“ณัฏฐพล” รับข้อเรียกร้องม็อบนักศึกษาอันตรายสำหรับประเทศ เชื่อผู้ชุมนุมบางคนไม่รู้ข้อมูลมาก่อนจะมีเนื้อหาลักษณะล้มล้างสถาบันหลักของประเทศ เตือนต่อไปต้องใช้วิจารณญาณ
วันนี้ (11 ส.ค.) เมื่อเวลา 11.25 น. ที่สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงเรื่องเนื้อหาว่า กระทรวงศึกษาธิการดูแลในระดับโรงเรียน พบว่ามีการจัดกิจกรรมอยู่บ้าง แต่ไม่มีเรื่องการหยาบคาย เป็นการแสดงออกในสถานะที่พอเพียง ดังนั้น ไม่น่ากังวลเท่าไหร่ ทางโรงเรียนจึงให้แสดงออกได้ในขอบเขต สำหรับในรั้วมหาวิทยาลัย รมว.การอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม จะเป็นผู้ดูแล
“แต่จากการติดตามข่าว เท่าที่ดูคำพูดเป็นเรื่องน่ากังวล ผมคิดว่าคนไทยแสดงความเห็นได้ แต่การแสดงความคิดเห็นที่สร้างความแตกแยก หรือตั้งใจทำลายสถาบันหลักของประเทศ ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ที่สำคัญเวลานี้คนไทยกำลังต้องการความร่วมมือ ที่น่าห่วงคือปัญหาเศรษฐกิจในตอนนี้ ซึ่งอยากให้คนต่างประเทศมาลงทุนในไทย เพราะเราสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี แต่วันนี้กลับมาสร้างความกังวลให้เขาไม่กล้ากลับมา เพราะอาจหวาดระแวงว่าจะมีการปะทะกันหรือไม่ หรืออาจจะมีความไม่สงบอย่างที่เขาคาดการณ์ไม่ได้ ถือเป็นการทำร้ายประเทศ แม้เป็นสิทธิแต่ละคนผมก็เข้าใจ แต่อยากให้คนไทยร่วมกันหาทางออกในทางที่เหมาะสมของช่วงเวลานี้น่าจะเป็นทางออกที่ดี ยอมรับว่าห้ามทุกคนไม่ได้ อาจมีแกนนำที่ตั้งใจอะไรบางอย่าง แต่คนที่มาร่วมเราสามารถอธิบายได้ จากนี้ไปต้องรับฟังข้อมูลข่าวสารบ้าง ทั้งนี้ จากข้อเรียกร้องที่ผมติดตามมา มันน่าอันตรายสำหรับประเทศ เป็นเรื่องที่สร้างความแตกแยกอย่างรุนแรง หวังว่าแกนนำควรจะพิจารณาความเหมาะสมที่ได้ทำไป” นายณัฏฐพลกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูแล้วจากการชุมนุมดังกล่าวเป็นไปโดยธรรมชาติหรือไม่ นายณัฏฐพลกล่าวว่า จากจำนวนคนคิดว่าน่าจะมีคนเห็นด้วยกับความอยากที่จะมามีส่วนร่วมในการชุมนุม แต่ไม่คิดว่าทุกคนที่มาชุมนุม รู้ว่าแกนนำจะพูดอะไร ตนไม่เชื่อว่าจำนวนคน จะ 3,000 หรือ 5,000 คน ที่มาชุมนุมจะทราบข้อมูลล่วงหน้าและเห็นด้วยกับข้อมูลนั้น เชื่อว่าหลายคนอาจตกใจอยู่ระดับหนึ่งซึ่งต้องใช้วิจารณญาณในการชุมนุมครั้งต่อไป บางส่วนอยากแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่กลับมาเจอกันแสดงออกในลักษณะล้มล้างสถาบันหลักของประเทศ ผู้มาชุมนุมต้องพิจารณาความเหมาะสมด้วย เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอธิการบดีเองก็คงตกใจ เพราะข้อเรียกร้องรุนแรงและร้อนแรง ในขณะที่ประเทศต้องการความสามัคคี สื่อมวลชนเองก็ต้องหาทางอธิบายที่เหมาะสมด้วย