เปิดเอกสารประชุมโครงการท่อร้อยสายใต้ดิน กทม. กังขา "ทีโอที" พยายามเคลมตัวเองว่ามีท่อร้อยสายลงใต้ดินกว่า 20,000 กม. แต่ไม่เคยเปิดเผยข้อมูล พยายามถกขอใช้เครือข่ายร่วมก็ล้มเหลว สงสัยว่าการจัดซื้อจัดจ้างมีปัญหาหรืออย่างไร? ส่งผลให้โครงการยืดเยื้อกว่า 2 ปี พบแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ ทีโอทีไม่ได้เปิดทั่วไป ต้องเข้ารหัส แถมไม่ได้ระบุพิกัดละเอียด
จากกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่ กทม. ให้ลงมาอยู่ใต้ดิน พร้อมทั้งใช้ในกิจการของ กทม. เช่น ระบบกล้องวงจรปิด การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจราจร รวมทั้งด้านอื่นๆ โดย กทม. มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจภายใต้กำกับดูแลของ กทม. เป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งมีกำหนดก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี รวม 2,450 กิโลเมตร ที่ผ่านมา กรุงเทพธนาคมได้ประกาศ และส่งหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม 16 บริษัท ยื่นข้อเสนอใช้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม ปรากฎว่า มี บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่ยื่นข้อเสนอดำเนินการติดตั้งและทำการตลาดท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินทั้งหมดของ กทม. มูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี และผ่านการพิจารณา ทำให้มีความพยายามโจมตีว่าโครงการนี้มีการผูกขาดให้เอกชนบางราย
หนึ่งในนั้นคือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ออกมาคัดค้านโดยให้เหตุผลว่า ใน กทม. มีท่อร้อยสายใต้ดินพร้อมให้บริการกว่า 2,500 กิโลเมตร ทำไม กทม. ต้องลงทุนซ้ำซ้อนเข้าไปอีก และอ้างว่าได้วางและติดตั้งท่อร้อยสายลงใต้ดินทั่วประเทศเสร็จเรียบร้อยแล้ว 38,735 ท่อกิโลเมตร แบ่งเป็นในเขตพื้นที่นครหลวง 33,250 ท่อกิโลเมตร และภูมิภาค 5,485 ท่อกิโลเมตร ความขัดแย้งระหว่าง กทม. กับทีโอที ส่งผลให้โครงการนี้ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี กระทั่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องให้ กทม. ทีโอที และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ประชุมกันเพื่อหารือถึงการการนำสายสื่อสารลงใต้ดินพื้นที่ กทม. ในเส้นทางที่การไฟฟ้านครหลวงไม่มีการรื้อถอนเสาไฟฟ้าและไม่มีสภาพบังคับไปเมื่อวันก่อน
รายงานข่าวแจ้งว่า ในเอกสารสรุป-ย่อโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด สำหรับใช้ประชุมเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2563 ระบุเหตุผลและความจำเป็นในการดำเนินโครงการโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่ กทม. บางช่วงบางตอนระบุว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เคยมอบหมายให้ ทีโอที และ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัดระเบียบสายสื่อสาร และนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากทีโอทีอ้างว่ามีท่อร้อยสายโทรคมนาคมในเขต กทม. แล้ว เป็นระยะทาง 20,376 กิโลเมตร
"แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการ ยังคงพบเห็นการพาดสายสื่อสารในที่สาธารณะ รวมถึงสายสื่อสารของทีโอทีด้วย และไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลท่อร้อยสายสื่อสารต่อหน่วยงานใด ๆ อันเป็นที่สงสัยถึงการมีอยู่ของท่อร้อยสายโทรคมนาคม ทั้งจำนวนท่อร้อยสารโทรคมนาคมและจำนวนผู้เช่าใช้ท่อร้อยสายโทรคมนาคม กระบวนการได้มา การตรวจรับ และการควบคุมทรัพย์สินท่อร้อยสายสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ"
นอกจากนี้ กรุงเทพธนาคม ได้ใช้ความพยายามเพื่อหารือร่วมกับทีโอทีหลายครั้ง ถึงการใช้โครงข่ายร่วม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากทีโอทีไม่สามารถแจ้งได้ว่ามีท่อร้อยสายสื่อสารอยู่ในเส้นทางใดบ้าง และสามารถใช้งานได้หรือไม่ โดยมีการหารือกัน 8 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา และอีกมากกว่า 50 ครั้งที่ไม่มีการบันทึกการประชุม โดยกรุงเทพธนาคม ได้มีความพยายามที่จะลงนามในบันทึกข้อตกลงและสัญญารักษาความลับระหว่างกัน เพื่อที่จะขอรับทราบถึงเส้นทางของท่อร้อยสายสื่อสาร และสภาพของท่อร้อยสายสื่อสาร เพื่อให้ทราบว่าหากต้องใช้งานร่วมกัน หรือขอเหมาใช้ท่อของกรุงเทพธนาคมแล้ว กรุงเทพธนาคมจะต้องเตรียมงบประมาณไว้เท่าใดในการปรับปรุงระบบดังกล่าว แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากทีโอที จึงได้มีการดำเนินโครงการต่อในรูปแบบดำเนินการก่อสร้างเองทั้งหมดเพราะไม่อาจหาข้อสรุปได้
ก่อนหน้านี้นายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) อ้างว่ามีท่อร้อยสายคิดเป็นระยะทางทั้งหมดประมาณ 2,500 กิโลเมตร และได้ทำแผนที่อิเล็กทรอนิกส์พร้อมทั้งใส่ข้อมูลทั้งหมดเข้าไปในเว็บไซต์ www.totconduit.com ทุกหน่วยงานสามารถเข้าไปดูได้เลย ไม่ได้เป็นข้อมูลที่ปิดอะไร ปรากฎว่าไม่ได้เปิดให้สาธารณชนเข้าชม แต่ต้องไปขอ Username และ Password จากทีโอทีเอง ซึ่งเว็บไซต์ดังกล่าวพัฒนาโดยฝ่ายธุรกิจท่อร้อยสาย ทีโอที อีกทั้งพิกัดอาจไม่ได้บอกหมด แต่บอกว่าถนนเส้นไหน ระยะทางเท่าไหร่
ขณะที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัล กล่าวว่า ได้ให้ทีโอทีแสดงหลักฐานชัดเจนออกมาว่ามีพื้นที่ตรงไหนบ้าง ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถดำเนินโครงการท่อร้อยสายในพื้นที่ กทม. ได้ เนื่องจากเรื่องนี้มติที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ได้เห็นชอบไปแล้วให้ หทม. เป็นผู้ดำเนินการ หากมีก็ต้องแจ้ง และแสดงหลักฐานให้ชัดเจน หากไม่มีก็ให้ กทม. ดำเนินการต่อไป เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่ควรยื้อ ซึ่ง กทม. ก็กำลังดำเนินการอยู่แล้ว
ส่วนนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า มติบอร์ดดีอีล่าสุดระบุให้ กทม. รับผิดชอบโครงการท่อร้อยสายในพื้นที่ กทม. 2,450 กิโลเมตร เนื่องจากทีโอทีไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าทีโอทีมีท่อพร้อมสำหรับทำโครงการตามจำนวนดังกล่าวจริง ดังนั้น หากทีโอทีต้องการทำต้องแสดงหลักฐานต่อบอร์ดดีอีเพื่อเปลี่ยนแปลงมติบอร์ด ทั้งนี้ โดยส่วนตัวเชื่อว่า กทม. ต้องเดินหน้าและยึดมติบอร์ดที่เคยมีมติมาแล้ว