รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร ศูนย์รังสิตมธ.ขออภัย น้อมรับผิด หลังม็อบ “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” มีผู้ปราศรัยบางคนพูดเกินขอบเขตของประเด็น “เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา และให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชนทุกรูปแบบ” ลั่นแม้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะให้เสรีภาพในการแสดงออก แต่การแสดงออกควรต้องอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
วันที่ 11 ส.ค. 63 ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว Prinya Thaewanarumitkul ชี้แจงเรื่องการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่าตามที่ได้มีการจัดชุมนุมที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา และปรากฏว่าในช่วงท้ายของการชุมนุมมีเนื้อหาบางส่วนที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น
ในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต ที่รับผิดชอบเรื่องการอนุญาตให้ใช้สถานที่ ขอชี้แจงดังต่อไปนี้
“1. นักศึกษาผู้จัดการชุมนุมได้ทำหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ขออนุญาตใช้สถานที่ โดยแจ้งว่า “เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา และให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชนทุกรูปแบบ” ไม่ได้มีการแจ้งว่าจะมีการปราศรัยหรือแสดงออกในประเด็นเรื่องอื่นแต่อย่างใด
2. ผมได้รับหนังสือนี้ในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ผมจึงได้เชิญผู้ขออนุญาตใช้สถานที่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอคลองหลวง มาหารือในวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2563 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยินดีที่จะอำนวยความสะดวกเรื่องมาตรการความปลอดภัย โดยได้ขอให้แสดงออกเป็นไปในขอบเขตของกฎหมายและหลีกเลี่ยงประเด็นที่ละเอียดอ่อน ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่า การชุมนุมจะอยู่ในขอบเขตของประเด็นทั้ง 3 ประเด็นที่ขอจัด โดยหากว่ามีคนที่ปราศรัยในประเด็นที่หมิ่นเหม่หรือผิดกฎหมาย คนพูดก็ต้องรับผิดชอบ และถ้าหากมีการกระทำที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการยกป้ายข้อความหรือการกระทำใดก็แล้วแต่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้วิธีการพูดคุยเจรจา เมื่อได้ข้อสรุปตามแนวทางนี้ ผมจึงอนุญาตให้ใช้สถานที่
3. ในขณะที่มีการชุมนุม ช่วงเวลาประมาณ 19 นาฬิกา ถึง 20 นาฬิกา ผมได้ไปสังเกตการณ์และไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ช่วยอำนวยการเรื่องมาตรการความปลอดภัย ซึ่งการชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่หลังจากนั้นจึงได้ทราบว่ามีผู้ปราศรัยบางคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการปราศัยในทางที่จะเป็นปัญหาได้ดังที่ปรากฏ
ผมขอเรียนว่า แม้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะให้เสรีภาพในการแสดงออก แต่การแสดงออกควรต้องอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องพึงระวังในเรื่องละเอียดอ่อนและเรื่องที่อาจจะนำมาซึ่งความแตกแยกของผู้คนในสังคม และแม้ว่าเนื้อหาหลักของการชุมนุมจะเป็นไปตามขอบเขตดังกล่าว แต่เมื่อปรากฏเนื้อหาบางส่วนที่อาจจะเลยขอบเขตไป ผมในฐานะรองอธิการบดีผู้อนุญาต ผมก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ในเบื้องต้นผมขออภัย และขอน้อมรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้น”