xs
xsm
sm
md
lg

ภาพถ่ายดาราศาสตร์ภาพไหนบ้าง ที่ไม่ควรพลาดร่วมส่งประกวดปีนี้

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์



สำหรับคอลัมน์นี้จะขอแนะนำภาพถ่ายดาราศาสตร์ทั้ง 5 ประเภท ที่ไม่ควรพลาดร่วมส่งประกวด ซึ่งปีที่ผ่านมารวมทั้งในปีนี้ก็มีวัตถุท้องฟ้าและปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจมากมาย รวมทั้งปรากฏการณ์ท้องฟ้าในชั้นบรรยากาศโลกที่เกิดขึ้น ซึ่งนักดาราศาสตร์ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ จึงอยากเชิญชวนใครที่มีโอกาสถ่ายภาพเก็บไว้ ก็สามารถนำมาร่วมส่งประกวดกันได้ครับ
ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้นักถ่ายภาพไม่สามารถออกไปถ่ายภาพในช่วงกลางคืนกันได้ ทางสถาบวันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติจึงมีการขยายระยะเวลาการส่งภาพเข้าร่วมประกวดไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยยังคงใช้หัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” และแบ่งประเภทการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ เป็น 5 ประเภท โดยจะขอยกตัวอย่างภาพถ่ายที่ได้รับความนิยมถ่ายภาพและได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก ดังนี้

Deep Sky Objects


สำหรับเทรนด์ถ่ายภาพวัตถุในห้วงอวกาศลึก หรือที่เรียกว่า Deep Sky Objects นักดาราศาสตร์จะเน้นภาพถ่ายที่มีรายละเอียดของวัตถุท้องฟ้าที่ชัดเจน หรือมี signal to noise ratio ที่ดี ซึ่งเป็นภาพที่ต้องใช้จำนวนภาพและเวลาในการถ่ายภาพยาวนานหลายชั่วโมง ซึ่งกว่าจะได้มาแต่ละภาพนั้น ก็ต้องยอมแลกกับความอดทนและเทคนิคการตั้งกล้องตามดาวอย่างแม่นยำ รวมทั้งเทคนิคการโปรเซสภาพเพื่อให้ได้มาซึ่งภาพที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและคุณภาพไฟล์ที่ดี

นอกจากนั้นภาพวัตถุท้องฟ้าบริเวณซีกฟ้าใต้ก็เป็นอีกประเภทที่ได้รับความนิยมในการถ่ายภาพเช่นกัน เนื่องจากเป็นวัตถุที่ถ่ายได้พร้อมๆ กับการออกไปถ่ายทางช้างเผือกนั่นเองปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์

ตัวอย่างวัตถุทางซีกฟ้าใต้ ใกล้กับบริเวณใจกลางทางช้างเผือก ที่สามารถถ่ายภาพได้จากบริเวณพื้นที่ประเทศไทย
ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์

ภาพปรากฏการณ์ที่คนไทยให้ความสนใจกันมากที่สุดในปีนี้คือ ภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน ที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม 2562 (เปอร์เซ็นต์บังมากสุดทางภาคใต้) และสุริยุปราคาบางส่วน วันที่ 21 มิถุนายน 2563 (เปอร์เซ็นต์บังมากสุดทางภาคเหนือ) ซึ่งภาพสุริยุปราคาทั้ง 2 ครั้ง ก็มีผู้เฝ้าติดตามถ่ายภาพกันหลากหลายรูปแบบ ทั้งภาพถ่ายแบบมุมแคบและมุมกว้าง รวมทั้งมีการสร้างสรรค์ภาพถ่ายให้มีความน่าสนใจกันอย่างหลากหลาย หากใครที่มีภาพถ่ายปรากฏการณ์สุริยุปราคาไว้ก็สามารถนำมาส่งประกวดกันได้

ตัวอย่างภาพถ่ายสุริยุปราคาบางส่วน
วัตถุในระบบสุริยะ

สำหรับประเภทวัตถุในระบบสุริยะ ในปีนี้ต้องยกให้ ดาวหางนีโอไวส์ C/2020 F3(NEOWISE) เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งดาวหางดวงนี้ก็มีความสว่างมากในระดับที่ตาเปล่าสามารถมองเห็นได้ ที่ปรากฏหางฝุ่นและหางไอออนแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ทั้งยังมีขนาดปรากฏที่ใหญ่ใกล้คียงกับดาวหางสว่างในอดีต ที่เราไม่ได้เห็นกันแบบนี้มานานมากแล้ว

โดยในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ดาวหาวได้โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และจะเข้าใกล้โลกที่สุดวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ก็มีนักถ่ายภาพแชร์ภาพดาวหางกันในโลกออนไลน์ และสร้างความตื่นตัวและความสนใจกันทั่วทั้งประเทศ ซึ่งหากใครที่มีโอกาสถ่ายภาพดาวหางดวงนี้ไว้ ก็น่าส่งเข้ามาลุ้นรางวัลกันได้ครับ

ภาพดาวหางนีโอไวส์ C/2020 F3 (NEOWISE) ในช่วงเข้าใกล้โลกที่สุดวันที่ 23 กรกฎาคม 2563  ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Sony A7lll / Mount : Takahashi EM-200 Temma 2 / Lens : Canon EF 70-200/2.8L IS II USM  / Focal length : 200 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 1,000 / WB : 5500K / Exposure : 60sec)
วิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์

ภาพวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ เป็นภาพถ่ายที่มีได้รับความนิยมสูงสุด ในการถ่ายภาพเนื่องจากสามารถถ่ายได้หลากหลายรูปแบบและถ่ายได้ตลอดทั้งปี ตัวอย่างเช่น แสงจักรราศีที่สามารถบ่งบอกถึงค่าทัศนวิสัยของท้องฟ้าบริเวณนั้น ภาพเส้นแสงดาวทางทิศต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้า ซึ่งหากสามารถถ่ายภาพเส้นแสงดาวออกมาได้ยาวๆ จะสามารถบ่งบอกถึงสภาพอากาศที่เหมาะแก่การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ รวมทั้งความพยายามและความอดทนในการถ่ายภาพของผู้ถ่าย และภาพทางช้างเผือก ที่สามารถสร้างสรรค์ภาพถ่าย ทางช้างเผือกคู่กับฉากหน้าที่มีความหลากหลาย ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพท้องฟ้าได้ดีเช่นกัน

ภาพแสงจักรราศี (Zodiacal Light) ทางทิศตะวันตกบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 15mm f/2.8 Fisheye / Focal length : 15 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 6400 / Exposure : 30sec)

ภาพเส้นแสงดาว (Star Trails) ทางทิศตะวันตก บริเวณอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Sony A7lll / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/3.2 / ISO : 1600 / Exposure : 30sec x 405 images)

ภาพทางช้างเผือกทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเช้ามืด บริเวณอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Sony A7lll / Lens : Sigma 24 mm f1.4 DG HSM / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/1.6 / ISO : 2500 / Exposure : 25sec)
ปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก

ภาพประเภทสุดท้ายเป็นภาพปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่มักถ่ายได้โดยบังเอิญและส่วนมากก็เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ภาพดวงอาทิตย์ทรงกลด ปรากฏการณ์เมฆสีรุ้ง เป็นต้น โดยปีที่ผ่านมาก็มีผู้ที่ถ่ายภาพปรากฏการณ์ต่างๆ ได้หลายพื้นที่ในประเทศไทย

ภาพปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ทรงกลด เหนือสโตนเฮนจ์ บริเวณหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา

ปรากฏการณ์เมฆสีรุ้ง หรือ irisation เกิดจากการที่แสงอาทิตย์สีขาวตกกระทบเม็ดน้ำขนาดต่างๆ ในเมฆจางๆ ซึ่งเป็นเมฆที่มีจำนวนหยดน้ำไม่หนาแน่นมากนัก เมื่อแสงตกกระทบหยดน้ำแต่ละหยด จะเกิดการหักเหเปลี่ยนทิศทางไปจากแนวเดิม แต่เนื่องจากแสงสีต่างๆ (ที่ประกอบขึ้นเป็นแสงสีขาว) หักเหได้ไม่เท่ากัน ผลก็คือ แสงสีขาวแตกออกเป็นสีรุ้ง และเนื่องจากในเมฆจางๆ ที่ว่านี้มีเม็ดน้ำขนาดต่างๆ กัน ทำให้สีรุ้งสีหนึ่ง ที่หักเหออกจากเม็ดน้ำขนาดหนึ่งๆ ซ้อนทับกับสีรุ้งอีกสีหนึ่ง ที่มาจากเม็ดน้ำอีกขนาดหนึ่ง จึงทำให้มองเห็นสีรุ้งมีลักษณะเหลือบซ้อนทับกันอย่างสลับซับซ้อน (ภาพโดย : รุจิรา สาธิตภัทร / Camera : Nikon D3000 / Focal length : 210 mm. / Aperture : f/7.1 / ISO : 100 / Exposure : 1/800 sec)


การส่งภาพเข้าประกวดแบบออนไลน์

สำหรับผู้ที่มีภาพต่างๆ ตามที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้น หรือภาพอื่นๆ ก็สามารถร่วมส่งภาพเข้าร่วมประกวดได้ตามลิงก์ http://www.narit.or.th/index.php/news/1163-astrophotography-2563 โดยมีกติกาการส่งภาพถ่ายเข้าร่วมการประกวด ดังนี้

1. ภาพที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นไฟล์ภาพความละเอียดสูง สามารถนำไปอัดขยายได้ อัพโหลดได้ที่ละ 1 รูป ความละเอียดไม่เกิน 25 mb โดยสกุลไฟล์ JPEG เท่านั้น

2. สามารถส่งภาพได้ไม่จำกัดจำนวน ไม่จำกัดประเภท โดยมีสิทธิ์ได้รับเฉพาะรางวัลสูงสุดของแต่ละประเภทเท่านั้น

3. สามารถส่งภาพถ่ายที่เก็บไว้ในอดีต หรือภาพที่ยังไม่เคยได้รับรางวัลจากสถาบันฯ มาก่อนเข้าประกวดได้

4. สามารถส่งภาพที่ถ่ายจากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศได้ โดยผู้ส่งต้องเป็นผู้ถ่ายภาพนั้นๆ

5. ต้องเขียนคำอธิบายเทคนิคการถ่ายภาพและเทคนิค ที่ใช้ประมวลภาพถ่าย (Image Processing) ให้ครบถ้วน

6. ผู้ส่งภาพจะต้องอาศัยอยู่และมีที่อยู่ในประเทศไทยที่สามารถติดต่อได้


เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น