รอยเตอร์/เอเอฟพี - โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันอังคาร (8 พ.ค.) แถลงถอนสหรัฐฯออกจากข้อตกลงนานาชาติว่าด้วยเรื่องนิวเคลียร์อิหร่าน ในขณะที่วอชิงตันมุ่งสู่การกลับมาคว่ำบาตรประทศแห่งนี้อีกรอบ อย่างไรก็ตาม ผู้นำเตหะรานประกาศกร้าวว่าจะยึดมั่นในข้อตกลงต่อไป ส่วนคู่ลงนามยุโรปแสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจของอเมริกา
“ข้อตกลงอิหร่านมีข้อกบพร่องตรงแก่นของมันเลย” ทรัมป์ ปราศรัยผ่านสถานีโทรทัศน์จากทำเนียบขาว “ผมขอประกาศในวันนี้ว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน”
ทรัม์ กล่าวต่อว่า หลังจากปรึกษาหารือกับพันธมิตรของสหรัฐฯจากทั่วตะวันออกกลาง “มันทำให้ผมทราบอย่างชัดแจ้งว่าเราไม่อาจขัดขวางระเบิดนิวเคลียร์อิหร่าน ภายใต้โครงสร้างที่เสื่อมโทรมและผุพังของข้อตกลงปัจจุบัน”
“อเมริกาจะไม่ยอมถูกจับเป็นตัวประกันในการขู่กรรโชกทางนิวเคลียร์” ทรัมป์ประกาศ “เราจะไม่ยอมให้เมืองทั้งหลายของอเมริกาเสี่ยงต่อการถูกทำลายและเราจะไม่ยอมให้รัฐบาลชาติหนึ่งๆ ซึ่งเคยตะโกนว่าไปตายซะอเมริกา เข้าถึงอาวุธสังหารร้ายแรงที่สุดบนโลกใบนี้”
หลังจากการปราศรัยผ่านสถานีโทรทัศน์ ทรัมป์ได้ลงนามในเอกสารบันทึกความเข้าใจประธานาธิบดี สำหรับเริ่มรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรทางนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่กำหนดต่อรัฐบาลอิหร่าน “เราจะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจระดับสูงสุด” ทรัมป์ กล่าว “ชาติใดที่ช่วยอิหร่านในการเสาะหาอาวุธนิวเคลียร์ ก็อาจเผชิญมาตรการคว่ำบาตรหนักหน่วงจากสหรัฐฯเช่นกัน”
จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ บอกกับผู้สื่อข่าวหลังการปราศรัยของทรัมป์ ว่ามาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯจะมีผลบังคับใช้กับสัญญาใหม่ๆ ในทันที และบริษัทต่างชาติมีเวลาไม่กี่เดือนสำหรับลดระดับปฏิบัติการต่างๆ ในอิหร่าน
ในถ้อยแถลง ทรัมป์ ได้ให้คำจำกัดความ อิหร่าน ว่าเป็นรัฐสนับสนุนก่อการร้ายตัวเอ้ของโลกและโวยวายความพยายามขยายอิทธิพลในตะวันออกกลางของเตหะราน โดยบอกว่าสหรัฐฯมีความตั้งใจร่วมมือกับพันธมิตรในการหาทางออกที่แท้จริง อย่างครอบคลุมและยั่งยืนในประเด็นภัยคุกคามทางนิวเคลียร์จากอิหร่าน
เขาบอกต่อว่าในทางออกเหล่านั้น อาจรวมถึงความพยายามกำจัดภัยคุกคามจากโครงการขีปนาวุธของอิหร่าน, หยุดกิจกรรมก่อการร้ายของพวกเขาทั่วโลก และขัดขวางความเคลื่อนไหวคุกคามของอิหร่านทั่วภูมิภาค
ทรัมป์ แสดงจุดยืนมานานว่าต้องการฉีกข้อตกลงที่เขาเรียกว่า “เลวร้าย” ที่ทาง บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนก่อน เห็นพ้องกับ อังกฤษ, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และ รัสเซีย ยอมปลดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่กำหนดเล่นงานอิหร่าน แลกกับการที่เตหะรานจำกัดศักยภาพแปรรูปยูเรเนียม
ผู้นำสหรัฐฯขู่ถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าว จนกว่าพวกผู้ลงนามยุโรปจะยอมแก้ไขข้อตกลงนี้ที่เขาตำหนิว่ามีข้อบกพร่องมากมาย โดยเดิมทีขีดเส้นตายไว้ในวันที่ 12 พฤษภาคม สำหรับจะตัดสินใจว่าจะกลับมาคว่ำบาตรภาคธนาคารและภาคพลังงานของอิหร่าน ซึ่งเป็นเสาหลักของข้อตกลง 2015 หรือไม่
ไม่กี่นาทีตามหลังคำแถลงของทรัมป์ นายฮัสซัน รูฮานี ประธานาธิบดีอิหร่าน ได้กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ ระบุว่า การตัดสินใจของผู้นำสหรัฐฯที่จะถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์นั้น เป็นการทำสงครามทางจิตวิทยากับอิหร่าน พร้อมเผยว่าเขาอยากนำเรื่องนี้ไปปรึกษาหารือกับยุโรป, รัสเซียและจีน ที่มีส่วนร่วมในข้อตกลงปี 2015
นอกจากนี้แล้ว รูฮานี ยังบอกด้วยว่า อิหร่านจะยังคงยึดถถือข้อตกลงนิวเคลียร์นานาชาติต่อไป แม้สหรัฐฯประกาศถอนตัวแล้วก็ตาม “เมื่อเราประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของข้อตกลงภายใต้ความร่วมมือกับสมาชิกอื่นๆ ในข้อตกลง ข้อตกลงก็จะยังคงอยู่ ในข้อตกลงปัจจุบัน อเมริกาได้บ่อนทำลายพันธสัญญาของพวกเขาที่มีต่อสนธิสัญญานานาชาติฉบับหนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว” รูฮานี กล่าว
คำแถลงของประธานาธิบดีทรัมป์ สร้างความผิดหวังแก่พันธมิตรยุโรป อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศส, เยอรมนีและอังกฤษ แต่พวกเขายืนยันว่า จะยึดมั่นบังคับใช้ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านต่อไป แม้ผู้นำสหรัฐฯตัดสินใจถอนตัวและขู่รื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรก็ตาม
“รัฐบาลของพวกเรายังมีหน้าที่รับประกันว่าจะมีการยึดมั่นในข้อตกลงต่อไป และจะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายที่เหลือของข้อตกลงเพื่อธำรงไว้ซึ่งข้อตกลง ในนั้นรวมถึงหาทางรับประกันว่าประชาชนชาวอิหร่านยังจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามข้อตกลงต่อไป” ถ้อยแถลงร่วมของยุโรปกล่าว
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส บอกว่า เขารู้สึกเสียใจต่อการตัดสินใจของทรัมป์และประกาศจะทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อตกลงอย่างกว้างๆ ครอบคลุมทั้งกิจกรรมทางนิวเคลียร์และโครงการขีปนาวุธของอิหร่าน รวมถึงความเคลื่อนไหวในภูมิภาคของเตหะราน
ชาร์ลส์ มิเชล นายกรัฐมนตรีเบลเยียม บอกว่า การยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านอาจสร้างผลกระทบมากกว่าความไร้เสถียรภาพในตะวันออกกลางและบอกว่าเขารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการตัดสินใจของทรัมป์ “อียูและพันธมิตรนานาชาติยังต้องยึดมั่นต่อไปและอิหร่านต้องเดินหน้าทำตามข้อผูกมัดของพวกเขา”
โดนัลด์ ทัสก์ ประธานสภายุโรป บอกว่า จุดยืนของทรัมป์ในเรื่องอิหร่านและการค้าระหว่างประเทศจะต้องเจอกับแนวทางที่เป็นหนึ่งเดียวของยุโรป และเผยว่า พวกผู้นำของสมาชิกอียู 28 ชาติ จะหารือในประเด็นนี้ ในการประชุมที่เมืองหลวงของบัลแกเรียในวันพุธหน้า
อย่างไรก็ตาม คำแถลงของทรัมป์ได้รับเสียงยกย่องจากพันธมิตรในตะวันออกกลางอย่างเช่นอิสราเอล และ ซาอุดีอาระเบีย โดย เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ซึ่งคัดค้านข้อตกลงมาช้านานบอกว่า “ข้อตกลงนี้เป็นสูตรผสมแห่งหายนะ เป็นหายนะของภูมิภาค เป็นหายนะต่อสันติภาพโลก”
ส่วน ซาอุดีอาระเบีย คู่ปรับตัวฉกาจของอิหร่านในตะวันออกกลาง ก็ออกถ้อยแถลงยกย่องการตัดสินใจของทรัมป์เช่นกัน โดยบอกว่า “อิหร่านอาศัยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการปลดเปลื้องมาตรการคว่ำบาตร เดินหน้ากิจกรรมต่างๆ ที่บั่นท่อนเสถียรภาพในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาขีปนาวุธและสนับสนุนก่อการร้ายในภูมิภาค”