคม 1980 สหรัฐฯให้คำมั่นสัญญาเป็นครั้งแรกว่าจะใช้กำลังทหารถ้าหากจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรบกวนใดๆ ต่อการไหลของน้ำมันจากซาอุดีอาระเบียและรัฐริมอ่าวเปอร์เซียแห่งอื่นๆ เข้ามายังสหรัฐฯและบรรดาพันธมิตร โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีอเมริกันคนแรกซึ่งนำมาหลักการนี้มาใช้ปฏิบัติ ได้ให้อำนาจ “การเปลี่ยนสัญชาติจดทะเบียนของเรือ” (reflagging) [17] แก่เรือบรรทุกน้ำมันของซาอุดีอาระเบียและคูเวต โดยเรือเหล่านี้สามารถชักธงชาติสหรัฐอเมริกาได้ในระหว่างเวลา 8 ปีแห่งสงครามอิหร่าน-อิรัก (Iran-Iraq War) ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1980 รวมทั้งได้รับการปกป้องคุ้มครองจากกองทัพเรือสหรัฐฯด้วย เมื่อพวกเรือปืนของอิหร่านข่มขู่คุกคามเรือบรรทุกน้ำมันเหล่านี้ เรือรบอเมริกันก็ขับไล่พวกเขาไปในเหตุการณ์ซึ่งได้กลายเป็นตัวแทนของการปะทะกันทางทหารจริงๆ ครั้งแรกระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน ในเวลานั้นประธานาธิบดีเรแกนประกาศเรื่องนี้ออกมาแบบไม่มีกั๊กไม่มีอะไรที่ไม่ชัดเจน [18] โดยบอกว่า “การใช้เส้นทางเดินเรือทะเลของอ่าวเปอร์เซียจะต้องไม่ถูกบงการควบคุมโดยฝ่ายอิหร่าน”
ภูมิรัฐศาสตร์แห่งน้ำมันยังคงถูกมองว่าเป็นปัจจัยซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในตอนที่สหรัฐฯตัดสินใจเข้าแทรกแซงในสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก [19] เมื่อกองทหารอิรักบุกเข้ายึดครองคูเวตในเดือนสิงหาคม 1990 และทำท่าเหมือนจะเข้ารุกรานซาอุดีอาระเบียด้วย ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ก็ประกาศว่าสหรัฐฯจะส่งกองทหารไปปกป้องคุ้มครองราชอาณาจักรแห่งนั้น ดังนั้นจึงเป็นการนำเอาหลักการคาร์เตอร์มาใช้ในลักษณะเรียลไทม์ “ประเทศของเราเวลานี้นำเข้าน้ำมันเกือบๆ ครึ่งหนึ่งของปริมาณที่บริโภคอยู่ และอาจต้องเผชิญภัยคุกคามอย่างสำคัญต่อฐานะความเป็นเอกราชทางเศรษฐกิจของตนเอง” เขาประกาศก้อง [20] พร้อมกับบอกต่อไปว่า “เอกราชอธิปไตยของซาอุดีอาระเบียคือผลประโยชน์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับสหรัฐฯ”
ถึงแม้มิติด้านน้ำมันของยุทธศาสตร์สหรัฐฯได้ลดความชัดเจนลงมาแล้ว ในตอนที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ตัดสินใจสั่งยกกองทัพเข้ารุกรานอิรักเมื่อเดือนมีนาคม 2003 กระนั้นเรื่องนี้ก็ยังคงมีน้ำหนักมีการคำนึงถึงกันอยู่ พวกสมาชิกในระดับวงในของประธานาธิบดีผู้นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรองประธานาธิบดีดิ๊ก เชนีย์ ได้ใช้เหตุผลข้อโต้แย้ง [21] ที่ว่า ซัดดัม ฮุสเซน ผู้ปกครองอิรักเวลานั้นแสดงท่าทีเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของเส้นทางขนส่งน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องถูกกำจัดเขา คนอื่นๆ ในคณะบริหารนั้นก็มีความกระตือรือร้นที่จะเดินหน้าเสาะแสวงหา [22] ลู่ทางโอกาสในการแปรรูปพวกบ่อน้ำมันในอิรักซึ่งรัฐเป็นเจ้าของให้กลายเป็นกิจการเอกชน แล้วพลิกโฉมเปลี่ยนกิจการเหล่านี้ให้กลายเป็นบริษัทน้ำมันอเมริกัน (มีหลักฐานว่านี่เป็นแนวคิดซึ่งติดอยู่ในสมองของโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยเหมือนกัน อย่างที่เขากล่าวยืนกรานครั้งแล้วครั้งเล่าระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในปี 2016 ว่า “เราควรที่จะสามารถเก็บน้ำมันเหล่านี้เอาไว้” [23])
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้น้ำมันในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในภูมิรัฐศาสตร์ของอ่าวเปอร์เซีย กำลังเสื่อมถอยด้อยคุณค่าลงไปเสียแล้ว ถ้าหากไม่ถึงกับลบเลือนจางหายอย่างสิ้นเชิง ขณะที่มีประเด็นปัญหาอื่นๆ เคลื่อนเข้ามาครองฐานะแทนที่ ปัจจัยสำคัญที่สุดซึ่งกระตุ้นจูงใจการเผชิญหน้ากันทางทหารในมหาภูมิภาคตะวันออกกลางอยู่ในปัจจุบัน กลายเป็นเรื่องของการต่อสู้ที่บานปลายขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย [24] (โดยที่มีอิสราเอลซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง คอยซุ่มซ่อนลับๆ ล่อๆ อยู่บริเวณด้านข้าง) เพื่อช่วงชิงฐานะการมีอำนาจครอบงำภูมิภาคแถบนี้ ประเทศทั้งสองต่างมองตัวพวกเขาเองว่าเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายแห่งรัฐและสังคมที่ความคิดอย่างเดียวกัน –โดยที่อิหร่านอยู่ในฐานะเป็นผู้นำของประชากรชีอะห์ของภูมิภาค ส่วนซาอุดีอาระเบียคือผู้นำของชาวสุหนี่ในภูมิภาค— และทั้งคู่ต่างรู้สึกโกรธเกรี้ยวหากอีกฝ่ายหนึ่งเกิดมีความได้เปรียบใดๆ ขึ้นมา สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรื่องยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้นไปอีก ได้แก่การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งเห็นชัดว่ามีความเกลียดชังฝ่ายอิหร่านซ่อนอยู่ลึกๆ ภายในใจ ได้เลือกที่จะยืนอยู่ข้างซาอุดีอาระเบียอย่างเปิดเผย ขณะเดียวกัน เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ซึ่งกำลังหวาดกลัวการรุกคืบหน้าของอิหร่านในภูมิภาคแถบนี้ ก็ได้เลือกที่จะเอนเอียงอยู่ทางฝ่ายซาอุดีอาระเบียในสมการอย่างชัดเจนยิ่งเช่นเดียวกัน [25] ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็อย่างที่ แอนดริว เบเซวิช (Andrew Bacevich) นักประวัติศาสตร์ด้านการทหารได้ชี้เอาไว้ นั่นคือ “การก่อตัวของแกนอักษะซาอุดีอาระเบีย-อเมริกา-อิสราเอล” และ “การจัดขบวนกันใหม่ครั้งสำคัญของความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ทั้งหลายของสหรัฐฯ” [26]
มีปัจจัยสำคัญหลายๆ ประการทีเดียวซึ่งสามารถอธิบายถึงการเปลี่ยนผ่านจากยุทธศาสตร์ยึดเอาน้ำมันเป็นศูนย์กลางในการเน้นย้ำแสนยานุภาพทางทหาร กลายมาเป็นการต่อสู้ตามแบบแผนเดิมๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างพวกปรปักษ์ในภูมิภาค โดยที่อภิมหาอำนาจรายสุดท้ายที่เหลืออยู่ในโลกใบนี้อย่างสหรัฐอเมริกาได้เข้าพัวพันเกี่ยวข้องอย่างล้ำลึก ประการแรกสุดเลย ได้แก่การที่อเมริกาต้องพึ่งพาอาศัยน้ำมันนำเข้าลดน้อยลงอย่างรวดเร็วในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ ซึ่งต้องขอบคุณการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงในด้านการขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ที่เปิดทางให้สามารถนำเอาแหล่งสำรองหินน้ำมัน (shale) ขึ้นมาใช้ประโยชน์เป็นปริมาณมากมายมหาศาลโดยอาศัยกระบวนการทำลายชั้นหินด้วยการฉีดน้ำผสมสารเคมีและทรายด้วยความแรงสูง (fracking) ผลก็คือเรื่องการต้องเข้าถึงซัปพลายน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียให้ได้ กลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญน้อยลงไปมากๆ สำหรับวอชิงตันเมื่อเปรียบเทียบกับในยุคหลายๆ ทศวรรษที่ผ่านมา ในปี 2001 ตามตัวเลขข้อมูลของ บีพี (BP) บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของโลก [27] สหรัฐฯพึ่งพาน้ำมันนำเข้าเป็นสัดส่วนราว 61% ของปริมาณการบริโภคสุทธิของตน แต่เมื่อถึงปี 2016 สัดส่วนนี้หดลดลงเหลือเพียง 37% และยังคงต่ำลงไปเรื่อยๆ -- กระนั้นสหรัฐฯยังคงเข้าพัวพันยุ่งเกี่ยวกับภูมิภาคแถบนี้ยังล้ำลึกต่อไปตลอดช่วงระยะเวลา 1 ทศวรรษครึ่งที่ผ่านมา ทั้งด้วยสงครามที่ยังไม่ทราบว่าจะยุติจบสิ้นเมื่อใด, การต่อสู้ปราบปรามการกบฎก่อความไม่สงบ, การโจมตีโดยใช้อากาศยานไร้นักบิน (โดรน), และการต่อสู้ขัดแย้งรูปแบบอื่นๆ ซึ่งเมื่อเอ่ยถึงก็มีแต่ก่อให้เกิดความเศร้าใจ
จากการบุกรุกรานและการยึดครองอิรักในปี 2003 วอชิงตันก็ได้กำจัดกวาดล้างป้อมปราการสำคัญแห่งหนึ่งของอำนาจแห่งชาวสุหนี่ ในประเทศที่นำโดย ซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งเพียงเมื่อ 2 ทศวรรษก่อนหน้านั้นยังยืนอยู่เคียงข้างสหรัฐฯแท้ๆ [28] ในการต่อสู้มุ่งคัดค้านทัดทานอิหร่าน มันช่างเป็นการย้อนแย้งที่ทำให้รู้สึกตลกแต่หัวเราะไม่ออกเสียจริงๆ เมื่อการรุกรานและยึดครองอิรักนั้นเอง กลับกำลังส่งผลลัพธ์กลายเป็นการแพร่อิทธิพลของฝ่ายชีอะห์ และทำให้อิหร่านกลายเป็นผู้ชนะรายสำคัญ (เป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นผู้ชนะเพียงรายเดียวด้วยซ้ำ) ในระยะเวลาหลายๆ ปีแห่งสงครามหลังจากนั้นมา พวกนักวิเคราะห์ชาวตะวันตกบางรายเชื่อว่า [29] เมื่อพิจารณาจากทัศนะมุมมองทางภูมิรัฐศาสตร์แล้ว โศกนาฏกรรมใหญ่หลวงที่สุดของการรุกรานคราวนั้นก็คือการก้าวขึ้นครองอำนาจในอิรักยุคหลังซัดดัม ของเหล่านักการเมืองชาวชีอะห์ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเตหะราน ถึงแม้คณะผู้นำปัจจุบันในประเทศนั้นดูเหมือนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเดินหน้าไปตามเส้นทางของพวกเขาเองในช่วงระยะเวลาภายหลังการปราบปรามพวกไอซิสเช่นนี้ แต่กระนั้นกองกำลังอาวุธชีอะห์ชาวอิรักที่มีอำนาจมากหลายๆ กลุ่ม –รวมทั้งบางกลุ่มซึ่งเคยแสดงบทบาทอันสำคัญในการขับไล่พวกหัวรุนแรงรัฐอิสลามให้ออกไปจากนครโมซุลและเมืองใหญ่แห่งอื่นๆ— ยังคงรักษาสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่มีอยู่กับกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน (Iran’s Revolutionary Guards) เอาไว้ไม่เสื่อมคลาย [30]
ขณะเดียวกันนั้น สงครามในซีเรียและเยเมนซึ่งในตัวมันเองต้องถือเป็นความวิบัติหายนะอยู่แล้ว ยังกลายเป็นตัวเพิ่มความสลับซับซ้อนให้แก่กระดานหมากรุกภูมิรัฐศาสตร์ที่วอชิงตันพบว่าตัวเองต้องเข้าร่วมเล่นด้วยภายหลังการรุกรานอิรักครั้งนั้น โดยที่ไม่เคยสามารถพาตัวเองให้ก้าวหลุดพ้นเป็นอิสระออกมาได้สำเร็จเลย ในซีเรียนั้น อิหร่านได้เลือกที่จะเป็นพันธมิตรกับรัสเซียของวลาดิมีร์ ปูติน เพื่อสงวนรักษาระบอบปกครองอัสซาดผู้หฤโหดเอาไว้ ด้วยการจัดหาทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์, เงินทุน, และพวกที่ปรึกษาไม่รู้ว่าจำนวนเท่าใดแน่จากกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ เข้าไปช่วยอัสซาด [31] ไม่เพียงเท่านั้น ฮีซบอลเลาะห์ (Hezbollah) กลุ่มการเมืองชาวชีอะห์ในเลบานอนซึ่งมีองค์กรทางทหารที่เข้มแข็งทีเดียวอยู่ด้วย ก็ได้จัดส่งนักรบของตนเองจำนวนมากพอดูไปยังซีเรียเพื่อช่วยเหลือกองกำลังของฝ่ายอัสซาด [32] ส่วนในเยเมน เชื่อกันว่าฝ่ายอิหร่านกำลังจัดหาอาวุธ [33] และเทคโนโลยีด้านจรวด [34]ไปให้แก่พวกฮูตี (Houthis) กลุ่มกบฏชาวชีอะห์ที่เติบโตเบ่งบานขึ้นภายในท้องถิ่นเอง โดยที่เวลานี้กลุ่มฮูตีสามารถควบคุมครึ่งประเทศทางตอนเหนือเอาไว้ได้ รวมทั้งกรุงซานา ที่เป็นเมืองหลวงด้วย
ในทางกลับกัน ฝ่ายซาอุดีอาระเบียก็กำลังแสดงบทาทอย่างแข็งขันยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ทั้งในการหนุนเสริมแสนยานุภาพทางทหารของพวกเขาเอง และในการพิทักษ์คุ้มครองชุมชนชาวสุหนี่ที่ถูกโจมตีเล่นงานตลอดทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้ ในเส้นทางแห่งการเสาะแสวงหาทางต้านทานและในการพลิกกลับสถานการณ์ซึ่งพวกเขามองเห็นว่าคือการรุกคืบของฝ่ายอิหร่านนั้น พวกเขาได้เข้าช่วยเหลือติดอาวุธ [35] กองกำลังอาวุธหลายกลุ่มที่เป็นพวกแนวคิดสุดโต่ง โดยมีหลักฐานว่าพวกเขากระทั่งเข้าช่วยเหลือกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่ายอัลกออิดะห์ ซึ่งกำลังถูกกองกำลังอาวุธชาวชีอะห์ที่อิหร่านหนุนหลังโจมตีรุกไล่ทั้งในอิรักและซีเรีย ในปี 2015 ในกรณีของเยเมน ซาอุดีอาระเบียได้รวบรวมจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรของรัฐอาหรับสุหนี่ขึ้นมา [36] เพื่อปราบปรามพวกกบฏชาวฮูตีในสงครามที่มีการใช้วิธีการอันโหดเหี้ยมทารุณต่างๆ รวมทั้งการเข้าปิดล้อมเยเมน ซึ่งกำลังก่อให้เกิดภาวะอดอยากขาดแคลนอาหารอย่างกว้างขวาง และการรณรงค์โจมตีทางอากาศอย่างไร้ความปรานีที่มีอเมริกันสนับสนุนอยู่ [37] ซึ่งบ่อยครั้งมีการทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายพลเรือน เป็นต้นว่า ตลาด[38] , โรงเรียน[39], และงานแต่งงาน[40] ประมาณกันว่าเรื่องเช่นนี้ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตไปถึง 10,000 คน [41] และก่อให้เกิดวิกฤตทางมนุษยธรรมด้วยตัวมันเองในประเทศซึ่งลำบากยากจนอยู่ก่อนแล้ว
ในการตอบสนองต่อพัฒนาการต่างๆ เหล่านี้ คณะรัฐบาลโอบามาได้หาทางทำให้สถานการณ์สงบลง ด้วยการเจรจาทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับฝ่ายอิหร่าน และด้วยการยืนยันคำมั่นสัญญาที่จะเปิดทางให้อิหร่านมีสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับฝ่ายตะวันตกเพิ่มมากขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนตอบแทนการที่อิหร่านลดความยืนกรานก้าวร้าวภายนอกเขตพรมแดนของตน [42] อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์เช่นนี้ไม่เคยชนะใจได้รับความสนับสนุนจากอิสราเอลหรือซาอุดีอาระเบียเลย ถึงแม้ว่าในช่วงคณะบริหารโอบามานั้น วอชิงตันยังคงสืบต่อให้ความสนับสนุน 2 ประเทศเหล่านี้อย่างสำคัญต่อไป เป็นต้นว่า การซัปพลายอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากมาย, การเข้าเติมน้ำมันกลางอากาศให้แก่เครื่องบินซาอุดีอาระเบีย [43] เพื่อให้สามารถบินลึกเข้าไปโจมตีภายในเยเมนได้, และการจัดหาข่าวกรองให้ฝ่ายซาอุดีอาระเบียในเรื่องเป้าหมายต่างๆ สำหรับการทำสงครามอันสร้างความวิบัติหายนะของพวกเขา [44]
"สามเสือ"ต่อต้านอิหร่าน
พัฒนาการต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งหมดเหล่านี้ มีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้ง แต่หลังจากทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯแล้ว มันกลับได้แรงโมเมนตัมมากยิ่งขึ้นไปอีก เรื่องนี้ต้องขอบคุณเป็นอย่างมากต่อบุคลิกลักษณะของตัวบุคคลสำคัญที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
คนแรกสุดเลยในบุคคลสำคัญเหล่านี้ แน่นอนทีเดียวต้องเป็นประธานาธิบดีทรัมป์ ตลอดช่วงการรณรงค์หาเสียงของเขา ทรัมป์กล่าวประณามก่นด่าเป็นประจำต่อข้อตกลงนิวเคลียร์ซึ่งอิหร่าน, สหรัฐฯ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, รัสเซีย, จีน, และสหภาพยุโรป ต่างร่วมลงนามกันทั้งหมดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2015 สัญญาฉบับนี้ซึ่งมีชื่อเสียงเรียงนามอย่างเป็นทางการว่า “แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม” (Joint Comprehensive Plan of Action หรือ JCPOA) [45] มีเนื้อหาบังคับอิหร่านให้ต้องระงับโครงการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมของตน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยกเลิกมาตรการแซงก์ชั่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนิวเคลียร์ทั้งหมดที่ประกาศใช้กับประเทศนี้ ปรากฏว่าฝ่ายอิหร่านยินยอมปฏิบัติตามข้อตกลงนี้อย่างเคร่งครัด แม้ว่าทั้งประธานาธิบดีโอบามา, พวกผู้วางนโยบายอาวุโสชาวอเมริกันจำนวนมาก, และผู้นำยุโรปส่วนใหญ่ ต่างเสนอเหตุผลข้อโต้แย้งว่า JCPOA (ไม่ว่าจะยังคงมีจุดอ่อนข้อบกพร่องอยู่มากก็ตามที) อย่างไรเสียก็เป็นเครื่องมืออันมีคุณค่าในการสกัดยับยั้งความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน (และกระทั่งส่งผลถึงความทะเยอทะยานด้านอื่นๆ ของอิหร่านด้วย) แต่ทรัมป์ก็ยังคงประณามข้อตกลงนี้อย่างต่อเนื่องว่าเป็น “ดีลที่เลวร้าย” เพราะบกพร่องล้มเหลวไม่ได้กำจัดเศษตกค้างทั้งหมดทั้งสิ้นของโครงสร้างพื้นฐานทางนิวเคลียร์ของฝ่ายอิหร่าน ตลอดจนไม่ได้ห้ามโครงการขีปนาวุธของประเทศนั้น “ดีลฉบับนี้คือความวิบัติหายนะ” เขาบอกกับ เดวิด แซงเกอร์ (David Sanger) แห่งนิวยอร์กไทมส์ ในเดือนมีนาคม 2016 [46]
ขณะที่ทรัมป์ (ผู้ซึ่งบรรจุแต่งตั้งตัวบุคคลในคณะบริหารของเขาด้วยพวกที่เป็นผู้หวาดกลัวระแวงอิหร่าน โดยรวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ไมค์ พอมเพโอ และที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติคนใหม่ จอห์น โบลตัน ด้วย) ดูเหมือนมีความเป็นศัตรูกับอิหร่านโดยสัญชาตญาณแฝงฝังอยู่ในใจ (บางทีอาจจะเนื่องจากฝ่ายนั้นไม่ได้ปฏิบัติต่อเขาด้วยความเคารพยกย่องอย่างที่เขารู้สึกว่าเขาสมควรได้รับกระมัง) เขากลับมีจุดอ่อนโอนเอนเป็นขี้ผึ้งในเวลาติดต่อสัมพันธ์กับพวกสมาชิกราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งแสดงการเชิดชูนับถือเขาเป็นอย่างสูง [47] ในเดือนพฤษภาคม 2017 ระหว่างการเดินทางไปเยือนต่างประเทศเที่ยวแรกในฐานะประธานาธิบดีของเขา ทรัมป์เลือกเดินทางไปกรุงริยาด ที่ซึ่งเขาได้เข้าร่วมเต้น “ระบำดาบ” กับเหล่าเจ้าชายซาอุดี [48] และเอิบอาบตัวเขาเองจนชุ่มชื่นด้วยความพึงพอใจกับการแสดงโอ่อวดทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งประเภทที่ผู้ทรงอำนาจสูงสุดแห่งรัฐน้ำมันเท่านั้นจึงจะสามารถจัดให้ได้
ขณะอยู่ในกรุงริยาด เขาได้หารือ [49] เป็นเวลานานทีเดียวกับเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) [50] ซึ่งเวลานั้นยังทรงมีตำแหน่งเป็น รองมกุฎราชกุมาร (Deputy Crown Prince) เจ้าชายวัย 31 พรรษาองค์นี้ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระราชาธิบดีซัลมาน และก็เป็นสถาปนิกใหญ่รายหนึ่งของซาอุดีอาระเบีย ในการแข่งขันชิงดีชิงเด่นทางภูมิรัฐศาสตร์กับฝ่ายอิหร่าน เจ้าชายโมฮัมเหม็ด ซึ่งได้ทรงเลื่อนขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารในเดือนมิถุนายน 2017 และครองตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมซาอุดีอาระเบียด้วย คือผู้ผลักดันสำคัญที่สุด [51] เบื้องหลังความกระหายมุ่งมั่นของราชอาณาจักรแห่งนี้ที่ต้องการบดขยี้กวาดล้างพวกกบฎฮูตีในเยเมน (ซึ่งจวบจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ) และเป็นที่ทราบกันดีว่าทรงมีทัศนะความคิดเห็นต่อต้านอิหร่านอย่างแรงกล้าแฝงฝังอยู่ในพระทัย
ระหว่างมื้ออาหารกลางวันที่ทำเนียบขาว [52] ก่อนหน้านั้น คือเมื่อเดือนมีนาคม 2017 เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หรือที่บางครั้งเป็นที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า MBS กับประธานาธิบดีทรัมป์ ดูเหมือนจะทำความตกลงกันได้โดยปริยายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ร่วม [53] ที่ดำเนินการเป็นชุดใหญ่ ทั้งการประทับตีตราอิหร่านว่าเป็นหนึ่งในภัยคุกคามระดับภูมิภาค, การฉีกทิ้งข้อตกลงนิวเคลียร์, และจากการกระทำเหล่านี้ก็จะเป็นการปูพื้นจัดเวทีเพื่อการทำสงครามกำจัดประเทศนี้ไปในท้ายที่สุด หรืออย่างน้อยก็โค่นล้มระบอบปกครองซึ่งบริหารประเทศนี้อยู่ ขณะอยู่ในกรุงริยาด ประธานาธิบดีทรัมป์บอกกับที่ประชุมของพวกผู้นำอาหรับสุหนี่ซึ่งไปชุมนุมกันที่นั่นว่า “จากเลบานอนไปถึงอิรักไปถึงเยเมน ทั้งเงินทุนของอิหร่าน, อาวุธของอิหร่าน, ตลอดจนการฝึกอบรมพวกผู้ก่อการร้าย กองกำลังอาวุธต่างๆ และกลุ่มสุดโต่งอื่นๆ ของอิหร่าน ได้แพร่กระจายการทำลายล้างและความปั่นป่วนวุ่นวายไปตลอดทั่วทั้งภูมิภาคนี้ นี่เป็นรัฐบาลที่ประกาศเรียกร้องออกมาอย่างเปิดเผยทั้งในเรื่องการสังหารหมู่, การคุยโวว่าจะทำล้ายล้างอิสราเอล, การทำให้อเมริกาด่าวดิ้นสิ้นชีวิต, และการทำลายผู้นำและชาติจำนวนมากซึ่งกำลังชุมนุมกันอยู่ในห้องนี้” [54]
ขณะที่ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าคำพูดเหล่านี้จะต้องสร้างความปลาบปลื้มให้แก่ซาอุดีอารเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, คูเวต, และผู้ปกครองชาวสุหนี่อื่นๆ ที่กำลังรับฟังอยู่ในห้องนั้น ทว่าเวลาเดียวกันนั้น มันก็เป็นการสะท้อนทัศนะของผู้เล่นสำคัญรายที่ 3 ในกลุ่ม “สามเสือ” (triumvirate) ทางยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งอีกไม่ช้าไม่นานนักหรอกน่าจะขับดันภูมิภาคแถบนี้ให้ดำดิ่งลงสู่สงครามแบบเต็มขั้น บุคคลผู้นี้ได้แก่ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล [55] ซึ่งยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “บีบี้” (Bibi) เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่เขาเที่ยวกล่าวโทษคัดค้าน [56] ความทะเยอทะยานของอิหร่านในภูมิภาค และข่มขู่ที่จะใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อเล่นงานความเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามของฝ่ายอิหร่านซึ่งเขาตีความว่าจะส่งผลกกระแทกเบียดเบียนความมั่นคงของอิสราเอล ครั้นมาถึงเวลานี้ เขาได้พบว่า ทรัมป์ และเจ้าชายมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย นี่แหละ คือพันธมิตรในฝันของเขา ในยุคของโอบามานั้น เนทันยาฮูเป็นปรปักษ์ที่คัดค้านข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านอย่างดุเดือดรุนแรง และใช้โอกาสที่หาได้ยากในการขึ้นปราศรัยต่อที่ประชุมร่วมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐฯเมื่อเดือนมีนาคม 2015 มากล่าวประณามดีลนี้แบบตรงไปตรงมาชนิดไม่ต้องตีความ เขาไม่เคยเลยที่จะหยุดยั้งความพยายาม (แม้กระทั่งจนถึงช่วงไม่กี่วันก่อนหน้าที่ทรัมป์ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ [57]) ในการชักจูงเกลี้ยกล่อมให้ประธานาธิบดีอเมริกันผู้นี้เห็นดีเห็นงามด้วยว่าควรต้องโยนดีลนี้ลงถังขยะไปและพุ่งเป้าหมายเล่นงานอิหร่าน
ในคำปราศรัยต่อรัฐสภาอเมริกันเมื่อปี 2015 คราวนั้น เนทันยาฮูได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์แห่งการมองอิหร่านว่าเป็นอันตรายในเชิงระบบ ซึ่งในเวลาต่อมาจะถูกนำเอาไปปรับใช้โดยทรัมป์และพวกคนรู้ใจร่วมความคิดของเขาในริยาด “ระบอบปกครองของอิหร่านแสดงออกซึ่งการคุกคามอย่างสาหัสร้ายแรง ไม่เฉพาะเพียงต่ออิสราเอล หากยังต่อสันติภาพของโลกทั้งมวล” เขากล่าวยืนยันแข็งกร้าวด้วยถ้อยคำอันเกินเลยความเป็นจริงตามแบบฉบับ [58] “ด้วยการหนุนหลังของอิหร่าน อัสซาดจึงกำลังเข่นฆ่าชาวซีเรีย ด้วยการหนุนหลังของอิหร่าน พวกกองกำลังอาวุธชาวชีอะห์จึงกำลังอาละวาดไปทั่วอิรัก ด้วยการหนุนหลังของอิหร่าน พวกฮูตีจึงกำลังเข้าควบคุมเยเมน กำลังคุกคามช่องแคบที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ตรงบริเวณปากทะเลแดง เมื่อพิจารณาควบคู่กับช่องแคบฮอร์มุซแล้ว นั่นจะทำให้อิหร่านมีจุดสำคัญจุดที่ 2 ในการปิดล้อมบีบเค้นซัปพลายน้ำมันของโลก”
เวลานี้เนทันยาฮูยังกำลังแสดงบทบาทสำคัญในการขับดันภูมิภาคแถบนี้ที่อยู่ในสภาพพิกลพิการอยู่แล้ว ให้เข้าสู่สงครามซึ่งจะทำลายมันให้แหลกลาญยิ่งขึ้นไปอีก, ผลิตกลุ่มก่อการร้ายให้เพิ่มมากขึ้นอีก (และก็ทำให้เกิดพลเรือนซึ่งถูกก่อการร้ายและถูกเล่นงานด้วยความสยดสยองเพิ่มมากขึ้นด้วย), รวมทั้งสร้างความหายนะที่อาจจะใหญ่โตมโหฬารถึงระดับทั่วโลกอีกด้วย เมื่อพิจารณาความเป็นจริงที่ว่าทั้งรัสเซียและจีนต่างหนุนหลังฝ่ายอิหร่านอยู่)
เตรียมพร้อมรับสงคราม
เราต้องให้ความใส่ใจกับคำพูดของเนทันยาฮูในวอชิงตัน และของโดนัลด์ ทรัมป์ ในริยาด ขบคิดพิจารณาถ้อยคำเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่เป็นวาทกรรมทางการเมือง แต่ในฐานะที่เป็นคำพยากรณ์ประเภทดำมืดเลวร้าย คุณกำลังจะได้ยินคำพยากรณ์ทำนองนี้เพิ่มขึ้นอีกมากมายเลยในระยะหลายๆ เดือนข้างหน้า พร้อมๆ กับที่สหรัฐฯ, อิสราเอล, และซาอุดีอาระเบีย ยิ่งขยับเข้าใกล้การเปิดสงครามกับอิหร่านและพวกพันธมิตร ขณะที่เรื่องอุดมการณ์และเรื่องศาสนาจะแสดงบทบาทส่วนหนึ่งในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นมา แต่แรงจูงใจเบื้องลึกลงไปคือการต่อสู้ทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อเข้าควบคุมมหาภูมิภาคมอ่าวเปอร์เซีย (greater Persian Gulf region) และความมั่งคั่งร่ำรวยทั้งหลายทั้งปวงของมหาภูมิภาคนี้ โดยเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มของประเทศ 2 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะต้องเป็นฝ่ายชนะ
ไม่มีใครสามารถพูดได้ด้วยความมั่นใจว่า เมื่อใดที่กลุ่มพลังทรงอำนาจเหล่านี้จะก่อสงครามครั้งใหม่หรือสงครามต่อเนื่องกันเป็นชุดๆ ใหม่ขึ้นในตะวันออกกลาง หรือกระทั่งว่ามันจะเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาหรือไม่ ทั้งนี้อาจจะมีปัจจัยข้อพิจารณาอย่างอื่นๆ (เป็นต้นว่า การเกิดสถานการณ์ลุกไหม้โหมฮือขึ้นมาอย่างฉับพลันไม่ทันคาดคิดในคาบสมุทรเกาหลี หากการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับคิม จองอึนแห่งเกาหลีเหนือยุติลงด้วยความล้มเหลว, วิกฤตการณ์ครั้งใหม่กับรัสเซีย, การหลอมละลายของเศรษฐกิจทั่วโลก) ซึ่งทำให้ความสนใจหันเหไปสู่เรื่องอื่น และลดทอนความสำคัญของการแข่งขันชิงดีชิงเด่นทางภูมิรัฐศาสตร์ในอ่าวเปอร์เซียลงไป หรือไม่เช่นนั้นคณะผู้นำชุดใหม่ในประเทศที่มีบทบาทสำคัญประเทศหนึ่งประเทศใด ก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางได้ในทำนองเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เนทันยาฮูเวลานี้มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียอำนาจภายในประเทศ เพราะตำรวจอิสราเอลยังกำลังติดตามสอบสวนเรื่องที่เขาถูกกล่าวหาว่ากระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น และแน่นอนทีเดียว นี่ย่อมรวมทั้งทรัมป์ด้วย ใครล่ะจะกล้าพูดยืนยันอะไรในเรื่องนี้? อย่างไรก็ตาม หากไม่มีพัฒนาการอะไรแบบที่กล่าวมานี้ หนทางก้าวไปสู่สงคราม (ซึ่งจะได้รับการพิสูจน์ให้เห็นอย่างแน่นอนทีเดียวว่ามันเป็นเส้นทางลงไปสู่นรกโลกันต์) ก็ดูเหมือนเปิดกว้างขึ้นมาแล้ว ด้วยสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 3 ที่กำลังปรากฏให้เห็นลางๆ อยู่ตรงเส้นขอบฟ้าของมนุษยชาติ
ไมเคิล ที. แคลร์ เป็นศาสตราจารย์ทางด้านการศึกษาสันติภาพและความมั่นคงของโลก (peace and world security studies) อยู่ที่ วิทยาลัยแฮมป์เชียร์ (Hampshire College) เป็นผู้เขียนบทความให้เว็บไซต์ ทอมดิสแพตช์ (www.tomdispatch.com) อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่ม โดยเล่มล่าสุดคือเรื่อง The Race for What's Left นอกจากนั้นภาพยนตร์สารคดีที่สร้างขึ้นโดยอิงอาศัยหนังสือเรื่อง Blood and Oil ของเขา สามารถหาได้ที่มูลนิธิ มีเดีย เอยูเคชั่น ฟาวน์เดชั่น (Media Education Foundation) สามารถติดตามเขาทางทวิตเตอร์ได้ที่ Twitter at @mklare1.
เชิงอรรถ
[1] https://www.nytimes.com/2018/05/03/us/politics/green-berets-saudi-yemen-border-houthi.html
[2] https://www.vox.com/2015/6/2/8703059/bush-isis-middle-east
[3] http://www.unhcr.org/en-us/figures-at-a-glance.html
[4] http://www.bbc.com/news/world-middle-east-10814698
[5] https://thediplomat.com/2016/11/iran-and-russia-negotiating-10-billion-arms-deal/
[6] https://www.reuters.com/article/us-syria-crisis-iran/exclusive-iran-steps-up-weapons-lifeline-to-assad-idUSBRE92D05U20130314
[7] https://www.nytimes.com/2014/01/03/world/middleeast/hezbollah-is-said-to-transfer-missiles.html
[8] https://fas.org/sgp/crs/weapons/R44716.pdf
[9] https://www.cnbc.com/2017/05/20/us-saudi-arabia-seal-weapons-deal-worth-nearly-110-billion-as-trump-begins-visit.html
[10] http://nationalinterest.org/blog/the-buzz/what-war-between-iran-america-would-actually-look-22716
[11] http://foreignpolicy.com/2017/12/21/what-would-a-saudi-iran-war-look-like-dont-look-now-but-it-is-already-here-4/
[12] https://www.nytimes.com/2018/05/10/world/middleeast/israel-iran-syria-military.html
[13] https://www.theguardian.com/world/2016/oct/08/iran-iraq-syria-isis-land-corridor
[14] https://www.cnn.com/2017/07/25/politics/navy-ship-iran-arabian-gulf/index.html
[15] https://www.amazon.com/Blood-Oil-Consequences-Dependency-Petroleum/dp/0805079386
[16] https://en.wikipedia.org/wiki/Carter_Doctrine
[17] https://en.wikipedia.org/wiki/Operation_Earnest_Will
[18] http://articles.latimes.com/1987-05-30/news/mn-3564_1_persian-gulf
[19] https://en.wikipedia.org/wiki/Gulf_War
[20] http://www.presidency.ucsb.edu/ws/index.php?pid=18750
[21] https://www.nytimes.com/2002/08/27/world/eyes-iraq-cheney-s-words-administration-case-for-removing-saddam-hussein.html
[22] https://www.theguardian.com/environment/earth-insight/2014/mar/20/iraq-war-oil-resources-energy-peak-scarcity-economy
[23] https://www.bostonglobe.com/news/nation/2017/01/21/trump-iraq-should-have-kept-oil/SwZlr5SwQeG5AkYf4NZelK/story.html
[24] http://www.bbc.com/news/world-middle-east-42008809
[25] https://www.reuters.com/article/us-behravesh-iran-commentary/commentary-the-unlikely-mideast-alliance-that-threatens-iran-idUSKBN1FC358
[26] https://usa.spectator.co.uk/2018/05/america-goes-rogue/
[27] https://www.bp.com/content/dam/bp/en/corporate/pdf/energy-economics/statistical-review-2017/bp-statistical-review-of-world-energy-2017-full-report.pdf
[28] http://www.famouspictures.org/donald-rumsfeld-shakes-hands-with-saddam-hussein/
[29] https://www.brookings.edu/opinions/how-the-iraq-war-has-empowered-iran/
[30] https://www.nytimes.com/2017/07/15/world/middleeast/iran-iraq-iranian-power.html
[31] https://edition.cnn.com/2018/04/25/politics/iran-shipments-syria/index.html
[32] https://www.reuters.com/article/us-mideast-crisis-syria-aleppo-fall-insi/hezbollah-other-shiite-allies-helped-assad-win-in-aleppo-idUSKBN1431PV
[33] https://www.reuters.com/article/us-yemen-iran-houthis/exclusive-iran-steps-up-support-for-houthis-in-yemens-war-sources-idUSKBN16S22R
[34] https://www.defenseone.com/politics/2018/05/after-iran-deal-heres-what-us-military-worried-about-next/148062/
[35] http://foreignpolicy.com/2012/02/27/saudi-arabia-is-arming-the-syrian-opposition/
[36] https://en.wikipedia.org/wiki/Saudi_Arabian-led_intervention_in_Yemen
[37] https://www.washingtonpost.com/world/national-security/yemen-is-a-humanitarian-nightmare-but-the-us-is-resisting-calls-to-end-its-role-in-the-war/2018/03/19/5c8c3bd2-294b-11e8-bc72-077aa4dab9ef_story.html?noredirect=on&utm_term=.fa5ebdd6f309
[38] https://www.reuters.com/article/us-yemen-security/twenty-five-killed-in-saudi-air-strikes-on-yemen-market-health-official-idUSKBN1990GX
[39] https://www.independent.co.uk/news/world/middle-east/saudi-arabia-coalition-air-strikes-hit-yemen-school-civilian-deaths-sana-drones-donald-trump-a7540316.html
[40] http://www.theamericanconservative.com/larison/saudi-coalition-kills-33-at-a-yemeni-wedding-party/
[41] https://www.newyorker.com/magazine/2018/01/22/how-the-us-is-making-the-war-in-yemen-worse
[42] https://www.nytimes.com/2018/05/08/us/politics/trump-iran-nuclear-deal-news-analysis-.html
[43] http://www.pogo.org/blog/2018/03/pentagon-to-congress-you-cant-stop-us-from-fueling-saudi-arabias-war-in-yemen.html
[44] https://www.csis.org/analysis/us-support-saudi-military-operations-yemen
[45] https://www.armscontrol.org/factsheets/JCPOA-at-a-glance
[46] https://www.nytimes.com/2016/03/27/us/politics/donald-trump-transcript.html
[47] http://www.tomdispatch.com/blog/176421/
[48] https://www.cnn.com/2017/05/20/politics/trump-saudi-arabia-dance/index.html
[49] https://www.nytimes.com/2017/06/21/world/middleeast/trump-saudi-arabia-mohammed-bin-salman.html
[50] http://www.bbc.com/news/world-middle-east-40354415
[51] https://www.nbcnews.com/news/world/saudi-military-leaders-replaced-amid-stalemated-war-yemen-n851461
[52] https://www.nytimes.com/2017/03/14/world/middleeast/mohammed-bin-salman-saudi-arabia-trump.html
[53] https://www.nytimes.com/2017/05/21/world/middleeast/saudi-arabia-iran-donald-trump.html
[54] https://www.cnn.com/2017/05/21/politics/trump-saudi-speech-transcript/index.html
[55] https://www.nytimes.com/topic/person/benjamin-netanyahu
[56] https://www.nytimes.com/2018/05/02/world/middleeast/netanyahu-israel-iran-nuclear.html
[57] http://time.com/5262607/netanyahu-trump-iran-deal-speech/
[58] https://www.washingtonpost.com/news/post-politics/wp/2015/03/03/full-text-netanyahus-address-to-congress/?utm_term=.fd99a7429ef1
(ข้อเขียนนี้เก็บความจากต้นฉบับภาษาอังกฤษใน ทอมดิสแพตช์ http://www.tomdispatch.com/)