xs
xsm
sm
md
lg

โลกทึ่งกษัตริย์ไทยคำนวนดาราศาสตร์แม่นกว่าชาวตะวันตก! “ยังจะเชื่อต่างชาติได้อีกหรือ”!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เปลี่ยนโฉมหน้าประเทศสยามเข้ารับอารยธรรมตะวันตก เพื่อหยุดยั้งการล่าอาณานิคมที่มหาอำนาจตะวันตกจะอ้างว่ายังเป็นประเทศป่าเถื่อน จึงต้องเข้าช่วยปกครองให้เจริญขึ้นทัดเทียมกัน ทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่พูดเขียนอ่านภาษาอังกฤษได้ และทรงค้นคว้าหาตำราทางวิทยาการของโลกตะวันตกมาศึกษา อีกทั้งยังสั่งหนังสือพิมพ์ที่ออกในยุโรปมาติดตามข่าว ทำให้ทรงรู้ว่ามีอะไรที่เกิดขึ้นในโลกและจะเป็นผลต่อสยามอย่างไร เมื่อขึ้นครองราชย์ในขณะที่บ้านเมืองกำลังวิกฤติ เนื่องจากเรือรบอังกฤษกำลังบ่ายหน้ามากรุงเทพฯ พระองค์ก็ทรงแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที โดยผ่อนหนักให้เป็นเบา ทำให้เรือรบของอังกฤษเบนหัวเรือไปจากไทย

วิชาที่ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษก็คือ ดาราศาสตร์ ยุคนั้นคนไทยศึกษาเรื่องดวงดาวก็เฉพาะที่เกี่ยวกับการทำนายตามวิชาโหราศาสตร์ แต่พระองค์ทรงศึกษาในแนววิทยาศาสตร์ โดยค้นคว้าหาตำราในด้านนี้ซึ่งเป็นการยากในยุคนั้น ทรงขอความช่วยเหลือจากชาวต่างประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการเมืองหรือเข้ามาค้าขาย อย่างเช่นมีพระราชหัตถเลขาถึงกงสุลอังกฤษ ฉบับหนึ่งมีความว่า

“ข้าพเจ้าอยากจะได้เอกสารที่มีชื่ออว่า “Chronomiter Companion” ในนั้นมีตารางแสดงการโคจรของดวงดาว โดยบอกถึงเส้นรุ้งเส้นแวงได้สำเร็จ ท่านพอจะหาฉบับที่พิมพ์ใหม่จากกระทรวงทหารเรือมาให้ข้าพเจ้าสักฉบับหนึ่งได้หรือไม่”

ในบันทึกของ เซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตอังกฤษ ที่เข้าเฝ้าในปี ๒๓๙๘ ได้เล่าว่า พระองค์ทรงมีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์มากมาย มีความตอนหนึ่งว่า

“ที่ประทับส่วนพระองค์ในพระบรมมหาราชวัง เต็มไปด้วยเครื่องมือต่างๆทั้งด้านปรัชญาและการคำนวณ มีนาฬิกาทั้งตั้งโต๊ะและแขวนแบบปารีส เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดความกดของอากาศ กล้องส่องทางไกล

กล้องจุลทรรศน์ หรือจะกล่าวจะกล่าวสรุปได้คือ เครื่องมือและเครื่องใช้ทดลองทั้งหมดนี้ อาจหาได้ในห้องทำงานหรือห้องสมุดของนักปรัชญาเมธีที่เชี่ยวชาญในยุโรป”

อีกทั้งพระองค์ยังทรงตรัสถามเซอร์จอห์น เบาว์ริงเกี่ยวกับการค้นพบดาวเนปจูน หรือดาวพระเกตุ ซึ่ง เป็นดาวดวงที่ ๘ ในระบบสุริยะจักรวาลที่เพิ่งค้นพบในปี ๒๔๘๙

สิ่งที่พระองค์ทรงทำให้โลกตะวันตกต้องทึ่งก็คือ ทรงคำนวนว่าจะเกิดสุริยุปราเต็มดวงในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๑๑ และทรงประกาศก่อนที่จะเกิดเป็นเวลาถึง ๒ ปี เมื่อถึงกำหนดก็พระราชดำเนินไปสร้างค่ายดูสุริยปราคาที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยทรงเชิญทูตต่างประเทศไปชมด้วย

ขณะนั้นนักดาราศาสตร์ชาวยุโรปหลายชาติก็คำนวนได้เช่นกัน ต่างไปตั้งจุดถ่ายรูปสุริยุปราคาในที่ต่างๆกัน นักดาราศาสตร์ฝรั่งเศสให้ความสนใจที่จะได้เห็นสุริยุปราคาซึ่งนานที่สุดในรอบ ๓๐๐ ปี แต่จะตั้งค่ายในเวียดนาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้มีพระราชสาสน์ไปถึงผู้อำนวยการหอดูดาวเมืองมาร์เซลล์ ประเทศฝรั่งเศส ความว่า

“ความรู้ในทางคำนวนทางวิชาฟิสิกส์ของข้าพเจ้ายังไม่เป็นการเพียงพอที่จะคำนวณให้ถูกต้องแม่นยำนัก แต่ก็พอคำนวณได้ว่า ปรากฏการณ์ที่จะเห็นได้ชัดเจนนี้ก็ตกอยู่แถวบริเวณใจกลางปากอ่าวสยามนี่เอง ซึ่งไม่มีแผ่นดินที่เราจะไปตั้งหอดูดาวและสังเกตปรากฏการณ์ได้สะดวก แต่อย่างไรก็ดีมีบริเวณที่เราจะมองเห็นได้โดยชัดเจนก็คือบริเวณชายหาดอันเป็นแหลมยืนออกไป เรียกว่าห้วยหวาย หรือหาดทรายที่ตำบลเขาสามร้อยยอดขึ้นไปอีกเล็กน้อย อันอยู่ประชิดติดกับเขตแดนมลายู”

ด้วยเหตุนี้นักดาราศาสตร์ฝรั่งเศสที่เตรียมจะย้ายค่ายจากเวียดนามไปมะละกา จึงกราบทูลขอเข้ามาตั้งค่ายที่หว้ากอด้วย ทรงสร้างค่ายให้ฝรั่งเศสใต้ค่ายหลวงลงไป ๑๘ เส้น นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสมากันเป็นขบวนใหญ่ มีกล้องมาถึง ๕๐ กล้อง นอกจากนี้ยังขนอิฐขนปูนมาสร้างที่ตั้งกล้อง

ในที่สุดวันสำคัญก็ถึง ทุกคนที่เฝ้าดูต่างยืนจังงังเมื่อเห็นดวงจันทร์เริ่มเข้าบดบังดวงอาทิตย์ จนหมดดวงในเวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๖ นาที ๒๒ วินาที มีเพียงรังสีแลบออกมาจากขอบโดยรอบ ขณะนั้นบริเวณหว้ากอมืดลงเหมือนเวลาค่ำ ดวงดาวปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า นกกาบินกลับรัง ไก่ขันกันระเบ็งเซ็งแซ่ เครื่องวัดอากาศบอกอุณหภูมิลดลง ๖ องศาจนรู้สึกถึงความเย็น ทุกคนในที่นั้นต่างกู่ร้องกันเอิกเกริก ในหมู่บ้านมีการตีกลองจุดประทัด ส่วนพวกฝรั่งเศสที่ขึ้นไปเฝ้าดูธรรมชาติบนเขาหลวงรายงานว่า พอดวงจันทร์บังล้ำเข้าไปในดวงอาทิตย์ได้ ๑ ใน ๕ ฝูงลิงก็วิ่งกันอึงคะนึง และรวมกลุ่มกันเป็นฝูงเล็กๆหลายฝูง นกเหงือกที่ไม่เคยส่งเสียงเลยต่างส่งเสียงกันระงมเพราะความกลัว ไม้ที่หุบใบในเวลากลางคืนเช่นไมยราบก็พากันหุบใบ

สุริยุปราคาจับหมดดวงนาน ๖ นาที ๔๕ วินาทีก็เริ่มคลาย มีแสงสว่างพุ่งแปลบออกมาจากดวงอาทิตย์ จนคลายทั้งดวงในเวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๗ นาที ๔๕ วินาที เกินที่ทรงคำนวณไป ๑ นาที แต่นักดาราศาสตร์ฝรั่งเศสคำนวนพลาดไป ๒ นาที

เซอร์แฮรี ออด ผู้สำเร็จราชการสิงคโปร์ของอังกฤษที่มาเฝ้าชมด้วย ได้บันทึกไว้ว่า

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระสำราญมาก เพราะการคำนวณเวลาสุริยุปราคาของพระองค์ได้พิสูจน์แล้วว่าถูกต้องอย่างที่สุด ถูกต้องกว่าที่ชาวยุโรปได้คำนวณไว้”

เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัคพันธ์ สมุหนายก ซึ่งตามเสด็จไปหว้ากอด้วยได้กล่าวว่า

“คราวนี้ยังจะเชื่อต่างชาติได้อีกล่ะหรือ”

ต่อมาเมิ่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๒๕ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ ๑๘ สิงหาคม เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” และมีการจัดงานวันวิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๕ โดยจัดเป็นประจำทุกปีติดต่อมา
ถ้าไม่อ่านประวัติศาสตร์ไทยกันบ้าง ก็ไม่รู้ว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงทำอะไรไว้ให้ประเศชาติแค่ไหน จึงทำให้ชาติรอดปลอดภัยและรุ่งเรืองมาจนถึงวันนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น